เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์

ฟูจิฟิล์มผลิตกล้องดิจิตอลแบบถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ขนาด APS-C ในอนุกรม X-Series มาเป็นเวลาประมาณ 5 ปีกว่าและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยเฉพาะรุ่นที่ใช้ X-Trans CMOS III เช่น FUJIFILM X-Pro2, X-T2 ที่ให้คุณภาพไฟล์ยอดเยี่ยมและตัวกล้องทำงานได้เร็วมากจนเทียบเท่า DSLR ระดับโปร หลายคนรอว่า FUJIFILM จะทำกล้องระดับ Full Frame เมื่อไร แต่ FUJIFILM ข้ามไปอีกขั้นโดยการออกกล้องระดับ Medium Format ในแบบ Mirrorless ใช้เซ็นเซอร์แบบ RGB Bayer CMOS ขนาด 44 x 33 มิลลิเมตร ความละเอียด 51 ล้านพิกเซล ซึ่งจะให้คุณภาพที่ดีกว่า Full Frame รองรับความละเอียดสูงเกินระดับ 100 ล้านพิกเซล ได้ในอนาคต รวมทั้งออกเลนส์อนุกรมใหม่ FUJINON GF ที่มีคุณภาพสูงสุดรองรับกับกล้องอนุกรม GFX ที่ความละเอียดเกิน 100 ล้านพิกเซล ได้อย่างสบายๆ อีกด้วย ทั้งหมดที่ออกมาจะเป็น Professional System ไม่ได้มีเฉพาะกล้อง เลนส์ ครบช่วงเท่านั้น แต่มีทั้งระบบช่องมองภาพ Mount Adapter เพื่อให้ใช้กับเลนส์อื่นๆ และ Adapter สำหรับต่อเข้ากับกล้อง View Camera รวมไปถึง Software แบบ Tethering Software ที่นอกจากสั่งถ่ายภาพจากคอมพิวเตอร์ได้แล้ว ยังมีระบบ Focus Bracketing สำหรับถ่ายภาพหลายระยะชัดอัตโนมัติอย่างแม่นยำเพื่อทำ Stack Focus ซึ่งจำเป็นในการถ่ายภาพมาโครหรือทิวทัศน์ที่ต้องการระยะชัดลึกมากๆ ด้วย ซึ่ง Tethering Software เชื่อมต่อเข้ากับ Adobe Lightroom ได้ สะดวกในการใช้งาน และฟูจิฟิล์มกำลังพัฒนา Tethering Software ของตัวเองเพื่อให้ใช้งานได้อย่างหลากหลายและสะดวกมากขึ้นอีกในอนาคต

ผมได้รับกล้อง FUJIFILM GFX 50s ต้นแบบพร้อมกับเลนส์ 3 ตัวคือ FUJINON GF 32-64 mm. F4 R LM WR, GF 63 mm. F2.8 R WR และ GF 120 mm. F4 R LM OIS WR Macro เพื่อทำการทดสอบและถ่ายภาพตัวอย่าง ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดยังเป็นต้นแบบและมีการอัพเกรด Firmware ตลอดเวลาเพื่อให้กล้องทำงานได้สมบูรณ์และเพิ่มระบบการทำงานใหม่ๆ เข้ามาตลอดระยะเวลาที่ใช้งาน ซึ่งผมจะมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ FUJIFILM GFX 50s ทั้งในด้านของระบบการทำงาน การใช้งาน คุณภาพ และเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ เกี่ยวกับกล้องตัวนี้

 

Medium Format คืออะไร

กล้องดิจิตอลจะแบ่งประเภทตามขนาดเซ็นเซอร์ของกล้องที่ใช้งาน เช่น APS-C Size, Full Frame รวมถึงรูปแบบของกล้อง เช่น DSLR และ Mirrorless เซ็นเซอร์ที่ใหญ่กว่า 24 x 36 มม. เรียกว่า Medium Format ทั้งหมดซึ่งจะมีอยู่ 3 ขนาดในปัจจุบันคือ 44 x 33, 40 x 54 และ 37 x 45 มิลลิเมตร ซึ่ง FUJIFILM GFX ใช้เซ็นเซอร์ขนาด 44 x 33 มิลลิเมตร

ในการทำงานระดับอาชีพในสายงานโฆษณา มักจะใช้กล้อง Medium Format เพราะคุณภาพไฟล์ที่ดีกว่า รวมทั้งระบบ Work Flow ที่รองรับการใช้งานโฆษณา แต่ด้วยกล้องที่มีราคาแพงมากจึงมีใช้งานในสตูดิโอที่เงินทุนสูงเป็นหลัก ส่วนสตูดิโอที่เงินไม่เยอะนักจะใช้วิธีการเช่ากล้องมาทำงานแทน

 

ประโยชน์จากความเป็น Medium Format ของ FUJIFILM GFX

ในตลาดกล้อง Medium Format แทบทั้งหมดเป็นกล้องแบบ DSLR ที่มีกระจกสะท้อนภาพและมองภาพผ่าน Optical Viewfinder ซึ่งตัวกล้องมีขนาดใหญ่ หนัก ไม่คล่องตัว ไม่เหมาะกับการถ่ายภาพแนว Landscape ถ่ายภาพท่องเที่ยว Street หรือภาพในแนว Documentary ที่ต้องการความคล่องตัว ส่วนการทำงานระดับ Commercial จะมีอุปกรณ์ประกอบเยอะ ทำให้ต้องใช้ทีมงานเยอะในการทำงานด้วยเช่นกัน ทีมออกแบบของ FUJIFILM จึงออกแบบ FUJIFILM GFX ให้เป็นแบบ Mirrorless ซึ่งฟูจิฟิล์มมีความรู้ความชำนาญจากกล้องในอนุกรม X-Series ผนวกเข้ากับความรู้ความชำนาญจากการเป็นผู้ผลิตกล้อง Medium Format และเลนส์ FUJINON สำหรับกล้อง Medium Format มาก่อน ทำให้ FUJIFILM GFX เป็นกล้องที่รวมข้อดีต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน

เมื่อเทียบกับกล้อง Medium Format ด้วยกัน FUJIFILM GFX มีขนาดตัวกล้องเล็กและเบากว่ามาก แต่แข็งแกร่งและใช้งานได้ในทุกสภาวะ FUJIFILM GFX มีขนาดใหญ่กว่า FUJIFILM X-T2 เล็กน้อย และมีขนาดตัวกล้องใกล้เคียงกับ DSLR Full Frame ขนาดกลาง น้ำหนักตัวกล้อง 920 กรัมรวมแบตเตอรี่ การ์ด และช่องมองภาพ EVF ไม่ได้แตกต่างจากกล้อง DSLR Full Frame หรือกล้อง Full Frame แบบ Mirrorless มากนัก ตัวกล้องเป็นแมกนีเซียมอัลลอยด์ เบา แกร่ง มีซีลป้องกันน้ำ ความชื้น และฝุ่นละออง สามารถทนความเย็นได้ถึง -10 องศาเซลเซียส รองรับการใช้งานตั้งแต่ Commercial Photography, Portrait, Landscape, Macro ไปจนถึงการถ่ายภาพแนว Street และ Documentary ด้วย

เมื่อเทียบกับกล้อง Full Frame แล้ว FUJIFILM GFX 50s มีขนาดเซ็นเซอร์ที่ใหญ่กว่าถึง 1.7 เท่า ขนาดพื้นที่รับแสงใหญ่ถึง 5.7 ไมครอน ในขณะที่กล้อง Full Frame ที่มีความละเอียดเท่ากันจะมีขนาดพื้นที่รับแสงเพียง 4.1 ไมครอน ทำให้ภาพที่ได้มีความคมชัดสูงกว่า รายละเอียดมากกว่า มีช่วงการรับแสงกว้างกว่า มีค่า Signal/Noise ที่สูงกว่า ทำให้ภาพสีสดใส มี Noise ต่ำที่ความไวแสงสูง ในขณะที่ความเป็นกล้อง Mirrorless ไม่ทำให้ภาระเรื่องขนาดและน้ำหนักมากขึ้นในส่วนของตัวกล้อง แต่เลนส์จะใหญ่ขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเลนส์ของกล้อง Full Frame ที่คุณภาพใกล้เคียงกัน ความเป็น Medium Format จะทำให้ภาพที่ได้จาก FUJIFILM GFX 50s มีความชัดลึกน้อยกว่า สามารถทิ้งฉากหลังได้มากกว่า มีมิติที่สวยงามกว่าในการถ่ายภาพบุคคล

FUJIFILM GFX 50s มีระยะจากเมาท์เลนส์ถึงเซ็นเซอร์สั้นตามรูปแบบของกล้อง Mirrorless ทำให้การออกแบบเลนส์มุมกว้างทำได้ง่ายกว่า คุณภาพของภาพเมื่อใช้กับเลนส์มุมกว้างที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับ FUJIFILM GFX จะดีกว่า Medium Format DSLR ส่วนเลนส์ FUJINON GF ออกแบบให้มีคุณภาพดีกว่าเลนส์ Medium Format อื่นๆ มาก เทียบเท่าเลนส์ชั้นเลิศจากฝั่งเยอรมัน ตัวเลนส์รองรับกำลังแยกขยายอย่างน้อยสำหรับกล้อง Medium Format 100 ล้านพิกเซลขึ้นไป  เลนส์ถูกออกแบบและจูนที่ 40 คู่เส้นต่อมิลลิเมตร(40Lp/mm) ซึ่งกำลังแยกขยายสูงสุดจะทำได้แถวๆ 200lm/mm. ซึ่งเป็นระดับคุณภาพเลนส์ที่สูงสุดของเลนส์ถ่ายภาพปกติในปัจจุบัน

FUJIFILM GFX ใช้ชัตเตอร์หน้าเซ็นเซอร์ (Focal Plane Shutter)  ทำให้สามารถทำความเร็วชัตเตอร์สูงสุดได้ 1/4000 วินาที ชัตเตอร์ทนทานถึง 150,000 ครั้ง มีเมาท์อแดปเตอร์ต่อใช้กับเลนส์ยี่ห้ออื่นๆ ได้ไม่จำกัดว่าเลนส์นั้นจะมีชัตเตอร์ที่ตัวเลนส์หรือไม่ จึงสามารถรองรับเลนส์ของกล้อง Medium Format แทบทั้งหมดที่ออกมาก่อนหน้านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเลนส์ของ Hasselblad, Mamiya, Bronica, Zeiss, Leica, Schneider, Rodenstock เพียงมีเมาท์อแดปเตอร์มาต่อเท่านั้น  และยังสามารถไปใช้งานร่วมกับกล้อง View Camera ในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม เครื่องประดับ อาหาร สินค้าฯลฯ ที่ต้องการควบคุมรูปทรงของภาพ ระนาบความชัดและ Perspective ได้ทั้งหมด โดยการควบคุมการกดชัตเตอร์ที่ตัวกล้องโดยตรง ส่วนการโฟกัส มองภาพ จัดภาพ ฯลฯ สามารถควบคุมที่ตัวกล้องได้แบบเดียวกับการถ่ายภาพปกติ สะดวกในการถ่ายภาพนอกสถานที่ที่ไม่ต้องการขนอุปกรณ์ออกไปมากมาก ให้ความคล่องตัวสูงกว่าการใช้ Digital Back และประหยัดกว่ามากด้วยเช่นกัน

 

คุณสมบัติหลักๆ ของ FUJIFILM GFX 50s

ตัวกล้อง FUJIFILM GFX 50s ออกแบบในสไตล์ DSLR Like เช่นเดียวกับ X-T2 มีกริปขนาดใหญ่ให้จับได้ถนัด หุ้มยางนุ่มมือกันลื่นได้ดี รูปทรงแบบ X-T2 ด้านบนเป็นวงแหวนปรับชัตเตอร์และความไวแสง ช่องมองภาพ EVF ขนาดใหญ่สามารถถอดเปลี่ยนได้ มีจอแสดงข้อมูลแบบ LCD ขนาดเล็กด้านบนตัวกล้อง ปุ่มใช้งานและการจัดวางแบบเดียวกับ X-T2 จอภาพ 3.2 นิ้วพลิกได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอนแบบ Touch Screen สามารถสั่งย้ายจุดโฟกัส ช่องต่อต่างๆ อยู่ด้านข้างทั้ง USB3, HDMI, หูฟัง ไมโครโฟน ส่วนช่องใส่แบเตอรี่ย้ายมาอยู่ด้านข้างเพื่อให้สะดวกในการถอดเปลี่ยน เมนูการทำงานต่างๆ แบบเดียวกับ X-T2 ปุ่มต่างๆ สามารถกำหนดการทำงานได้ผ่านการ Customize ในเมนูการทำงาน ชดเชยแสงปรับใหม่ให้ชดเชยได้ +-5 Stop ส่วนการถ่ายคร่อมทำได้ถึง 9 ภาพต่อเนื่องอัตโนมัติ 

เซ็นเซอร์ของ FUJIFILM GFX 50s เป็นแบบ RGB Bayer การจัดเรียงฟิลเตอร์หน้าเซ็นเซอร์เป็น RGB ปกติทั่วไป ไม่ได้จัดเรียงตัวพิเศษแบบ X-Trans เนื่องจากเซ็นเซอร์มีขนาดใหญ่และมีกำลังแยกขยายมากพอ อีกทั้งยังทำให้บริษัทที่ผลิตซ็อฟแวร์ต่างๆ ทำโปรแกรมรองรับได้ง่ายหลากหลายกว่าเดิม ส่วนเซ็นเซอร์เป็นแบบ CMOS ไม่มี Optical Low Pass Filter เพื่อให้เซ็นเซอร์มีกำลังแยกขยายสูงสุด สิ่งที่พิเศษกว่าสำหรับเซ็นเซอร์ของ GFX คือไมโครเลนส์ทรง Aspherical ที่รับแสงในมุมตรงได้ดีขึ้นและถูกกำหนดระยะห่างให้เหมาะสมเพื่อให้สามารถทำความไวแสง ISO 100 ได้โดยไม่ลดทอน Dynamic Range ในส่วนสว่าง ความลึกสี 14Bit มีช่วงการรับแสง 14stop แบบใช้งานได้จริงเต็มช่วง จะทำให้ไฟล์มีรายละเอียดสูง การไล่ระดับโทนต่อเนื่องยาว ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นด้วย ไฟล์ภาพเป็น JPG มี 3 ระดับ คุณภาพตั้งแต่ Super Fine ไปถึง Normal ส่วนไฟล์ RAW เลือกได้ทั้ง Uncompressed และ Lossess Compress สัดส่วนของภาพเป็นอัตราส่วน 4:3 สามารถเลือกขนาดได้มากมายทั้ง 5:4 7:6 1:1 3:2 16:9 65:24 ความไวแสงตั้งได้ตั้งแต่ ISO 100-12800 สามารถเพิ่มได้ถึง 50-102,400

ระบบประมวลผลใช้ X-Processor Pro ที่มีความเร็วและพลังสูงมากรองรับจำนวนพิกเซล 51 ล้าน 14Bit ได้อย่างสบายๆ ยังสามารถประมวลผลการโฟกัสภาพบนเซ็นเซอร์ได้เร็วแม่นยำ FUJIFILM GFX 50s จึงโฟกัสภาพได้เร็วเทียบเท่ากับ FUJIFILM X-T1 ซึ่งถือว่าเร็วมากสำหรับกล้องระดับ Medium Format ที่ใช้ระบบโฟกัสแบบ Contrast Detection ถ่ายภาพต่อเนื่องได้ 3 ภาพต่อวินาทีต่อเนื่อง มี ShutterTime-lag สั้น ส่วนภาพในช่องมองภาพมีความต่อเนื่องแบบเดียวกับ FUJIFILM X-T2

ระบบสีภาพยกจาก FUJIFILM X-T2 แต่ปรับการทำงานให้ดีกว่าเดิม โดยเพิ่มระบบ Color Chrome Effect ซึ่งจะทำให้สีที่สดจัดมากๆ เช่นสีแดงเข้มมีความเข้มและมิติที่ดีขึ้นแบบเดียวกับฟิล์มสไลด์ช่วงการปรับพารามิเตอร์กว้างขึ้น เช่น Hilight, Shadow ได้ +4 ถึง -2 ส่วน Color, Sharpness, Noise Reduction ได้ +-4 การตั้ง White Balance ยกมาจากรุ่น X-T2 เช่นเดียวกับโหมดสีภาพต่างๆ แต่มีการปรับให้แสดง Shadow Detail เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเพื่อให้การปรับภาพผ่านไฟล์ JPG ทำได้ดีขึ้นด้วยสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการปรับภาพจาก RAW File

ระบบโฟกัสของ FUJIFILM GFX 50s ยกมาจาก FUJIFILM X-T2 แต่ทำงานบน Contrast Detection การทำงานเร็วพอๆ กับ X-T1 จุดโฟกัสเพิ่มเป็น 425 จุดในระบบ Manual ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งภาพ มีระบบโฟกัสอัตโนมัติแบบทีละภาพ ต่อเนื่องพร้อมระบบ Focus Tracking และ Face Detection ทั้งแบบจุดเดียว โซน พื้นที่กว้าง สามารถปรับเปลี่ยนขนาดพื้นที่และย้ายตำแหน่งพื้นที่ได้แบบเดียวกับ X-T2 สามารถขยายภาพ 100% เพื่อเช็คความชัดและย้ายตำแหน่งภาพได้ระหว่างขยายขนาดพื้นที่โฟกัสด้วย มีสเกลแสดงระยะชัดมาให้ พร้อมกับสเกลแสดงระยะชัดลึกที่แม่นยำเพราะคำนวนความชัดบนขนาดพิกเซลโดยตรง

ชัตเตอร์เป็นแบบ Focal Plane Shutter อายุการทำงานในระบบกลไล 150,000 ครั้ง มีชัตเตอร์ไฟฟ้าให้ใช้งาน รวมทั้งชัตเตอร์ชุดแรกแบบไฟฟ้า หรือใช้ชัตเตอร์กลไกทำงานร่วมกับชัตเตอร์ไฟฟ้า ความเร็วชัตเตอร์กลไกสูงสุด 1/4000 วินาที ส่วนระบบไฟฟ้าสูงสุด 1/16000 วินาที เปิดรับแสงนานสุดได้ 60 นาที สัมพันธ์แฟลชที่ 1/125 วินาที และสูงกว่าในระบบแฟลช High Speed Sync ระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง 3 ภาพต่อวินาที หากถ่ายเป็น JPG สามารถถ่ายต่อเนื่องได้จนกว่าการ์ดจะเต็ม และ 8 ภาพต่อเนื่องหากถ่ายเป็น RAW Uncompress  

ช่องมองภาพของ FUJIFILM GFX 50s เป็นแบบ EVF สามารถถอดออกและเปลี่ยนได้ EVF มาตรฐานใช้ OLED ขนาด 0.5 นิ้ว 3.69 ล้านพิกเซล แสดงภาพ 100% อัตราขยายภาพ 0.85 เท่า ใหญ่กว่า X-T2 ชดเชยสายตาได้ -4 ถึง +2 Diopter ทำงานอัตโนมัติด้วย Eye Sensor และมีความสว่างถึง 800 Cd/ตารางเมตร และมีช่องมองภาพแบบหมุนได้เป็นอุปกรณ์เสริม สามารถมองภาพแนวตั้งและหมุน

ได้ +- 90 องศา สำหรับการมองภาพเมื่อถ่ายภาพแนวตั้งจากด้านบน จอ LCD ด้านหลังเป็นแบบ Touch Screen มีขนาด 3.2 นิ้ว 2.4 ล้านพิกเซล ความสว่างสูงมองเห็นได้ชัดในเวลากลางวัน ก้มได้ 45 องศา เงย 90 องศา และเงยในแนวตั้งได้ 60 องศา จอแบบ Touchscreen สามารถสั่งเลือกจุดโฟกัส ปรับเมนูการทำงาน ผ่าน Touchscreen ได้ FUJIFILM GFX 50s มีจอ LCD ขนาดเล็กขนาด 1.28 นิ้วด้านบนเพื่อแสดงข้อมูลการทำงาน ตัวจอจะแสดงข้อมูลตลอดเวลาโดยไม่เปลืองแบตเตอรี่ ปรับการทำงานให้เป็นดำพื้นขาวหรือขาวพื้นดำก็ได้ 

เลนส์ที่ใช้กับ FUJIFILM GFX 50s เป็นเลนส์ FUJINON อนุกรม GF ไม่สามารถใช้กับเลนส์ XF ได้เนื่องจากขนาดของ Circle Image ต่างกันมาก ตัวเลนส์เป็นแบบไฟฟ้าล้วน ทั้งการโฟกัส ปรับขนาดช่องรับแสง สั่งงานด้วยไฟฟ้าทั้งหมด ข้อดีคือมีความแม่นยำมากกว่าระบบกลไก และขยับชิ้นเลนส์ที่มีความซับซ้อนได้ดีกว่ามาก มอเตอร์เป็น Linear Motor ในเลนส์ที่มีขนาดใหญ่ จะช่วยให้โฟกัสได้เร็ว ไว

และประหยัดพลังงาน เมาท์เลนส์มีขนาด 65 มม. ระยะห่างจากเซ็นเซอร์ 26.7 มม. คอนแท็กไฟฟ้า 12 จุด เลนส์ในชุดแรกมีให้ใช้งาน 6 ตัว ครอบคลุมทางยาวโฟกัส 23 ถึง 120 มม. เทียบเท่า 18-95 มม. ใน Full Frame มีซูม 1 ตัวคือ 32-63 มม. เทียบเท่า 24-50 และมาโคร 120 มม. 1:2 เทียบเท่า 95 มม. 1:2 ของ Full Frame

ระบบวิดีโอของ FUJIFILM GFX 50s รองรับความละเอียด Full HD ที่ 29.97 ภาพต่อวินาที สามารถต่อไมโครโฟน หูฟัง และบันทึกผ่าน External Recorder ระบบการทำงานอื่นๆ มีทั้งระบบ Bracketing ต่างๆ Interval Timer, Multiple Exposure เช็คอายุของแบเตอรี่ได้ทั้งตัวกล้องและกริป บันทึกเสียงลงภาพนิ่ง Voice Memo ในภายหลังได้ สามารถส่งภาพไปยัง SmartPhone ผ่าน Wifi มีระบบทำความสะอาดเซ็นเซอร์แบบ Ultrasonic

อุปกรณ์เสริมที่ออกมาในช่วงแรก นอกจากช่องมองภาพแบบพลิกได้ มี H-Mount Adapter สำหรับใช้กับเลนส์ H-Mount ซึ่งเป็นเลนส์แบบ Leaf Shutter และ View Camera Adapter ขนาด 4 x 5 นิ้วแบบมาตรฐาน

Software ที่ออกมารองรับ นอกจาก RAW Conveter สำหรับการแปลงไฟล์ RAW ใน Adobe และ Silkypix ยังมี Tethered Shooting อีก 2 โปรแกรมคือ HS-V5 ของ FUJIFILM และ Tether Shooting Plug-in Pro สำหรับ Adobe Lightroom ด้วย

 

 ผลการใช้งานกล้องและไฟล์ภาพจากกล้อง FUJIFILM GFX 50s ในการใช้งานภาคสนาม

ผมได้ลองใช้กล้อง FUJIFILM GFX 50s ยาวๆ ตั้งแต่กล้องยังทำงานอะไรไม่ได้ใน Firmware แรกจนถึง Firmware ล่าสุดคือ 1.61 ซึ่งน่าจะมีอัพเกรดกันต่อเนื่องเรื่อยๆ จนกว่าจะออกขายและอัพเกรดต่อไปเรื่อยๆ ตามเสียงเรียกร้องของผู้ใช้งานซึ่งเป็นข้อดีของ FUJIFILM ที่ปรับการทำงานกล้องตลอดเวลาตราบเท่าที่ฮาร์ดแวร์ของกล้องยังรองรับได้

เรื่องแรกคือ คุณภาพของไฟล์ภาพ สีสันบน Color Chrat ของภาพจาก FUJIFILM GFX 50s ยังใกล้เคียงกับ FUJIFILM X-T2, X-Pro2 ทั้งนี้เป็นเพราะฟูจิยังคงคาแรกเตอร์ของสีสันภาพเอาไว้ คนที่ประทับใจในโหมดสีของ FUJIFILM X-T2 สามารถใช้งาน FUJIFILM GFX 50s ได้แบบเดียวกัน สิ่งที่แตกต่างคือ ภาพจาก FUJIFILM GFX 50s จะมี Noise ในพื้นเรียบน้อยกว่า ทำให้สีแน่นกว่าเล็กน้อยที่ความไวแสงต่ำ ส่วนการไล่ระดับโทน ภาพจาก FUJIFILM GFX 50s ไฟล์ JPG ให้รายละเอียดส่วนสว่างจ้าและมืดมากได้ดีกว่านิดหน่อยบนไฟล์ JPG จริงๆ แล้ว FUJIFILM GFX 50s จะมีช่วงการรับแสงหรือ Dynamic Range มากกว่า FUJIFILM X-T2 แม้ว่าจะเป็น 14Bit เหมือนกัน แต่ว่าการเซ็ทสีที่ใกล้เคียงกันก็ทำให้ภาพออกมาใกล้ๆ กัน ผู้ที่คุ้นกับสีของ FUJIFILM เดิมอยู่แล้วก็จะไม่ต้องปรับตัวอะไรนักในการใช้งาน GFX แต่ถ้าต้องการรายละเอียดหรือดึงไฟล์เยอะๆ ตัวไฟล์ RAW มีรายละเอียดเพียบให้ดึง (ณ ตอนที่เขียนบทความ ผมสามารถเปิด RAW จาก Silkypix ได้ แต่ยังเปิดบน Adobe ไม่ได้นะครับ)

ส่วนไฟล์จากการใช้งานภาคสนาม ส่วนมากผมจะถ่ายภาพทิวทัศน์และภาพคนนั้น ไฟล์จาก FUJIFILM GFX 50s มีความแน่นของสีที่ดีมากๆ  การไล่ระดับโทนสีเนียนมาก เฉดน้ำเงินของท้องฟ้า การไล่สีแดงของท้องฟ้าช่วงพระอาทิตย์ตก การเก็บรายละเอียดบนผิวเนื้อคนที่โดนแดดมีความเนียนสูงมาก ส่วนดำถูกเซ็ทไว้ให้ดำจัดตามคาแรกเตอร์ของฟิล์มถ่ายภาพ หากต้องการรายละเอียดเพิ่มสามารถปรับฟังก์ชั่น Hilight /Shadow/Saturation เพิ่มเติมได้ ผมสามารถถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกจบหลังกล้องโดยการดึง Shadow-2 และ Saturation +2 ไม่ต้องไปแต่งภาพที่คอมให้วุ่นวายเสียเวลาภายหลังเลย ฟังก์ชั่นสีเป็นอะไรที่ผมใช้งานบ่อยมากทำให้จบหลังกล้องได้โดยไม่ต้องไปยุ่งกับไฟล์ RAW (และยังเปิด RAW ใน Adobe ไม่ได้ด้วย)

FUJIFILM GFX 50s มี Noise ที่ต่ำกว่า FUJIFILM X-T2 และเกิด Hot Pixel ช้ากว่ามากเวลาถ่ายภาพเปิดรับแสงยาวๆ อย่างการถ่ายภาพดาว ผมสามารถใช้ชัตเตอร์ 30 วินาทีแบบไม่ต้องเปิด Longtime Exposure Noise Reduction ผมถ่ายภาพดาวโดยใช้ GFX 50s ค่อนข้างเยอะทีเดียว ส่วนที่ความไวแสงสูงภาพมี Noise ต่ำกว่า X-T2 และมีความเป็น Artifact น้อยกว่าด้วย มีความเป็นธรรมชาติของภาพมากกว่า ซึ่งนี่เป็นประโยชน์อย่างแรงของกล้อง Medium Format ที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่อย่าง FUJIFILM GFX 50s

FUJIFILM GFX 50s – ISO 100, f13, 1/2 sec.

FUJIFILM GFX 50s – ISO 100, f16, 1/15 sec.

FUJIFILM GFX 50s – ISO 100, f7, 30 sec.

ความคมชัดและรายละเอียดเป็นจุดเด่นที่ไม่ต้องสังเกตก็เห็นได้ชัดของ FUJIFILM GFX 50s เลนส์ FUJINON ที่มากับกล้องแม้จะเป็นแค่ Sample ที่ยังไม่ได้จูนอัพเนียนๆ แบบเลนส์ที่จะผลิตจริง แต่ก็ให้ความคมชัดอย่างร้ายกาจ  ผมนี่อดตื่นเต้นกับเลนส์ตัว Production ที่จะขายจริงไม่ได้เลยว่าจะดีขนาดไหน  ภาพทิวทัศน์ระยะไกลจาก FUJIFILM GFX 50s มีความคมชัดดีเยี่ยมมาก รายละเอียดสูงลิบและคมชัดยันสุดขอบภาพ ความคลาดสีไม่ปรากฏให้เห็นง่ายๆ แม้จะเป็นเลนส์ซูมมุมกว้าง 32-63 มม. ก็ตาม ส่วนเลนส์ 63 มม. และ 120 มาโครเนียนกริปๆ ถ้าเป็นเลนส์เยอรมันคุณภาพนี้ต้องจ่ายหลายแสนแน่นอน ลองดูภาพตัวอย่างที่ตัดขยาย 100% จะเห็นว่า ภาพคมชัดและรายละเอียดสูงขนาดไหน เป็นคุณภาพที่จะพบเห็นได้ยากแม้กล้อง Medium Format ด้วยกันก็ตาม ต้องยกความดีให้เลนส์ FUJINON GF ที่ทำออกมาได้ดีเยี่ยม

FUJIFILM GFX 50s – ISO 100, f13, 1/250 sec.

FUJIFILM GFX 50s – ISO 100, f13, 1.3 sec.

FUJIFILM GFX 50s – ISO 100, f13, 1.3 sec.

FUJIFILM GFX 50s – ISO 100, f13, 8 sec.

ในการถ่ายภาพบุคคล ผมใช้โหมดสี Classic Chrome เพื่อให้ออกแนวสีแบบภาพแนว Documentary แม้จะเป็นภาพไกลกว่าครึ่งตัวไปเยอะ แต่เมื่อขยายภาพจะเห็นเซลผิว ไรขนอ่อนบนใบหน้า รายละเอียดของเสื้อ ที่สำคัญคือ การทิ้ง Depth of field ที่มากกว่า Full Frame หรือ APS-C ทำให้มิติของภาพดูดีและสวยงามมาก ผมสามารถใช้ช่องรับแสง f/8 ถ่ายภาพบุคคลระยะไกลและยังได้ฉากหลังเบลอ ได้ วงกลมนอกระยะชัดหรือ Bokeh ที่ใหญ่กว่ากล้องเซ็นเซอร์เล็ก คุมระยะชัดและการเบลอของฉากหลังได้ง่ายกว่า

FUJIFILM GFX 50s – ISO 100, f8, 1/250 sec.

FUJIFILM GFX 50s – ISO 100, f5.6, 1/15 sec.

ความคล่องตัวในการใช้งานถ่ายภาพท่องเที่ยวและภาพทิวทัศน์ของ FUJIFILM GFX 50s นั้นทำได้ดีมาก ผมใช้ X-T2 อยู่เมื่อมาใช้ GFX แทบไม่ต้องปรับตัวอะไรเลยกับการควบคุมกล้อง ระบบโฟกัสเร็วพอแม้กระทั่งการถ่ายภาพแนวแฟชั่นหรือถ่ายเด็กที่มีการเคลื่อนที่  แต่ไม่เหมาะกับการถ่ายภาพแนว Sport ที่ต้องใช้โหมด AF-C มีความแม่นยำสูงมาก และสะดวก ผมมักใช้ระบบ Manual Focus แต่กดปุ่ม AF-L เพื่อให้กล้องทำการ Autofocus ภาพให้ น้อยครั้งที่จะโฟกัสเอง  การเลือนจุดโฟกัสไปทั่วทั้งภาพได้ก็สะดวกและมีความแม่นยำมากกว่าการล็อคโฟกัสที่จุดกลางภาพแล้วจัดองค์ประกอบ การจับถือดีเยี่ยม ถนัดกว่า X-T2 เพราะกริปใหญ่กว่าและตัวกล้องใหญ่กว่าด้วย ช่องมองภาพโอ่โถงภาพใหญ่เต็มตาเหมือนดูหนังโรง IMAX ภาพละเอียดยิบและไม่มี Time-Lag ส่วนจอ LCD หลังกล้องใช้งานกลางแจ้งได้สบายมาก ส่วนการวัดแสงผมมักใช้ Spot ล็อคเข้ากับจุดโฟกัสและ Histogram ทำให้คุมค่าเปิดรับแสงได้แม่นยำ

ขนาดและน้ำหนักอาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยนักสำหรับคนใช้ APS-C Sensor มาก่อน แต่ถ้าคนใช้ DSLR จะคุ้นกับขนาดและน้ำหนักของ GFX อยู่แล้ว เลนส์จะใหญ่กว่า DSLR ช่องรับแสงกว้างเล็กน้อย เพราะต้องทำ Circle Image ใหญ่ ตัวเลนส์ก็จะใหญ่ตามไปด้วย  ผมเดินป่าโดยพกกล้องกับเลนส์ 3 ตัว ยังเดินได้ชิลๆ สบายๆ พอๆ กับแบก DSLR สมัยก่อนแต่คุณภาพไฟล์ดีกว่ามาก แบตเตอรี่ไม่ถือว่าประหยัดนัก ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับ X-T2 คือก้อนหนึ่งใช้ได้ประมาณ 300 กว่าภาพ ผมพก Power Bank ไปด้วย เวลาว่างๆ ก็ชาร์จผ่านตัวกล้องได้เลย ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่หมดระหว่างใช้งาน แต่ถ้าไม่มี Power Bank ควรมีแบตเตอรี่สำรองไว้

โดยรวม FUJIFILM GFX 50s มีจุดเด่นมากในเรื่องคุณภาพไฟล์ระดับ Premium ตัวกล้องเล็ก เบา คล่องตัวและไม่แพงเมื่อเทียบกับ Medium Format ด้วยกัน คนที่ชอบถ่ายภาพรายละเอียดสูงมากๆและจ่ายไหว แนะนำ FUJIFILM GFX 50s รับรองไม่ผิดหวัง ส่วนมืออาชีพสาย Commercial ผมคงไม่ต้องแนะนำอะไร เพราะขนาดตัวกล้องยังไม่เปิดตัวพวกเจ้าของสตูดิโอก็เข้าคิวจองกันยาวๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว

FUJIFILM GFX 50s – ISO 100, f16, 1/4 sec.

FUJIFILM GFX 50s – ISO 100, f7, 1/60 sec.