เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

ในการถ่ายภาพนกนั้น สถานที่ถ่ายภาพเป็นสิ่งที่ช่างภาพควรทำความรู้จัก และศึกษาข้อมูลก่อนที่จะไปในสถานที่นั้นๆ โดยเฉพาะในการถ่ายภาพนก การเตรียมตัวที่มากกว่าแค่อุปกรณ์ถ่ายภาพ ตั้งแต่การแต่งกาย บางสถานที่เป็นลักษณะกลางแจ้ง ทุ่งโล่ง อากาศที่ค่อนข้างร้อน บางสถานที่ร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้หนาทึบ บางสถานที่ควรไปเวลาเช้า หรือแค่เฉพาะเวลาเย็น ซึ่งจะสัมพันธ์กันไปกับพฤติกรรมของนกแต่ล่ะชนิดที่อยู่ในบริเวณนั้น ในช่วงเวลา หรือฤดูกาลนั้น

เราเริ่มตั้งหลักใกล้ตัวที่สุดกันก่อน จากสถานที่ถ่ายภาพนกในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมากถ้าเป็นใจกลางเมือง สถานที่ถ่ายภาพนกก็จะอยู่บริเวณภายในสวนสาธารณะต่างๆ เช่น สวนรถไฟ สวนหลวง ร.9 หรือ สวนสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่มักจะมีนกประจำถิ่น และนกอพยพ แวะเวียนกันมาให้ถ่ายภาพได้ตลอดทั้งปี หรือจะออกเดินทางไปไกลหน่อยก็จะเป็นเขตกรุงเทพฯชั้นนอกอย่าง ทุ่งลาดกระบัง ที่มักจะมีนกน้ำ หลากหลายสายพันธุ์ ให้ถ่ายภาพได้เช่นกัน ถ่ายภาพในกรุงฯ บ่อยเข้า ก็อยากจะออกเดินทางไปไกลขึ้นเพื่อพบนกที่แปลกตาบ้าง หรือนกเดิมๆ ที่คุ้นเคย แต่เปลี่ยนฉากหลังใหม่ๆ โลเกชั่นใหม่ๆ ก็คงต้องมองหาสถานที่รอบกรุงเทพฯ เขตปริมณฑล ที่ประกอบด้วย ปทุมธานี, นนทบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร, และสมุทรปราการ ซึ่งเราสามารถเดินทางแบบ เช้าไป-เย็นกลับ ได้ง่ายๆ จริงไหมครับ เรามาดูกันดีกว่าว่า รอบกรุงเทพมหานครเมืองหลวงของเรานั้น มีสถานที่ถ่ายภาพนกที่น่าสนใจที่ใดบ้าง

1. ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี

ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เป็นสถานที่ถ่ายภาพนกที่มีนกมากมายแวะเวียนกันมาที่นี่ตลอดทั้งปี ด้วยสภาพของทุ่งนาข้าวที่มีการปลูกนาข้าวทดลอง หมุนเวียนกันไปหลายแปลง สลับกันไป ทำให้มีโอกาสพบนกหลายชนิด โดยเฉพาะนกทุ่ง และนกน้ำต่างๆ ที่พบได้มาก เช่น นกกระจาบ นกกระยาง นกกระติ๊ด นกโป่งวิด เป็ดแดง นกอีลุ้ม ฯลฯ

การเดินทาง : ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี อยู่ที่ คลอง 6 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานีครับ ถ้าเดินทางจากกรุงเทพฯ มาตามถนนวิภาวดีรังสิต ให้ขับมาทางถนนรังสิต-นครนายก เรื่อยมา ให้สังเกตมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่อยู่ทางฝั่งซ้ายมือ โดยศูนย์วิจัยข้าวฯจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน ให้ไปกลับรถมาข้ามสะพานแล้วตรงเข้าไปด้านในได้เลย

ข้อแนะนำการถ่ายภาพ : สำหรับการถ่ายภาพที่นี่ เพราะเป็นทุ่งนาโล่งๆ การถ่ายภาพจะเป็นการถ่ายภาพจากบนรถ หรือการนั่งเงียบๆในบังไพรชั่วคราวที่เตรียมมาเอง ในบางจุดสามารถจอดรถแอบข้างทาง และลงไปถ่ายภาพได้ แต่โอกาสที่นกจะตื่นตัวมีสูง ควรขยับตัวให้น้อยและส่งเสียงให้เงียบจะมีโอกาสได้ภาพมากกว่า

เลนส์ที่แนะนำให้เลือกใช้ : สถานที่เป็นทุ่งนาข้าวที่กว้าง มีทั้งนกที่ทำรังในระยะใกล้ และนกที่หากินในระยะห่าง ดังนั้นเลนส์ที่เหมาะสมจึงค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ช่วงทางยาวโฟกัส 400 มม. ขึ้นไปเช่น
Sony FE 100-400 mm. F4.5-5.6 GM OSS
Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS
Sony FE 400 mm. F2.8 GM OSS
Sony FE 600 mm. F4 GM OSS

ช่วงเวลาที่เหมาะสม : ช่วงเช้า ประมาณ 6 – 9 โมงเช้า และช่วงเวลาเย็น บ่าย 3 โมงเย็น – 6 โมงเย็น

ข้อพึงระมัดระวัง : สถานที่นี้ไม่ใช่สถานที่สาธารณะเป็นสถานที่ราชการ ดังนั้นไม่ควรเข้าไปแบบรบกวนสถานที่มากนัก โดยเฉพาะการส่งเสียงดัง การจัดกิจกรรมต่างๆ หรือการเข้าไปในพื้นที่ส่วนอาคารต่างๆ ที่ไม่ได้อนุญาตให้เข้า ไม่จอดรถกีดขวางทางสัญจร หลีกเลี่ยงการขับรถดูนกไปเรื่อยๆ กรุณาจอดรถในบริเวณที่เหมาะสมและลงเดินดูนก เพื่อไม่ให้เป็นการกีดขวางเส้นทางสัญจร

นกกระติ๊ดแดง Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2500 sec. f/6.3, ISO 1250

2. วัดสวนใหญ่ บางกรวย นนทบุรี

วัดสวนใหญ่ บางกรวย นนทบุรี ที่นี่นกที่เราจะพบได้แน่ๆ เลยก็คือ นกแก้วโม่ง และนกแขกเต้า ที่จะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ทั้งเกาะบนต้นไม้ และบินโฉบไปมา โดยเฉพาะในช่วงเวลาเย็น จะพบเจอและเห็นนกแก้วทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นจำนวนมาก เกาะอยู่ตามต้นยางใหญ่ ส่งเสียงร้องดังทั่วไปหมด

การเดินทาง : ถ้ามาจากสะพานพระราม 7 ข้ามมาทางฝั่งธนฯ วนรถแล้วเลี้ยวเข้าถนนบางกรวย-ไทรน้อย เข้าไปตามทางหลักเรื่อยๆ ทางเข้าวัดสวนใหญ่จะอยู่ทางขวามือ เมื่อเข้าไปแล้วจะได้ยินเสียง นกส่งเสียงร้องดัง แกว้ก แกว้ก ไปทั่วบริเวณ

ข้อแนะนำการถ่ายภาพ : การถ่ายภาพที่นี่จะเป็นลักษณะการเดินหานก และจับจังหวะท่าทางต่างๆของนก โดยเฉพาะจังหวะการบินของนกแก้ว ทั้งนกแก้วโม่ง และนกแขกเต้า เวลาที่บินจะสวยงามมาก ควรเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง

เลนส์ที่แนะนำให้เลือกใช้ : สถานที่มีนกอาศัยอยู่บนต้นไม้ใหญ่ มีระยะห่างพอสมควร เลนส์ที่เหมาะสมจึงเริ่มตั้งแต่ช่วงทางยาวโฟกัส 400 มม. ขึ้นไปเช่น
Sony FE 100-400 mm. F4.5-5.6 GM OSS
Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS
Sony FE 400 mm. F2.8 GM OSS
Sony FE 600 mm. F4 GM OSS

ช่วงเวลาที่เหมาะสม : ช่วงเวลาเย็น ตั้งแต่บ่าย 3 โมงเย็นเป็นต้นไปจนถึงเวลา 6 โมงเย็น

ข้อพึงระมัดระวัง : สถานที่อยู่ในบริเวณวัด และใกล้กับบ้านเรือนของผู้คนใกล้ๆ วัด จึงไม่ควรส่งเสียงดังและรบกวนสถานที่มากเกินไป

นกแก้วโม่ง Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/1600 sec. f/6.3, ISO 640

3. พุทธมณฑล นครปฐม

พุทธมณฑล นครปฐม หลายคนคงคุ้นเคยและรู้จักกับที่นี่เป็นอย่างดี ด้วยความกว้างของสถานที่และความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่มากมาย ทำให้ที่พุทธมณฑล นครปฐม มีโอกาสพบนกอยู่มาก ทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพที่แวะมาเยี่ยมเยือน และยึดเป็นจุดพักระหว่างทางก่อนจะอพยพไปที่อื่นก็มี โดยนกที่พุทธมณฑลนี้มีโอกาสพบมากมายหลายชนิด เช่น นกแซงแซว นกเฉี่ยวบุ้ง นกกระสานวล นกกระเต็น ฯลฯ เรียกว่าตลอดทั้งปีมีนกให้ถ่ายภาพได้ทุกเดือน

การเดินทาง : ไม่ไกลจากกรุงเทพ มาทางด้านตลิ่งชัน ทางถนนบรมราชชนนี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพุทธมณฑล สาย 4 ก็ถึงทางเข้าพุทธมณฑล จุดดูนกในบริเวณพุทธมณฑลที่ไม่ควรพลาดคือ เข้าไปด้านใน ทางสวนป่าไผ่ หรือสวนเวฬุวัน

ข้อแนะนำการถ่ายภาพ : การถ่ายภาพที่นี่จะเป็นลักษณะการขับรถไปจอดตามจุดต่างๆ และลงเดินหานก ซึ่งต้องอาศัยการสังเกต และการฟังเสียงนกร้องพอสมควร ควรเตรียมกล้องและตั้งค่าต่างๆ ให้พร้อม ด้วยช่วงเวลาที่พบนกจะมีระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่นกจะบินไปจุดอื่น

เลนส์ที่แนะนำให้เลือกใช้ : สถานที่เป็นสวนป่าที่กว้าง โอกาสพบนกได้ในระยะที่ค่อนข้างไกล ดังนั้นเลนส์ที่เหมาะสมจึงอยู่ที่ช่วงทางยาวโฟกัสมากกว่า 400 มม. ขึ้นไปเช่น
Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS
Sony FE 600 mm. F4 GM OSS

ช่วงเวลาที่เหมาะสม : ช่วงเช้า ประมาณ 6 – 9 โมงเช้า และช่วงเวลาเย็น บ่าย 3 โมงเย็น – 6 โมงเย็น

ข้อพึงระมัดระวัง : เป็นสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาไม่ควรส่งเสียงดัง และรบกวนผู้คนอื่นๆ ที่มาใช้สถานที่มากเกินไป

นกเฉี่ยวบุ้ง Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/1250 sec. f/6.3, ISO 160

4. ท่าฉลอม สมุทรสาคร

สมุทรสาครเป็นเมืองชายทะเล นกที่เราจะพบเห็นจึงมักจะเป็นจำพวกนกชายเลนต่างๆ โดยเฉพาะช่วงฤดูนกอพยพ (เดือน ตุลาคม-พฤษภาคม) โดยเฉพาะช่วงเดือน เมษายนและพฤษภาคม ที่นกจะมารวมฝูงกันเป็นจำนวนมากและมักจะมีการเปลี่ยนชุดสีขน ทำให้พบเห็นได้ง่าย มีสีสันเข้ม สดใส เช่น นกหัวโตเล็ก นกชายเลน นกทะเลขาแดง ฯลฯ

การเดินทาง : จากพระราม2 มุ่งหน้าไปมหาชัย เลี้ยวซ้ายเข้าท่าฉลอม ตรงไปทางวัดบางหญ้าแพรก ผ่านวัดไปจนสุดทางเลียบทะเล เจอป่าชายเลน และสะพานปูนยื่นยาวลงไปในทะเล

ข้อแนะนำการถ่ายภาพ : การถ่ายภาพที่นี่สามารถเดินบนสะพานปูนไปเรื่อยได้ นกจะอยู่สองข้างทาง ลมค่อนข้างแรง ถ้าจะใช้ขาตั้งกล้อง ต้องระวังลมพัดขาตั้งมีโอกาสทำกล้องล้มได้ ถ้าจะถ่ายภาพนกบินพยายามมองหานกที่บินมาจากระยะไกล จะมีเวลามากพอให้ยกกล้องแพนตามนกได้ทัน

เลนส์ที่แนะนำให้เลือกใช้ : สถานที่เป็นป่าชายเลนริมทะเล มีพื้นที่กว้าง โอกาสพบนกได้ในระยะที่ค่อนข้างไกล ดังนั้นเลนส์ที่เหมาะสมจึงอยู่ที่ช่วงทางยาวโฟกัสมากกว่า 400 มม. ขึ้นไปเช่น
Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS
Sony FE 600 mm. F4 GM OSS

ช่วงเวลาที่เหมาะสม : ช่วงเวลา บ่าย 3 โมงเย็น – 6 โมงเย็น

ข้อพึงระมัดระวัง : สถานที่ค่อนข้างห่างไกลผู้คน ควรไปกับเพื่อนอย่างน้อยอีกหนึ่งคน ไม่มีร่มเงาให้หลบแดด เตรียมอุปกรณ์รับมือกับแดดที่ร้อนจัดเวลากลางวัน

นกหัวโตทรายเล็ก Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/4000 sec. f/6.3, ISO 640

5. บ้านสาขลา สมุทรปราการ

สมุทรปราการเป็นแหล่งดูนกน้ำ นกชายเลน นกทะเล ที่น่าสนใจหลายจุดด้วยกัน สำหรับนกน้ำนั้น ขอแนะนำ บ้านสาขลา ด้วยว่าเป็นแหล่งดูนกน้ำที่นกค่อนข้างอยู่ใกล้ และจำนวนที่เยอะ ถ่ายภาพได้สะดวก เหมาะสำหรับฝึกหัดถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี เพราะนกที่นี่จะใกล้ชิดกับผู้คนและไม่ค่อยตื่นคนมากนัก เริ่มตั้งแต่สะพานหน้าวัดสาขลา ไปจนถึงป่าชายเลน และหมู่บ้านด้านใน ที่มักจะพบ นกกระยาง นกแขวก นกกินเปรี้ยว นกกาน้ำเล็กฝูงใหญ่ ทำรังอยู่บนต้นไม้ด้านในนั้น บินว่อนตลอดทั้งวัน และในตลาดบ้านสาขลาก็เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีร้านค้า ขายสินค้าต่างๆ ทำให้สถานที่นี้ไม่ต้องห่วงเรื่องอาหารการกิน ถือเป็นจุดถ่ายภาพที่ค่อนข้างสบายพอสมควร

การเดินทาง : จากถนนสุขสวัสดิ์ มาถึงสามแยกพระสมุทรเจดีย์เลี้ยวขวา วิ่งไปทางป้อมพระจุล ไปเรื่อยจนข้ามสะพานคลองสรรพสามิต ลงสะพานมาจะเจอป้ายบอกทางไปวัดสาขลา เลี้ยงขวาไปตามป้ายสุดทางจะเป็นวัดสาขลา จอดรถได้ที่บริเวณวัดสาขลา แล้วเดินไปในเส้นทางตลาด

ข้อแนะนำการถ่ายภาพ : นกที่นี่ส่วนใหญ่จะชอบบินไปมาโดยเฉพาะนกกาน้ำ และนกกระยาง จะบินผ่านไปมาตลอดเวลา เหมาะสำหรับการฝึกแพนตามนก และเลือกจังหวะกดชัตเตอร์ที่นกกำลังกางปีกสวยงาม

เลนส์ที่แนะนำให้เลือกใช้ : สถานที่มีนกอาศัยอยู่ในชุมชน ใกล้กับผู้คน สามารถพบนกในระยะห่างไม่มากนัก เลนส์ที่เหมาะสมจึงเริ่มตั้งแต่ช่วงทางยาวโฟกัส 400 มม. ขึ้นไป แต่เลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้อาจจะมีขนาดของเลนส์ที่ใหญ่เกินไปใช้งานไม่สะดวก จึงอยากแนะนำให้ใช้เป็นเลนส์ซูมเทเลโฟโต้ เช่น
Sony FE 100-400 mm. F4.5-5.6 GM OSS
Sony FE 200-600 mm. F5.6-6.3 G OSS

ช่วงเวลาที่เหมาะสม : สามารถถ่ายภาพได้ตลอดทั้งวัน แต่ช่วงเย็นนกจะมารวมฝูงกันมากที่สุด

ข้อพึงระมัดระวัง : สถานที่เป็นชุมชนที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว และเป็นบ้านอยู่อาศัยของชาวบ้านบริเวณนั้น ไม่ควรรบกวนเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของพื้นที่ส่วนบุคคล หรือควรขออนุญาตในบางพื้นที่ ที่จะเข้าไปถ่ายภาพ

นกกาน้ำเล็ก Sony α9. Lens 600 mm. GM 1/2500 sec. f/7.1, ISO 1250

ทั้ง 5 สถานที่เป็นแหล่งดูนก และถ่ายภาพนกใกล้กรุงเทพฯ โดยอยู่ในเขตจังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัด ประกอบด้วย ปทุมธานี, นนทบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร, และสมุทรปราการ ยังมีอีกหลายจุดที่สามารถไปถ่ายภาพนกได้ ทั้ง 5 แหล่งถ่ายภาพนกที่แนะนำมาในครั้งนี้ เหมาะสำหรับนักถ่ายภาพนก และนักดูนกทุกระดับ โดยเฉพาะมือใหม่หัดถ่าย สามารถใช้เป็นสถานที่ฝึกฝนการถ่ายภาพนกได้ นกที่พบโดยส่วนมากจะเป็นนกชนิดและสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกัน และพบเห็นได้ง่าย ทั้งนกทุ่ง นกน้ำ และนกชายเลน เป็นส่วนใหญ่ เช่น นกกระยาง นกกระจาบ นกกระจิบ นกแซงแซว นกกาน้ำเล็ก มักจะเป็นนกที่พบเห็นได้ทั่วไปเกือบจะทุกสถานที่ สำหรับบางพื้นที่ก็อาจจะพบนกอพยพ หรือนกประจำถิ่น รวมถึงนกหายากในแต่ล่ะพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเราสามารถเดินทางไปถ่ายภาพได้ตลอดทั้งปีครับ…

นกโป่งวิด Sony α9. Lens 600 mm. GM 1/2500 sec. f/6.3, ISO 800

นกอีลุ้ม Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/6.3, ISO 2500

นกอีลุ้ม Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/6.3, ISO 1250

นกแอ่นทุ่งใหญ่ Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2500 sec. f/6.3, ISO 320

นกกระจาบ Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/5000 sec. f/6.3, ISO 2500

นกกระจอกตาล Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/6.3, ISO 400

นกกระจิบหญ้าสีเรียบ Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2500 sec. f/6.3, ISO 1000

นกกระติ๊ดแดง Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/7.1, ISO 4000

นกกระติ๊ดแดง Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2500 sec. f/6.3, ISO 1250

นกกระติ๊ดแดง Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/1000 sec. f/6.3, ISO 2000

นกแอ่นทุ่งใหญ่ Sony α9. Lens 600 mm. GM 1/1600 sec. f/5, ISO 4000

นกกระจาบ Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/6.3, ISO 3200

นกกระจาบ Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/1000 sec. f/6.3, ISO 6400

นกแก้วโม่ง Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/1600 sec. f/6.3, ISO 800

นกแขกเต้า Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/3200 sec. f/6.3, ISO 1600

นกแขกเต้า Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/7.1, ISO 1000

เป็ดผีเล็ก Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/6.3, ISO 500

นกหัวโตทรายเล็ก Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/4000 sec. f/7.1, ISO 1250

นกหัวโตทรายเล็ก Sony α9II. Lens 600 mm. GM 1/5000 sec. f/5.6, ISO 800

นกทะเลขาแดง Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/4000 sec. f/7.1, ISO 500

นกกระจาบ Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/6.3, ISO 400

นกกระจาบ Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/2000 sec. f/6.3, ISO 400

นกกระจาบ Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/1600 sec. f/6.3, ISO 2500

นกรวมฝูงยามเย็น Sony α9. Lens 200-600 mm. G 1/1250 sec. f/6.3, ISO 1250