เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

ในการถ่ายภาพนก เลนส์เทเลโฟโต้ ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ โดยเฉพาะเลนส์ทางยาวโฟกัสมากๆ อย่างเลนส์เทเลโฟโต้ หรือซุปเปอร์เทเลโฟโต้ และเลนส์เทเลโฟโต้ซูม ซึ่งเวลานี้ก็มีเลนส์ออกมาให้เลือกใช้กันมากมาย สำหรับเลนส์ที่เราจะมารีวิวในครั้งนี้ก็คือ Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS ซึ่งเป็นเลนส์ซูมจากระยะเทเลถึงระยะซุปเปอร์เทเลโฟโต้คือ 200 มม. ถึง 600 มม. ทำให้ Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS เป็นเลนส์ซูมอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจและเหมาะสำหรับการถ่ายภาพนก ซึ่งในครั้งนี้ผมได้มีโอกาสนำมาใช้งาน สำหรับถ่ายภาพนกเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควรที่จะพอมีข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเลนส์ตัวนี้มาฝากทุกท่านกันครับ

Specification & Design

เริ่มจากโครงสร้างการออกแบบของเลนส์ตัวนี้กันก่อน โครงสร้างกระบอกเลนส์ตัวนี้เป็น Magnesium alloy ที่มีน้ำหนักเบา และแข็งแรง มีน้ำหนักของเลนส์อยู่ที่ประมาณ 2.1 กก. ซึ่งสำหรับระยะซูมสุดที่ทางยาวโฟกัส 600 มม. นั้นถือว่าเป็นเลนส์เบามาก ทำให้สามารถพอที่จะถือถ่ายภาพได้โดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง มีระบบ Seal กันละอองน้ำ และฝุ่นหลายจุด ซึ่งทำให้ไม่ต้องกังวลในการถ่ายภาพกลางแจ้ง มี Collar มาให้พร้อมใช้งานในกรณีที่จะตั้งกล้องบนขาตั้ง มีจุดสัญลักษณ์แสดงการปรับกล้องชัดเจน ส่วนของ tripod mount ที่ Collar สามารถถอดเข้าออกได้

โครงสร้างชิ้นเลนส์

นกคอสั้นตีนไว Sanderling, Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/4000 sec. f/9, ISO 1250

Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS ติดตั้งชิ้นเลนส์คุณภาพสูงถึง 24 ชิ้นเลนส์ แบ่งเป็น 17 กลุ่ม มีชิ้นเลนส์ ED ที่ช่วยลดความคลาดสี 5 ชิ้น และชิ้นเลนส์ Aspherical ที่ช่วยลดความคลาดทรงกลม 1 ชิ้น เลนส์ชิ้นหน้า เคลือบด้วยระบบ Fluorine coating ที่ลดการเกาะของฝุ่น ละอองน้ำ และน้ำมัน มีฮูดเลนส์ที่ใหญ่กันแสงรบกวน และที่ฮูดเป็นขอบยางที่ช่วยป้องกันหน้าเลนส์ได้เป็นอย่างดี สามารถใช้ร่วมกับ Tele Converter ชื่อรุ่น SEL14TC (1.4X) และ SEL20TC (2X) ได้

ระบบ Seal กันละอองน้ำ และฝุ่น

นกกระสานวล Grey Heron, Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/1250 sec. f/6.3, ISO 1600

ระบบโฟกัสของเลนส์ออกแบบมาให้เป็นแบบ Internal Focus ทำให้เมื่อซูมเลนส์ไปช่วงทางยาวโฟกัสที่ยาวสุดแล้ว ไม่มีการยืดของส่วนกระบอกเลนส์ด้านหน้า ต่างไปจากเลนส์ในระดับเดียวกันยี่ห้ออื่นๆ ที่เมื่อซูมไปช่วงทางยาวโฟกัสยาวสุดของเลนส์ ส่วนหน้าของเลนส์จะยืดออก

ระบบมอเตอร์โฟกัส Direct Drive Super Sonice Motor

นกนางนวลแกลบหงอนใหญ่ Greater Crested Tern, Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/1600 sec. f/8, ISO 250

ปุ่มต่างๆ บนตัวเลนส์ เริ่มจากปุ่ม Customisable focus ค่าตั้งต้นของปุ่มนี้จะใช้สำหรับการ Lock focus หรือ focus hold มีอยู่ 3 จุดรอบกระบอกเลนส์สะดวกเมื่อใช้งานกับกล้องทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ ปุ่มนี้สามารถตั้งให้ทำงานแบบอื่นได้อีกตามการใช้งานของเราโดยเข้าไปที่เมนู Custom Key ที่อยู่ในกล้อง ส่วนปุ่มปรับตั้งท้ายเลนส์ เริ่มตั้งแต่ ปุ่ม AF / MF สำหรับเลือกระบบโฟกัสของเลนส์แบบอัตโนมัติและแบบปรับโฟกัสเอง ส่วนปุ่มสำหรับการเลือกระยะโฟกัส จะเลือกได้ 3 แบบ คือ แบบ Full คือ ระยะ 2.4 เมตร ถึง ระยะอินฟินิตึ้ แบบที่ 2 เลนส์จะโฟกัสที่ระยะ 10 เมตร ถึง 2.4 เมตร และแบบที่ 3 จะโฟกัสที่ระยะ 10 เมตร ถึง ระยะอินฟินิตี้
ปุ่มถัดมาเป็นปุ่มสำหรับการเลือก เปิด- ปิด ระบบกันสั่น [oss] และ ปุ่มล่างสุด เป็น ปุ่มสำหรับเลือก Mode ลดการสั่น สำหรับการถ่ายภาพในสถานการณ์ต่างๆ ที่สามารถเลือกได้ 3 ระดับ คือ Mode 1 เปิดใช้งานค่าเริ่มต้นและชดเชยการสั่นของกล้องแบบปกติคือยกกล้องถ่ายภาพทั่วๆ ไป Mode 2 จะช่วยแก้ไขอาการสั่นที่เกิดจากการแพนกล้องตามวัตถุที่เคลื่อนไหว และ Mode 3 คือเมื่อกำลังถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนไหวเร็ว หรือมีการสั่นสะเทือนของกล้องที่มากขึ้น

ปุ่ม Customisable focus ระบบกันสั่น และปุ่มต่างๆ บนตัวเลนส์

นกนางแอ่นบ้าน Barn Swallow, Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/4000 sec. f/6.3, ISO 3200

รูรับแสงกว้างสุด เมื่อซูมเลนส์ไปที่ทางยาวโฟกัส 600 มม. จะอยู่ที่ F6.3 ในบางครั้งสภาพแสงน้อย หรือเวลาเย็น อาจทำให้ต้องเพิ่มค่าความไวแสง (ISO) ให้มากขึ้น หรือลด ความไวชัตเตอร์ลง ถือเป็นข้อจำกัดอีกข้อหนึ่งของเลนส์ซูมประเภทนี้ แต่ก็ชดเชยกับการที่ขนาดของเลนส์ที่เล็ก และน้ำหนักที่เบา ในระยะทางยาวโฟกัส 600 มม.

นกนางนวลแกลบธรรมดา Common Tern, Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/1600 sec. f/8, ISO 250

นกแอ่นบ้าน House Swift, Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/1600 sec. f/7.1, ISO 320

Using the lens
เมื่อลองจับถือและใช้งานเลนส์ สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือ แหวนปรับซูมมีช่วงการเปลี่ยนระยะทางยาวโฟกัสที่สั้น คือจากระยะทางยาวโฟกัส 200 มม. ไปถึง ระยะทางยาวโฟกัส 600 มม. ใช้ข้อมือหมุนเพียงนิดเดียว แหวนปรับซูมที่มีช่วงซูมที่สั้นนี้ จากระยะทางยาวโฟกัส 200 มม. ถึง ระยะทางยาวโฟกัส 600 มม. ทำให้หลายภาพ ผมสามารถเริ่มต้นจับภาพนกที่ระยะทางยาวโฟกัส 200 มม. หรือ 300 มม. ซึ่งจะหาตัวนกได้ง่ายกว่า และเมื่อพบตัวนกแล้วหมุนขยับแหวนซูมมาที่ทางยาวโฟกัส 600 มม. เพื่อบันทึกภาพได้ หรือเวลาที่เราต้องเปลี่ยนช่วงซูมกระทันหันก็ทำได้รวดเร็ว
กระบอกซูมที่ไม่ยืดออกเวลาซูม ทำให้เวลาถ่ายภาพนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องของตัวเลนส์ที่ยืดออกมา โดยเฉพาะการถ่ายภาพในที่แคบ เช่น บังไพร หรือขณะอยู่บนรถยนต์ (ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จะพบเจอนกบ่อยมาก) หรือเวลาที่ถือเลนส์ก็ไม่ต้องกลัวว่ากระบอกซูมจะหลวมเมื่อใช้งานไประยะเวลานานๆ

นกเขาชวา Zebra Dove, Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/640 sec. f/6.3, ISO 6400

Autofocus
ระบบมอเตอร์โฟกัสเป็นแบบ Direct Drive Super Sonic Motor [DDSSM] ที่อยู่ในเลนส์รุ่นนี้ สามารถโฟกัสได้เงียบ และรวดเร็ว โดยเฉพาะในการจับโฟกัสในการถ่ายภาพนกที่กำลังบินอยู่ ซึ่งความเร็วในการโฟกัสของเลนส์มีผลอย่างมาก ถือว่า เลนส์ Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS ตัวนี้ทำงานได้ดี ยิ่งเมื่อใช้งานกับกล้อง Sony a9 และ a9II การจับโฟกัสที่แม่นยำและรวดเร็วขึ้น ทำให้ได้ภาพที่คมชัด แม้กับการถ่ายภาพนกที่บินด้วยความเร็วอย่างเช่น นกนางแอ่น (Swallow) หรือนกแอ่น (Swift) ที่มักจะมีขนาดเล็กและบินโฉบไปมาอย่างรวดเร็วและไร้ซึ่งทิศทางที่แน่นอน ก็สามารถโฟกัสและบันทึกภาพได้ทัน ทั้งการถ่ายภาพแบบชอตเดียวและการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง

นกกระจอกบ้าน Eurasian Tree Sparrow, Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/4000 sec. f/6.3, ISO 2500

นกยางกรอกพันธุ์ชวา Javan Pond heron, Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/3200 sec. f/6.3, ISO 1250

Image Quality
ความคมชัดของภาพคงต้องบอกว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก แม้ว่าเลนส์ตัวนี้จะอยู่ในรุ่นของเลนส์กลุ่ม เลนส์ G แต่ก็ให้ความคมชัดของภาพที่ดี กำลังแยกขยายของเลนส์ส่งผลต่อเส้นขนของนกตามภาพตัวอย่างที่แนบมาจะเห็นว่า ลวดลาย และรายละเอียดต่างๆ บนตัวนกนั้นเก็บบันทึกมาได้อย่างครบถ้วน แม้ว่าจะไม่เทียบเท่าเลนส์ในกลุ่มของเลนส์ GM แต่ก็ถือว่าได้คุณภาพของภาพนกเป็นที่น่าพอใจ การละลายฉากหลังของเลนส์ ทำได้ดี ตามลักษณะของเทเลโฟโต้เลนส์ที่ควรจะเป็น ให้โบเก้ที่ฉากหลังได้สวยงาม ความคลาดสีของภาพมีต่ำมาก ที่กลางภาพมาจนถึงขอบภาพนั้นไม่พบการคลาดสีของภาพ

นกนางแอ่นบ้าน Barn Swallow, Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/4000 sec. f/6.3, ISO 1000

ภาพมีความชัด ลวดลาย และรายละเอียด เมื่อขยายภาพดูที่ 100%

สรุป
เลนส์ Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS เป็นเลนส์ซูมตั้งแต่ทางยาวโฟกัสเทเลโฟโต้เลนส์ไปจนถึงระยะซุปเปอร์เทเลโฟโต้ ที่มีขนาดเล็กและน้ำหนักที่ค่อนข้างเบาเมื่อเทียบกับทางยาวโฟกัสที่ได้ โครงสร้างและวัสดุที่แข็งแรง ด้วยการออกแบบระบบการทำงาน และฟังก์ชั่นการใช้งานที่เหมาะกับการถ่ายภาพนก เป็นเลนส์ที่ทำให้ผมแทบจะไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้องเลย เพราะขนาด น้ำหนัก และระบบกันสั่นที่ทำงานได้ดีมาก ให้คุณภาพของภาพที่ดี ระบบโฟกัสทำงานเงียบและไว จุดด้อยที่ดูเหมือนจะเป็นจุดเดียวที่พบก็คือ รูรับแสงกว้างสุดเมื่อซูมเลนส์ไปที่ระยะทางยาวโฟกัสไกลสุดคือ 600 มม. รูรับแสงจะอยู่ที่ F6.3 ซึ่งในสภาพแสงน้อยนั้นอาจจะต้องลดความเร็วชัตเตอร์ลง หรือดัน ISO ของกล้องเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเทียบกับขนาด และน้ำหนัก ที่เราสามารถนำเลนส์ที่ช่วงทางยาวโฟกัส 600 มม. ถือแพนกล้องถ่ายนกที่กำลังบินโฉบไปมาได้สบายๆ แล้วล่ะก็ นับว่าเป็นการแลกที่คุ้มค่าอยู่นะครับ
และสุดท้าย ราคาของเลนส์ตัวนี้นั้นอยู่ที่ 69,990 บาท ซึ่งจากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดก็ลองชั่งน้ำหนักความต้องการและการใช้งานของเราดูนะครับ แต่สำหรับผู้ที่เริ่มต้นถ่ายภาพนก และกำลังมองหาเลนส์สักตัวหนึ่งที่มีคุณภาพ เลนส์ Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจตัวหนึ่งครับ…

นกแอ่นทุ่งใหญ่ Oriental Pratincole, Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/1600 sec. f/7.1, ISO 500

นกกระเต็นอกขาว White-throated Kingfisher, Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/3200 sec. f/6.3, ISO 1250

นกกระเต็นปักหลัก Pied kingfisher, Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/3200 sec. f/6.3, ISO 1000

นกแอ่นพง Ashy Woodswallow, Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2500 sec. f/8, ISO 500

นกแอ่นพง Ashy Woodswallow, Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2500 sec. f/8, ISO 500

นกแก๊ก Oriental pied Hornbill, Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/6.3, ISO 640

นกแซงแซวหางปลา Black Drongo, Sony α9II. Lens 200-600 mm. G 1/4000 sec. f/6.3, ISO 8000