เรื่อง+ภาพ : นพดล อาชาสันติสุข

Sony α9 II เปิดตัวเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เมื่อปลายปี 2562 CAMERART ที่ประจวบกับการเริ่มต้นมีการระบาดของ COVID 19 จึงทำให้ CAMERART ทำการทดสอบกล้องรุ่นนี้ล่าช้าไปเนื่องจากโอกาสไม่อำนวย แต่เมื่อได้รับกล้องมาทดสอบ ก็เป็นเวลาเดียวกับที่การระบาดของ COVID 19 กำลังแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม CAMERART ก็ได้พยายาม ทำการทดสอบทดลองใช้กับกล้องรุ่นนี้ และนำเรื่องราวของกล้อง Sony α9 II มาเสนอสำหรับนักถ่ายภาพที่ถามไถ่กันมาตลอดเกี่ยวกับ สมรรถนะของกล้องรุ่นนี้แล้วละครับ

คุณลักษณะเด่น

Sony α9 II เปิดตัวเข้าสู่ตลาด ต่อจาก Sony α9 ที่ออกมาก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2560 และถือว่าเป็นกล้องระดับมืออาชีพที่เป็น Flagship รุ่นใหม่ล่าสุดที่ Sony นำออกสู่ตลาดเพื่อชนกับกล้อง D-SLR ระดับมืออาชีพโดยตรง จัดเป็นกล้องที่มีสมรรถนะสูง ตั้งแต่คุณภาพของภาพถ่าย ระบบโฟกัสที่รวดเร็วที่สุด การประมวลผลที่รวดเร็ว และถ่ายภาพต่อเนื่องได้สูงสุดถึง 20 ภาพต่อวินาที

ตัวกล้องของ Sony α9 II เมื่อดูโดยผิวเผือน Sony α9 II  มีความคล้ายคลึงกับ Sony α9 ค่อนข้างมาก ทั้งรูปลักษณ์ และน้ำหนัก ตัวกล้องผลิตด้วยโลหะ Magnesium alloy ที่มีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแกร่ง รูปลักษณ์ของ Sony α9 II ได้รับการพัฒนาให้มีการจับถือที่กระชับมือมากขึ้นด้วย Grip ที่มีขนาดใหญ่เต็มมือมากขึ้น ปุ่มปรับตั้งต่างๆ ได้รับการปรับปรุงให้สัมผัสและใช้งานได้สะดวกขึ้นมากกว่า Sony α9 และ ที่สำคัญก็คือ ระบบ Seal กันละอองน้ำ และฝุ่น ได้รับการปรับปรุงให้กันละอองน้ำ และฝุ่น ได้ดีมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ใช้งานได้ทุกสภาพดินฟ้าอากาศ

Exmor RS Stacked CMOS + BIONZ X  Sony α9 II  ยังคงติดตั้งเซ็นเซอร์แบบ Exmor RS Stacked CMOS ความละเอียดที่ 24.2 ล้านพิกเซล ซึ่งตัวเดียวกับที่ใช้ใน Sony α9 หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมยังใช้เซ็นเซอร์ตัวเดิม จากข้อมูลของ Sony  พบว่า เซ็นเซอร์รุ่นนี้  เป็นเซ็นเซอร์ที่มีเทคโนโลยีที่สูงล้ำหน้ามาก  ซึ่งใน Sony α9 ที่ใช้ Image processor รุ่นก่อนยังดึงความสามารถของเซ็นเซอร์รุ่นนี้ออกมาได้ไม่หมด เนื่องจาก Exmor RS Stacked CMOS รุ่นนี้เป็นเซ็นเซอร์แบบ Stacked ขนาด Full frame ที่มีความเร็วสูง ความละเอียดขนาด 24.2 ล้านพิกเซล สามารถจัดเก็บข้อมูลไว้ในหน่วยความจำภายในเซ็นเซอร์สำหรับการอ่านข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เมื่อนำมาใช้งานร่วมกับ BIONZ X ซึ่งเป็น Image Processor รุ่นใหม่ล่าสุด ทำให้สามารถดึงเอาประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์ออกมาใช้ได้สูงกว่า Sony α9 การประมวลผลภาพรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ถ่ายภาพต่อเนื่องได้รวดเร็วขึ้น ความไวแสงในการถ่ายภาพสูงมากขึ้นพร้อมกับสัญญาณรบกวนภาพที่ต่ำลง

ความไวแสง ด้วยสมรรถนะที่สูงขึ้นของ BIONZ X ที่ทำงานร่วมกับ Exmor RS Stacked CMOS ทำให้ Sony α9 II สามารถถ่ายภาพได้ด้วยความไวแสงสูง โดยมีสัญญาณรบกวนที่ต่ำลง ความไวแสงสามารถตั้งได้ตั้งแต่ ISO 100–51200  ปรับลดได้ที่ ISO 50  และปรับเร่งได้สูงถึง ISO 204800

ถ่ายภาพต่อเนื่อง กล้อง Sony α9 II  สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้สูงสุด เมื่อตั้งระบบชัตเตอร์เป็น Electronic Shutter ได้ที่ความเร็วสูงสุด 20 ภาพต่อวินาที พร้อมระบบ AF/AE Tracking โดยไม่มี Blackout ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในกล้อง D-SLR สามารถมองเห็นภาพต่อเนื่องได้ในช่องมองภาพเลยทีเดียว แต่ถ้าตั้งระบบชัตเตอร์เป็น Mechanic Shutter จะถ่ายภาพต่อเนื่องได้ด้วยความเร็ว 10 ภาพต่อวินาที (สูงกว่า Sony α9 ที่ทำได้ 5 ภาพต่อวินาที)

Sony α9 II มีความจุของ Buffer สูงมาก สามารถ่ายภาพต่อเนื่องได้ถึง 362 ภาพ ถ้าตั้งเป็นไฟล์ภาพแบบ JPEG ถ้าตั้งเป็น RAW File จะถ่ายติดต่อกันได้ 241 ภาพ

ระบบ Auto focus  มีจุดโฟกัสแบบ Phase Detection 693 จุด ทำงานร่วมกับ ระบบ Contrast Detection 425 จุด  คลุมพื้นที่ภาพได้ถึง 93% ได้รับการพัฒนาให้มีความรวดเร็วในการโฟกัส และความความรวดเร็วในการโฟกัสติดตามวัตถุได้รวดเร็วแม่นยำอย่างเหลือเชื่อ สามารถโฟกัสวัตถุได้คลุมพื้นที่เกือบทั้งภาพ แม้วัตถุจะอยู่ชิดขอบภาพก็มั่นใจได้ว่าจะได้ภาพที่คมชัด ซึ่งต่างจากกล้อง D-SLR ที่จุดโฟกัสจะรวมเป็นกลุ่มอยู่บริเวณกลางภาพ ไม่สามารถโฟกัสได้ถึงขอบภาพ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพแนว Wild Life โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่ชอบการถ่ายภาพนก รวมทั้งการถ่ายภาพกีฬา หรือ แม้แต่การถ่ายภาพแบบ Street

ระบบ AF–v’ Sony α9 II มีความรวดเร็วและว่องไวดีมาก สามารถโฟกัสภาพได้แม้สภาพแสงน้อย สามารถโฟกัสภาพได้แม้สภาพแสงน้อยถึง -3EV เพิ่มความสะดวกในการถ่ายภาพในยามที่แสงจำกัด  กล้องก็ยังสามารถโฟกัสวัตถุได้

Real time tracking และ Real time eye AF ใน Sony α9 II ระบบ Real time tracking และระบบ Real Time Eye AF ได้รับการพัฒนาให้มีความรวดเร็วและแม่นยำในการโฟกัสติดตามวัตถุ และการตรวจจับดวงตา ได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบ Real Time Eye AF ที่ได้รับการพัฒนาให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกได้ทั้งตามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ตาซ้าย หรือ ตาขวา และตาของสัตว์ ที่พิเศษก็คือ ระบบ Real Time Tracking ที่มีมาพร้อมกับระบบ AI [Artificial Intelligent] ที่ทำให้ระบบโฟกัสติดตามวัตถุมีความแม่นยำสูงยิ่งขึ้น ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากเรื่องของ สี ความสว่าง ระยะทาง ใบหน้า ดวงตา ประมวลผลอย่างรวดเร็วเพื่อความแม่นยำสูงสุดสำหรับภาพถ่ายในแนว Action

ชุดชัตเตอร์ และระบบกันสั่น 5 แกน ระบบกันสั่นแบบ 5 แกน ได้รับการพัฒนาให้สามารถลดการสั่นได้สูงมากกว่า Sony α9 สามารถลดการสั่นในการถ่ายภาพได้สูงถึง 5.5 สต็อป ชุดชัตเตอร์ได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้งานได้สูงถึง 500,000 ครั้ง

ความไวชัตเตอร์ ความไวชัตเตอร์ในระบบ Electronic สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ 1/8 วินาที ถึงความไวชัตเตอร์สูงสุดที่ 1/32000 วินาที สำหรับความไวชัตเตอร์แบบ Mechanic สามารถตั้งได้ตั้งแต่ 30 วินาที ถึง 1/8000 วินาที

Voice Memo ในกล้อง Sony α9 II ได้เพิ่มฟังก์ชั่น Voice Memo ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นใหม่ เพื่อให้ช่างภาพสามารถบันทึกเสียงคำอธิบายเนื้อหาการถ่ายภาพได้นานถึง 60 วินาที แนบกับไฟล์ภาพ .wav และยังสามารถฝัง IPTC และข้อมูลหมายเลข Serial No. กล้องลงในไฟล์ภาพได้ด้วย

รองรับการโอนข้อมูลความเร็วสูงด้วย 1000BASE-T Sony α9 II สามารถามารถโอนไฟล์ภาพขนาดใหญ่ได้ด้วยความเร็วสูง ไปยังเซิร์ฟเวอร์ FPT ที่กำหนดผ่านเทอร์มินัล LAN ที่รองรับ 1000BASE-T มีความปลอดภัยสูง

รองรับการโอนข้อมูลผ่าน FPT เพื่อตอบสนองความต้องการของช่างภาพมืออาชีพที่ต้องการส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว Sony α9 II รองรับการโอนถ่ายข้อมูลด้วย FPT โดยสามารถกำหนดเซิร์ฟเวอร์ FPT ไว้ล่วงหน้า ได้มากถึง 9 เซิร์ฟเวอร์ 

Video 4 K ระบบบันทึกภาพ Video ของ Sony α9 II  เป็นระบบ 4K โดยที่กล้องจะทำการบันทึกที่ความละเอียด 6K แล้วประมวลผลเป็น 4K  เพื่อให้ได้ภาพที่มีความคมชัดและเก็บรายละเอียดได้สูง  และ สามารถทำงานร่วมกับระบบ Real time Eye AF tracking สามารถจับโฟกัสดวงตาได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ยังมีช่องสำหรับไมโครโฟน และสามารถรองรับไมโครโฟน Shotgun ECM-B1M ที่ด้านบนของตัวกล้องได้อีกด้วย

อื่น ๆ…  Sony α9 II มีช่องสำหรับใส่การ์ดแบบ SD Card 2 ช่อง รองรับการ์ดความเร็วสูง USH-II ทั้ง 2 ช่อง แบตเตอรี่ NP-FZ100 สามารถถ่ายภาพได้ประมาณ 690 ภาพ ขนาดของกล้อง 128.9 x 96.4 x 77.5 มม. น้ำหนักกล้อง 678 กรัม แน่นอนครับว่า Sony α9 II  ยังมีฟังก์ชั่นอื่นให้ใช้งานอีกหลากหลายเลยทีเดียว                 

ทดสอบใช้งาน

การทดสอบกล้อง Sony α9 II รอบนี้ มีเวลาจับกล้องนานกว่าปกติเลยทีเดียว  แต่ก็อีกนั่นแหละเวลาถ่ายภาพกลับจำกัดด้วยภาวะของ COVID 19 ก็ต้องบอกว่าโชคดีอยู่นิด ที่ก่อนช่วงที่จะมีการจำกัดพื้นที่ ยังได้มีโอกาสออกเดินทางไปถ่ายภาพทดสอบด้วยกล้องรุ่นนี้เก็บไว้ส่วนหนึ่งก่อนแล้ว ต้องขอขอบคุณทาง Sony Thai ที่อำนวยความสะดวกสำหรับกล้อง Sony α9 II พร้อม เลนส์ FE 100–400 mm. F 4.5-5.6 GM OSS และ FE 200–600 mm. F 5.6-6.3 G OSS

จากการที่ได้สัมผัสกับกล้องรุ่นนี้ การจับถือ Grip ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่จับได้กระชับเต็มอุ้งมือดีมาก ปุ่ม ปรับตั้งต่างๆ ยังอยู่ในตำแหน่งที่คุ้นมือ แต่ความรู้สึกดีขึ้นกว่าเดิมจากการปรับปรุงให้มีมิติที่หนาขึ้นกว่าเก่า ที่ถูกใจอย่างหนึ่งก็คือ แหวนชดเชยแสง มีปุ่มล็อคแล้ว หมดกังวลในเรื่องการเลื่อนของแหวนโดยไม่ตั้งใจ   

เมนู ยังคงรูปแบบเดิม แฟนๆ Sony สามารถทำความคุ้นเคยได้ทันที  ที่มีเพิ่มก็จะเป็นฟังก์ชั่นใหม่ๆ อย่างเช่น Voice Memo เป็นต้น

ในเรื่องของการทดสอบถ่ายภาพ ความตั้งใจที่จะถ่ายภาพทดสอบครั้งนี้ ตั้งใจไว้เลยว่าจะถ่าย “ภาพนก” เหตุที่เลือก “นก” เป็นวัตถุสำหรับการถ่ายทดสอบกล้อง Sony α9 II ก็เพราะว่า “นกมีปีก บินได้เร็ว เปลี่ยนทิศทางการบินได้ตลอดเวลา” จึงเหมาะที่จะใช้เป็นตัวทดสอบสมรรถนะในเรื่องของความเร็ว และความแม่นยำในเรื่องของระบบโฟกัส อีกประการหนึ่ง “นก” ถือว่าเป็นสัตว์สวยงามที่มีสีสัน และมีลวดลายของขนที่หลากหลาย ที่เหมาะสำหรับการทดสอบการเก็บรายละเอียดและสีสันของกล้องได้เป็นอย่างดี

กล้อง Sony A9II, เลนส์ FE 100-400 mm. f/4.5-5.6 GM OSS, 1/1250 sec., f8, ISO 1600

กล้อง Sony A9II, เลนส์ FE 200-600 mm. f/5.6-6.3 G OSS, 1/1250 sec., f8, ISO 800

กล้อง Sony A9II, เลนส์ FE 200-600 mm. f/5.6-6.3 G OSS, 1/1600 sec., f8, ISO 800

ผลของการใช้งาน

สำหรับการถ่ายภาพนก สิ่งที่นักถ่ายภาพต้องการ คือ การได้ภาพนกที่คมชัดสามารถเก็บรายละเอียดได้ดี โฟกัสต้องแป๊ะ ตานกต้องคมชัด ที่สำคัญ ถ้าเป็นจังหวะนกบิน ต้องได้ภาพที่มีโฟกัสแม่นยำ ดังนั้นระบบโฟกัสของกล้องจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่างภาพต้องการ

จากการได้ลองใช้กล้อง Sony α9 II ร่วมกับเลนส์ของ Sony ทำการทดสอบด้วยการถ่ายภาพนก ทั้งนกที่เกาะ และ นกที่บิน พบว่า Sony ได้พัฒนาเทคโนโลยีของระบบโฟกัสให้ใช้งานได้อย่างก้าวหน้าล้ำยุคเลยทีเดียว ทำให้การถ่ายภาพ ในแนว Action เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นทันที

การ Set กล้องทำได้ง่าย ด้วยการปรับเลือกการโฟกัสเป็นแบบ AF-C แล้วเลือกพื้นที่โฟกัส ที่มีให้เลือกใช้ตามลักษณะของงาน  เช่น  เป็นแบบ Wide area, Zone  การปรับตั้งพื้นที่โฟกัสในสองแบบนี้  เมื่อเล็งกล้องไปที่นกที่กำลังบินอยู่กลางอากาศ  โฟกัสจะวิ่งจับที่นกได้อย่างรวดเร็ว  แม่นยำ  และ Tracking ติดตามนกทันที

หรือแม้แต่การถ่ายภาพนกที่อยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ที่สภาพแสงไม่ดีนัก ก็เพียงแต่เปลี่ยนพื้นที่ที่โฟกัสเป็นแบบ Tracking Flexible Spot ก็สามารถโฟกัสได้อย่างรวดเร็ว และยัง Tracking ตามอากัปกริยาของนกตลอดเวลา ไม่ว่านกจะเหลียวหน้าหรือเหลียวหลังให้ภาพนกที่คมชัด ด้วยความสามารถในการโฟกัสแม้สภาพแสงต่ำถึง -3 EV

เมื่อเล็งกล้องไปที่นกที่กำลังบินอยู่กลางอากาศ โฟกัสจะวิ่งจับที่นกได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ, กล้อง Sony A9II, เลนส์ FE 100-400 mm. f/4.5-5.6 GM OSS, 1/2000 sec., f11, ISO 800

นกที่อยู่ในสุมทุมพุ่มไม้ที่สภาพแสงไม่ดีนัก สามารถโฟกัสได้อย่างรวดเร็ว และยัง Tracking ตามอากัปกริยาของนกตลอดเวลา ไม่ว่านกจะเหลียวหน้าหรือเหลียวหลังให้ภาพนกที่คมชัด, กล้อง Sony A9II, เลนส์ FE 100-400 mm. f/4.5-5.6 GM OSS, 1/1600 sec., f8, ISO 1600

กล้อง Sony A9II, เลนส์ FE 100-400 mm. f/4.5-5.6 GM OSS, 1/2000 sec., f6.3, ISO 1600

ในการถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วสูง 20 ภาพต่อวินาที พบว่าการโฟกัสสามารถโฟกัสภาพนกที่กำลังบินได้อย่างรวดเร็ว และสามารถ Tracking โฟกัสติดตามนกได้รวดเร็วและแม่นยำอย่างเหลือเชื้อ ภาพที่ถ่ายต่อเนื่องเกือบร้อยภาพมีความคมชัดดีเกือบทุกภาพ จะเว้นบางภาพก็คือ จังหวะที่นกเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน แต่กล้องก็จะไล่จับโฟกัสต่อได้ภาพคมชัดต่อเนื่องทันทีเหมือนกัน จุดเด่นเมื่อได้ใช้งานถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วสูง 20 ภาพต่อวินาทีก็คือ ไม่มี Blackout คือ อาการมืดในช่องมองภาพ ช่างภาพจะเห็นต่อเนื่องโดยไม่มีอาการมืดเลย

สำหรับเรื่องของการเก็บรายละเอียดของวัตถุ และสีสันของภาพถ่าย เรื่องนี้หายห่วงได้เลย จากภาพถ่ายนกที่ได้ พบว่า Sony α9 II สามารถเก็บรายละเอียดได้ดีมาก สีสันสดใสสมจริง จุดเด่นที่ดีมากสำหรับเรื่องนี้ก็คือ การถ่ายภาพนกนั้น จะใหญ่จะถ่ายภาพจากระยะไกล แม้ว่าจะใช้เลนส์เทเลโฟโต้ขนาด 400-600 มม. แล้วก็ตาม หลายครั้งที่ถ่ายภาพแล้วก็ยังต้องนำภาพมา Crop ตัดส่วนใหม่ ซึ่งเมื่อนำมาขยายภาพดู ก็ยังพบว่า ได้นกที่มีรายละเอียดที่ดี สีสันสดใสใช้งานได้สบายมาก

ภาพที่ถ่ายต่อเนื่องเกือบร้อยภาพมีความคมชัดดีเกือบทุกภาพ จะเว้นบางภาพก็คือ จังหวะที่นกเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน, กล้อง Sony A9II, เลนส์ FE 100-400 mm. f/4.5-5.6 GM OSS, 1/2000 sec., f8, ISO 1000

บทสรุป

จากการที่ได้ลองใช้งานกับ Sony α9 II มาระยะเวลานานพอสมควร  ผมอยากจะบอกว่า Sony α9 II นับเป็นกล้อง Mirrorless ที่มีระบบโฟกัสที่ดีที่สุด และเร็วที่สุด ในเวลานี้ สามารถโฟกัสที่สภาพแสงต่ำถึง -3EV นอกจากโฟกัสได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังสามารถ Tracking ติดตามวัตถุได้อย่างรวดเร็วแม่นยำอีกด้วย ระบบ Real Time Tracking และ Real Time Eye AF ทำงานได้ดั่งใจ ทำงานได้ทันทีที่เจอะเจอดวงตา

เชื่อว่าคงมีนักถ่ายภาพหลายท่าน คงอยากถามว่าถ้าเทียบกับกลอง D-SLR แล้วเป็นอย่างไร ตอบกันไว้พร้อมกันที่ตรงนี้เลยครับ ความเห็นส่วนตัวนั้น ผมว่ากล้อง DSL-R นั้นเดินทางมาถึงจุดที่พัฒนาให้สูงกว่านี้ยากครับ ด้วยขีดจำกัดของ ระบบตัวกล้องเอง และความซับซ้อนในการพัฒนา

Sony α9 II ได้พัฒนาระบบโฟกัสที่ก้าวล้ำนำหน้าไปแล้ว ด้วยความเร็วในการโฟกัส ความแม่นยำในการโฟกัส การประมวลที่รวดเร็ว จุดโฟกัสที่มาก และพื้นที่โฟกัสที่กว้าง ทำให้ Sony α9 II สามารถจับโฟกัสได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ โฟกัสได้ถึงขอบภาพ ในขณะที่ D-SLR ทำไม่ได้ แต่ถ้าจะมีคนเถียงว่า วันนี้กล้อง D-SLR บางรุ่นก็ทำได้ ผมคงไม่เถียงละครับ แต่ผมอยากบอกว่า… “นั่นคือการยกส่วนของ Mirrorless ไปใส่ไว้ใน D-SLR เท่านั้น” เพราะว่าจะทำได้ ก็ต่อเมื่อยกกระจกขึ้น ดูจากจอหลัง ไม่สามารถดูได้จากช่องมองภาพปกติครับ  ซึ่งในสายอาชีพ บอกได้เลยว่าไม่สะดวกครับ

ดังนั้น วันนี้ ผมก็ยังถือว่า Sony α9 II เป็นกล้องที่สมบูรณ์แบบ สำหรับการถ่ายภาพในแนว Action ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพกีฬา ถ่ายภาพ Wild Life ถ่ายภาพสารคดีต่างๆ ถ่ายภาพข่าวสำคัญต่างๆ ไปจนถึงการถ่ายภารในแนว Street

กล้อง Sony A9II, เลนส์ FE 100-400 mm. f/4.5-5.6 GM OSS, 1/1250 sec., f8, ISO 800

กล้อง Sony A9II, เลนส์ FE 100-400 mm. f/4.5-5.6 GM OSS, 1/1600 sec., f8, ISO 1600

กล้อง Sony A9II, เลนส์ FE 200-600 mm. f/5.6-6.3 G OSS, 1/2000 sec., f8, ISO 1600

กล้อง Sony A9II, เลนส์ FE 100-400 mm. f/4.5-5.6 GM OSS, 1/2000 sec., f8, ISO 1000