เรื่อง+ภาพ : PINPON

หลังจากที่ผมเขียนเรื่องการถ่ายภาพสวยด้วยสมาร์ทโฟนไปในตอนที่แล้ว มีเมล์จากผู้อ่านทักทายกันมา บอกว่าใช้กล้องจากสมาร์ทโฟนได้คล่องแล้ว ช่วยแนะนำการถ่ายภาพให้หน่อย ผมก็เลยรวบรวมเรื่องที่น่าจะทำกันได้ไม่ยากครับในการคิดก่อนถ่ายภาพ เพียงแต่เราอาจจะลืมหรือมองข้ามไปหลายเทคนิค เราก็เห็นอยู่ทุกวันแต่ไม่เคยถ่ายแบบนี้ พอเห็นภาพถ่ายสวยๆ ก็คิดขึ้นมาได้ เออ มุมนี้เราก็เห็นทำไมไม่ถ่าย เทคนิคที่รวบรวมมานี้จริงๆ แล้วก็คือเทคนิคการถ่ายภาพทั่วๆ ไป แต่พัฒนามาใช้กับสมาร์ทโฟน ด้วยการใช้งานจริงของผมเอง และรวบรวมออกมาเป็น 10 เคล็ดลับในการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนให้ได้ภาพสวยแบบมืออาชีพ ตามมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง

  1. ถ่ายภาพจากมุมต่ำ

โดยส่วนใหญ่ผู้คนมักจะถ่ายภาพจากระดับสายตาของตัวเองหรือระดับอกหรือไม่ก็ย่อตัวนิดหน่อย ทั้งนี้ เพราะมันเป็นการถ่ายภาพที่สะดวกที่สุด ง่ายที่สุด ลองคิดดูนะครับ ว่าทุกๆ คน ก็ถ่ายภาพจากมุมนี้เหมือนกันโดยเฉพาะในระดับสายตาที่ผู้คนทั่วไปก็เห็นภาพๆ นี้อยู่เป็นประจำอยู่แล้วแต่ถ้าเราลองเปลี่ยนมุมมองโดยการลดกล้องให้ต่ำลงหรือเสยขึ้นเปรียบเช่นมุมมองของมดที่มองขึ้นมา ก็จะทำให้ภาพถ่ายของเราดูน่าสนใจมากขึ้น เพราะมุมต่ำนั้นจะไม่ใช่มุมที่คนทั่วๆ ไปจะมองเห็นต้องนอนลงไปนั่นแหละครับถึงจะเห็น ภาพที่ได้จึงแปลกตา และน่าสนใจขึ้น อีกทั้งการถ่ายภาพมุมต่ำยังช่วยสร้างมิติให้กับภาพถ่าย เช่นเมื่อลดมุมกล้องลงต่ำก็จะได้ต้นหญ้า หรือได้เส้นลายถนนเป็นฉากหน้าช่วยเสริมให้ภาพนั้นมีมิติมากขึ้น ช่วงเริ่มแรก คุณอาจไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพในมุมที่ติดพื้นเลยซะทีเดียวแค่ลองลดระดับกล้องลงมาอยู่ประมาณแถวหัวเข่าก็พอ แล้วทดลองถ่ายภาพจากมุมต่ำดู คุณจะพบกับความแตกต่าง

ถ่ายภาพด้วยมุมต่ำให้เห็นแววตาของแมว : iPhone 6s plus

ถ่ายแพนด้าด้วยมุมต่ำเพื่อให้เห็นวัดพระแก้วเป็นฉากหลัง : iPhone 6s plus

  1. ถ่ายภาพเงาสะท้อน

คงนึกออกนะครับ เรามักจะเห็นภาพสถานที่สวยๆ ที่อยู่ริมน้ำสะท้อนลงมาในน้ำ หรือภาพคนหรือสิ่งของต่าง สะท้อนลงมาในแอ่งน้ำช่วงฝนตก การสะท้อนแบบนี้ หาไม่ยากนะครับมีอยู่ทุกๆ สถานที่เพียงแต่เราไม่เคยสังเกตเอง ภาพสะท้อนนั้น ไม่จำเป็นต้องสะท้อนกับน้ำเสมอไปนะครับ อาจจะสะท้อนกับ กระจก พื้นกระเบื้องเงาๆ หลังคารถสีดำหรือโลหะที่มีลักษณะเงาวาว  สิ่งที่ทำหน้าที่สะท้อนได้ดีที่สุด คือ น้ำครับเพราะน้ำทำได้ทั้งสะท้อนออกมาแบบเรียบๆ และสามารถสร้างคลื่นเพื่อทำให้เงานั้นไหวๆ เพิ่มความน่าสนใจเข้าไปอีก ภาพสะท้อนน้ำบางแห่งมาจากแอ่งน้ำเพียงเล็กๆ ไม่กี่ฟุตเท่านั้น เพียงแค่เราต้องฝึกสังเกต หาเหลี่ยมหามุมว่าสิ่งที่เราจะถ่ายนั้นจะสะท้อนกับอะไรได้บ้าง และลองนำสมาร์ทโฟนไปจอดูว่าภาพที่ได้เป็นอย่างไรแต่ไม่ใช่ว่าภาพสะท้อนจะน่าสนใจทุกภาพเสมอไป เก็บภาพในมุมปกติให้ครบก่อน แล้วค่อยมองหามุมสะท้อนที่ซ่อนอยู่ให้เจอ ผมเชื่อว่าถ้าคุณเริ่มหาคุณก็จะเจอมุมสะท้อนในทุกๆ ที่

เงาสะท้อนน้ำหอคำหลวง เชียงใหม่ : iPhone 6s plus

แอ่งน้ำเล็กๆ ก็สามารถสะท้อนภาพที่ดูกว้างได้ : iPhone 6s plus

  1. ภาพถ่ายเงาดำ หรือ Silhouette

การถ่ายภาพเงาดำจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับภาพถ่ายของเราและเป็นวิธีที่ง่ายมากเพียงแค่ให้แหล่งกำเนิดแสงอยู่ด้านหลังของสิ่งที่เป็นแบบ ถ้าเป็นแสงอาทิตย์ช่วงที่ดีที่สุดก็จะเป็นช่วงพระอาทิตย์อยู่ในระดับต่ำหน่อยทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและตก เนื่องจากสิ่งที่เป็นแบบนั้นจะเป็นเงาดำทึบ จึงควรหาแบบที่มีลักษณะรูปร่าง รูปทรงที่น่าสนใจ มองออกว่าคืออะไร หรือถ้าเป็นคน ก็ต้องแยกแขนขาออกมาให้รู้ว่าเป็นคนไม่ใช่รวมติดกันเป็นก้อนดำๆ ส่วนการถ่ายภาพในกล้องสมาร์ทโฟนทั่วไป เมื่อเจอภาพลักษณะแบบนี้กล้องจะปรับภาพให้มืดลงโดยอัตโนมัติส่งผลให้แบบนั้นเป็นเงาดำ แต่ถ้าเราแตะจุดโฟกัสไปที่ตัวแบบ กล้องจะเพิ่มความสว่างขึ้นเพื่อทำให้ตัวแบสว่างพอดี ก็จะไม่ได้ภาพเงาดำ ฉะนั้นจึงต้องทำการชดเชยค่าการรับแสงไปในทางลบจนตัวแบบเป็นเงาดำ สำหรับในสามาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ นั้นก็ปรับได้ง่ายๆ บนหน้าจอ เช่น ไอโฟน ก็แตะที่ตัวแบบ แล้วรูดลงภาพที่ได้จะมืดลงส่งผลให้ตัวแบบเป็นเงาดำ ส่วนสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ อาจจะต้องเข้าไปตั้งค่าในเมนูย่อย หรือแตะที่ปุ่มเพื่อลดแสง แล้วแต่รุ่นครับ

การถ่ายภาพย้อนแสงชดเชยแสงทางลบจะทำให้ตัวแบบเป็นเงาดำ [Silhouette] : iPhone 6s plus

เลือกแบบที่ดูจากเงาก็รู้ว่าทำอะไรจะช่วยสื่อสารได้ง่าย : iPhone 6s plus

  1. ถ่ายภาพพาโนรามา

จำได้ว่าตอนผมเริ่มหัดถ่ายภาพใหม่ๆ ภาพพาโนรามา นั้นถ่ายยากมาก ต้องถ่ายด้วยโหมดแมนนวล เพื่อเก็บแสงให้เท่ากันทุกภาพ ต้องยืนให้นิ่งและหมุนตัวถ่ายทีละรูปจากซ้ายไปขวา โดยให้แนวกล้องตรงกันมากที่สุด หรือต้องตั้งขาตั้งกล้องกันเลยทีเดียวจากนั้นจึงนำภาพทั้งหมดประมาณ 5-10 ภาพ เข้าโปรแกรมตกแต่งภาพ หรือโปรแกรมรวมภาพเพื่อสร้างเป็นภาพพาโนรามาขึ้นมา ถ้าถ่ายมาไม่ดี ก็จะต่อกันไม่สนิทขาดๆ เกินๆ บ้าง ผ่านมาหลายปีกล้องรุ่นใหม่ๆ เริ่มมีการใส่โหมดการถ่ายภาพพาโนรามาเข้ามาในกล้อง ทำให้ได้ภาพออกมาเป็นภาพสำเร็จเลย  แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง คือต้องถ่ายครั้งเดียวลากยาวๆ ไปเลยหยุดไม่ได้ และก็ต่อกันไม่ค่อยสนิท ซึ่งในสมาร์ทโฟนก็เริ่มมีการใส่โหมดนี้มาเหมือนกัน จนมาในยุคปัจจุบันนี้ การถ่ายภาพพาโนรามาในกล้องสมาร์ทโฟนทำได้ดีมากๆ ผมว่าดีกว่า การถ่ายพาโนรามาในกล้องจริงๆ หลายๆ ตัวด้วยซ้ำ และถ่ายได้ง่ายดายมากๆ เพียงแค่เลือกโหมดถ่ายภาพพาโนรามา แล้วถือกล้องให้นิ่ง ลากจากซ้ายไปขวา หรือบนลงล่างแล้วแต่ทิศทางที่ต้องการภาพบนจอจะแสดงให้เห็นภาพที่เขียนต่อเนื่องมาเรื่อยๆ เลือกระยะได้เองอีกด้วย อยากถ่ายแค่ไหนก็หยุดแค่นั้น ฉะนั้นถ้าการถ่ายภาพพาโนรามา มันง่ายขนาดนี้ ต้องใช้งานบ่อยๆ นะครับ การถ่ายพาโนรามา ไม่จำเป็นต้องยาวเสมอไป อาจจะใช้งานกับภาพที่ต้องการความกว้างอีกนิดหน่อย แต่ด้วยมุมกล้องของสมาร์ทโฟนเราไม่พอก็ใช้โหมดพาโนรามา กดถ่ายแค่มุมภาพที่ต้องการก็จะได้ภาพที่สมบูรณ์มากขึ้น หรือ เพิ่มมุมมองที่แปลกตา ด้วยการใช้โหมดพาโนรามาในสถานที่แคบๆ โดยการถ่ายรอบตัวเรา เช่น ในห้อง ในรถ ในเรือ ก็จะช่วยเพิ่มความน่าสนในให้ภาพถ่ายเราได้มากขึ้นครับ

ถ่ายภาพด้วยการล๊อคค่าแสงแล้วนำมารวมในโปรแกรมแต่งภาพ : Samsung Galaxy Note 3

ถ่ายภาพด้วยโหมดพาโนราม่าภายในสมาร์ทโฟน : Samsung Galaxy Note 3

  1. ถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ

ข้อจำกัดอีกข้อหนึ่งของกล้องสมาร์ทโฟนก็คือมีเซ็นเซอร์รับภาพที่เล็กมาก ซึ่งมีผลต่อภาพที่มีลักษณะหน้าชัดหลังเบลอ แบบที่กล้อง DSLR ที่ใช้เซ็นเซอร์รับภาพ ขนาดใหญ่กว่ามากดังนั้นเราจะเห็นว่า กล้องสมาร์ทโฟน หรือกล้องคอมแพคขนาดเล็กนั้น ถ่ายภาพอะไรก็ตาม จะมีลักษณะที่ชัดไปทั่วทั้งภาพ ซึ่งก็เป็นผลดีสำหรับภาพวิวทิวทัศน์ที่ต้องการความชัดทั่วทั้งภาพ ส่วนผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพบุคคล และชอบภาพหน้าชัดหลังเบลอ คงไม่ค่อยปลื้มเท่าไหร่ แต่ก็พอจะมีวิธีที่จะช่วยให้กล้องสมาร์ทโฟนของเราถ่ายภาพออกมาเป็นหน้าชัดหลังเบลอได้ไม่ยากเท่าไหร่ เพียงแค่ เพิ่มระยะห่างของตัวแบบกับฉากหลังให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ และโฟกัสให้ใกล้กับตัวแบบมากที่สุด ก็จะทำให้ฉากหลังนั้นเบลอมากขึ้น เช่นถ่ายภาพคนก็ให้ยืนห่างจากฉากหลังมากๆ หรือดอกไม้ ก็หามุมที่ฉากหลังห่างจากแบบมากที่สุด หรือถ้าสถานที่ไม่อำนวย ก็มีแอปพลิเคชั่นที่ทำภาพแบบนี้ได้ง่ายๆ เพียงแค่ถูๆ ส่วนที่ต้องการให้เบลอ หรือส่วนที่ต้องการให้ชัด แล้วเลือกความเบลอได้อีก ว่าจะให้เบลอมากกว่า DSLR ยังได้เลยครับ ซึ่งมีมากมายหลายแอปพลิเคชั่นทั้งฟรีและแบบเสียสตางค์ ก็ต้องลองโหลดมาใช้กันดูนะครับ

เข้าใกล้แบบมากๆ จะช่วยให้ฉากหลังเบลอขึ้น : iPhone 6s plus

เลือกแบบให้ห่างจากฉากหลังมากๆ จะช่วยให้เกิดความชัดตื้นหรือหลังเบลอ : iPhone 6s plus

  1. ถ่ายภาพแบบสมมาตร

ภาพถ่ายสมมาตร หรือ Symmetry คือภาพที่สองฝั่งเท่ากันเหมือนกัน หรือคล้ายคลึงกัน อีกนัยหนึ่ง คือ ความเข้ากันได้ ความสมดุล มองดูแล้วรู้สึกได้ถึงความสมดุลของภาพ ไม่มีพื้นที่ฝั่งหนึ่งฝั่งใดเยอะเกินกว่ากัน ในภาพถ่ายแบบสมมาตรส่วนใหญ่ที่เห็นโดยทั่วไปจะเป็นภาพสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยความสมมาตรอยู่แล้ว แต่ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถสร้างความสมมาตรให้กับภาพถ่ายได้ เช่น แนวเก้าอี้ สะพาน ถนน เพียงแค่เราต้องฝึกสังเกตและมองหาความสมมาตรให้เจอกับสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา

ทัชมาฮาล มีความสมมาตรอยู่ในตัวอยู่แล้วแค่วางตำแหน่งให้ตรง : Samsung Galaxy Note 1

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแบบสมมาตร : Samsung Galaxy Note 3

  1. สร้างเส้นนำสายตา

เส้นนำสายตาก็คือ เส้นที่จะนำสายตาคนดูภาพไปสู่ตัวแบบที่เราต้องการนำเสนอ โดยเส้นจะมาจากทิศทางไหนของภาพก็ได้ ทั้งด้านข้างด้านล่างด้านบน ซ้ายขวา เพื่อนำไปสู่ตัวแบบที่วางไว้เส้นนำสายตาไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นเหมือนชื่อนะครับ จะเป็นอะไรก็ได้ ที่มองเห็นเป็นแนวเส้นไปในภาพ เช่น ถนนที่โค้งจากด้านข้างของภาพวิ่งไปยังกลางภาพ หรือแนวต้นไม้ที่เรียงรายกันเป็นแนววิ่งไปกลางภาพ หรือแม่น้ำลำคลองรางรถไฟ แนวหาดทราย รอยเท้าที่เรียงต่อกัน ก็ใช้เป็นเส้นนำสายตาได้ นอกจากแนวเส้นพวกนี้แล้วยังมีเส้นนำสายตาที่เรียกว่า เส้นนำสายตาที่มองไม่เห็น นั่นก็คือไม่ต้องใช้เส้น แต่ใช้สัญลักษณ์แทน เช่นลูกศรที่ชี้ไปทางขวาเมื่อเรามองภาพก็จะมองตามไปทางด้านขวาที่ลูกศรชี้ไปหรือ สายตาของคนที่มองไปยังตัวแบบ หรือนิ้วที่ชี้ไปยังตัวแบบก็เป็นเหมือนเส้นนำสายตาเหมือนกัน แต่เรามองไม่เห็นเป็นเส้นเราใช้ความเคยชินตามเส้นที่มองไม่เห็นเข้าไปในภาพ นอกจากเส้นนำสายตาจะช่วยนำสายตาของผู้ชมแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มมิติให้กับภาพอีกด้วยทำให้ภาพไม่ดูแบน มีระยะใกล้ไกลขึ้นมา ทำให้ภาพถ่ายสมบูรณ์ขึ้น

การชี้นิ้วของเด็กเป็นเส้นนำสายตาที่มองไม่เห็น นำสายตาผู้ชมไปสู่บอลลูน : iPhone 6s plus

บาตรเป็นเส้นนำสายตาไปสู่คนใส่คนหยอดเหรียญ : iPhone 6s plus

  1. สร้างกรอบให้ภาพถ่าย

สร้างกรอบให้ภาพถ่ายไม่ได้หมายถึงปริ๊นรูปออกมาแล้วนำมาใส่กรอบนะครับ หมายถึงการหาวัตถุอะไรก็ได้ ใส่เข้ามาอยู่ในภาพลักษณะเป็นกรอบของภาพหรือเป็นช่อง ทั้งวงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม เพื่อเน้นให้ตัวแบบนั้นดูเด่นขึ้นมา กรอบภาพในความหมายนี้ ไม่มีลักษณะตายตัวจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น กิ่งไม้ ที่พาดมาด้านบนของภาพกรอบหน้าต่างที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมซุ้มประตูตามวัด ศาลา ช่องต่างๆ ที่สามารถมองทะลุไปเห็นตัวแบบได้ ก็สามารถนำมาเป็นกรอบของภาพได้ โดยอาจจะเป็นกรอบที่มีลักษณะเป็นเงาดำทึบก็ได้ หรือ เป็นแบบเบลอก็ได้หรือใช้สีมาช่วยเน้นกรอบให้ชัดเจนขึ้นก็ได้ แต่ที่สำคัญกรอบภาพต้องช่วยเสริมให้ตัวแบบนั้นดูเด่นขึ้น ครั้งต่อไปลองมองดูรอบๆ ตัวนะครับ ว่าจะมีอะไรพอที่จะนำมาเป็นกรอบให้กับตัวแบบที่เราจะถ่ายได้บ้าง

ใช้ซุ้มประตูเป็นกรอบให้กับโบสถ์ : iPhone 6s plus

ใช้หน้าต่างรถไฟเป็นกรอบให้กับแบบ : iPhone 6s plus

  1. กลับสู่ความเรียบง่าย

ภาพถ่ายด้วยสมาร์ทโฟนที่มีการแชร์กันบนโซเชียล ในแอปพลิเคชั่นแสดงภาพถ่ายของแต่ละค่าย ภาพที่ได้รับการชื่นชมส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่ ดูเรียบง่าย สะอาดตา ไม่มีสิ่งรกหูรกตามากมายอยู่ในภาพ บางภาพมีจุดสนใจเป็นเพียงนกตัวเดียวบินอยู่บนฟ้าที่มีเมฆนิดหน่อย ก็ได้รับความนิยมมากมาย หรือท้องทะเลเวิ้งว้างมีเรือลำเล็กๆ อยู่ตรงมุมภาพ ก็ได้ยอดไลท์มากมาย ภาพถ่ายที่เรียบง่ายจะช่วยให้สิ่งที่เรานำเสนอเป็นจุดที่น่าสนใจเพียงจุดเดียว มีเรื่องราวเพียงเรื่องเดียว ผู้ชมภาพก็จะเน้นมายังจุดที่เรานำเสนอ อย่ากังวลกับพื้นที่ว่างๆ รอบๆ ตัวแบบครับ เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะดูภาพจากสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตซึ่งเป็นหน้าจอที่เล็กๆ ประกอบกับแอปพลิเคชั่นแสดงภาพนั้นจะเป็นแบบรูปเล็กๆ แบบธัมบ์เนลล์ Thumbnails พื้นที่ว่างๆ รอบตัวแบบจะส่งผลให้ตัวแบในภาพของเราเด่นขึ้นมาเองครับ

มุมสมมาตร พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว : iPhone 4

ภาพง่ายๆ ที่พบเห็นโดยทั่วไป : iPhone 6s plus

  1. สร้างโอกาสให้กับตัวเองและสมาร์ทโฟน

ถึงแม้ว่าเราจะมีความรู้เรื่องการถ่ายภาพได้ดีขนาดไหน ควบคุมกล้องได้เชี่ยวชาญขนาดไหนเราจะไม่มีภาพถ่ายที่ดี สวยงามไว้ชื่นชมเลยหรือเผื่อแผ่ให้คนอื่นได้ชื่นชมเลย ถ้าเราไม่ออกไปถ่ายภาพนะครับ สมาร์ทโฟน ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับการเดินทางสร้างโอกาสพาตัวเองไปอยู่ในชั่วโมงที่ดีที่สุดของวัน เช่น พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก แสงทไวไลท์ ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของสถานที่นั้นๆ เช่นน้ำตกช่วงน้ำเยอะ หมอกในหน้าหนาว ทะเลกับฟ้าใสๆ ในช่วงหน้าร้อน กับช่วงเวลาที่เหมาะสม บางทีไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องถ่ายภาพก็ถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนให้สวยงามได้ครับ

สร้างโอกาสด้วยการออกเดินทางตั้งแต่ตีสามเพื่อเก็บสีสันท้องฟ้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น : Samsung Galaxy Note 3