ในการจัดวางองค์ประกอบภาพ โดยส่วนใหญ่แล้ว ความสำคัญจะถูกมุ่งเน้นไปที่วัตถุหลักในภาพนั้นๆ ว่าเราจะจัดวางให้อยู่ในตำแหน่งใดๆ ในภาพ บางครั้งเราให้ความสำคัญกับวัตถุต่างๆ ที่อยู่ในภาพมากเกินไป จนลืมไปว่า ยังมีส่วนที่ไม่ใช่วัตถุต่างๆ เท่านั้นที่มีผลต่อองค์ประกอบของภาพ ในส่วนของพื้นที่ที่ไม่มีวัตถุต่างๆ อยู่เลย ที่เราเรียกว่า พื้นที่ว่าง ก็ส่งผลต่อองค์ประกอบภาพเช่นกัน

พื้นที่ว่าง ในทางทัศนศิลป์นั้นหมายถึงความว่างเปล่าซึ่งก็คือบริเวณว่างระหว่างสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในพื้นที่นั้น บางครั้งเรียกว่าช่องไฟ โดยมักจะเป็นส่วนหรือพื้นที่ของฉากหลังที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุในภาพเขียนหรือภาพถ่าย (ที่ว่างแบบ 2 มิติ) หรือพื้นที่ว่างระหว่างชิ้นส่วนของงานในงานประติมากรรม หรือบรรยากาศรอบๆ ในงานสถาปัตยกรรม (ที่ว่างแบบ 3 มิติ) พื้นที่ว่างนี้จะนับรวมทั้ง ที่ว่างระหว่างรูปร่างรูปทรง, พื้นผิว และสีของสิ่งต่างๆ รวมทั้งปริมาตรของอากาศที่ล้อมรอบรูปทรงหรือวัตถุ และการแทนที่ความลึกเพื่อต้องการลักษณะของความเป็น 3 มิติให้อยู่ในงาน 2 มิติ ตามปกติที่ว่างจะเป็นทัศนธาตุที่มองไม่เห็น ที่ว่างจะปรากฏขึ้นเมื่อ มีทัศนธาตุอื่นเกิดขึ้นและพื้นที่ระหว่างทัศนธาตุอื่นๆ นั้นแหละคือ ที่ว่าง (Space)

Organising space การจัดการพื้นที่ว่าง

Organising space หรือ การจัดการด้าน space เป็นเรื่องของการจัดองค์ประกอบในภาพที่เกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่ในภาพให้เหมาะสม ซึ่งการจัดการด้านพื้นที่ ในการจัดองค์ประกอบภาพนี้มีเรื่องที่เราให้ความสำคัญอยู่ 3 ส่วนด้วยกันคือ frames, balance และ appearance of space

Frames เฟรมหรือกรอบภาพ ภาพหนึ่งภาพประกอบไปด้วยกรอบสี่เหลี่ยม เราจะจัดการพื้นที่ในกรอบสี่เหลี่ยมเหล่านี้อย่างไร จะมีปัจจัยสำคัญอยู่ 4 เรื่องก็คือ

Location in the frame เราจะวางวัตถุให้อยู่ส่วนใดในเฟรมภาพ เราต้องพิจารณาว่าในพื้นที่สี่เหลี่ยมของเฟรมภาพ เราจะให้วัตถุที่เราจะถ่ายนั้น อยู่ส่วนใดในเฟรมภาพ จะเอาไว้ตรงกลางภาพ ด้านซ้าย ด้านขวา บนหรือล่าง หรือจะให้เห็นเพียงบางส่วนของวัตถุนั้น ดังนั้นตำแหน่งที่เราจะถ่ายจึงเป็นจุดสำคัญที่เราจะกำหนดองค์ประกอบภาพในเรื่องของ location in the frame ได้

Size in the frame วัตถุนั้นเราต้องการให้มีขนาดเท่าใดในเฟรมภาพ นอกจากตำแหน่งของวัตถุในภาพแล้ว ขนาดของวัตถุที่เราจะถ่ายเมื่ออยู่ในเฟรมภาพควรจะมีขนาดเท่าใด เป็นอีกเรื่องที่เราต้องพิจารณาว่าจะให้วัตถุที่เราจะถ่าย มีขนาดใหญ่เต็มเฟรมภาพ ขนาดเล็ก หรือเล็กมากๆ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลในเรื่องนี้ก็คือระยะห่างระหว่างกล้องกับวัตถุที่จะถ่าย และทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่เราใช้

Horizontal -Vertical & Square เราจะจัดวางภาพในแนวตั้ง แนวนอน หรือสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภาพหลายภาพเหมาะสมกับการวางเฟรมภาพแบบแนวตั้ง ในขณะเดียวกันภาพบางภาพก็เหมาะสมกับเฟรมภาพแบบแนวนอน หรือแม้แต่การวางเฟรมภาพด้วยอัตราส่วน 1:1 ซึ่งในการเลือกเฟรมภาพนั้นจะขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราจะถ่าย ลักษณะโดยรวม ทิศทางการเคลื่อนที่ ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น ต้นไม้ที่มีลักษณะของความสูง เฟรมภาพแบบแนวตั้งก็ดูจะเหมาะสมกว่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทางออกที่ดีที่สุดในกรณีที่ไม่แน่ใจให้ลองเปลี่ยนลักษณะเฟรมภาพโดยถ่ายทั้งแนวตั้งและนอน

Frames within frames กรอบภาพซ้อนในเฟรมภาพ ในการวางเฟรมภาพแบบปกติเราสามารถเพิ่มเฟรมภาพเข้าไปอีกได้ด้วยการมองหากรอบภาพให้กับภาพ กรอบภาพนี้จะเป็นอะไรก็ได้เช่น ประตู หน้าต่าง กิ่งไม้ กระจก ซึ่งเป็นการเพิ่มมิติให้กับภาพ สิ่งสำคัญที่ต้องระวังในการเลือกใช้กรอบภาพก็คือการรักษา balance ของภาพให้ได้สมดุล โดยเฉพาะภาพที่เห็นเส้นขอบฟ้า

Balance สมดุล ความสมดุลในภาพจะมีผลต่อการดูภาพ หลักสำคัญคือการไม่ทำให้การดูภาพแล้วเกิดความรู้สึกหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งสมดุลนี้มีลักษณะของสมดุลอยู่ 2 ลักษณะ symmetry สมมาตรในภาพนั้น ทั้งสองด้านคือซ้ายขวา จะมีสัดส่วนและองค์ประกอบต่างๆ ที่เท่ากัน มีความสมดุล ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง และ Asymmetry อสมมาตร ทั้งสองด้านไม่เท่ากัน แต่ภาพมีความสมดุล ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่งสมดุลลักษณะนี้คือการจัดองค์ประกอบภาพโดยให้วัตถุต่างๆถ่วงน้ำหนักในภาพให้เกิดคามสมดุล โดยที่ภาพทั้งสองด้านไม่จำเป็นต้องสมมาตรกัน

Appearance of space ในการถ่ายภาพ ลักษณะของ space ในภาพถูกกำหนดด้วยทางยาวโฟกัสของเลนส์ และระยะห่างระหว่างกล้องไปจนถึงสิ่งที่เราจะถ่าย ในการใช้เลนส์เพื่อจัดการกับพื้นที่ในการจัดองค์ประกอบภาพเรามีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ

Selective focus การเลือกจุดโฟกัส การเลือกโฟกัสไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แล้วปล่อยให้ส่วนอื่นๆ ในภาพที่เราคิดว่าไม่น่าสนใจ ละลายหายไปกับฉากหลัง สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญก็คือการพิจารณาสิ่งที่เราจะถ่ายให้ดี จากนั้นถามตัวเองว่า ต้องการจะสื่อภาพนั้นออกมาให้เป็นแบบใด แล้วจึงถ่ายภาพโดยเลือกโฟกัสในจุดที่ต้องการ

Depth of field ช่วงความชัดของภาพ การใช้ช่วงความชัดมาช่วยในการจัดการพื้นที่ จะคล้ายกับเรื่องของการเลือกจุดโฟกัส แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญที่การเน้นเพียงอย่างเดียว ภาพที่ชัดลึก ก็นับว่าเป็นการจัดการกับพื้นที่ในภาพด้วยเช่นกัน ซึ่งเมื่อเราควบคุม Depth of field ในภาพได้ เท่ากับว่าเราสามารถเลือกพื้นที่ทั้งหมดภายในภาพได้ว่าเราอยากจะให้มีความชัดลึกหรือชัดตื้นเท่าใด

Foreground & Background ฉากหน้า และฉากหลัง ฉากหน้า มีส่วนช่วยในการสร้างระยะให้กับภาพ นอกจากการใช้กรอบภาพเป็นฉากหน้าแล้ว การหาวัตถุที่ใกล้เคียงกันกับวัตถุที่เราจะถ่ายเป็นฉากหน้าก็สามารถทำได้เช่นกัน ส่วนฉากหลังนั้น ฉากหลังที่เรียบง่าย ฉากหลังที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ฉากหลังที่มืด ฉากหลังที่สว่าง ฯลฯ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการเลือกให้สัมพันธ์กันกับสิ่งที่เราถ่าย

Space & Rule of Thirds พื้นที่ว่างกับกฎสามส่วน

กฎสามส่วน หรือจุดตัด 9 ช่อง เป็นหลักการเบื้องต้นของการวางจุดเด่น หรือ Subject หลักของภาพที่เราต้องเน้นในภาพ ให้ดูมีความน่าสนใจ นอกเหนือไปจากการวางไว้กลางภาพ โดยเฉพาะกับการใช้เลนส์มุมกว้างในการถ่ายภาพนั้น วัตถุต่างๆ ในภาพจะมีมากมายหลายอย่าง เราสามารถนำเรื่องของกฎสามส่วนที่แบ่งภาพอกเป็นสามส่วนทั้งแนวตั้งและแนวนอน ทำให้เกิดจุดตัดทั้งหมด 4จุด แบ่งพื้นที่ภาพเป็น 9 ช่อง จุดตัด 4 จุดนี้แหละครับ ที่เราจะนำ Subject หลักของภาพไปวางไว้ โดยเริ่มจากตำแหน่งด้านล่างไล่ขึ้นไป แล้วจะช่วยให้ภาพมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น เมื่อกำหนดตำแหน่งในการวาง Subject หลักของภาพ พื้นที่ว่างที่เหลือจะเกิดจากการเลือกฉากหลังที่ไม่โดดเด่นจนเกินไปนัก ฉากหลังที่เรียบง่าย หรือการปล่อยให้พื้นที่ว่างที่เหลือเบลออกไปไม่โฟกัสก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งของช่างภาพที่จะเลือกใช้

Negative Space เป็นพื้นที่ว่างรอบๆ Subject ที่ค่อนข้างมาก ไม่โดดเด่น ไม่แย่งความสนใจไปจาก Subject หลักของภาพ โดยจะเว้นพื้นที่ว่างเอาไว้มากๆ หรือเรียกว่ามากกว่า Subject หลักของภาพ บางครั้งก็เรียกว่า blank space ซึ่งจะพบงานประเภทนี้ได้บ่อยครั้งในงานออกแบบดีไซน์สมัยใหม่ที่เป็นสไตล์มินิมอล ด้วยหลักแนวคิดที่ว่า ในเฟรมภาพหนึ่งเฟรมจะประกอบไปด้วยสิ่งต่างๆ มากมาย การเลือกให้มีเฉพาะสิ่งที่สำคัญ อยู่ในเฟรมภาพสิ่งที่ไม่จำเป็นในภาพก็ควรตัดทิ้งไป

พื้นที่ว่าง เป็นบริเวณที่ว่างเปล่า ระหว่างสิ่งต่างๆ ถ้าระหว่างสิ่งต่างๆ นั้นมีพื้นที่ว่างน้อย จะเกิดความรู้สึกอึดอัดในทำนองเดียวกันถ้ามีพื้นที่ว่างมากก็จะรู้สึกโล่ง หรือเวิ้งว้างเกินไปได้ ดังนั้นการแบ่งที่ว่างจึงต้องแบ่งให้เกิดความสมดุล ได้สัดส่วนกัน สำหรับการถ่ายภาพแล้ว เรื่องของที่ว่างที่ต้องคำนึงก็คือบริเวณโดยรอบ Subject ที่เราต้องการจะถ่าย ซึ่งจะเป็นการกำหนดมุมกล้องไปด้วยในตัว…