เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 195/2013 November

หลายครั้งนะครับ ที่เราอยู่บนรถแล้วมองออกไปที่วิวสองข้างทาง ในขณะเดียวกัน ก็รู้สึกเกิดสนใจ และอยากจะบันทึกภาพเก็บเอาไว้ และก็อีกหลายครั้งเช่นกันที่เราไม่สามารถจะจอด หรือลงไปจากรถนั้นได้ ความรู้สึกนี้มักจะเกิดขึ้นบ่อย เวลาที่เราเดินทางไปกับทัวร์ หรือไปเที่ยวที่ไหนกันหลายๆ คน หรือแม้แต่การใช้บริการของรถโดยสาร และทางออกเดียวที่เราพอจะทำได้นั่นก็คือการบันทึกภาพนั้นจากบนรถนั่นเอง

ในการถ่ายภาพจากบนรถนั้น สิ่งสำคัญเลยก็คือเรื่องของ “จังหวะ” ในการกดชัตเตอร์ “สปีด” ของ Shutter Speed “เงา” ที่สะท้อนมาจากกระจกหน้าต่าง และสุดท้าย สิ่งสกปรกบนหน้าต่างรถคันนั้น ดังนั้นก่อนอื่นเลย ในกรณีที่เราตั้งใจไว้ว่า จะถ่ายภาพจากบนรถ หรือการเดินทางในครั้งนี้ เราคงมีโอกาสถ่ายภาพจากบนรถแน่ๆ ถ้าเป็นไปได้ เราจะยึดถือหลักการที่ว่า พื้นที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง นั่นก็คือการเลือกตำแหน่งที่นั่งริมหน้าต่างเสียก่อน (แต่หลายครั้งภาพดีๆ ก็ไม่ได้มาจากที่นั่งริมหน้าต่างเสมอไปนะครับ)

สิ่งที่เราควรจะเตรียมพร้อมเอาไว้เสมอก็คือกล้องถ่ายภาพคู่ใจ ซึ่งเราควรปรับตั้ง Shutter Speed เอาไว้ให้สูง เอาไว้ก่อน เพื่อโอกาสในการได้ภาพที่คมชัด ไม่สั่นไหว เพราะรถที่กำลังวิ่งอยู่นั้น บางครั้งก็เร็วมากกว่าที่เราคิด และน้อยครั้งที่จังหวะชะลอรถ จะมาตรงกับจังหวะที่ภาพอันสวยงามอยู่ตรงหน้าเรา โดยมาก Shutter Speed ที่ผมใช้จะพยายามไม่ให้ต่ำกว่า 1/250 -1/500 sec. ทั้งนี้ควรสังเกตสภาพแสงภายนอกรถ ถ้าสว่างมากๆ ก็ไม่ต้องกังวลอะไรนัก โดยมากการตั้งโหมดถ่ายภาพที่ A Mode หรือ Av Mode โดยเลือกค่า F ไว้ที่ 5.6 และคอยสังเกตว่า Shutter Speed นั้นตกลงไปต่ำกว่า 1/250 s หรือไม่ก็พอช่วยได้ ถ้าถามว่าทำไมไม่ใช้โหมด S และตั้งไว้ที่ 1/250s เลย นั่นก็เพราะว่า ถ้าสภาพแสงภายนอก สว่างมากๆ บางครั้งเราสามารถใช้ Shutter Speed ที่ 1/500 หรือ 1/1000s ได้ ถ้าเราตั้งโหมดถ่ายภาพที่โหมด S นั่นก็จะทำให้เราคาดเดาค่า Shutter Speed ที่เหมาะสมผิดไปได้ กลับกัน ถ้าเจอสภาพแสงน้อย ค่า Shutter Speed ที่สูงเกินไปก็อาจจะทำให้ภาพที่ได้ มืดเกินไป

วิธีที่ผมใช้และคิดว่าสะดวกที่สุดก็คือการตั้ง ISO ของกล้องให้เป็นแบบ Auto ซึ่งเมื่อเราตั้ง ISO ของกล้องให้เป็นแบบ Auto โดยเริ่มต้นที่ ISO 100 แล้ว เราจะสามารถเลือก Shutter Speed ที่ต่ำสุดไว้ได้ ซึ่งผมก็จะตั้ง Shutter Speed เอาไว้เลยที่ 1/250 s เมื่อกล้องวัดแสงแล้วพบว่าสภาพแสงน้อย ก็จะเพิ่ม ISO ขึ้นทันที โดยไม่ลดค่า Shutter Speed ของกล้องลง ในขณะเดียวกัน ถ้าสภาพแสงมาก Shutter Speed ก็จะดันขึ้นไปให้สัมพันธ์กับ F-stop ที่เราปรับไว้ในโหมดการถ่ายภาพแบบ A หรือ Av นับว่าเป็นวิธีที่สะดวกและได้ผลน่าพอใจอีกวิธีหนึ่งครับ

เมื่อเราเลือกตำแหน่งที่นั่งได้แล้ว ปรับค่ากล้องของเราพร้อมแล้ว ที่เหลือคือการเตรียมพร้อมที่จะกดชัตเตอร์ในจังหวะที่น่าสนใจและทันกับความต้องการภาพของเรา การเหลือบตามองไปข้างหน้าเล็กน้อย ก็จะทำให้เราพอมองออกว่า ด้านหน้าของเรานั้นเป็นอะไร เช่น มีต้นไม้ที่รูปร่างกิ่งก้านสวยงาม มีชาวนากำลังเกี่ยวข้าว มีผู้คนที่กำลังดำเนินชีวิต มีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ ฯลฯ การที่เรามองข้างหน้าเอาไว้ก่อนจะทำให้เราเตรียมกดชัตเตอร์บันทึกภาพทัน

สำหรับเลนส์ที่เราใช้นั้น จะเป็นเลนส์ซูมช่วงนอร์มอล อย่าง 24-70 mm. หรือ 24-105 mm. ก็ค่อนข้างจะมีประโยชน์ดี ในการที่เลือกจัดองค์ประกอบภาพได้ แต่เชื่อเถอะครับ เราไม่มีเวลามาจัดองค์ประกอบภาพได้นานนักหรอก และหลายครั้งที่ช่วงเลนส์มุมกว้าง อย่าง 12-24 mm. หรือแม้แต่เลนส์นอร์มอล อย่างเลนส์ 50 mm. ก็เป็นประโยชน์ได้เช่นกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า สถานที่ที่เราเดินทางไปนั้น มีอะไรน่าสนใจมากกว่ากัน ดังนั้นการคาดเดา หรือทำการบ้านหาข้อมูล เกี่ยวกับ “ระหว่างทาง” ที่เราจะไปเรา “ผ่าน” อะไรบ้าง ก็จะทำให้เราเตรียมเลนส์ที่เหมาะสมเอาไว้ได้

มาพูดถึงในขณะที่ถ่ายภาพ ก่อนอื่นเลย พยายามแนบกล้องให้ใกล้กระจกมากที่สุด ถ้ามีฮูดเลนส์ควรนำมาใส่ไว้ด้วย เพื่อป้องกันเวลาที่รถกระแทก แล้วเลนส์จะไปชนกับกระจกรถได้ แต่ถ้าหน้าต่างเป็นแบบเปิดได้อย่างเช่นหน้าต่างรถไฟ ก็ให้ระวังพวกกิ่งไม้หรือป้ายต่างๆให้ดีด้วยนะครับ ส่วนการจัดองค์ประกอบภาพนั้น ขอให้เน้นในเรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพให้หลวมๆ ไว้ก่อน อย่าให้แน่นจนเกินไปนัก เพื่อที่เราจะมาแก้ไขจุดบกพร่องในภายหลังได้ เช่น ภาพเอียงหรือการตัดส่วน 

ในเรื่องของจังหวะกดชัตเตอร์นั้น ผมจะเน้นที่วัตถุที่เราจะถ่าย เช่นต้นไม้ ผู้คน ฯลฯ อยู่ตรงกลางภาพ เมื่อวัตถุที่เราจะถ่ายอยู่ใกล้จะถึงกึ่งกลางภาพเล็กน้อย จะเป็นจังหวะที่เรากดชัตเตอร์ เพื่อเผื่อสำหรับ time lag ที่จะเกิดขึ้น ถ้าเรากดชัตเตอร์กล้องในจังหวะที่วัตถุที่เราจะถ่ายอยู่กลางภาพพอดี ภาพที่ได้จะเลยไปด้านหลังเล็กน้อย ดังนั้นควรเผื่อเวลาตรงนี้เอาไว้ ซึ่ง time lag นี้ แต่ล่ะคนจะไม่เท่ากัน ดังนั้นการทดลองถ่ายภาพเรื่อยๆจะทำให้พอจับจังหวะได้ง่ายขึ้น

การถ่ายภาพจากบนรถหรือยานพาหนะนั้น เป็นอีกโอกาสหนึ่งของการถ่ายภาพที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลาที่มีการเดินทาง และในบางครั้ง มุมกล้องจากบนรถนี้ อาจจะเป็นภาพที่ดีที่สุดในทริปของเราเลยก็เป็นได้นะครับ มีหลายครั้งที่เมื่อการเดินทางถึงจุดหมายแล้ว สภาพแสง ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ไปถึงฝนตกหนัก หรือไปถึงช้ากว่าเวลา ซึ่งทำให้เราพลาดภาพจุดหมายปลายทางที่ต้องการ แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีภาพประทับใจระหว่างทาง กลับมาครับ…