เรื่อง+ภาพ : Apochtophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 219/2015 December

Straight Photography และ F/64 Group

ในช่วงของยุคศิลปะสมัยใหม่นั้น นอกจากจะมีศิลปะภาพถ่ายในแนวทาง Pictorial Photography, Surrealist แล้วยังมีแนวคิดทางศิลปะภาพถ่ายอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจนั่นก็คือ Straight Photography

อย่างที่เคยบอกไว้ในบทความก่อนหน้า ว่า ศิลปะภาพถ่ายนั้น ได้มีวิวัฒนาการที่เป็นไปตามแนวคิดทางศิลปะที่เปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยมของสังคมในช่วงนั้นๆ ในยุคของศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) มีแนวคิดทางศิลปะที่เกิดขึ้นหลักๆ ก็คือ ศิลปะจินตนิยม (Romanticism) ศิลปะสัจนิยม (Realisticism) ศิลปะลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) ศิลปะเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ (expressism) ศิลปะคิวบิสซึ่ม (Cubism) ศิลปะลัทธิเหนือจริง (Surrealism) ศิลปกรรม ลัทธิฟิวเจอร์ริสม์ (Futurism) ศิลปะลัทธิแอปสแตรค อาร์ต (Abstract Art) ศิลปะแบบป๊อป อาร์ต (Pop Art) และ อ๊อป อาร์ต (Op Art)

ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่า Straight Photography จะเป็นแนวคิดทางศิลปะภาพถ่ายที่เกิดมาในงานถ่ายภาพโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องของการถ่ายภาพ การจัดวางองค์ประกอบ การใช้ฟิล์ม และการล้าง อัด-ขยาย ที่ไม่ได้มีอิทธิพลของงานศิลปะอย่างภาพวาดแนวคิดอื่นๆ

สเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) คำๆ นี้ให้ความหมายถึง ภาพถ่ายที่ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งใดๆ ถ่ายภาพมาอย่างไรก็นำเสนอไปในแบบนั้น (ในช่วงที่ใช้ฟิล์มในการถ่ายภาพ การปรุงแต่งภาพหมายถึงการใช้เทคนิคตั้งแต่การถ่าย เช่น การใช้ฟิลเตอร์หรือการบิดเบือนต่างๆ รวมไปถึงเทคนิคในห้องมืดเช่นการบังเผา เปลี่ยนโทนสีด้วย) ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ภาพถ่ายที่เกิดขึ้นจากกล้องถ่ายภาพเกือบทั้งหมดนั้น ล้วนเป็น Straight Photography นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นภาพทิวทัศน์ สถาปัตยกรรม คน สิ่งของ ฯลฯ ถ้าจะยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดให้นึกถึงงานภาพถ่ายสารคดี (Documentary) หรืองานภาพถ่ายข้างถนน (Street Photography) คงจะทำให้มองภาพรวมของภาพถ่าย สเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography)ได้ง่ายขึ้น

สเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) เป็นกระบวนการคิดเชิงปรัชญาของศิลปะภาพถ่าย ในแนวคิดของศิลปะสมัยใหม่ที่มีบทบาทมากในช่วงศตวรรษที่ 20 แนวคิดของสเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) ตามแนวคิดศิลปะสมัยใหม่เชื่อว่า ภาพถ่ายคือการบันทึกชีวิต หรือความจริง เป็นความจริงที่บันทึกไว้ในเศษเสี้ยวของวินาทีภายในกรอบสี่เหลี่ยมที่ช่างภาพเลือกที่จะนำเสนอเท่านั้น ไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ต่อเนื่องแต่อย่างใด

แนวคิดสเตรท โฟโต้กราฟฟี่ ตามแนวคิดศิลปะสมัยใหม่ เชื่อว่าภาพถ่ายเป็นภาพนิ่งสองมิติ อยู่บนแผ่นกระดาษ และอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเสมอ ดังนั้นผู้ดูภาพจะเห็นแค่สิ่งที่เกิดขึ้น บันทึกไว้ภายในกรอบสี่เหลี่ยมนี้เท่านั้นความเป็นจริงในภาพถ่าย เป็นเสมือนความเป็นจริงที่มองผ่านสายตาของช่างภาพ

พูดถึงสเตรทโฟโต้กราฟฟี่ต้องไม่ลืมพูดถึง กลุ่มช่างภาพ f/64 Group เป็นชื่อของกลุ่มช่างภาพกลุ่มหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมี Ansel Adams, Imogen Cunningham, John Paul Edwards, Alma Lavenson, Preston Holder, Brett Weston และ Willard Van Dyke เป็นสมาชิกกลุ่ม ภายหลังได้รับขนานนามว่าเป็น The West Coast School วัตถุประสงค์ของกลุ่มนี้คือการสร้างงานสเตรทโฟโต้กราฟฟี่ที่สมบรูณ์แบบ ทั้งทางเทคนิค การนำเสนอ และความสวยงาม นับว่ากลุ่มเอฟ 64 นั้นได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของศิลปะภาพถ่ายในช่วงเวลานั้นเพราะ ก่อนหน้านี้ศิลปะภาพถ่ายที่กำลังเป็นที่นิยมคือแนวพิคโทเรียล ที่ภาพถ่ายตามอุดมคติที่เน้นที่ความพร่ามัว ความเพ้อฝัน แบบงานจิตกรรมอิมเพรสชั่น แต่งานแนวเสตรทโฟโต้กราฟฟี่จะเน้นที่ความชัด และรายละเอียดมากมาย เน้นการบันทึกความจริง นั่นก็คือการปฏิเสธงานในแนวทางเดิมแล้วสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา ชื่อกลุ่มเอฟ 64 มีที่มาจากรูรับแสงของเลนส์ที่แคบสุดที่ F64 นั่นเอง

Ansel Adams

ความสมบรูณ์แบบในงานสเตรทโฟโต้กราฟฟี่ของกลุ่มเอฟ 64 นั้น เริ่มตั้งแต่การเลือกสิ่งที่จะถ่าย มุมมอง การเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพ การวัดแสงที่แม่นยำ ความเข้าใจในธรรมชาติของแสงและปฏิกิริยาของฟิล์มถ่ายภาพ เทคนิคห้องมืด การล้างฟิล์มเพื่อให้ได้เนกาทีฟที่มีน้ำหนักสมบรูณ์แบบ(เพิ่ม/ลดเวลา หรือ เพิ่ม/ลดสารเคมีในการผสมน้ำยา) การอัดขยายภาพที่เก็บรักษาภาพถ่ายให้คงทน (อย่างเช่นแพรตินั่มปริ้นท์) โดยช่างภาพที่เดินตามแนวทางนี้จะเน้นที่ความสมบรูณ์ของต้นฉบับ เนกาทีฟมากกว่าภาพที่อัดขยายแล้ว

การก่อตั้งกลุ่ม f/64 เป็นเหมือนการประกาศแนวคิดเดียวกันของสมาชิก ซึ่งการประกาศในครั้งนี้จัดว่าเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของเหล่าช่างภาพ คล้ายการเอาธงไปปักบนยอดเขาเพื่อประกาศชัยชนะ หลังจากที่ยึดภูเขาลูกนั้นได้ และการปักธงเชิงสัญลักษณ์นั้น เมื่อปักแล้วไม่มีความจำเป็นต้องอยู่บนยอดเขานั้นอีก กลุ่ม f/64 เองก็ทำเช่นเดียวกัน พวกเขาประกาศการมาถึงของภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่ อย่างสเตรทโฟโต้กราฟฟี่แล้ว หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันไปสร้างผลงานเหมือนที่พวกเขาเคยทำมาก่อนหน้า ซึ่งช่างภาพทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนมีแนวทางชัดเจนของตนเอง มีชื่อเสียงรู้จักในฝั่งตะวันตกมานานพอสมควร ดังนั้นการรวมกลุ่มกันอยู่กับที่จึงไม่มีประโยชน์อันใดแต่ละคนต่างพัฒนางานภาพถ่ายในแบบของตนต่อไป แต่กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่พวกเขารวมตัวกันในครั้งนี้นั้น ก็ได้ส่งผลทางวัฒนธรรมในระยะยาว การก่อตัวของกลุ่ม f/64 แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่มีอิทธิพลต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ในยุคของพวกเขาเองและในยุคเชื่อมต่อมาจนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนจุดหนึ่งทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของศิลปะภาพถ่าย

เราสามารถค้นหาภาพผลงานของ กลุ่มช่างภาพ f64 ได้จากในเว็บไซด์ทั่วโลก

งานสเตรทโฟโต้กราฟฟี่ เป็นงานที่จะเริ่มจากขั้นตอน Visualization หรือการมองเห็นภาพสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น Alain Balmayer (ช่างภาพระดับอาจารย์ชาวฝรั่งเศส) ได้พูดถึงขั้นตอนนี้ไว้ว่า “เราพูดในสิ่งที่เราคิด ทำในสิ่งที่เราคิด แต่ก็ไม่ได้ทำในฉับพลัน บางอย่างมันใช้เวลา คือ ก่อนกดชัตเตอร์ เราต้องคิดแล้วว่าภาพจะออกมาเป็นอย่างไร จะล้าง จะอัดขยาย อย่างไร ต้องคิดให้ถึงภาพสุดท้าย ไม่ใช่ถ่ายไปร้อยกว่ารูปแล้วเอามาใช้เพียงรูปเดียว”