เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

ในการถ่ายภาพนกโดยเฉพาะนกประเภทแอคชั่นนั้น ระบบโฟกัสของกล้องถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราได้ภาพในจังหวะท่าทางของนกตามที่เราต้องการได้ การใช้งานกล้องที่มีความไวในเรื่องของระบบโฟกัสอย่างกล้อง Sony a1 หรือ Sony a9ii นั้นการทำความเข้าใจในระบบโฟกัสของกล้องจะทำให้เราตั้งค่ากล้องที่เหมาะสม และควบคุมกล้องได้ดั่งใจ

ในบทความก่อนๆ สำหรับเรื่องของการตั้งค่ากล้องนั้น ผมได้กล่าวถึงการตั้งค่ากล้องเอาไว้ก่อนที่เราจะถ่ายภาพ ในบทความตอนนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับการเลือกตั้งค่าเฉพาะระบบโฟกัส ซึ่งแน่นอนในระหว่างการถ่ายภาพเราต้องมีการเปลี่ยนค่าต่างๆ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วย และก่อนอื่นใด เรามาทำความเข้าใจในระบบโฟกัสของกล้องกันก่อนดีกว่า โดยในบทความนี้ผมจะขอเน้นไปที่การถ่ายภาพนกประเภทแอคชั่นเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนครับกล้องที่เราจะใช้จะเป็นกล้อง Sony สองรุ่นที่เหมาะสำหรับภาพนกประเภทแอคชั่นในตอนนี้ คือ Sony a1 และ Sony a9ii ซึ่งเมนู ชื่อเรียกต่างๆ สามารถนำไปใช้กับกล้องรุ่นอื่นๆ ของโซนี่ได้นะครับ

ถ่ายด้วย SONY alpha 9ii Lens FE 200-600 mm. F/5.6-6.3 G OSS

ถ่ายด้วย SONY alpha 9ii Lens FE 200-600 mm. F/5.6-6.3 G OSS

Direct Manual Focus (DMF)

เริ่มต้นกันที่ระบบโฟกัสแบบแมนนวลกันก่อน ถามว่ามันเกี่ยวข้องอย่างไรกับการถ่ายภาพนกประเภทแอคชั่น ครับผมไม่ได้ให้เรามาใช้มือหมุนโฟกัสนกด้วยตัวเองแน่ๆ สิ่งที่เราสามารถใช้ประโยชน์ได้จากระบบโฟกัสแมนนวลในการถ่ายภาพนกนั้นก็คือ การวัดระยะห่างจากกล้องไปจนถึงตัวนกครับ ซึ่งเมื่อเราเลือกใช้โหมดโฟกัสแบบแมนนวล (MF) โดยการปรับที่กระบอกเลนส์ กล้องจะเข้าสู่โหมด Direct Manual Focus (DMF) จะมีขีดบอกระยะห่างของจุดที่เราโฟกัสมาถึงกล้องว่าห่างกี่เมตร

เมื่อเรารู้ระยะห่างของเรากับนกที่เราจะถ่าย จะมีประโยชน์อย่างมาก เช่น นกชนิดนี้ระยะห่างเท่านี้ เรายังจะสามารถเข้าใกล้ได้อีกหรือไม่ หรือไม่ควรจะเข้าใกล้แล้วเพราะระยะห่างที่เหมาะสม นกจะไม่ระแวงเรา เราก็จะมีโอกาสถ่ายภาพนกตัวนั้นได้นานขึ้น โอกาสได้ภาพพฤติกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจก็จะมากขึ้นตามไปด้วย หรือการบันทึกข้อมูลว่าเราสามารถถ่ายภาพนกตัวนี้ที่ระยะห่างเท่าไหร่ในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เรานำไปใช้ในอนาคตได้อีกครับ

Direct Manual Focus (DMF)

ถ่ายด้วย SONY alpha 7RIV Lens FE 100-400 MM. F4.5-5.6 GM OSS

AF Mode and AF-C Priority Set

AF Mode สำหรับการถ่ายภาพนกประเภทแอคชั่นแล้วอย่างที่เรารู้กันดีก็คือวัตถุเคลื่อนไหว AF Mode ที่เราเลือกใช้ก็ควรจะเป็น AF-C ระบบโฟกัสติดตามวัตถุเคลื่อนไหว (Continuous AF) แต่เมื่อเราเลือกใช้ AF-C แล้ว สิ่งที่เราควรเข้าไปตั้งค่าด้วยก็คือ AF-C Priority Set ซึ่งหลายคนไม่เคยเข้าไปยุ่งอะไรเลย กล้องจะเลือกใช้เป็น Balanced emphasis ให้เป็นค่าเบื้องต้น ซึ่งเราสามารถเลือกได้อีกสองแบบคือ Release และ AF โดย Release ให้ความสำคัญกับการกดชัตเตอร์ โดยเราจะกดลั่นชัตเตอร์ได้ แม้ว่าวัตถุจะไม่อยู่ในโฟกัส ส่วน AF จะจัดลำดับความสำคัญที่การโฟกัส ชัตเตอร์จะไม่ลั่นจนกว่าวัตถุจะอยู่ในโฟกัสเสียก่อน

ทั้งสามแบบนี้มีผลต่อภาพที่เราจะได้แน่นอนครับ การเลือก Balanced emphasis คือการให้ทั้งสองอย่างคือปุ่มชัตเตอร์และโฟกัสสมดุลกันแต่ก็อาจจะมีภาพที่ไม่เข้าโฟกัสบ้าง ส่วน Release เราอาจจะถ่ายภาพได้ไวขึ้น แต่โอกาสที่ภาพจะหลุดโฟกัสก็มีสูง ส่วน AF เราอาจจะได้ภาพที่โฟกัสเข้าหมดทุกภาพ แต่การทำงานของกล้องก็อาจจะช้าลงเล็กน้อย ดังนั้นการเลือกใช้ตรงนี้อยู่ที่เราจะเลือก แต่ต้องมาจากความเข้าใจเสียก่อนว่าตัวเลือกแต่ล่ะตัวทำงานอย่างไร ถ้าเราเป็นคนมือไว ประสาทสัมผัสไว เข้าใจพฤติกรรมนก การเลือก AF ก็อาจจะให้ผล ของภาพที่ดี เหมาะสมกับเรา หรือ ถ้าเราไม่เน้นในเรื่องของโฟกัสที่เข้าเป้าแบบ 100% เราอาจจะเลือกให้ได้ภาพก่อน ก็อาจจะใช้เป็น Release หรือ Balanced emphasis สำหรับผมจะเน้นเรื่องโฟกัสเป็นหลักก็จะเลือกใช้ AF แล้วไปเพิ่มความเร็วของตัวเราเองแทนเพื่อชดเชยกัน

เมนู AF-C priority set ในกล้อง sony alpha 1

AF-C priority set

ถ่ายด้วย SONY alpha 9ii Lens FE 200-600 mm. F/5.6-6.3 G OSS

Bird Eye AF

ระบบโฟกัสดวงตาสำหรับการถ่ายภาพนกนั้นอาจจะไม่ได้ถูกนำมาใช้งานมากนัก เพราะระบบโฟกัสตานั้นมีโอกาสสูงที่จะจับวัตถุอื่นเช่น ผิวของเปลือกไม้โดยเข้าใจว่าเป็นดวงตาได้โดยเฉพาะการถ่ายภาพนกที่ระยะไกล แต่ถ้ามีโอกาสได้ถ่ายภาพนกในระยะที่ใกล้พอสมควรแล้วล่ะก็ระบบโฟกัสดวงตานกก็สามารถทำงานได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับภาพนกที่หันด้านข้าง ซึ่งระบบโฟกัสดวงตานกทำงานได้ดีเยี่ยมในภาพลักษณะนี้ ดังนั้นการเปิด On ระบบโฟกัส Eye AF ก็สามารถทำงานได้ในบางสถานการณ์ตามที่ยกตัวอย่างไปครับ

Face eye AF set

ถ่ายด้วย SONY alpha 1 Lens FE 600 mm. F4 GM OSS

ถ่ายด้วย SONY alpha 1 Lens FE 600 mm. F4 GM OSS

Autofocus Areas (AF Area)

ทำความเข้าใจกันก่อนว่า AF Area คือการเลือกพื้นที่ในเฟรมภาพที่เราจะให้ระบบโฟกัสของกล้องทำงานในพื้นที่นั้นๆ เช่นเต็มเฟรมภาพ เฉพาะบางส่วน หรือเฉพาะจุดในกรอบเฟรมภาพ ในการเลือกเราจะพิจารณาจากสถานการณ์ที่เราจะถ่ายเราสามารถเลือก Focus Area ได้หลายรูปแบบ

Wide การเลือกใช้พื้นที่เต็มเฟรมภาพ กล้องจะเลือกจุดโฟกัสให้เองอัตโนมัติ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพนกที่บินอยู่บนท้องฟ้าโล่งๆ หรือพื้นหลังโล่งๆ ไม่เหมาะกับภาพที่มีองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่นฉากหลังที่รก หรือนกที่อยู่ตามพุ่มไม้

Zone เป็นการระบุโซนหรือตำแหน่งพื้นที่เป็นส่วนๆ เพื่อที่กล้องจะได้เลือกจุดโฟกัสแค่ในบริเวณนั้นๆ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพนกในหลายสถานการณ์ นกที่กำลังเคลื่อนไหวไปมาทั้งบนท้องฟ้าโล่งๆ เหมือน wide area แต่บีบพื้นที่ให้แคบลงมา เพื่อเลี้ยงตัวนกให้อยู่ในกรอบพื้นที่ในเฟรมภาพที่ต้องการ ไม่หลุดไปที่ขอบภาพ

Center กล้องจะโฟกัสพื้นที่จุดกึ่งกลางเฟรมภาพเพียงเท่านั้น

Flexible Spot เป็นระบบการเลือกจุดโฟกัสด้วยตัวเอง ว่าต้องการโฟกัสไปที่ตำแหน่งใด โดยสามารถเลือกขนาดของจุดโฟกัสได้ 3 ขนาด S, M, L เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการเน้นความคมชัดจุดใดจุดหนึ่ง เช่น การถ่ายภาพนกที่เกาะอยู่นิ่งๆ (Birds Portrait) หรือในพุ่มไม้รกๆ

Expand Flexible Spot จะคล้ายกับ Flexible Spot แต่กล้องจะสามารถโฟกัสภาพรอบๆ จุดที่เลือกได้ด้วยกรณีที่วัตถุมีการเคลื่อนที่หลุดจากจุดที่เราตั้งไว้ เหมาะกับการถ่ายภาพนกที่มีการเคลื่อนไหวเล็กน้อย เช่น นกเกาะกิ่งและมีการขยับไปมา

Tracking Wide Area และ Tracking Zone Area จะทำงานเมื่อใช้งานระบบ AF-C เป็นการโฟกัสติดตามวัตถุตลอดเวลา เหมาะกับการถ่ายภาพนกที่กำลังบิน หรือลีลาการเคลื่อนไหว

AF Area เราสามารถเลือกให้แสดงเฉพาะที่เราจะใช้ได้

Setting Focus Area

สำหรับการถ่ายภาพนกแบบ Action นั้น พื้นที่โฟกัสที่ควรลองใช้ก็คือ Wide Area, Zone Area, Flexible Spot, Tracking Wide Area และ Tracking Zone Area 5 แบบนี้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและควรลองเลือกใช้ในการถ่ายภาพนก ที่ผมใช้อยู่บ่อยที่สุดคือแบบ Flexible Spot และ Zone สำหรับภาพนกที่กำลังเคลื่อนไหว อาจสลับมาใช้แบบ Wide Area, Tracking Wide Area และ Tracking Zone Area เป็นครั้งคราวไปตามลักษณะการเคลื่อนไหวของนกที่จะถ่าย รวมถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ในภาพ

จะเห็นว่าเราอาจจะต้องเปลี่ยน AF Area ของกล้องอยู่บ่อยๆ ดังนั้นเพื่อความรวดเร็วเราอาจจะตั้งปุ่ม Custom Key ของกล้องปุ่มหนึ่งให้สามารถเปลี่ยน AF Area ของกล้องได้ทันทีก็จะถ่ายภาพได้สะดวกขึ้นครับ

ถ่ายด้วย SONY alpha 9ii Lens FE 200-600 mm. F/5.6-6.3 G OSS

ถ่ายด้วย SONY alpha 1 Lens FE 600 mm. F4 GM OSS

AF Tracking Sensitive

AF Tracking sensitive ทำงานเพื่อตอบสนองต่อวัตถุเคลื่อนไหวที่เข้ามาในเฟรมภาพ โดยมีระดับของการตอบสนองอยู่ 5 ระดับตั้งแต่ 1 (Locked on) 2, 3(Standard) 4 และ 5 (Responsive) ความแตกต่างจะอยู่ที่ความเร็วในการตอบสนองของระบบโฟกัสต่อวัตถุที่เคลื่อนไหวในเฟรมภาพ โดยค่ามาตรฐานที่กล้องตั้งเอาไว้ให้จะอยู่ที่ระดับ 3 (Standard) ส่วนการตอบสนองมากจะอยู่ที่ระดับ 5 (Responsive) ซึ่งระดับ 5 นี้ ไม่ว่าจะมีวัตถุใดเลื่อนที่เข้ามาในเฟรมภาพ AF Tracking ของกล้องจะวิ่งจับโฟกัสตลอดเวลา ส่วนระดับ 1 (Locked on) จะเป็นการล๊อกเป้าหมายที่เราโฟกัสในตอนแรกไปตลอด แม้ว่าจะมีวัตถุอื่นเคลื่อนไหวแทรกเข้ามา กล้องก็จะไม่เปลี่ยนการโฟกัสตามวัตถุที่เคลื่อนไหวเข้ามา AF subject-tracking sensitivity ทั้ง 5 ระดับนี้เราเลือกใช้งานแตกต่างกันตามลักษณะของภาพนก โดยเฉพาะนกประเภทแอคชั่นที่เราจะถ่ายส่วนใหญ่แล้วระดับที่เลือกใช้จะเป็นระดับ 3 (Standard) 2 และ 1 (Locked on)

ในเรื่องของระบบโฟกัสของกล้องที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อน และการเลือกตั้งค่าให้เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพนกประเภทแอคชั่นก็มีเพียงเท่านี้ ซึ่งในตอนหน้าเราจะมาพูดกันถึงเรื่องการนำสิ่งต่างๆ ที่เราตั้งค่าเอาไว้ รวมไปถึงการตั้งค่ากล้องในบทความก่อนหน้านี้ไปใช้งานกันอย่างไรบ้าง ก็ฝากติดตามบทความในตอนหน้าด้วยนะครับ…

Setting AF Tracking sens 1-5

ถ่ายด้วย SONY alpha 9ii Lens FE 200-600 mm. F/5.6-6.3 G OSS

ถ่ายด้วย SONY alpha 9ii Lens FE 200-600 mm. F/5.6-6.3 G OSS

ถ่ายด้วย SONY alpha 9ii Lens FE 200-600 mm. F/5.6-6.3 G OSS

ถ่ายด้วย SONY alpha 9ii Lens FE 200-600 mm. F/5.6-6.3 G OSS

ในจังหวะที่จับโฟกัสไว้ที่นกตัวแรก แล้วมีนกอีกตัวบินตัดหน้าเข้ามา AF Tracking sensitive ถ้าไม่ใช่ระดับ 1 หรือ 2 อาจจะทำให้หลุดโฟกัสได้