เรื่อง+ภาพ : Apochtophy’s

ในการถ่ายภาพโดยทั่วไปแล้ว ปกติเราจะพยายามถ่ายภาพให้คมชัด ภาพไม่คมชัดหรือภาพเบลอนั้น ผมว่าหลายคนที่ถ่ายรูปมาสักระยะหนึ่งต้องเคยมีภาพลักษณะเช่นนี้ ซึ่งแน่นอน ในสภาพแสงน้อย หรือสิ่งที่เราจะถ่ายนั้นเคลื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง แต่เชื่อไหมครับว่า ภาพที่เบลอ พร่ามัวนี่ล่ะ ที่บางครั้งก็มีพลังที่น่าตื่นตา และเราสามารถสร้างสรรค์ศิลปะภาพถ่ายได้จากภาพเบลอนี่แหละครับซึ่งที่แน่ๆ ในการสร้างสรรค์ภาพนั้นเราควรคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้

Bokeh

Bokeh มีรากศัพท์มาจากภาษาญี่ปุ่น “โบ-เกะ” แปลว่าเบลอ หรือพร่ามัว โบเก้นั้นเกิดจากการโฟกัสเฉพาะจุดของเลนส์ส่วนที่หลุดไปจากจุดโฟกัสนั้นจะเกิดความพร่า เบลอ เป็นลักษณะเฉพาะของเลนส์แต่ละตัว โบเก้จึงเป็นสิ่งที่นำมาสร้างสรรค์ภาพได้มากมายหลากหลาย ฉากหลังที่พร่าเบลอจากเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสเดียวหรือเลนส์ฟิกนั้น จะให้โบเก้ที่ง่ายกว่าเลนส์ซูม ทางยาวโฟกัสที่มากกว่าก็มักจะสร้างโบเก้ได้ง่ายกว่าเช่นกัน แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ระยะห่างของวัตถุต่างๆ ที่เราต้องการให้เกิดโบเก้นี้ เลนส์บางตัวโบเก้ที่สวยที่สุดอาจจะไม่ได้อยู่ที่ค่า F-stop ที่กว้างที่สุด ในขณะที่เลนส์บางตัวต้องเปิดค่า F-Stop กว้างๆ

Soft

การทำให้ภาพดูนุ่มนวลลงด้วยการใช้วัสดุใดๆก็ได้บังหน้าเลนส์หรือถ่ายภาพผ่านวัสดุโปร่งแสงบางอย่าง ถ้าเป็นในสมัยฟิล์มนั้นเรามักจะใช้ฟิลเตอร์ซอฟท์ ใส่ไว้หน้าเลนส์เวลาถ่ายภาพที่ต้องการให้ภาพนั้นดูนุ่มนวลลง แต่ในยุคดิจิตอลนี้ การนำมาแต่งในโปรแกรมแต่งภาพดูจะทำให้เราเลือกระดับของความนุ่มนวลได้มากขึ้น ในบางครั้งการเลือกทิศทางของแสงที่ส่องมาด้านหลังของแบบก็มักจะได้แสงที่ฟุ้งหน้าเลนส์ส่งผลให้ภาพนุ่มนวลลงได้เช่นกัน

Tilt-Shift Miniature

เป็นภาพลักษณะที่เหมือนภาพ Model หรือภาพถ่ายสิ่งของขนาดเล็ก ซึ่งอันที่จริงแล้ว วัตถุต่างๆ ที่อยู่ในภาพนั้นไม่ได้มีขนาดและสัดส่วนที่เล็กแต่อย่างใด วัตถุต่างๆ ในภาพนั้นมีสัดส่วนและขนาดที่ปกติ แต่ด้วยลักษณะของภาพที่เกิดจากการ Tilt-Shift เลนส์ ทำให้ช่วงความชัดน้อยลง และมุมของกล้องที่ถ่ายในลักษณะภาพมุมก้ม กดลงมา ภาพที่ได้จึงทำให้รู้สึกว่าวัตถุในภาพมีขนาดเล็ก เหมือนเราถ่ายภาพจากโมเดลแบบจำลอง หรือของเล่นนั่นเอง 

แรกเริ่มเดิมทีนั้นมีการถ่ายภาพอยู่ประเภทหนึ่งเรียกว่า Miniature Photography เป็นการถ่ายภาพแบบจำลอง เหรอโมเดลที่นักเล่นโมเดลทำขึ้น โดยมากจะมีขนาดใหญ่ และสมจริงคล้ายกับเมืองจำลอง เมื่อสร้างแบบจำลองขึ้นมาสักชุดหนึ่งก็มีการถ่ายภาพเก็บไว้ มีการลงรายละเอียดเช่นการใส่หมอกควันในขณะถ่ายภาพ การทำฉากหลังท้องฟ้า ฯลฯ จนเป็นที่นิยมอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง (ใครที่อ่านการ์ตูนโดเรมอน จะมีอยู่ตอนหนึ่งที่มีการถ่ายภาพลักษณะนี้ หรือแม้แต่ในภาพยนตร์หลายเรื่องก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความนิยมของการเล่นแบบจำลองโมเดล และการถ่ายภาพเก็บไว้) ทีนี้การถ่ายภาพสิ่งของวัตถุเล็กกว่าปกตินั้นจะเกิดผลพิเศษจากเลนส์อยู่อย่างหนึ่งก็คือ ช่วงความชัดที่น้อย อย่างที่เราเรียกกันว่า ชัดตื้น

ภาพแบบ Miniature Photography นับว่ามีความน่าสนใจและแพร่หลายมาก จนทำให้มีการคิดเทคนิคการถ่ายภาพปกติให้ได้ภาพที่มีลักษณะของภาพคล้ายกับภาพแบบ Miniature Photography (ถ่ายภาพของจริงให้เหมือนภาพถ่ายแบบจำลอง) เทคนิคที่ว่านั้นคือการใช้เลนส์ที่สามารถ Tilt-Shift ได้นั่นเอง จึงเป็นที่มาของภาพแบบ Tilt-Shift Miniature faking

การถ่ายภาพ Tilt-Shift Miniature faking นั้นแบบดั้งเดิมจะใช้เลนส์ที่สามารถปรับระนาบโฟกัสได้ในการถ่ายภาพ (Tilt-Shift Lens) ด้วยคุณสมบัติของเลนส์ ที่สามารถคุม depth of field ได้มากกว่าเลนส์ทั่วๆ ไป ทำให้สามารถ่ายภาพที่มีระยะชัดลึกมากๆ ได้ และในขณะเดียวกันมันก็สามารถทำให้ภาพมี depth of field น้อยๆ ได้ด้วย เลยมีการนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ภาพแบบ Tilt-Shift Miniature faking โดยทำการปรับโฟกัสที่วัตถุเพียงระยะเดียว โดยปล่อยให้ระยะอื่นพ้นระยะโฟกัสไป ทำให้ฉากหลังและฉากหน้าของภาพเบลอนั่นเอง

แต่น้อยคนนักที่จะใช้เลนส์ Tilt-Shift ด้วยราคาและลักษณะการใช้งานที่เฉพาะทาง ทำให้ภาพแบบ Tilt-Shift Miniature faking ในอดีตนั้นเป็นปัญหาที่ช่างภาพทั่วๆ ไปไม่สามารถทำได้ จนเข้ามาถึงยุคการถ่ายภาพดิจิตอล โปรแกรมจัดการภาพถ่าย มีอิทธิพลที่ตอบสนองจินตนาการของช่างภาพได้อย่างหลากหลาย ภาพแบบ Tilt-Shift Miniature faking จึงได้รับความนิยมอีกครั้ง ซึ่งมีเทคนิคในการทำภาพที่ง่ายเพียงไม่กี่ขั้นตอน ด้วยโปรแกรมตกแต่งภาพยอดนิยมอย่าง Photoshop หรือในแอพลิเคชั่นบนมือถือ

จะเห็นว่าภาพถ่ายนั้นบางครั้งไม่จำเป็นจะต้องคมชัดไปหมดทั้งภาพจริงไหมครับ เราสามารถสร้างสรรค์ภาพให้น่าสนใจได้เมื่อเราเลือกสิ่งที่เราอยากจะให้ชัดและปล่อยให้บางสิ่งบางอย่างในภาพเบลอไปบ้างก็ได้ เมื่อเราเปิดกว้างอันนี้ผมไม่ได้หมายถึงค่า F-Stop นะครับ…