เรื่อง+ภาพ : Broncos SL3

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 248/2018 May

ในบรรดากล้อง Mirrorless ที่มีขายอยู่ในท้องตลอดเวลานี้หลายๆ คนคงลืมไปว่าบริษัทผู้ผลิตกล้อง DSLR รายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง Canon ก็ยังมีกล้อง Mirrorless อยู่ด้วยเช่นกัน ที่ถึงแม้จะยังไม่ลงมาอย่างเต็มตัวนัก แต่ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ และเริ่มจะมีอนาคตที่สดใสขึ้นทั้งในด้านคุณสมบัติ รูปร่าง และที่สำคัญก็คือสิ่งที่มีในกล้องตัวนี้นั้น จะเป็นบรรทัดฐานในการพัฒนากล้อง Mirrorless Fullframe ของ Canon อย่างแน่นอน กล้องที่เราจะพูดถึงในวันนี้ก็คือ CANON EOS M50 นี่เองครับ

จุดเด่นของ EOS M50

*เป็นกล้อง Mirrorless ราคาประหยัดสำหรับผู้เริ่มต้น ใช้ Sensor ขนาด APSC ตัวคูณ 1.6 ความละเอียด 24.1 ล้านพิกเซล

* ใช้ระบบการหาโฟกัสแบบ Phase detection + Contrast detection ที่ปรับปรุงเพิ่มในชื่อ Dual Pixel AF มีกรอบโฟกัสถึง 199 จุด (กับเลนส์ที่รองรับ)

* ทำงานในพื้นที่เกือบเต็มช่องมองภาพ รองรับทั้งภาพนิ่งและ Video ที่ความละเอียด 1080p

* สามารถถ่าย Video ความละเอียด 4K ได้ที่ 25 เฟรมต่อวินาที

* มีช่องมองภาพ EVF OLED ความละเอียด 2.36 ล้านพิกเซล เพื่อใช้งานได้สะดวกเวลาอยู่กลางแจ้ง

* จอ LCD ขนาด 3 นิ้ว ความละเอียด 1.04 ล้านพิกเซล พับและพลิกจอกลับมาถ่ายตนเองได้

* ระบบประมวลผลใหม่ Digic 8 เพิ่มความเร็วในการทำงานและลดสัญญาณรบกวนในภาพลงได้อีก

* ระบบการบันทึกภาพ RAW แบบใหม่ CR3 ให้บิทสีสูง 14 บิท และยังมีไฟล์แบบ cRAW หรือไฟล์ RAW แบบบีบอัด ที่ลดขนาดไฟล์ลงไปกว่า 50%

* แต่ยังคงความสามารถได้พอกับไฟล์ RAW แบบ Lossless compress

* ครบครันทุกการเชื่อมต่อทั้ง Wifi BT และ NFC

* มีระบบกันสั่นแบบ Enchance โดยใช้ Gyroในตัวกล้องทำงานร่วมกับระบบ IS ในเลนส์ ใช้งานได้ทั้งการถ่ายภาพนิ่งและการถ่ายวิดีโอ

* มีระบบป้องกันการสั่นไหวแบบ Digital 5 Axis เมื่อถ่ายวิดีโอ

* รองรับเลนส์ได้หลากหลาย ทั้งเลนส์ที่เป็นเมาท์ EF-M และยังใช้กับ Adaptor เพื่อใส่กับเลนส์ Mount EF และ EF-S โดยทำงานอย่างเต็มระบบอีกด้วย

 

การออกแบบ

Canon ออกแบบ M50 โดยผสมผสานระหว่างกล้องตัวเล็กบางอย่าง EOS M100 และกล้องที่มี EVF ในตัวอย่าง EOS M5 โดยมีการปรับให้เหมาะสมกับระดับของกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือมีขนาดตัวกล้องที่ย่อมลงมาจาก M5 เล็กน้อย น้ำหนักลดลง 40 กรัม (จาก 427 กรัมเหลือ 387 กรัม) แต่ยังมีกริปที่ทำให้การจับถือถนัดมือ และมี EVF ที่เหมาะกับการใช้งานกลางแจ้งเพื่อการเล็งภาพและจัดองค์ประกอบได้ดีกว่า M100 แต่ M50 ก็มีการลดปุ่มและแป้นปรับลงไปจาก M5 อยู่บ้าง โดยเหลือแป้นหมุนปรับตั้งด้านหน้าที่ล้อมรอบปุ่มชัตเตอร์เพียงแป้นเดียว แป้นชดเชยแสงโดยตรง แป้นหมุนที่ด้านหลังกล้อง และแป้นปรับค่าที่ล้อมรอบปุ่ม Dual Function ถูกเอาออกไป โดยตำแหน่งของแป้นปรับชดเชยแสงเดิมถูกแทนที่ด้วยแป้นปรับระบบการบันทึกภาพ โดยมีสวิทช์ปิดเปิดซ้อนอยู่ด้านล่างของแป้นนี้อีกทีหนึ่ง

ด้านหลังของกล้องมีการเปลี่ยนแปลงจาก M5 และ M100 เล็กน้อยในตำแหน่งของปุ่มอัดวิดีโอและปุ่มชดเชยแสง แต่ที่แตกต่างจากทั้ง M5 และ M100 อย่างชัดเจนคือจอ LCD จากเดิมที่ M100 ใช้จอ LCD ความละเอียด 1.04 ล้านพิกเซลแบบพลิกขึ้นด้านบนได้ถึง 180 องศา เพื่อเซลฟี่หรือทำ Vlog ได้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถก้มจอเพื่อถ่ายภาพมุมสูงได้ กับ M5 ที่ใช้จอความละเอียดสูงถึง 1.6 ล้านพิกเซล และสามารถพลิกจอขึ้นได้ 90 องศาและพลิกจอม้วนกลับไปด้านหน้าได้ 180 องศาเพื่อทำการเซลฟี่หรือทำ Vlog ได้เท่านั้น

EOS M50 เปลี่ยนมาใช้จอ LCD ความละเอียด 1.04 ล้านพิกเซลแบบพลิกออกทางด้านข้าง และปรับหมุนได้ทุกทิศทางรวมถึงพับปิดจอ LCD ได้ด้วยในแบบ Full Articulating ทำให้การใช้งานเวลาถ่ายตัวเอง รวมถึงการทำ Vlog ที่จะต้องมีไมโครโฟนนอกและตั้งกล้องบนขาตั้งทำได้อย่างสะดวกมาก

ระบบโฟกัส

Canon EOS M50 ยังคงใช้ระบบการหาโฟกัสแบบ Dual Pixel AF ที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ Canon อยู่เช่นเดิม แต่ด้วยความช่วยเหลือของระบบประมวลผลใหม่ Digic 8 ที่มีความเร็วในการทำงานและมีความสามารถมากขึ้น โดยมีกรอบโฟกัสให้เลือกได้มากถึง 99 จุด กินพื้นที่ 80% ในช่องมองภาพเทียบกับใน EOS M5 ที่มีเพียง 49 จุดแล้วนับว่าต่างกันมาก และถ้าใช้กับเลนส์ที่ออกแบบมาใหม่อย่าง EF-M 18-150/3.5-6.3 หรือ EF-M 28/3.5 Macro และ EF-M 55-200/4.5-6.3 จะได้พื้นที่โฟกัสเพิ่มขึ้นเป็น 80×100% คือด้านสูงจะสามารถโฟกัสได้ถึงขอบ ได้จำนวนกรอบโฟกัสเพิ่มขึ้นเป็น 143 กรอบ และ EOS M50 ยังปรับแต่งการหาโฟกัสให้แม่นยำและรวดเร็วขึ้น สามารถหาโฟกัสในระบบ Ai Servo ได้ทันแม้จะถ่ายภาพต่อเนื่องที่ความเร็ว 7.4 ภาพต่อวินาที อีกทั้ง M50 ยังเพิ่มความสามารถในการหาโฟกัสที่ตาของนางแบบได้ ซึ่งจะให้ความคมชัดสูงสุดเวลาถ่ายภาพบุคคล แต่จะทำงานในระบบ Single AF เท่านั้น และระบบ Focus แบบ Dual Pixel Focus ยังทำงานได้แม้ในสภาพแสงน้อยระดับ EV-2 ISO 100 ซึ่งดีกว่าใน M5 อีก 1EV

 

ระบบประมวลผลใหม่ และลูกเล่นเพิ่มเติม

Canon EOS M50 ยังคงใช้เซ็นเซอร์ APS-C ความละเอียด 24.1 ล้านพิกเซลจากรุ่นพี่ EOS 80D และ EOS M5 M6 เนื่องจากเป็นเซ็นเซอร์ที่ให้รายละเอียดดี และมี Dynamic Range ที่ดีใกล้เคียงกับผู้ผลิตรายอื่น โดยเมื่อผสานกับระบบประมวลผลใหม่ล่าสุด Digic 8 ที่นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการหาโฟกัสและความเร็วในการทำงานสูงขึ้นมากแล้ว Digic 8 ยังมาพร้อมกับการบันทึกภาพในระบบ Raw file เวอร์ชั่นที่ 3 ที่มีทั้ง .CR3 RAW14 bit lossless compress และ cRaw ที่มีความละเอียดเท่าเดิมแต่มีขนาดไฟล์เพียง 40% เมื่อเทียบกับ RAW แบบปกติ

ไม่เพียงเท่านั้น EOS M50 ยังมีระบบ Dual Sensing IS ที่อาศัยระบบ Gyroscopic ในตัวกล้อง ส่งข้อมูลไปยังเลนส์ที่มีระบบ IS และรองรับเทคโนโลยีนี้ อันได้แก่ EF-M 15-45/3.5-6.3 IS STM, EF-M 18-150/3.5-6.3 IS STM และ EF-M 55-200/4.5-6.3 IS STM เพื่อเพิ่มความสามารถของระบบ IS ในเลนส์เพิ่มจากเดิมอีก 0.5 สตอป สำหรับการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ และในการถ่ายวิดีโอ ยังมีระบบป้องกันการสั่นไหวของภาพ 5 แกนในแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาด้วย

Video 4K ครั้งแรกกับกล้อง MRL จาก Canon

Canon EOS M50 เป็นกล้องตัวแรกของตระกูล EOS ที่ไม่ใช่กล้องระดับมืออาชีพ แต่ได้ระบบการถ่ายวิดีโอแบบ 4k มาให้ใช้งานกัน ทำงานโดยใช้พื้นที่ส่วนกลางของเซ็นเซอร์ในการบันทึก ทำให้องศาการรับภาพเล็กลงเทียบเท่าตัวคูณ 2.5 เมื่อเทียบกับกล้องฟูลเฟรม และยังไม่สามารถใช้กับระบบการหาและติดตามโฟกัสแบบ Dual Pixel AF ได้

แต่ถึงระบบวิดีโอแบบ 4K จะมาแบบไม่เต็มที่นักตามระดับราคาของกล้อง แต่ M50 ก็ยังมีไม้เด็ดที่วิดีโอแบบ FHD ที่ใช้ระบบหาโฟกัสแบบ Dual Pixel AF ได้ และยังสามารถถ่ายภาพความเร็วสูงระดับ FHD 50P HD100P และ M50 ยังสามารถถ่ายภาพแบบเว้นช่วงเวลาหรือ Timelapse และรวมให้เป็นคลิปวิดีโอแบบง่ายๆ ที่ผู้ใช้ไม่ต้องมาจัดการในคอมพิวเตอร์ทีหลังอีกด้วย

 

ระบบการทำงาน

ถึง EOS M50 เป็นกล้องสำหรับผู้เริ่มต้นในการถ่ายภาพ แต่ก็มีระบบการถ่ายภาพมาให้ครบทั้งระบบอัตโนมัติทั้งหมด และระบบที่ผู้ใช้สามารถควบคุมกล้องได้ด้วยตนเอง รวมถึงการเพิ่มลูกเล่นแปลกๆ เช่นการทำภาพแบบเสมือนใช้เลนส์ตาปลา ให้ภาพเหมือนกับภาพวาดสีน้ำปรับปรุงการตั้งค่า effect ต่างๆ เช่น สีผิว การเบลอฉากหลังให้ใช้งานง่ายขึ้น และสามารถเลือก UI หรือ User Interface ให้เป็นแบบรูปภาพที่เข้าใจง่าย หรือเป็นแบบที่คนใช้งานกล้องทั่วไปก็ใช้ได้ครับ และที่เหนือกว่า Mirrorless และกล้อง DSLR ของแคนอนทุกรุ่นก็คือ M50 มีระบบถ่ายภาพแบบเงียบ Silent shutter มาให้แล้วครับ

ผลการใช้งาน

กล้องตัวนี้เป็นกล้องที่ผมซื้อมาใช้งานเองนะครับ โดยซื้อเป็นแบบชุดคิทเพราะทางร้านไม่มีชุดบอดี้อย่างเดียว โดยมีเลนส์ที่ใช้งานอยู่ด้วยหลายตัว ได้แต่ EF-M 11-22/4-5.6 IS STM, EF-M 22/2 STM, EF-M 15-45/3.5-6.3 IS STM, EF-M18-150/3.5-6.3 IS STM และใช้งานร่วมกับ Adaptor EF-EFM เพื่อนำเลนส์ EF 50/1.8 STM และ EF-s 55-250/4-5.6 IS STM มาใช้ด้วย ที่มีเลนส์เยอะเพราะผมใช้ EOS M10 และ M5 อยู่ด้วย พอได้มาก็นำไปใช้งานในชีวิตประจำวันติดตัวตลอด แต่ยังไม่ได้ออกไปไหนไกลๆ ผลการใช้งานพอจะบอกได้ตามนี้นะครับ ที่แน่ๆ คือผมขาย M5 ไปเลย!

 

ตัวกล้องและการจับถือ

ถ้าเทียบกับ EOS M5 แล้ว M50 มีขนาดตัวกล้องที่เล็กลงมาอีกนิดหน่อย กริบจับบางกว่านิดนึงแต่ก็ยังจับถนัดดี แป้นหมุนด้านหน้ายังคงปรับหมุนได้สะดวกซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะ M50 เหลือแป้นหมุนอยู่ตัวเดียวแล้ว เพราะฉะนั้นความคล่องตัวเวลาบังคับควบคุมกล้องเช่นการปรับชดเชยแสง ISO หรือ WB จะไม่คล่องแคล่วเท่ากับ M5 โดยเฉพาะการปรับชดเชยแสงที่ย้ายลงมาอยู่ด้านหลังกล้อง ต้องกดแล้วหมุนแป้นนี่ลำบากมาก ยังดีที่ตัวกล้องสามารถ Custom ปุ่มให้ทำหน้าที่เปลี่ยนไปจากเดิมได้ ผมเลยคัสตอมปุ่ม M.Fn ให้เป็นปุ่มสลับเลือกปรับการชดเชยแสงหรือปรับรูรับแสง แล้วย้ายการปรับ ISO ไปอยู่ที่ตำแหน่งชดเชยแสงแทนทำให้ใช้งานได้ดีขึ้นหน่อย ซึ่งตรงนี้จะมีผลเวลาที่เราเล็งกล้องผ่าน EVF นะครับ แต่ถ้าใช้จอ LCD ด้านหลังนี่ แตะจอที่ตำแหน่ง Q มุมบนขวาสุด เข้า Quick Menu แล้วใช้ทัชสกรีนในการปรับจะสะดวกคล่องตัวกว่าเยอะมากๆ ครับ

แต่ถึงจะด้อยเรื่องการควบคุมกล้อง M50 ก็มีจุดเด่นมากตรงจอ LCD หลังกล้อง ถึงแม้ความละเอียดจะมีเพียง 1.04 ล้านพิกเซลและสีสันไม่จัดจ้านนัก (ตรงข้ามกับ EVF ที่สีสันและคอนทราสจัดจ้านเกินจริงไปสักหน่อย) แต่ด้วยความที่มันพลิกออกด้านข้าง และหมุนขึ้นได้ 180 องศา และหมุนลงได้ 90 องศา ทำให้การถ่ายภาพทั้งมุมต่ำ มุมสูง พลิกจอมาถ่ายตัวเอง หรือแม้แต่การถ่ายภาพแนวตั้งในมุมสูงหรือต่ำทำได้อย่างคล่องตัวมาก และคนที่ใช้กล้องตัวนี้สำหรับงาน Vlog จะชอบมาก เพราะตำแหน่งจอแบบออกข้างทำให้ติดไมโครโฟนไว้ที่ฮอทชูกล้องได้ ไม่ต้องต่อขาไมค์ต่างหากให้วุ่นวาย และยังสามารถใช้ขาตั้งกล้องได้ตามปกติ เป็นครั้งแรกของกล้องตระกูลนี้ที่ทำจอแบบนี้ออกมาครับ และ M50 ก็มีช่องเสียบไมค์นอกมาด้วย เหมือนจะแก้ข้อด้อยที่ชาว Vlogger บ่นกันมาเลยทีเดียว แต่มาเสียท่าอยู่หน่อยคือไม่แสดงระดับสัญญานเสียงบนจอขณะทำการถ่ายวิดีโอนะครับ

ระบบโฟกัส และความเร็วในการทำงาน

นี่คือเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับผมค่อนข้างมาก จากเดิมที่ EOS M5 มีระบบการหาโฟกัสที่รวดเร็วและนุ่มนวลดี แต่จะมีความหน่วงในการทำงานของกล้องในบางจุดอยู่บ้าง เช่น เวลากดชัตเตอร์จอ EVF หรือจอ LCD หลังกล้องจะมืดไปช่วงหนึ่ง และถ้าถ่ายในระบบการถ่ายทีละภาพแต่กดชัตเตอร์รัวๆ นั้นจะมีการหน่วงราวๆ ครึ่งวินาทีต่อรูป ซึ่งตอนแรกผมก็คิดว่า M50 จะเหมือนเดิม แต่ด้วย Digic 8 ที่ปรับความเร็วในการทำงาน และหาโฟกัสใหม่ ทำให้กล้องทำงานได้เร็วขึ้นมาก กลายเป็นว่า EOS M50 เป็นกล้องที่ No Blackout หรือไม่มีช่วงที่ภาพมืดเวลากดชัตเตอร์ ไม่ว่าจะทั้งแบบถ่ายทีละภาพหรือต่อเนื่องก็ตาม อันนี้อึ้งมากครับ

นอกจากนั้น ระบบ AF แม้จะกินพื้นที่เท่าเดิมแต่ก็มีจุดโฟกัสมากขึ้นเท่าตัว (49 เป็น 99) และถ้าใช้เลนส์ที่เป็นรุ่นใหม่อย่าง 18-150, 28 macro, 55-200 จะได้พื้นที่โฟกัสมากขึ้นอีกเป็น 143 จุดอีกด้วย ความสามารถในการโฟกัสแบบทีละภาพนั้นได้เพิ่มระบบ EYE AF ที่โฟกัสดวงตาได้อย่างแม่นยำเข้ามาอีก ถึงแม้จะยังไม่สามารถใช้กับระบบการหาโฟกัสแบบต่อเนื่องได้ แต่ก็ถือว่ามีพัฒนาการเพิ่มขึ้นมาแล้ว ส่วนระบบการหาโฟกัสแบบต่อเนื่องก็นุ่มนวล แม่นยำและเร็วพอที่จะถ่ายต่อเนื่องได้สูงถึง 7.4 เฟรมต่อวินาที ดีกว่าใน M5 เช่นกันครับ และเวลาถ่ายวิดีโอ ระบบ Dual Pixel AF ที่สามารถเกาะจับใบหน้าของแบบได้อย่างแม่นยำ และเวลาแตะที่จอ LCD เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งโฟกัสก็ทำได้อย่างนุ่มนวลและแม่นยำเป็นอันดับต้นๆของวงการเลยทีเดียว สรุปได้ว่าเรื่องการหาโฟกัสไม่ใช่ปัญหาของกล้องตระกูลนี้อีกต่อไป ลืมฝันร้ายจาก EOS M M2 M3 และ M10 ไปได้เลยครับ

 

ไฟล์ภาพและการใช้พลังงาน

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นผลพวงของ Digic 8 Processor ก็คือผลทางด้านไฟล์ภาพนี่เองครับจากเดิมที่ M5 ก็ให้ไฟล์เจเปคที่สีสันและความคมชัดที่ดีขึ้นจากเดิม และดีขึ้นจากกล้อง DSLR ตัวคูณของตัวอยู่แล้ว แต่ยังมีลักษณะไฟล์แบบ Canon Style คือให้สีที่ค่อนข้างใส สีสันสดใสแต่ไม่เข้มจัดนัก แต่พลังของ Digic8 ตัวใหม่ ทำให้สีสันของ M50 ดุขึ้นไปอีกระดับ มีความอิ่มตัว น้ำหนักสีและคอนทราสที่แน่นขึ้นกว่าเดิมพอรู้สึกได้ และไฟล์ RAW แบบใหม่ CR3 ที่มีทั้งแบบ Lossless และแบบ Compress ก็ยังพัฒนาให้เซ็นเซอร์สามารถนำข้อมูลดิบมาแปลงเป็นสัญญาณขึ้นได้อีก การปรับ RAW ใน Adobe LR เพื่อลดความสว่างเกินไปของส่วนไฮไลท์ทำได้ดีกว่าใน M5 เดิมพอสมควร ในส่วนของการยกรายละเอียดที่มืดซึ่ง M5 ทำได้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว ใน M50 ก็ยังดีขึ้นอีกเล็กน้อยเช่นกัน ผมลองถ่ายภาพด้วย EOS M50 และ EOS 6D MK II โดยใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสพอๆ กันคือ EF-M 11-22 และ EF-16-35/4L is ตั้งค่าการเปิดรับแสงเท่าๆ กัน ถ่ายเวลาเดียวกัน แล้วลองปรับไฟล์โดยยกรายละเอียดส่วนมืดขึ้นเท่าๆ กัน ผลก็คือไฟล์จาก M50 ได้รายละเอียดในส่วนเงาที่ดีกว่า คมกว่าใน 6D MKII ด้วยซ้ำ!!! อันนี้ผมถึงกับเงิบนะครับ พูดตรงๆ!!

เรื่องสัญญาณรบกวน อันนี้เท่าที่ลองเทียบดูไม่ได้ใช้งาน ISO สูงจริงจังนักเพราะเลนส์ของตระกูลนี้มีระบบกันสั่นในตัวกล้องเกือบทุกตัวอยู่แล้ว (ที่สปีด 1/6 วินาที ISO 800 ภาพคมกริบ) ผมเลยใช้ ISO ไม่เกิน 1000 ซึ่งก็เอาตัวรอดได้อยู่ครับ แต่อนุมานได้ว่า Noise น่าจะพอๆ กับ M5 คือถ้าจะให้สบายใจ ใช้ไม่เกิน 2500 และไม่ถ่ายอันเดอร์มากๆ มาดึงน่าจะพอไหว ถ้าเกินไปมากๆ ต้องอย่าปรับสีให้สดจัดหรืออย่าใช้ Picture Style แบบ Landscape เพราะนอยซ์สีจะค่อนข้างแรงครับ

ส่วนการใช้พลังงาน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีกล้อง Mirrorless ที่มีแบตเตอรี่ที่ใหญ่ขึ้น หนึ่งก้อนสามารถถ่ายได้เป็นวันๆ แต่สำหรับ EOS M50 ยังไม่ก้าวข้ามไปตรงนั้นครับ M50 ยังคงใช้แบตเตอรี่ LP-E12 ขนาดเล็กที่ใช้กับกล้องรุ่นเล็กอย่าง M10 M100 หรือ Canon EOS 100D ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่มีแรงดัน และกระแสค่อนข้างต่ำสำหรับในยุคปัจจุบัน (7.2 V 875 mAH) ทำให้การใช้งานตามมาตรฐาน CIPA ลดจาก 295 ภาพใน M5 เหลือเพียง 235 ภาพใน M50 ส่วนหนึ่งเพราะ M51 ใช้แบตเตอรี่รุ่นใหม่กว่าและมีความจุมากกว่าคือ LP-E17 ครับ ผมเองใช้ M5 วันที่ถ่ายภาพเยอะหน่อยยังต้องสองก้อน เพราะฉะนั้นจึงแนะนำผู้ที่สนใจว่าถ้าจะใช้ M50 หรือ Mirrorless รุ่นเล็กทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ควรจะมีแบตเตอรี่สำรองไว้อย่างน้อย 1 ก้อน จะให้ดีคือ 2 ก้อนไปเลยครับ และอีกจุดบอดหนึ่งที่ M50 มีก็คือ Canon ยังคงใช้การชาร์จแบตเตอรี่ด้วยแท่นชาร์จแยกที่รับไฟบ้านเป็นหลัก ทำให้เวลาแบตหมดนอกสถานที่และไม่มีแบตสำรองจะวุ่นวายมาก หากสามารถให้ชาร์จแบตเตอรี่ทาง Port USB ได้ด้วยจะทำให้สะดวกเวลาไปนอกสถานที่มากกว่า เพราะสามารถชาร์จด้วยเพาเวอร์แบงค์ หรือ Adaptor สำหรับโทรศัพท์มือถือก็ได้

ระบบเลนส์

และสิ่งที่หลายๆ คนเป็นห่วงก็คือ EOS M นั้นเป็นระบบที่มีเลนส์ที่เป็น Native mount เองน้อยมากเพียง 8 ตัว กลัวว่าจะหาเลนส์ลำบาก ซึ่งก็เป็นความจริงอยู่ครับ เพราะเลนส์ EF-M นั้นมีเลนส์ไม่มาก เกือบทั้งหมดเป็นเลนส์ซูมที่มีความสว่างไม่มากนัก เพราะเน้นให้ทั้งกล้องและเลนส์มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่าเลนส์เมาท์ EF-M เป็นเลนส์ที่มีราคาย่อมเยาว์กว่าเลนส์ Mirrorless เมาท์อื่นๆอยู่พอสมควร และมีครบช่วงการทำงานแล้ว เช่น EF-M 11-22/4-5.6 IS STM เลนส์มุมกว้างเทียบเท่าเลนส์ 18-35 ของกล้องฟูลเฟรมนั้น ราคาขายปลีกอยู่ที่ราวๆ 13,000 บาท หรือเลนส์ 22/2 เลนส์เดี่ยวแพนเค้กที่ให้คุณภาพดีเยี่ยม ราคาก็เพียงไม่เกิน 7,000 บาท เลนส์ซูมครอบจักรวาล 18-150/3.5-6.3 IS STM ก็มีราคาขายปลีกอยู่ที่ 14,700 บาท มีสามตัวนี้ก็เพียงพอต่อการใช้งานแล้วครับ เลนส์สามตัวนี้ มีทางยาวโฟกัสเทียบเท่า 18-240 มม. ของกล้องฟูลเฟรม มีเลนส์ไวแสงเทียบเท่า 35/2 แต่มีน้ำหนักรวมกับตัวกล้อง M50 เพียง 1,016 กรัม เบาหวิว ใส่กระเป๋ากล้องใบเล็กเที่ยวสบายๆ ครับ แต่ถ้าต้องการเลนส์เทเลมากๆ หน่อย 55-200 ก็เป็นทางเลือกที่ดีแต่ราคายังค่อนข้างสูง ถ้าหากหาเลนส์ EF-S 55-250 IS STM และ Adaptor ได้จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า และถ้ามี Adaptor EF-EFM แล้ว หากไม่ติดที่เลนส์จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวกล้องไปบ้างก็จะมีเลนส์คุณภาพดีๆ ทั้งของ Canon เองและจากผู้ผลิตอิสระให้เลือกอีกมากมายครับ

สรุป

ผมยอมรับว่าตอนที่ได้เห็นข่าวและเห็นรูปกับสเปคแล้วผมรู้สึกเฉยๆ กับกล้องตัวนี้นะครับ จะสนใจเพียงจุดเดียวคือจอพับแบบออกข้างที่ใช้งานดี แต่พอได้มา ได้ไปใช้ ลองปรับไฟล์ลองเล่นในหลายๆ อย่าง ได้เห็นประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์ชุดนี้ และระบบประมวลผลใหม่นี้แล้ว ผมรู้สึกว่าคิดถูกที่ซื้อมาใช้งานแทน M5 ตัวเดิมครับ สำหรับคนที่มีเลนส์ Canon EF อยู่แล้ว อยากได้กล้อง MRL ที่เล็กมาก เบามากพอๆ กับกล้อง M4/3 ให้ไฟล์ดีกว่า m4/3 ที่ตัวกล้องยังราคาแพงกว่า หรือคนที่อยากได้กล้องเล็กๆ คุณภาพดี ราคาถูก มีช่องมองภาพ ชอบถ่ายวิดีโอแต่ไม่สนใจ 4K EOS M50 เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจมากๆ ครับ

ปล.ถ้าคิดอีกที ขนาดกล้องรุ่นเริ่มต้นราคาประหยัดสำหรับมือใหม่ที่ใช้ระบบประมวลผลใหม่ยังได้ผลดีขนาดนี้ ถ้าเป็นกล้อง Mirrorless Fullframe ที่แคนอนกำลังจะออกภายในไม่กี่เดือนนี้ล่ะ ตัวกล้องจะมีคุณภาพดีได้ถึงระดับไหน? สมรภูมิ FF MRL น่าจะดุเดือดขึ้นมากแน่ๆ ครับ