เรื่อง+ภาพ : PINPON

ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้เดินทางไปสักการะ “รอยพระบาทเขาคิชฌกูฏ” ขออนุญาตนำบุญมาฝากผู้อ่านทุกท่านด้วยนะครับ แต่เรื่องที่จะเล่านั้นเป็นเรื่องของพี่ท่านหนึ่งที่ผมมีโอกาสไปพบเจอกันระหว่างทางเดินขึ้นเขา เห็นพี่เค้ากำลังถ่ายรูปให้กับกลุ่มเพื่อนที่มาด้วยกัน ด้วยโทรศัพท์มือถือจอใหญ่ ถ่ายอยู่หลายภาพก็ไม่ชัดซักที ผมก็เลยช่วยแนะนำว่าให้ใช้นิ้วแตะที่หน้าจอตรงหน้าเพื่อนพี่นั่นแหละ พอชัดแล้วค่อยกดถ่าย  ก็เลยได้รูปชัดสวยสมใจ เลยกลับมาคิดว่า ทุกวันนี้แทบทุกคนจะมีโทรศัพท์ที่ถ่ายรูปได้ ติดตัวอยู่ตลอดเวลาและก็ถ่ายรูปกันแทบจะทุกเหตุการณ์ไม่ว่าจะ ตื่นนอน กินข้าวทำกิจกรรมต่างๆ หรือท่องเที่ยวก็สะดวกมาก ไม่ต้องพกกล้องใหญ่ๆ ให้เป็นภาระ เพียงแต่มีอีกหลายๆ คนที่ยังไม่มีความรู้เรื่องถ่ายรูปมากนัก หรือยังไม่เข้าใจระบบกล้องของสมาร์ทโฟน ได้ดีพอ จึงเขียนเรื่องการใช้งานกล้องถ่ายภาพของสมาร์ทโฟนที่ผมเองก็ใช้อยู่ทุกวันมาแบ่งปันกันครับ

จากการเปิดเผยสถิติ ของเว็บไซต์โพสรูปที่มีผู้นิยมอันดับต้นๆ ของโลกเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้เผยให้เห็นสถิติที่น่าสนใจมากนั่นก็คือรูปภาพทั้งหมดส่วนใหญ่ถ่ายด้วยกล้องจาก Smart Phone มากถึง 39% รองลงมาคือกล้อง DSLR ที่ 31% กล้อง Point and Shoot 25% และกล้อง Mirrorless 3% แสดงให้เห็นถึง กระแสการถ่ายภาพจากกล้องที่ติดอยู่กับสมาร์ทโฟนนั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยโทรศัพท์สมาร์ทโฟนต่างๆ ที่ออกมาใหม่ ก็จะให้ความสำคัญกับกล้องเป็นอันดับต้นๆ บางค่ายถึงกับเรียกกันว่ากล้องที่โทรศัพท์ได้เลยก็มี

                แต่ด้วยข้อจำกัดของขนาดเซ็นเซอร์ ขนาดเลนส์ ที่ต้องบางเบาเพื่อรับกับกล้องจึงทำให้ความสามารถของกล้องนั้นจะถูกจำกัดอยู่มาก เราจะมีวิธีอะไรบ้างที่จะทำให้ภาพที่ถ่ายจากสมาร์ทโฟน มีคุณภาพที่ดีและสวยสมใจไว้อวดเพื่อนบนโลกโซเชียล มาลองดูกันครับ

  1. Lens (เลนส์)

เลนส์กล้องมีความสำคัญมากนะครับ ไม่ว่าสมาร์ทโฟนของเราจะดีที่สุดแค่ไหน หรือเรามีความรู้เรื่องถ่ายภาพดีแค่ไหน หรืออยู่ในสถานที่ที่ดีที่สุดแค่ไหน แต่ถ้าเลนส์กล้องเราเลอะสิ่งสกปรก หรือเลอะคราบรอยนิ้วมือ ก็จะทำให้รูปที่ได้ออกมามัว หรือเป็นรอยคราบต่างๆ ฉะนั้นก่อนถ่ายรูปด้วยสมาร์ทโฟน ควรตรวจดูให้แน่ใจว่าเลนส์กล้องเรานั้นสะอาด ไม่เลอะคราบหรือสิ่งสกปรกต่างๆ หรือหมั่นเช็ดเลนส์บ่อยๆ ก็ได้ครับ ผ้าที่ใช้เช็ดเลนส์ควรเป็นผ้านุ่มๆ หรือเรียกว่าผ้าชามัวร์ที่สำหรับเช็ดแว่นก็ดีครับ ส่วนผมส่วนใหญ่จะเช็ดด้วยเสื้อยืดที่ใส่นี่แหละครับ สะดวกดี

เลนส์สะอาดถ่ายภาพท้องฟ้าใสๆ ได้สอาดตา : Samsung Galaxy Note3

ท้องฟ้าใสๆ ถ้าเลนส์เลอะจะมองเห็นได้เลย : Samsung Galaxy Note 1

  1. Focus

จุดโฟกัส หรือจุดที่ชัดที่สุดของภาพ มีหลายท่านที่เวลาจะถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟน ก็จะยกขึ้นมาแล้วกดถ่ายเลย ซึ่งในบางครั้ง ระบบโฟกัสอัตโนมัติของกล้องจะทำงานผิดพลาดโดยที่กล้องจะจับโฟกัสไปที่ที่ชัดกว่า คอนทราสดีกว่า สว่างกว่าเป็นต้น ฉะนั้นเมื่อเราถ่ายภาพ โดยกำหนัดให้วัตถุใดเป็นจุดเด่นก็ตาม ต้องแตะที่หน้าจอบริเวณนั้นๆ เพื่อให้กล้องโฟกัสไปที่วัตถุที่เราต้องการ เช่น หน้าคน ตุ๊กตา ต้นไม้ บ้าน รถ ซึ่งเมื่อกล้องจับโฟกัสมาที่แบบแล้วยังจะปรับแสงบริเวณนั้นให้พอดีขึ้นอีกด้วยทำให้ได้ภาพที่แสงพอดีในบริเวณที่เราต้องการให้เป็นจุดเด่น ยิ่งไปกว่านั้นกล้องสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ยังสามารถล็อคโฟกัสบริเวณนั้น และแยกปรับแสงให้สว่างหรือมืดได้อีกด้วย ส่วนรุ่นเก่าหน่อย อาจจะต้องเข้าเมนูย่อยอีกเพื่อปรับลดแสงให้มืดหรือสว่างเพิ่มขึ้นอย่าลืมนะครับ ก่อนกดถ่ายรูป แตะโฟกัสซักนิด

แตะจุดโฟกัสบริเวณตานางแบบให้ภาพที่คมชัด : iPhone 6s plus

แตะจุดโฟกัสบริเวณตัวแมลงเพื่อโฟกัส : iPhone 6s plus

  1. Don’t Zoom

การซูมภาพบนกล้องสมาร์ทโฟนนั้นทำได้ง่ายดายมาก เพียงแค่แหวกนิ้วเข้าไปที่หน้าจอก็สามารถซูมภาพให้ใกล้เข้าไปได้แต่ว่าสำหรับกล้องบนสมาร์ทโฟนโดยทั่วไปแล้วนั้น จะเป็นการซูมภาพแบบ Digital ไม่ใช่เป็นการซูมแบบการเคลื่อนตัวของเลนส์เหมือนกล้องถ่ายภาพทั่วไป จะเป็นการขยายภาพหรือครอปภาพเข้าไปเพื่อให้ได้ระยะที่ใกล้ขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพที่ได้นั้นลดลงไปมาก ภาพที่ได้อาจจะเป็นวุ้น แตกไม่คมชัดเท่ากับถ่ายแบบปกติ ฉะนั้น จึงควรถ่ายแบบปกติ ให้ได้คุณภาพที่ 100 เปอร์เซ็นต์แล้วนำภาพที่ได้มาครอปเองทีหลังจะได้คุณภาพที่ดีกว่า หรือ พยายามเข้าใกล้ตัวแบบที่ต้องการถ่ายให้ได้มากที่สุด ขยันเดินเข้าไปอีกหน่อยหรือที่เรียกกันว่าซูมเท้านั่นแหละครับ

เข้าใกล้แบบให้มากที่สุดเพื่อจัดองค์ประกอบ : Samsung Galaxy Note 1

เข้าใกล้แบบให้มากที่สุดเพื่อจัดองค์ประกอบให้ลงตัว : iPhone 6s plus

  1. Shutter

การกดปุ่มชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาพถ่ายที่ได้ สั่นไหว ไม่คมชัด เพราะหลายๆ คน โดยเฉพาะแม่ผมเอง เวลาแตะอะไรที่จอภาพ ท่านจะจิ้มลงไปแรงๆ เหมือนกดปุ่ม รวมถึงการถ่ายรูป ก็จะจิ้มตรงปุ่มชัตเตอร์แบบแรงๆ จนโทรศัพท์ สั่น ภาพก็ไหว ท่านก็บ่นว่าโทรศัพท์ไม่ดี ถ่ายรูปไม่ชัดผมก็ได้แต่บอกว่าให้แตะเฉยๆ ถือโทรศัพท์ไว้นิ่งๆ แล้วแตะเบาๆ มันก็ถ่ายแล้ว จนแล้วจนรอดก็ยังจิ้มจนจอแทบแตก ฉะนั้น เวลาแตะปุ่มชัตเตอร์ต้องทำให้เบาที่สุด ซึ่งในสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่น อาจมีการสั่งให้ลั่นชัตเตอร์แบบต่างๆ เช่น กำมือ แบมือ หรือใช้คำสั่งเสียง ก็ต้องลองศึกษาดูกันในแต่ละรุ่น แต่โดยหลักการแล้วต้องทำให้กล้องนิ่งที่สุด ในสมาร์ทโฟน บางรุ่น เช่น แกแลคซี่ สามารถกดแช่ชัตเตอร์ไว้ได้ และจะถ่ายภาพเมื่อถอนมือออกจากปุ่ม ในส่วนนี้จะช่วยได้เยอะเพราะการปล่อยของนิ้วตัวสมาร์ทโฟนจะนิ่งกว่าการแตะนิ้วลงไป ส่วนฝั่งไอโฟนนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะการกดแช่คือการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง ซึ่งก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ โดยถ่ายมาเป็นชุดแล้วนำมาเลือกภาพที่ดีที่สุด ชัดที่สุดจังหวะที่ดีที่สุดซึ่งมีโอกาสได้ภาพที่เยอะกว่า

กดชัตเตอร์ถ่ายภาพแบบต่อเนื่องเพื่อเลือกภาพที่ดีที่สุด : iPhone 6s plus

กดชัตเตอร์ถ่ายภาพแบบต่อเนื่องเพื่อเลือกจังหวะที่นกกินเหยื่อพอดี : Samsung Galaxy Note 3

  1. Tripod

ขาตั้งกล้อง อุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยให้สมาร์ทโฟนของเรา นิ่ง และถ่ายภาพได้คมกริบ สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะปรับตั้งค่าแบบแมนนวลไม่ได้ สปีดของภาพจึงขึ้นอยู่กับแสงที่ได้รับ ถ้าสว่างมากๆ หรือกลางแดด สปีดชัตเตอร์จะสูงมาก ทำให้ภาพที่ได้คมชัด สีสันสดใส แต่ถ้าสภาพแสงน้อย หรือ ช่วงเย็น ไม่มีแสงมาก สปีดชัตเตอร์ที่ได้จะต่ำลงทำให้ภาพที่ได้เริ่มสั่นไหว ฉะนั้นขาตั้งกล้องจึงช่วยได้มากเมื่อต้องการถ่ายภาพในสถานการที่แสงน้อย หรือต้องการความคมชัดสูงเช่นการถ่ายภาพสินค้า อาหาร หรือภาพมาโคร ขาตั้งกล้องสำหรับสมาร์ทโฟน จะมีทั้งแบบ ที่เป็นเคสสำหรับสวมกับตัวสมาร์ทโฟนโดยมีเกลียวมาตรฐานสำหรับขันติดกับขาตั้งกล้องแบบปกติ หรือแบบ ตัวหนีบที่สามารถขยายได้และใช้หนีบกับตัวสมาร์ทโฟน โดยที่ฐานจะมีเกลียวมาตรฐานสำหรับขันติดกับขาตั้งกล้อง แบบนี้จะหาซื้อง่ายราคาไม่แพง ที่ทั่วๆ ไปใช้กับไม้เซลฟี่ นั้นแหละครับ ส่วนขาตั้งก็ใช้ได้ทั้งแบบขนาดเล็กพกพาสะดวก หรือแบบที่ใช้กับกล้อง DSLR ก็ใช้งานได้ครับ เมื่อติดตั้งกับขาตั้งกล้องแล้วแนะนำให้ใช้การลั่นชัตเตอร์แบบ ตั้งเวลาถ่ายนะครับเพื่อลดการสั่นของกล้องให้มากที่สุด หรือถ้าเป็น iPhone ก็ใช้สายหูฟังในการลั่นชัตเตอร์ได้สะดวกมากๆ อีกฟังก์ชั่นของการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนในรุ่นใหม่ๆ ต้องมีก็คือ การถ่ายภาพ แบบ Timelapse (ไทม์แลปส์) คือภาพที่ดูเหมือนเคลื่อนไหวเร็วๆ แต่ถ่ายเป็นช่วงเวลาตามเวลาปกติ แบบนี้ต้องใช้ขาตั้งกล้องแน่นอนครับ ลองหาติดกระเป๋าไว้ตอนไปเที่ยวดูนะครับ

ใช้ขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์เมื่อสภาพแสงน้อยเพื่อภาพที่คมชัด : iPhone 6s plus

ใช้ขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์เมื่อสภาพแสงน้อยเพื่อภาพที่คมชัด : Samsung Galaxy Note 3

  1. Grid

เส้นแบ่งตารางของจุดตัด 9 ช่อง ซึ่งโดยทั่วไป จะต้องเข้าไปเปิดในเมนูด้านใน เจ้าเส้นกริดแบบจุดตัด 9 ช่อง อธิบายง่ายๆ สำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องกล้อง มันคือ เส้นตรงแนวตั้งสองเส้นและเส้นตรงแนวขวางสองเส้น แบ่งช่องเท่าๆ กันตัดกันจนเกิดเป็นช่องสี่เหลี่ยม 9 ช่อง เราเลยเรียกว่าจุดตัด 9 ช่อง โดยเส้นทั้งหมดจะมีจุดตัดกัน สี่จุดให้เราพยายามนำตัวแบบที่จะถ่ายวางไว้ตรงตำแหน่งนี้ ใช้ได้ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง ส่วนภาพวิว ทิวทัศน์ เช่น ทะเล ก็ให้แบ่งภาพออกเป็น 3 ส่วน ตามเส้นสองเส้นแนวนอน โดยให้ มีท้องฟ้า 1 ส่วน ทะเล 1 ส่วน และหาดทราย อีก 1 ส่วน ซึ่งจะทำให้ภาพน่าสนใจขึ้นและดูไม่เบื่อ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปนะครับ ภาพบางภาพอาจจะสวยด้วยองค์ประกอบที่ต่างกัน จุดตัด 9 ช่องเป็นเพียงพื้นฐานทั่วไปที่ใช้กัน และยังมีเส้นแบบนี้อีกหลายลักษณะ ซึ่งมีในสมาร์ทโฟนรุ่นโปรของ ระบบ Android หลายๆ รุ่น

วางตำแหน่งวัด “ตั๊กซัง” ในจุดตัดเก้าช่องของเส้นกริด : Samsung Galaxy Note 1

เส้นกริดแนวนอนใช้วางตำแหน่งขอบฟ้าและฉากหน้า : Samsung Galaxy Note 3

  1. Filter

ในกล้องสมาร์ทโฟนทั่วไปจะมีฟิลเตอร์ ให้เลือกใช้งานกันหลายแบบมากอยู่แล้ว เช่น ขาวดำ ซีเปียฟิล์ม สีสด เป็นต้น ยังไม่รวมแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่สร้างสรรค์ลักษณะการถ่ายภาพออกมามากมาย ทั้งโหลดฟรีและเสียสตางค์ฟิลเตอร์พวกนี้จะทำให้ภาพที่ได้เข้ากับบรรยากาศมากขึ้น หรือสื่อสารกับคนดูให้เกิดอารมณ์ร่วมกับภาพมากขึ้น เช่น สีซีเปีย ถ้าเราถ่ายภาพสถานที่เก่าๆ แบบปกติ ก็จะได้สถานที่เก่าแบบสีสดใส แต่ถ้าเราเลือกใช้ฟิลเตอร์แบบซีเปีย โทนสีน้ำตาลภาพสถานที่เก่าก็จะดูเป็นภาพโบราณ ให้อารมณ์แบบเก่าๆ ทำให้ภาพนั้น น่าสนใจมากขึ้น ลองเล่นดูนะครับ ในสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ มีฟิลเตอร์ที่ต่างกันมากมาย แอปพลิเคชั่นการถ่ายภาพก็มีมากมาย ลองโหลดมาถ่ายภาพดูครับ ถ่ายเยอะๆ ใช้กับสถานการณ์ต่างๆ บ่อยๆ แล้วเราจะรู้ว่าสถานการณ์ไหนภาพแบบไหน เราควรใช้ฟิลเตอร์อะไรในการดึงอารมณ์ร่วมของผู้รับชม

ใส่ฟิลเตอร์โทนสีอุ่นเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับภาพถ่ายงานแต่งงาน : Samsung Galaxy Note 3

  1. Retouch

นอกจากการเรียนรู้เกี่ยวกับกล้องที่ติดอยู่บนสมาร์ทโฟนให้ดีแล้ว สิ่งที่ควรเรียนรู้เพิ่มเติม คือ การแก้ไขภาพหรือการตกแต่งภาพซึ่งโดยทั่วไปในโปรแกรมการชมภาพ ก็จะมีเมนู การแก้ไขภาพหรือตกแต่งภาพ เพิ่มเติมมาให้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว การแก้ไขปรับแต่งพื้นฐานส่วนใหญ่ก็คือ การรับแสง เป็นการปรับแสงให้สว่างขึ้นหรือมืดลงแบบทั้งภาพ เช่นภาพที่ถ่ายมาแล้วมืดๆ ก็อาจจะเพิ่มแสงให้สว่างมากขึ้นได้ การเพิ่มลดสีสัน ให้สดใสขึ้นหรือลดให้ซีดลง การครอปภาพและหมุนภาพ เช่นถ่ายมากว้างๆ ก็สามารถตัดครอปเข้าไปเพื่อให้แบบเด่นขึ้นหรือภาพถ่ายเอียงก็สามารถครอปใหม่ให้ตรงขึ้นได้ การใส่ฟิลเตอร์ในแบบที่ใส่ตอนถ่ายภาพก็สามารถนำมาใส่ในภายหลังได้เหมือนกัน ที่กล่าวมาคือโปรแกรมพื้นฐานที่จะติดมากับตัวสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว ส่วนโปรแกรมที่ต้องดาวน์โหลดเพิ่มเติมนั้น มีอีกมากมายหลายแบบ ทั้งแบบใส่ข้อความ เน้นรูปแบบเป็นขาวดำอย่างเดียว เน้นภาพเก่าอย่างเดียว หรือเพื่ออัปขึ้นโซเชียลในทันทีก็มี เช่น อินสตาแกรม โปรแกรมพวกนี้ ใช้งานง่ายและหลากหลายถ้ามีโอกาสจะนำมาแนะนำให้ใช้กันครับ สรุปคือภาพที่ถ่ายมา ถ้ายังไม่ดีหรือไม่ถูกใจ เราเข้าไปแก้ไขได้ตามจินตนาการครับ ลองทำหลายๆ แบบ หลายๆ แนว สร้างงานให้เป็นสไตล์เราเองครับ

ใช้แอป Snapzeed ดึงส่วนมืดให้สว่างขึ้น และเพิ่มสีท้องฟ้าให้จัดจ้านขึ้น : iPhone 6s plus

ใช้การแก้ไขภายในสมาร์ทโฟน ปรับแสงสีให้น่าสนใจขึ้น : iPhone 6s plus

  1. Battery

สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย สมาร์ทโฟนและกล้องของเราจะกลายเป็นที่ทับกระดาษไปในทันที ถ้าแบตเตอรี่หมด ฉะนั้นจึงควรมีแบตเตอรี่สำรองไว้ให้อุ่นใจเพราะการใช้งานถ่ายภาพนั้น จะกินพลังงานมากพอสมควร ยิ่งถ้าจริงจังกับการถ่ายภาพด้วยแล้ว ตั้งแต่เช้าจนเย็น แบตเตอรี่ของสมาร์ทโฟนอย่างเดียวไม่พอแน่ ปัจจุบัน แบตเตอรี่สำรองที่มีความจุมากๆ นั้นราคาไม่แพงแล้วนะครับ ลองหาซื้อ ติดไว้เพื่อถึงเวลาจะได้ไม่พลาดภาพสวยๆ ครับ

 

  1. Have Fun

สุดท้ายขอให้สนุกกับการถ่ายภาพครับ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนจะติดตัวเราอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นถ่ายภาพให้เยอะๆ ฝึกการใช้งานบ่อยๆ ถ่ายภาพหลายๆ มุมทดลองฟิลเตอร์ต่างเพื่อดูลักษณะภาพที่จะได้ ทดลองแอปพลิเคชั่นกล้องถ่ายภาพรูปแบบต่างๆ รวมถึงทดลองแต่งภาพกับโปรแกรมแต่งภาพทั้งในเครื่องและแอปพลิเคชั่นต่างๆ  สิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนให้ดีขึ้นอย่างแน่นอนครับ ที่สำคัญขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพ อย่ากังวลกับข้อจำกัดเหล่านี้มากเกินไป ต่อให้ได้ภาพดีสมบูรณ์แบบมากแค่ไหน จะมีประโยชน์อะไรถ้าคนถ่ายไม่มีความสุข

สนุกกับการถ่ายภาพเหตุการณ์ต่างๆ จากการเดินทางครับ : Samsung Galaxy Note 3