เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 190/2013 July

Miksang เป็นคำทิเบตหมายถึง “ตาดี” (Goodeye) ถ้าจะพูดถึงคำที่พอจะให้ความหมายได้อย่างเข้าใจง่ายก็คือคำว่า Zen (เซน) ของญี่ปุ่น ซึ่งในความหมายโดยรวมของคำว่า Miksang ก็คงจะได้ความว่า การรับรู้ การมองเห็น การเข้าถึง การรับรู้อย่างฉับพลัน ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า Contemplative photography ที่เป็นหัวเรื่องในฉบับนี้นั้น จะเป็นเรื่องของภาพถ่ายในเชิงการ “มองเห็น” นั่นเอง

Miksang (contemplative) photography เป็นการถ่ายภาพที่เกี่ยวกับการรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เราพบเจอ เป็นความสวยงามรอบๆ ตัวที่ปกติแล้วเราจะมองข้าม และเลยผ่านไป โดยจะให้ความสำคัญที่การมองเห็นสิ่งต่างๆ และถ่ายทอดออกมาบนภาพ โดยไม่ได้เน้นที่ตัววัตถุ หรือสิ่งที่จะถ่าย แต่เน้นในเรื่องของเนื้อหา หรือมุมมองที่เรารับรู้ต่อสิ่งนั้น ภาพส่วนใหญ่ในแนวภาพแบบนี้มักจะเป็นภาพในเชิงปรัชญา ศาสนา ธรรมชาติ วิถีและความเป็นไปในโลก ฯลฯ

ลักษณะของภาพถ่าย Miksang (contemplative) photography ส่วนมากแล้วจะเป็นภาพที่ไม่ได้เกิดจากการวางแผนล่วงหน้า หรือวางแนวคิดเอาไว้ก่อน แต่จะเป็นการถือกล้องออกไปแล้วสะดุดกับอะไรบางอย่าง หรือมองเห็นสิ่งนั้นๆและนึกถึงถ้อยความ ปรัชญา หลักการทางศาสนา ฯลฯ ที่เป็นนามธรรม แต่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมได้ ผู้ดูภาพรับรู้และเข้าใจได้ (contemplative มีความหมายถึง การนั่งสมาธิ การเพ่งพิจารณาด้วย)

สังเกตว่า Miksang (contemplative) photography นั้นจะดูเข้ากันได้ดีกลับแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาและปรัชญาตะวันออกแต่เชื่อหรือไม่ครับ แนวภาพแบบ Miksang (contemplative) photography นี้กลับเป็นที่นิยมมากในศิลปะภาพถ่ายตะวันตกศิลปินที่น่าสนใจที่ถ่ายภาพแนวนี้ก็มี Andy Karr, Michael Wood, John McQuade หรือจะลองค้นหาภาพผลงานแนวนี้จากในหลายๆ เว็ปฯ ที่แสดงให้เห็นว่า ภาพถ่ายแนวนี้ได้รับความนิยมมากพอสมควรเลยครับ

แนวภาพ Miksang (contemplative) photography นั้นในการถ่ายภาพจะเริ่มต้นจากการค้นพบ หรือรู้สึกสะดุด กับสิ่งที่เรามองเห็น แล้วเกิดความรู้สึกรับรู้ หรือมีผลกะทบต่อสิ่งนั้นอาจจะเป็นวินาทีแรกที่เห็นใบไม้ร่วงหล่นลงพื้น หรือ เมื่อเราก้มลงมองหยดน้ำที่เกาะค้างอยู่บนใบหญ้า แม้แต่เงาที่กำลังทอดยาวของผู้คนที่เดินผ่านไปมา ฯลฯ ซึ่งในการที่เราจะรู้สึกว่าสะดุดหรือมองเห็น สิ่งต่างๆ เหล่านั้น จะมาจากการที่เราเคยได้ยินเคยฟัง เคยอ่าน เคยผ่านตา ข้อความ แนวคิด ความคิดต่างๆ มากมายที่ยังอยู่ในความทรงจำของเรา และเมื่อวัตถุนั้นๆ ปรากฏอยู่ตรงหน้า จึงได้เกิดจินตนาการร่วมนั่นเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นเมื่อเราเห็น ต้นกล้าเล็กๆ แทรกขึ้นมาจากซอกเล็กๆ ของแผ่นคอนกรีต เราอาจจะนึกไปถึงความอดทน ความต้องการมีชีวิตอยู่ หรือ ดอกไม้ที่เหี่ยวเฉาในแจกัน กับ หลักการวัฏสงสาร ในศาสนาพุทธ

เมื่อเรารู้สึกถึงอะไรบางอย่าง ต่อสิ่งที่เราพบเห็นแล้วนั้น การที่จะถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาเป็นภาพ ให้ผู้ดูเข้าใจตรงกันนั้นก็นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ หลายครั้งที่เราพบเห็นบางสิ่งบางอย่างที่สวยงาม แต่เมื่อถ่ายภาพออกมาแล้วกลับกลายเป็นว่าไม่เป็นอย่างที่คิด “เพราะสิ่งที่เป็น อาจจะมองไม่เห็นด้วยตา” เราควรนึกถึงช่วงเวลาที่เรารู้สึกสะดุด ต่อภาพๆ นั้น ว่าอะไรคือสิ่งที่เรารู้สึกประทับใจ โดยยังไม่ต้องไปสนใจว่าเราจะถ่ายภาพสิ่งนี้ให้สวยได้อย่างไร

การจับเอาช่วงเวลาที่เรารู้สึกได้นั้น มาเป็นมุมมองของภาพ ต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของเทคนิคและวิธีการที่เราจะเลือกหยิบมาใช้ให้ภาพที่เราต้องการออกมาได้อย่างสมบรูณ์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เรื่องของ ระยะชัด (Depth of Field) มาควบคุมช่วงความชัดของภาพ การเลือกใช้เลนส์ เพื่อให้ได้มุมภาพ หรือสัดส่วนภาพ ตรงกับที่เราเห็นและต้องการ โดยส่วนใหญ่ช่างภาพที่ถ่ายภาพ Miksang (contemplative) photography จะไม่ค่อยใช้เลนส์มุมกว้าง เพราะต้องการให้สัดส่วนของภาพ ไม่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงมากนัก รวมทั้งการปรับแต่งภาพที่มากเกินไปด้วยเช่นกัน

ในการจัดองค์ประกอบภาพของภาพแนว Miksang (contemplative) photography นั้น จะยึดตามหลักของการจัดองค์ประกอบที่เห็นกันบ่อยๆ อยู่ 5 หลักการด้วยกันคือเรื่องของ

สี (color) ในส่วนนี้นั้นเรามักจะใช้สี เพื่อสร้างอารมณ์และความรู้สึก รวมทั้ง ความกลมกลืนและขัดแย้งของสี ที่จะเป็นส่วนสำคัญในเนื้อหาที่เกี่ยวกับความแตกต่างได้เป็นอย่างดีนึกถึง ทุ่งหญ้าสีเขียวตัดกับคนกางร่มสีแดง หรือท้องฟ้าสีน้ำเงินและเมฆสีขาว ในขณะเดียวกันความกลมกลืนของสี เช่น สีน้ำเงินของท้องฟ้าและสีครามของน้ำทะเล ก็มักจะทำให้เราสะดุดได้เช่นกัน

แสง (light) เป็นเรื่องปกติ ที่ภาพในแนว Miksang (contemplative) photography จะได้รับความสนใจเมื่อภาพนั้นมีแสงที่สวยงาม และสะดุดตา ไม่เพียงแต่แสงเท่านั้น ผลตรงข้ามของแสงนั่นก็คือเงา มักจะถูกนำมาใช้ในภาพอยู่บ่อยๆเงาที่เกิดจากแสง ที่ทอดยาว เงาที่ล้อเล่นกับตัวอาคารสถาปัตยกรรมแสงที่ส่องผ่านวัตถุต่างๆ เกิดเป็นช่องเป็นลวดลาย

พื้นผิว (texture) ภาพถ่าย Miksang (contemplative) photography ส่วนใหญ่จะเป็นภาพเจาะเฉพาะส่วน เพื่อเน้นเฉพาะเจาะจงกับสิ่งนั้นๆ เพียงสิ่งเดียว เรื่องเดียว ทำให้ภาพระยะใกล้ที่แสดงรายละเอียดของพื้นผิว ลวดลายซ้ำๆ และรายละเอียดของสิ่งต่างๆ มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง และในการถ่ายภาพพื้นผิวนั้น เราจะต้องใช้การสังเกต และสมาธิที่จดจ่อในการที่เราจะมองเห็นถึงรายละเอียด ซึ่งพื้นผิวของวัตถุต่างๆ จึงถูกนำมาใช้ในการฝึกถ่ายภาพ Miksang (contemplative) photography ได้เป็นอย่างดี

ที่ว่าง (space) ที่ว่าง ดูจะเป็นหลักการจัดองค์ประกอบที่ยากพอสมควร สำหรับการใช้ที่ว่าง แต่สำหรับภาพถ่าย Miksang (contemplative) photography แล้วนั้น ที่ว่างดูจะเกี่ยวเนื่องกันกับหลักปรัชญาต่างๆ หรือหลักการทางศาสนาอยู่มาก การเว้นพื้นที่โล่งบางส่วนในภาพ เหมือนเป็นการเว้นระยะระหว่างกันของสิ่งต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อการมองภาพ จากพื้นที่ว่างในภาพ ส่งไปที่วัตถุ ซึ่งจะมีผลต่อความรู้สึกในภาพมากๆ พื้นที่ว่างที่เห็นบ่อยในภาพถ่าย Miksang (contemplative) photography ก็จะเป็น ท้องฟ้าโล่งๆ แม่น้ำ ทะเล ฯลฯ

และสุดท้าย ความเรียบง่าย (simplicity) ความเรียบง่าย แนวภาพถ่าย Miksang (contemplative) photography ก็คล้ายแนวคิดแบบเซน หรือพุทธศาสนาของเรานั่นแหละครับ ที่จะยึดหลักบนความเรียบง่าย ความเรียบง่ายในภาพถ่ายก็คือการถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นออกมาแบบไม่ซับซ้อน รกรุงรัง ด้วยหลักการที่ว่า อะไรไม่เกี่ยวเนื่องกันก็ไม่ต้องใส่ลงไปในภาพนั่นเอง ความเรียบง่ายนี้มักจะใช้ร่วมกับการเว้นที่ว่าง ทั้งสองอย่างจะทำงานด้วยกันได้ดีในการถ่ายภาพแบบ Miksang (contemplative) photography ซึ่งจะทำให้เกิดความสงบ นิ่ง เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่รับรู้ร่วมกันได้ง่ายของผู้ดูภาพ

Miksang (contemplative) photography เป็นอีกแนวภาพประเภทหนึ่ง ที่เน้นในเรื่องการมองโลก การรับรู้ การมองเห็นในสิ่งเล็กๆ ที่คนทั่วไปมองข้ามไป เป็นแนวภาพหนึ่งที่เราสามารถนำมาใช้ในการฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาในเรื่องของมุมมองภาพได้เป็นอย่างดี จริงๆ แล้วไม่ใช่แนวการถ่ายภาพที่ยากเย็นแต่อย่างใด พวกเราเองลองกลับไปค้นดูรูปเก่าๆ หลายภาพก็เข้าข่ายภาพประเภทนี้ พวกเราเองก็คงจะเคยมีประสบการณ์ที่รู้สึกประทับใจ หรือว่า มองเห็นสิ่งใดและสะดุดอยู่กับสิ่งนั้นได้มองเห็นสิ่งๆ หนึ่งและนึกถึงถ้อยคำ หรือปรัชญาอะไรบางอย่างที่คุ้นหู เคยอ่านผ่านตา สิ่งเหล่านั้นแหละครับที่เป็นจุดเริ่มต้นของภาพถ่าย Miksang (contemplative) photography แต่นั่นไม่ใช่จะหมายความว่า เราถ่ายภาพหยดน้ำ บนบัว เพราะเห็นเพื่อนถ่ายมาแล้วสวยดี อะไรเช่นนั้นนะครับ ผมว่าการที่เราเกิดการสะดุดต่อสิ่งนั้นด้วยเราเอง จะสามารถถ่ายทอดภาพออกมาได้ดีกว่าแน่นอนครับ…