เรื่อง…นพดล อาชาสันติสุข
ถ่ายภาพ…สมโภช แตงไทย

ถ้าถามความต้องการของนักถ่ายภาพทั้งนักถ่ายภาพรุ่นเก่า และนักถ่ายภาพรุ่นใหม่ในเวลานี้…ต่างต้องการกล้องถ่ายภาพที่มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา แต่ต้องเป็นกล้องที่มีสมรรถนะสูงตอบสนองความต้องการใช้งานได้หลากหลายสถานะการณ์…

Sony Alpha 7 CR เป็นหนึ่งในบรรดากล้องที่ Sony เปิดตัวในปี 2023 ที่ผ่านมา จัดเป็นกล้องดิจิทัลระดับมืออาชีพที่มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา แต่มีสมรรถนะสูงใช้งานตอบสนองความต้องการใช้งานได้หลากหลาย ให้ภาพที่มีความละเอียดสูง เหมาะสำหรับการขยายภาพขนาดใหญ่ หรือการ Crop ภาพนำมาใช้งาน

Sony alpha 7CR

Sony Alpha 7 CR ติดตั้งเซ็นเซอร์ Exmor R BSI ขนาด Full frame ที่มีความละเอียดสูงถึง 61 ล้านพิกเซล พร้อมด้วย Image Processor BIONZ XR รุ่นล่าสุด ที่มีระบบ Dedicated AI processing unit ให้ใช้งาน มีความเร็วสูงในการประมวลผล ทำให้ Sony Alpha 7 CR สามารถโฟกัสภาพได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ ให้ภาพถ่ายที่มีความละเอียดสูง มี Noise ต่ำ แม้ถ่ายภาพที่ความเร็วแสงสูงขนาด ISO 102400 รวมทั้งสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องให้ภาพความละเอียดสูง ได้ 8 ภาพต่อวินาที (ในระบบ mechanic shutter ถ้าเป็นระบบ Electronic shutter จะถ่ายภาพได้ 7 ภาพต่อวินาที) และ ถ่ายภาพวิดีโอความละเอียดสูง 4K 60p

Sony Alpha 7 CR ติดตั้งระบบกันสั่นแบบ 5 แกนไว้ในตัวกล้องให้พร้อมใช้งาน สามารถลดการสั่นไหวในการถ่ายภาพได้สูงสุดถึง 7 สต็อป

ระบบโฟกัสของ Sony Alpha 7 CR เป็นแบบ Phase Detection on Sensors ประกอบด้วยจุดโฟกัสมากถึง 693 จุด คลุมพื้นที่ในการโฟกัสภาพได้ 79% เกือบทั่วทั้งภาพ

ความไวแสงในการถ่ายภาพ ตั้ง ISO ได้ตั้งแต่ ISO 100-32000 ปรับลดได้ถึง ISO 50 และปรับเร่งได้ถึง ISO 102400

ตัวกล้อง เป็น Magnesium alloy พร้อมด้วยระบบ Seal กันละอองน้ำและฝุ่น

ช่องมองภาพแบบ EVF แบบ Range finder Style อยู่ด้านข้าง แบบ OLED ความละเอียด 2.36 ล้านจุด จอแสดงภาพถ่าย แบบ TFT LCD ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 1.03 ล้านจุด

Sony Alpha 7 CR รุ่นนี้มีแถมกริปฐานกล้องมาให้ใช้งานสำหรับท่านที่จับกล้องแล้วรู้สึกว่าขนาดกล้องเล็กไป กริปฐานกล้องจะช่วยให้การจับถือกล้องได้เต็มมือมากขึ้น ซึ่งกริปนี้ได้รับการออกแบบมาดีมาสามารถเปิดเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้เลยโดยไม่ต้องถอดกริป

Grip ที่เพิ่มเข้ามา ช่วยให้การจับถือทำได้เข้ามือมากยิ่งขึ้น โดย Grip ตัวนี้ถูกออกแบบมาให้สำหรับการตั้งกล้องบนขาตั้งกล้อง และช่องสำหรับการเปลี่ยนแบตเตอรี่

Exmor R BIS sensors 61 Megapixel ให้ภาพที่มีความละเอียดสูง

คุณสมบัติที่เด่นเป็นพิเศษของ Sony Alpha 7 CR ก็คือ เป็นกล้องที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ที่มีความละเอียดสูงถึง 61 ล้านพิกเซลให้ใช้งาน ทำให้กล้องรุ่นนี้สามารถเก็บรายละเอียดของภาพถ่ายได้สูงมาก สามารถนำภาพไปขยายใหญ่ได้อย่างมีคุณภาพ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพในสายมืออาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสาย สตูดิโอ ที่ต้องการใช้งานภาพถ่ายไปขยายใหญ่สำหรับงานโฆษณา หรือ การถ่ายภาพที่นำภาพถ่ายมา Crop ภาพ ที่ยังคงให้ได้ภาพถ่ายที่เก็บรายละเอียดได้อย่างสมบูรณ์

เพื่อให้เห็นถึงคุณภาพการเก็บรายละเอียดของกล้อง Sony Alpha 7 CR เราลองมาพิจารณาภาพถ่ายในรูปแบบต่างๆ ของกล้อง Sony Alpha 7 CR รุ่นนี้กันดูว่าเก็บรายละเอียดได้อย่างน่าประทับใจอย่างไร

ภาพวิวป่า วิวป่าเปลี่ยนสี ถ่ายภาพด้วย Sony Alpha 7 CR ความละเอียดขนาด 61 ล้านพิกเซล จากภาพที่ได้ ทำการขยายภาพดูจะพบว่า ในภาพถ่ายสามารถเก็บรายละเอียดของใบไม้และกิ่งไม้เล็กๆ จำนวนมากได้เป็นอย่างดี

ภาพงานพลุ ภาพถ่ายการแสดงพลุจากงานวิจิตรเจ้าพระยา และพลุวันปีใหม่ที่ไอคอนสยาม ถ่ายด้วยกล้อง Sony Alpha 7 CR ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ความละเอียดสูง 61 ล้านพิกเซล เมื่อทำการขยายภาพออกมาจะเห็นเส้นพลุที่คมชัดสวยงาม และไฟล์มี Dynamic range ที่สูง เวลาปรับแต่งภาพจะง่าย ไม่เกิดเส้นแถบแบ่งเวลาไล่เฉดระหว่างส่วนมืดและส่วนสว่างของภาพ ซึ่งเรามักจะเห็นภาพพลุหลายภาพที่เกิดรอยจ้ำๆ ในบริเวณส่วนท้องฟ้า หรือตรงเส้นสีพลุที่ถูกปรับให้สีเข้มมากเกินไป แต่กับกล้อง Sony alpha7CR ให้ไฟล์ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับภาพอยู่มาก

ภาพหัวโขน การแสดงหุ่นละครเล็ก ทำการทดสอบถ่ายภาพวัตถุที่มีรายละเอียดมากๆ อย่างหัวโขนโลหะองค์ท้าวเวสสุวรรณองค์นี้ ด้วยกล้อง Sony Alpha 7 CR เซ็นเซอร์ 61 ล้านพิกเซล ภาพถ่ายที่ได้ พบว่า กล้อง Sony Alpha 7 CR สามารถเก็บรายละเอียดที่ประดับบนหัวโขนได้ทั้งหมด ถูกบันทึกมาได้อย่างครบถ้วน และยิ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อขยายภาพที่ 100%

แม้แต่การถ่ายภาพการแสดงหุ่นละครเล็กของ โจหลุยส์ ตัวหุ่น ทั้งลักษณะของตัวละครหุ่นที่ประดับตกแต่งแบบเดียวกับเครื่องแต่งกายโขน ลวดลายต่างๆ กล้องสามารถบันทึกรายละเอียดเอาไว้ได้อย่างครบถ้วนเพราะความละเอียดของกล้องที่สูงมากถึง 61 ล้านพิกเซล

ภาพนก เราลองมาดูวัตถุขนาดเล็กอย่างนกกันบ้าง ไฟล์ภาพที่ความละเอียด 61 ล้านพิกเซล ของ Sony Alpha 7 CR ทำให้เราสามารถถ่ายภาพเก็บรายละเอียดจนถึงเส้นขนนก เลยทีเดียว โดยเฉพาะกับการถ่ายภาพนกที่เกาะนิ่งๆ บนกิ่งไม้นั้น รายละเอียดต่างๆ บันทึกมาได้อย่างสบาย แม้ในขณะที่สภาพแสงจะแตกต่างกันไป ทั้งมืดและสว่าง เวลาเข้า กลางวัน หรือเวลาเย็น

ถ่ายภาพนกบิน คงจะมีคำถามละครับว่า แล้ว Sony Alpha 7 CR สามารถนำไปถ่ายภาพนกบิน นก Actions ได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ได้ครับ แม้ว่ากล้อง Sony Alpha 7 CR รุ่นนี้จะไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีความรวดเร็วในการโฟกัส หรือ โฟกัสติดตามวัตถุได้อย่างแม่นยำ เช่นกล้อง Sony Alpha 9 II หรือ Sony Alpha 1 แต่ถึงกระนั้นจากการทดสอบ พบว่าในการถ่ายภาพนั้นแม้กล้องจะจับภาพและโฟกัสติดตามวัตถุได้อย่างรวดเร็วเท่ากับกล้องที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะ แต่ถ้าระบบโฟกัสจับโฟกัสวัตถุได้ ก็พบว่า สามารถใช้ถ่ายภาพนกบินได้ภาพเหมือนกัน

ข้อน่าสังเกตก็คือ แม้ว่ากล้อง Sony alpha 7CR จะไม่ได้ถูกวางตำแหน่งของกล้องมาให้ถ่ายงานประเภทแอคชั่นเพราะระบบถ่ายภาพต่อเนื่องทำได้เพียง 8 ภาพต่อวินาที แต่สำหรับภาพนกประเภทแอคชั่นนั้น เหตุการณ์จะเกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที ซึ่งเร็วกว่ากล้องแน่ๆ แต่เราสามารถใช้การถ่ายภาพแบบติดตามการเคลื่อนไหวโดยแพนกล้องและโฟกัสภาพไปด้วย แล้วเลือกจังหวะกดชัตเตอร์บันทึกภาพในจังหวะที่ต้องการ ก็สามารถได้ภาพที่สวยงามได้ แม้จะไม่ได้ภาพนกในทุกอิริยาบทแบบการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (ถ่ายรัวๆ) แต่คุณภาพจากไฟล์กล้องที่ความละเอียด 61 ล้านนั้น ก็ให้ผลตอบแทนที่คุ้มเกินคุ้มอย่างที่เห็นนี่แหละครับ

Dynamic Range ในการถ่ายภาพในสภาพแสงที่มีค่าแสงแตกต่างกันสูงในภาพเดียวกัน สิ่งที่เราต้องการก็คือ การเก็บรายละเอียดในส่วนมืดและในส่วนสว่างของภาพในภาพถ่าย ไฟล์ภาพของกล้อง Sony Alpha 7 CR ที่ได้มีความยืดหยุ่นมาก มี Dynamic Range ที่กว้าง เพียงพอให้เราสามารถดึงรายละเอียดได้ทั้งหมดในการปรับแต่งภาพจาก RAW file

ISO ในเรื่องของความไวแสงในการถ่ายภาพของกล้องรุ่นนี้นั้น จากการทดสอบถ่ายภาพตั้งความไวแสง ISO 100-51200 และที่ ISO 65535 พบว่า

ภาพถ่ายที่ ISO 100-1600 ไม่มี Noise ให้เห็นแต่อย่างใด ภาพถ่ายมีรายละเอียดสูง สีสันสดใส ความคมชัดสูง

ภาพถ่ายที่ ISO 3200-6400 พบว่ามี Noise ปรากฏบ้างแต่ต่ำมาก ภาพถ่ายยังมีรายละเอียดสูงสีสันสดใน

ภาพถ่ายที่ ISO 12800-65535 พบว่า มี Noise มากขึ้นตามลำดับ ภาพถ่ายมีความคมชัด และการเก็บรายละเอียดได้ลดลงตามลำดับ

Stack Focusing ใครที่เคยลองถ่ายภาพ Landscape แบบนี้คงจะรู้สึกแปลกตาอยู่บ้าง ใช่แล้วครับ ภาพนี้ทำการ stack ภาพโดยเลือกถ่ายภาพโดยการโฟกัสภาพทั้ง ฉากหน้า บริเวณกลางภาพ และฉากหลังของภาพ บันทึกภาพทั้งหมดแล้วนำมา stack รวมกันด้วยโปรแกรมอีกครั้ง ซึ่งในกล้อง Sony alpha7CR ตัวนี้มีโหมดการถ่ายภาพแบบ Focus Bracketing แล้วนำภาพรวม Stack รวมกัน มาให้ใช้ด้วย

การใช้งาน focus bracketing ในกล้อง Sony alpha 7CR การถ่ายภาพวัตถุต่างๆ ในระยะใกล้ อย่างการถ่ายภาพสินค้า ตัวอย่างในที่นี้คือ แว่นตา ปกติเมื่อเราถ่ายภาพแว่นตาแบบนี้ เราจะได้ภาพที่ชัดแค่จุดที่เราโฟกัส เช่นตรงมุมด้านหน้าของแว่นเท่านั้น ยกเว้นแต่เราถ่ายภาพให้กว้างขึ้น แล้วไป Crop เอาภายหลัง แต่ถ้าเราต้องการถ่ายภาพแบบเต็มเฟรม และต้องการความชัดลึกสูง การทำ stack เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีและ Sony alpha 7CR ก็มีโหมดบันทึกภาพ Focus Bracketing ทำให้เราสามารถควบคุมความชัดลึกในภาพได้ โดยเข้าไปตั้งค่ากล้องตามภาพได้เลยครับ

เข้าไปที่เมนู Drive Mode เลิอก Bracket Settings เลือก Focus Bracket Setting

ที่ Focus Bracket Order จะมีให้เราเลือก 0>+ คือให้กล้องถ่ายโฟกัสจากจุดที่เราเลือกและไล่ไปจนถึง อินฟินิตี้หรือจนถึงจำนวนภาพที่เรากำหนดไว้ (จากหน้าไปหลัง) ส่วน 0>->+ จะเป็นการเลือกให้กล้องถ่ายภาพจากจุดโฟกัส และขยับมาด้านหน้าของจุดที่โฟกัสด้วย (หน้ามาหน้ากว่า และไปหลัง)

ที่ Exposure Smoothing เลือก On ถ้าอยากให้กล้องปรับค่าการบันทึกภาพให้กลมกลืน หรือถ้าต้องการเอาไปปรับแต่งทีหลังก็อาจจะเลือก Off

ที่ Shooting Interval ถ้าต้องการให้กล้องบันทึกภาพเลยที่เปิดโหมดนี้ก็เลือก Shortest หรือจะเลือกแบบหน่วงเวลาได้ตามต้องการ

ที่ Focus Bract Saving Dest สามารถเลือกให้กล้องแยกไฟล์ไปไว้ในโฟรเดอร์ใหม่ได้ ไม่ต้องปนกับภาพที่ถ่ายในโหมดปกติ

ในการใช้งานโหมด Focus Bracket Settings ให้กดปุ่ม Drive Mode ที่แหวนหลังกล้อง เลื่อนลงไปเรื่อยๆ แล้วจะเจอโหมด Focus Bracket

ในโหมดนี้ ทางฝั่งซ้ายเราต้องกำหนด Step Width ตรงนี้จะเป็นการเลือกว่าภาพของเรามีระยะของการโฟกัสมากน้อยเท่าใด โดยจะกำหนดค่าตั้งต้นไว้ที่ เบอร์ 4 (Standard) และถ้าเป็นภาพที่มีระยะห่างมากให้เลือกเบอร์ 10 (Wide) จากนั้นทางฝั่งขวา จะเป็นการกำหนดจำนวนภาพที่เราต้องการ ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับภาพที่เราต้องการให้กล้องทำการโฟกัส

กำหนดจุดโฟกัสเริ่มต้นในภาพ ว่าเราต้องการให้ภาพชัดที่จุดไหน โดยจะเน้นที่ระยะใกล้สุดก่อน ตามที่เราเลือกกำหนดในเมนู Focus Bracket Order

พอเรากดปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพ กล้องจะเริ่มบันทึกภาพโดยการโฟกัสไปตามระยะ และตามจำนวนภาพที่เรากำหนดไว้

เมื่อกล้องถ่ายภาพได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้แล้ว เราจะเห็นว่าจะมีภาพตั้งแต่โฟกัสที่จุดแรก ไปจนถึงปลายขาแว่น ซึ่งภาพทั้งหมดนี้เราต้องนำไปทำการ Stack ในโปรแกรมต่อไปครับ

ภาพหลังจากทำการ Stack เรียบร้อยแล้วจากภาพทั้งหมด 20 ภาพที่ถ่ายโดยใช้โหมด Focus Bracketing ในภาพจะเห็นว่าได้ภาพวัตถุโฟกัสจากหน้าสุดไปถึงหลังสุดตามที่ต้องการ

บทสรุป

กล้อง Sony Alpha 7 CR ได้รับการออกแบบกล้องมาในลักษณะของ Range finder Style ที่มีช่องมองภาพอยู่ทางขวามือ แบบกล้อง Retro ในแนว Classic แต่ติดตั้งเซ็นเซอร์ขนาด Full frame ที่มีความละเอียดสูงมากถึง 61 ล้านพิกเซล ซึ่งเป็นจุดเด่นของกล้องรุ่นนี้ที่ให้ภาพถ่ายที่สามารถเก็บรายละเอียดของภาพได้สูงมาก ดังตัวอย่างที่นำมาให้ชมในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากล้องรุ่นนี้จะไม่ได้รับการออกแบบพัฒนามาให้เป็นกล้องที่มีความเร็วสูงเพื่อใช้ในการถ่ายภาพที่ต้องการความเร็วสูงในแนว Action Camera แต่ก็พบว่ากล้องรุ่นนี้ก็มีสมรรถนะที่ดีพอตัวเลยทีเดียวถ้าจะใช้ถ่ายภาพในแนว Action แม้ในด้านความเร็วจะน้อยกว่า Sony A9 II หรือ Sony A1 แต่คุณภาพของภาพถ่ายที่ได้ Sony Alpha 7 CR สามารถเก็บรายละเอียดของวัตถุที่ดีกว่าครับ…