เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

ในการถ่ายภาพนกนั้น ส่วนใหญ่แล้วเราจะแบ่งภาพนกออกเป็น 2 รูปแบบคือ ภาพนกที่เกาะอยู่นิ่งๆ (Birds Portrait) และภาพนกที่กำลังบิน หรือลีลาการเคลื่อนไหวอื่นๆ (Birds Action) การที่เราจะถ่ายภาพทั้ง 2 แบบนี้ให้ได้ผลดีนั้น การตั้งค่ากล้องให้เหมาะสมถือเป็นเรื่องที่เราต้องทำ ซึ่งมีเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจกับกล้องของเราอยู่ไม่กี่ข้อ และในบทความนี้จะแนะนำการตั้งค่ากล้องสำหรับถ่ายภาพนกที่จะใช้เป็นพื้นฐานเบื้องต้นครับ

Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/3200 sec. f/6.3, ISO 2500

Exposure M Mode โหมดถ่ายภาพแมนนวล

โหมดถ่ายภาพแนะนำให้เลือกใช้โหมด M เพื่อที่เราจะควบคุม Shutter speed และ F-stop ได้ตามต้องการ โดยเฉพาะค่า Shutter speed นั้น ควรใช้ไม่น้อยกว่าทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ สำหรับการถ่ายนกทั่วๆ ไป และควรใช้สูงกว่า 1/1000 sec. สำหรับการหยุดปีกของนกในขณะที่กำลังบิน หรือจังหวะลีลา Action ต่างๆ ของนก ส่วนค่า F-stop นั้นถ้าเป็นไปได้ อย่าใช้ค่า F ที่กว้างจนเกินไปเพื่อรักษาระยะชัดของภาพ ค่า F ที่เหมาะสมจะอยู่ช่วงกลางๆ ที่ 5.6-8 ตามสภาพแสงในขณะถ่ายภาพ

 

Auto ISO Sensitivity ตั้งค่า ISO Auto

เมื่อเราเลือกใช้โหมดถ่ายภาพโหมด M ในเรื่องของการวัดแสงจะมาอยู่ที่ค่า ISO ในการถ่ายภาพนกนั้นเราต้องใช้ความรวดเร็วในการถ่ายภาพ การวัดค่าแสงอย่างพิถีพิถันคงทำให้เสียเวลาไม่ใช่น้อย ดังนั้นควรปล่อยให้กล้องช่วยเราทำงานบ้าง ซึ่งทำได้ด้วยการเลือกใช้ ISO Auto โดยเราเลือกช่วงของค่า ISO อยู่ที่ 100-6400 ซึ่งมีคุณภาพของภาพที่ดีและเพียงพอต่อสภาพแสงที่เปลี่ยนไปมาได้ และเราจะควบคุมค่าแสงของภาพอีกครั้งด้วยการปรับที่แหวนตั้งค่าชดเชยแสงในเวลาถ่ายภาพแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงของแสง หรือเราอยากให้ภาพมืดหรือสว่างกว่าเดิม

Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/3200 sec. f/6.3, ISO 1600

Hi-Continuous Shooting ระบบถ่ายภาพต่อเนื่องสูง

เลือกระบบถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง แนะนำว่าให้เลือกที่ Hi สูงสุดไปเลย ในระบบถ่ายภาพต่อเนื่องแบบ Hi ของ Sony alpha 9 และ alpha 9 mark II นั้น บันทึกภาพที่ 20 เฟรมต่อวินาที ช่วยให้เราไม่พลาดชอตสำคัญที่เราต้องการ โดยเฉพาะเวลาที่เราถ่ายภาพนกที่กำลังบินอยู่ หรือจังหวะลีลาต่างๆ ของนกเราสามารถบันทึกภาพต่อเนื่องได้ยาวจนกว่าการ์ดของเราจะเขียนข้อมูลไม่ทัน

 

Focus Mode AF-c ระบบโฟกัส AF-c

ระบบโฟกัสของกล้องควรปรับไว้ที่ AF-c เพราะในการถ่ายภาพนกนั้น ส่วนใหญ่แล้วนกจะเคลื่อนไหวไปมา ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่สักเท่าไหร่นัก ระบบโฟกัสแบบ AF-c จะทำงานอย่างต่อเนื่อง และปรับโฟกัสไปเรื่อยๆ ตามวัตถุที่เคลื่อนที่ เมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งและค้างไว้ หรือกดปุ่ม AF-on ทำให้เรามีโอกาสได้ภาพที่คมชัด และโฟกัสวัตถุได้ทันเสมอ

 

Focus Area พื้นที่โฟกัส

Focus Area หรือพื้นที่ในการโฟกัส คือการเลือกจุดที่จะโฟกัสในพื้นที่กรอบภาพของเรา ว่าเราจะให้กล้องโฟกัสที่จุดไหนในเฟรมภาพ ซึ่งในกล้อง Sony นั้นเราสามารถเลือก Focus Area ได้หลายรูปแบบ

Wide กล้องจะเลือกจุดโฟกัสให้เองอัตโนมัติ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพนกที่บินอยู่บนท้องฟ้าโล่งๆ หรือพื้นหลังโล่งๆ ไม่เหมาะกับภาพที่มีองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่นฉากหลังที่รก พุ่มไม้ ฯลฯ

Zone เป็นการระบุโซนหรือตำแหน่งเป็นส่วนๆ เพื่อที่กล้องจะได้โฟกัสในบริเวณนั้นๆ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพนกที่กำลังเคลื่อนไหวไปมาในบริเวณกรอบพื้นที่โฟกัสที่เราตั้งไว้ 

Center กล้องจะโฟกัสที่จุดกึ่งกลางเพียงจุดเดียว

Sony α9. Lens 100-400 mm. GM 1/1600 sec. f/6.3, ISO 640

Flexible Spot เป็นระบบการเลือกจุดโฟกัสด้วยตัวเอง ว่าต้องการโฟกัสไปที่ตำแหน่งใดโดยเฉพาะ โดยสามารถเลือกขนาดของจุดโฟกัสได้ 3 ขนาด S, M, L เหมาะสำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการเน้นความคมชัดจุดใดจุดหนึ่ง เช่น การถ่ายภาพนกที่เกาะอยู่นิ่งๆ (Birds Portrait)     

Expand Flexible Spot จะคล้ายกับ Flexble Spot แต่กล้องจะสามารถโฟกัสภาพรอบๆ จุดที่เลือกได้ด้วยกรณีที่วัตถุมีการเคลื่อนที่หลุดจากจุดที่เราตั้งไว้ เหมาะกับการถ่ายภาพนกที่มีการเคลื่อนไหวเล็กน้อย ไม่ได้เคลื่อนที่เร็วมากนัก

Tracking Wide Area และ Tracking Zone Area จะทำงานเมื่อใช้งานระบบ AF-C เป็นการโฟกัสติดตามวัตถุตลอดเวลา เหมาะอย่างยิ่งกับการถ่ายภาพนกที่กำลังบิน หรือลีลาการเคลื่อนไหวอื่นๆ (Birds Action) 

 โดยเฉพาะการถ่ายภาพนกแบบ Action นั้น พื้นที่โฟกัสที่ควรลองใช้ก็คือ Wide Area, Zone Area, Flexible Spot, Tracking Wide Area และ Tracking Zone Area 5 แบบนี้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและควรลองเลือกใช้ในการถ่ายภาพนก ที่ผมใช้อยู่บ่อยที่สุดคือแบบ Flexible Spot และ Zone สำหรับภาพนกกำลังบินบนท้องฟ้า และนกที่กำลังเคลื่อนไหว อาจสลับมาใช้แบบ Wide Area, Tracking Wide Area และ Tracking Zone Area เป็นครั้งคราวไปตามลักษณะการเคลื่อนไหวของนกที่จะถ่าย รวมถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ ในภาพ

Sony α9. Lens 100-400 mm. GM 1/2000 sec. f/7.1, ISO 1250

AF subject-tracking sensitivity การตอบสนองของระบบโฟกัสติดตามวัตถุ

ในเมนู  AF Tracking sens. ใช้งานร่วมกับระบบโฟกัสแบบ AF-c โดยจะมีตัวเลือกให้เราสามารถเลือกได้ 5 ระดับตั้งแต่ 1 (Locked on) 2, 3 (Standard) 4 และ 5 (Responsive) ความแตกต่างจะอยู่ที่ความเร็วในการตอบสนองของระบบโฟกัสต่อวัตถุที่เคลื่อนไหวในเฟรมภาพ โดยค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ระดับ 3 (Standard) และการตอบสนองมากจะอยู่ที่ระดับ 5 (Responsive) กล้องจะจับโฟกัสตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีวัตถุใดเลื่อนที่เข้ามาในเฟรมภาพ ส่วนระดับ 1 (Locked on) จะเป็นการล๊อกเป้าหมายที่เราโฟกัสในตอนแรกไปตลอด แม้ว่าจะมีวัตถุอื่นเคลื่อนไหวแทรกเข้ามากล้องจะไม่เปลี่ยนจุดโฟกัส AF subject-tracking sensitivity ทั้ง 5 ระดับนี้เราเลือกใช้งานแตกต่างกันตามลักษณะของภาพนกที่เราจะถ่าย ปกติแล้วถ้าไม่มีสิ่งรบกวน หรือเป็นนกตัวเดียว บินมาเดี่ยวๆ ผมจะเลือกใช้ระดับ 3-5 และถ้ามีสิ่งรบกวน เช่นลมพัดกิ่งไม้ไหวไปมา หรือมีนกหลายตัว และต้องการจับเป้าที่นกตัวใดตัวหนึ่งเฉพาะ ผมจะเลือกใช้ ระดับ 1-2

Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/6.3, ISO 640

Face/Eye AF Set โฟกัสดวงตา

ในการถ่ายภาพนกนั้นระบบโฟกัสดวงตาอาจจะไม่ได้ทำงานกับภาพนกมากนัก แต่ถ้ามีโอกาสได้ถ่ายภาพนกในระยะที่ใกล้พอสมควรแล้วล่ะก็ระบบโฟกัสดวงตาก็สามารถทำงานได้เช่นกัน โดยเฉพาะกับภาพนกที่เกาะนิ่งๆ บนกิ่งไม้ ดังนั้นการเปิด on ระบบโฟกัส Eye AF ก็สามารถทำงานได้ แล้วอย่าลืมเลือกรูปแบบสำหรับดวงตาของสัตว์ด้วยล่ะ มีข้อควรระวังอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ ในการถ่ายภาพนกที่อยู่ระยะไกล ควรปิด off ระบบ Eye AF เพราะระบบโฟกัสอาจจับวัตถุอื่นเช่น ผิวของเปลือกไม้โดยเข้าใจว่าเป็นดวงตาได้ ดังนั้นถ้าระยะใกล้ on ระยะไกล off เท่านั้นเองครับ

Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/1250 sec. f/6.3, ISO 1250

Custom key การตั้งปุ่มคีย์ลัด

การตั้งปุ่มคีย์ลัด Fn ในกล้องนั้นช่วยให้เราปรับตั้งค่าต่างๆ ละเปลี่ยนแปลงค่าต่างๆ ในกล้องได้สะดวก รวดเร็ว และว่องไวมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เราถ่ายภาพนกนั้นหลายจังหวะเกิดขึ้นรวดเร็ว การตั้งค่ากล้องโดยใช้คีย์ลัดช่วยให้เราทำงานสะดวกและง่ายขึ้นมาก ส่วนใหญ่สิ่งที่ผมจะตั้งเอาไว้ที่ปุ่ม Fn C1 และ C2 (อยู่บริเวณด้านบนใกล้ปุ่มชัตเตอร์) ให้เป็นปุ่มปรับ AF Area และปุ่มปรับ AF Tracking Sensitive 1-5 เพื่อที่จะได้สามารถเปลี่ยนรูปแบบของพื้นที่โฟกัสและการตอบสนองของ AF Tracking ได้ตลอดเวลา

Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/4000 sec. f/7.1, ISO 640

Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/6.3, ISO 800

อีกปุ่มหนึ่งที่ช่วยให้เราปรับระบบโฟกัส Tracking ให้ทำงานได้ตามที่เราต้องการคือ Tracking On โดยสามารถตั้งไว้ที่ปุ่ม Focus Hold ที่กระบอกเลนส์ ซึ่งใช้งานได้สะดวกมากเวลาที่เรากำลังถ่ายภาพ ส่วนการกดโฟกัสภาพนั้น ผมใช้ทั้งการกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง และการกดที่ปุ่ม AF-On ที่อยู่หลังกล้อง ขึ้นอยู่กับลักษณะของภาพนกที่กำลังจะถ่าย

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราต้องปรับตั้งค่ากล้องสำหรับการถ่ายภาพนก ทั้งหมดนี้เป็นเพียงพื้นฐานการปรับตั้งกล้องที่ต้องทำเท่านั้น ส่วนรายละเอียดในแต่ล่ะส่วนของค่าต่างๆ ซึ่งเราจะพบว่าค่าไหนเหมาะสมกับภาพแบบไหนสิ่งสำคัญคือการนำไปทดลองถ่ายภาพจริงๆ เพราะยังมีปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้เช่น ความเร็วในการเคลื่อนไหวของนกแต่ล่ะชนิด สภาพแสง สภาพพื้นที่ถ่ายภาพ ความนิ่งของช่างภาพ ซึ่งแต่ละคนจะมีค่าที่เหมาะสมแตกต่างกันออกไป แม้ในบทความนี้จะเน้นที่การตั้งค่ากล้องสำหรับถ่ายภาพนกในกล้อง Sony α9 และ α9II แต่ท่านก็สามารถนำไปปรับใช้กับกล้องโซนี่รุ่นอื่นๆ ได้เช่นกันนะครับ…

Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/3200 sec. f/6.3, ISO 3200

Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/3200 sec. f/6.3, ISO 3200

Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/3200 sec. f/6.3, ISO 1250

Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/1600 sec. f/6.3, ISO 1000

Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/6.3, ISO 250

Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/7.1, ISO 1000

Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/6.3, ISO 1000

Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/3200 sec. f/6.3, ISO 2000