เรื่อง+ภาพ : ISO 9000….

จากเลนส์ AF-S  Nikkor 400 มม. f2.8 G ED VR เรายังได้รับเลนส์ Super Telephoto อีกรุ่นหนึ่งให้มาลองใช้งาน คือ AF-S  Nikkor  600 มม. f4 G ED VR ซึ่งเป็นเลนส์ Super Telephoto อีกรุ่นหนึ่ง ที่มีความยาวโฟกัสของเลนส์ 600 มม. มีช่วงยาวกว่ารุ่น 400 มม. เช่นเดียวกันการทดลองใช้งานกับเลนส์รุ่นนี้เราจึงได้นำเลนส์รุ่นนี้ไปลองถ่ายนกพร้อมกันในคราวเดียวกัน เรียกว่าการลองเลนส์ครั้งแบกเลนส์ไปทีเดียว 2 รุ่นด้วยกัน

เช่นเดียวกับ AF-S Nikkor 400 มม. f2.8 G ED VR เลนส์ AF-S Nikkor 600 มม. f4 G ED VR จัดเป็นเลนส์ Super Telephoto มีขนาดความยาวโฟกัส 600 มม. มีขนาดรูรับแสงกว้างสุดที่ f4 เลนส์ เลนส์รุ่นนี้มาพร้อมกับ Case บรรจุแน่นหนา  พร้อม Hood และ Filter Holder ขนาด 52 มม. มีสายสะพายคล้องเลนส์มาให้พร้อมใช้งาน

ตัวเลนส์ของ AF-S Nikkor 600 มม. f4 G ED VR เป็น Magnesium Diecast ที่เบา แต่แข็งแกร่ง ตัวเลนส์กันละอองน้ำละอองฝุ่น ติดตั้ง Collar มาให้พร้อมใช้งาน พร้อมด้วยระบบ VR ลดการสั่น ที่สามารถลดการสั่นได้ถึง 2.5 สต็อป และยังมี Tripod mode ลดการสั่น ที่อาจจะเกิดจากการกดชัตเตอร์เมื่อติดตั้งกับขาตั้งกล้อง 

โครงสร้างของเลนส์ AF-S Nikkor 600 มม. f4 G ED VR  เป็นเลนส์ Super Telephoto ที่ให้ความคมชัดและสามารถเก็บรายละเอียดของภาพสูง Contrast สูง ให้สีสันที่อิ่มตัวสูง ประกอบด้วยชิ้นเลนส์พิเศษ ED 3 ชิ้น เพื่อลดความคลาดสี มีความคลาดสีที่ต่ำมากๆ แม้ใช้ช่องรับแสงที่กว้างสุดก็ตาม ยังมีชิ้นเลนส์  Nano Crystal Coating และชิ้นเลนส์ Miniscus  Protective Grass เพื่อลดอาการภาพหลอนและแฟลร์ เมื่อถ่ายภาพย้อนแสง ให้ภาพที่สดใส

บนตัวเลนส์ AF-S Nikkor 600 มม. f4 G ED VR มีปุ่ม pre focus ที่สามารถกดโฟกัสได้ที่ส่วนหน้าของเลนส์ใกล้คอลล่าร์ปุ่มสำหรับใช้งานบนตัวเลนส์ใช้งานได้ง่าย ตั้งแต่การเลือกระบบโฟกัส การกำหนดระยะโฟกัส การเลือกระบบ VR และ Tripod mode รวมทั้งเลือกได้ว่าจะให้ระบบโฟกัสเงียบเสียงได้อีกด้วย

ทดลองใช้งาน

การทดลองใช้งานกับเลนส์ AF-S Nikkor 600 มม. f4 G ED VR คุณสมโภช แตงไทย เป็นผู้ที่ได้ทดลองใช้งานถ่ายภาพด้วยเลนส์รุ่นนี้ ได้ทดลองใช้งานแบบเดียวกับเลนส์ในรุ่น 400 มม.  คือ ใช้งานถ่ายภาพด้วยการติดตั้งกับขาตั้งกล้อง และถือถ่าย 

ต้องบอกว่าเลนส์ AF-S Nikkor 600 มม. f4 G ED VR มีน้ำหนักหนักมาก เฉพาะตัวเลนส์ ก็ 5 กก. เศษ บวกเข้ากับตัวเลนส์แล้ว ปาเข้าไป 6 กก. ซึ่งถ้าไม่ใช่นักถ่ายภาพที่มีข้อมือแข็งแล้วละก็ ไม่แนะนำให้ถือถ่ายครับ แม้คุณสมโภช เองที่ถือว่าตัวใหญ่ข้อแข็งก็เถอะ ถือถ่ายได้ไม่ถึงวันก็ต้องหันมาพึ่งขาตั้งกล้อง  ถ่ายทั้งแบบตั้งขา และรวบขาทำงานแบบ Monopod เหมือนกัน 

การใช้งานกับเลนส์รุ่นนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงต้องเป็น 600 มม. คำตอบก็คือ การถ่ายภาพนก ต่างไปจากการถ่ายภาพกีฬาที่มีคนเป็นผู้เล่นกีฬา ที่มีขนาดใหญ่กว่านก ระยะทางของการถ่ายภาพก็แตกต่างกว่าการถ่ายภาพประเภทกีฬาทิศทางการเคลื่อนที่ของนก มีมากกว่า และคาดไม่ค่อยถึง การใช้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสูงจึงช่วยได้มากในเรื่องนี้ ยิ่งถ้านำมาใช้กับกล้องที่มีเซ็นเซอร์ขนาด APS-C เลนส์ขนาด 600 มม. จะเทียบเท่ากับเลนส์ขนาด 900 มม. ทีเดียว จะทำให้การถ่ายภาพได้ภาพวัตถุที่อยู่ระยะไกลมีขนาดใหญ่ขึ้นทันที

ผลของการใช้งาน

จากการใช้งาน คุณสมโภช แตงไทย ให้ความเห็นว่า เลนส์รุ่นนี้มีความเข็งแรงดีมาก เมื่อติดตั้ง Hood ซึ่งเป็นแบบ 2 ชั้น สามารถใช้งานกันกระทบกระเทือนปกป้องหน้าเลนส์ได้ดีมาก 

หน้าเลนส์ขนาดใหญ่ ทำให้สามารถเปิดรูรับแสงได้กว้างมากขึ้นไม่กินแสงมาก 

การทำงานของระบบโฟกัส ทำงานได้รวดเร็วทันใจ ปุ่ม Pre focus ที่อยู่ในตำแหน่งใกล้ Collar ทำให้การโฟกัสทำงานได้สะดวกมากด้วยการดปุ่มนี้ ไม่ต้องละสายตาจากช่องมองภาพเมื่อเวลาถือถ่าย

คุณภาพของภาพถ่าย พบว่าเลนส์รุ่นนี้ให้ภาพที่มีความคมชัดสูง การเก็บรายละเอียดของภาพดีมาก สังเกตได้จากเส้นขนของนก แม้จะขยายภาพใหญ่ก็ยังให้ความคมชัดและรายละเอียดที่ดี สีสันสดใส