เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 183/2012 December

เลนส์มุมกว้าง หรือเลนส์ Wide angle นั้น เป็นเลนส์ที่พูดได้ว่าเลนส์ปราบเซียนเลยทีเดียว เพราะในบางครั้งเลนส์มุมกว้างมากๆ อย่างที่เรียกว่า Ultra Wide Angle ก็ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากด้วยเช่นกัน

ในหลายสถานการณ์ ที่พื้นที่ถ่ายภาพมีจำกัด เราจะพบว่าเลนส์มุมกว้างมักจะได้เป็นพระเอกของงาน ที่เราเลือกจะหยิบมาใช้ก่อน ด้วยสามารถเก็บภาพได้ครบถ้วนในเฟรมเดียว โดยที่ไม่ต้องถอยหลังไปไกลๆ จนแทบจะสุดกำแพง เลนส์มุมกว้าง ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และในขณะเดียวกัน ที่เลนส์มุมกว้างนั้นก็ได้ให้อุปสรรคทิ้งท้ายเอาไว้ นั่นก็คือ สัดส่วนของภาพที่ผิดเพี้ยน เส้นตั้งเส้นนอนต่างๆ ที่ บิดเบือนไป และความกว้างที่เราคิดว่าดีนี่แหละ เมื่อเวลาจัดองค์ประกอบภาพแล้ว ได้ภาพที่มีความรู้สึก เวิ้งว้าง ว่างเปล่ากันมานักต่อนักแล้วครับ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ในตอนนี้ผมจึงจะหยิบยกเอาเทคนิคสร้างสรรค์ภาพจากเลนส์มุมกว้างมาฝากกับทุกๆ คนกัน เรามาดูกันสิว่า เราสามารถใช้เลนส์มุมกว้างที่มีอยู่ในมือกันยังไง

Wide Angle Lens หรือ เลนส์มุมกว้าง เป็นเลนส์ที่มีมุมรับภาพกว้างกว่า Normal Lens หรือมีทางยาวโฟกัสน้อยกว่า 50 mm. ลงไป เช่น 35 mm.-24 mm. พอไปถึงช่วง18 mm.-12 mm. ก็จะเรียกว่า Ultra Wide Angle ข้อดีของเลนส์มุมกว้างคือ เก็บภาพได้มากกว่า ให้ความชัดลึกสูงมาก ส่วนข้อเสียก็คือ การบิดเบี้ยวของภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากชิ้นเลนส์นั่นเอง  

เลนส์มุมกว้าง หรือ Wide angle lens นั้น นอกจากจะมีองศาการรับภาพที่กว้างแล้ว ยังมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากเลนส์อื่นคือ ความผิดเพี้ยนของ perspective และทำให้วัตถุต่างๆ ในภาพเกิด distortion ที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง ยิ่งถ้าเป็นเลนส์มุมกว้างมากๆ ในระดับที่เรียกว่า Ultra Wide Angle ก็จะยิ่งเห็นผลพิเศษที่เกิดขึ้นจากเลนส์มากยิ่งขึ้นไปด้วย ดังนั้นการใช้งานเราต้องระวังเป็นอย่างมาก เว้นเสียแต่ว่าเราตั้งใจให้เกิดภาพที่แปลกตาออกไปจากปกติครับ ทั้งนี้ก็จะขึ้นอยู่กับการสร้างสรรค์และมุมมองที่เราเลือกใช้ ตามไปด้วย

สำหรับการจัดองค์ประกอบภาพกับการใช้เลนส์มุมกว้างนั้น เราสามารถสร้างสรรค์งานได้หลากหลายและอิสระโดยสามารถดึงเอาคุณลักษณะของเลนส์มาสร้างสรรค์ภาพได้ เรามาดูกันสิว่า อะไรที่เราต้องเจอเมื่อใช้ Wide angle lens

ระวังขอบภาพให้ดี

ขอบภาพนั้น จะเป็นจุดที่มีความบิดเบือนมากที่สุด เมื่อเราใช้เลนส์มุมกว้าง สิ่งต่างๆ ที่อยู่ขอบภาพก็จะบิดเบี้ยวไปมากกว่าจุดอื่น ดังนั้นส่วนของขอบภาพจึงต้องระวังให้มาก โดยเฉพาะเวลาที่ถ่ายภาพกลุ่มคน ที่คนที่อยู่ริม บริเวณขอบภาพจะบิดเบี้ยวไม่สวยงาม หรือแม้แต่สิ่งของต่างๆ ที่จะดูยืดยาวไปกว่าความเป็นจริงด้วย พยายามให้วัตถุอยู่กลางๆ ภาพเอาไว้จะดีกว่า อีกเรื่องหนึ่งก็คือความคมชัด เมื่อใช้รูรับแสงที่กว้าง ขอบภาพก็จะเป็นจุดที่ความคมชัดจะลดลงด้วย นอกจากจะบิดเบี้ยวแล้วยังขาดความคม ดังนั้นอย่าวางวัตถุสำคัญในภาพบริเวณขอบภาพดีกว่านะครับ

 

ใช้เส้นทแยงมาจากมุมภาพ

มองหาเส้นทแยงมุมในภาพของเรา และลองให้เส้นเหล่านั้น มาจากมุมใดมุมหนึ่งของภาพ เพื่อเน้นให้ไปหาจุดสนใจที่เราต้องการ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง กำแพงตึกรั้วบ้าน เส้นต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ เมื่อเราใช้เลนส์มุมกว้างในการถ่ายภาพจะช่วยเน้นไปที่จุดเด่นที่เราสนใจ ด้วยว่าเส้นที่พุ่งเข้าไปนั้นจะดูมีพลังที่ดึงดูดสายตาให้มองไปในทิศทางที่เราต้องการนั่นเอง เราใช้เส้นทแยงนี้ช่วยในเรื่องการบังคับสายตาในภาพได้อีกด้วย

เส้นตั้ง อย่าให้เอียง

สำหรับภาพถ่ายสถาปัตยกรรม เลนส์มุมกว้างจะมีบทบาทอย่างมากในการเก็บภาพลักษณะนี้ ด้วยพื้นที่ที่ไม่กว้างมากนักและขนาดที่ใหญ่โตของวัตถุ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เลนส์มุมกว้างในการถ่ายภาพ แต่ก็มีไม่น้อยที่ภาพที่ได้จะดูเอียงๆ ล้มๆ เกิด Distortion ขึ้น ทางแก้คือ การพยายามรักษาระนาบของกล้องเอาไว้ ไม่ก้มหรือเงยมากจนเกินไป โดยดูที่เส้นตั้งในภาพ เช่นเสา ต่างๆ ให้อยู่ในลักษณะเป็นเส้นตั้งตรง ไม่เอียง ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ก็จะพอช่วยได้ครับ สำคัญเลยคือเส้นตั้งในภาพที่อย่าให้เอียงได้จะเป็นการดีที่สุดสำหรับภาพสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะงาน Interior นะครับ

 

ก้มเงยและมิติที่เปลี่ยนไป

การก้มกล้องหรือเงยกล้องในขณะที่เราใช้เลนส์มุมกว้างนั้น มีผลต่อภาพมาก ด้วยมิติของภาพที่จะแปลกตาออกไป รวมทั้งอาการบิดเบือนทั้งหลายก็จะปรากฏขึ้นอย่างเต็มที่ แต่เชื่อไหมครับว่า ถ้าเราหามุมมองที่น่าสนใจได้ ภาพจะดูมีพลังและดึงดูดสายตาเป็นอย่างมาก ลองเข้าไปใกล้ๆ วัตถุที่เราจะถ่ายให้มากที่สุด และถ่ายภาพจากมุมต่ำ อาจจะนั่ง หรือหมอบไปกับพื้นก็ได้ เงยกล้องขึ้นฟ้า ภาพที่ได้อาจจะทำให้ดูน่าประหลาดใจและน่าตื่นตาครับ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุและมุมมองที่เราจะนำเสนอครับ ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นภาพถ่ายคน แขนขาของแบบก็อาจจะดูยืดยาวขึ้นกว่าปกติ มือไม้ที่อยู่ใกล้ดูยืดใหญ่โตขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมที่จะระวังในส่วนนี้ด้วยครับ

 

ใกล้ๆ จะใหญ่ไกลๆ จะเล็ก

ระยะห่างของวัตถุกับเลนส์ก็มีผลอย่างมากกับภาพ เมื่อเราใช้เลนส์มุมกว้าง สิ่งใดก็ตามที่อยู่ใกล้ จะดูใหญ่โตกว่าปกติ และสิ่งใดอยู่ไกลก็จะดูเล็กลงกว่าปกติเช่นกัน ทั้งนี้ยังส่งผลต่อระยะและความรู้สึกในภาพด้วยเพราะฉากหลังที่ถูกผลักออกไป เกิดระยะห่างที่มากกว่าปกติจากเลนส์ นั่นเองครับ ด้วยเหตุนี้ การหาฉากหน้าในการถ่ายภาพ เมื่อใช้เลนส์มุมกว้าง จึงทำให้ภาพดูมีมิติมากขึ้น การเพิ่มวัตถุหลายระยะเข้าไปในภาพ ภาพจะดูมีมิติและดูไม่แบน

ในหลายครั้งที่เราจำเป็นที่จะต้องถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้างและก็ไม่สามารถจะหลบหรือเลี่ยง อาการบิดเบี้ยว หรือเส้นเอียงในภาพได้ เรื่องนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ขอให้เราถ่ายภาพนั้นมาก่อนโดยเผื่อพื้นที่โดยรอบเอาไว้ เพื่อเราจะยังสามารถนำภาพนั้นมาแก้ไขได้อีก ด้วยโปแกรมตกแต่งภาพอย่าง Photoshop ซึ่งผมจะพูดถึงในเรื่องต่อไปนะครับ…