เรื่อง+ภาพ : Apochtophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 216/2015 September

งานศิลปะภาพถ่ายต่างๆ นั้นล้วนมีที่มาจากงานศิลปะภาพวาด ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกันไปตามแต่ยุคสมัย จนถึงกับว่ามีช่วงหนึ่งเกิดคำถามขึ้นว่า ภาพถ่ายเป็นศิลปะหรือไม่

ศิลปะก่อนประวัติศาสตร์ (Pre-historic Art) จัดว่าเป็นศิลปะในยุคแรกเริ่ม ซึ่งงานของศิลปะยุคอียิปต์ (Egypt Art) ช่วง 4,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 640 นับว่ามีการบันทึกหลักฐานงานศิลปะเช่นภาพวาดในผนังปิรามิด ตามด้วยศิลปะยุคคลาสสิก (Classical Art) ซึ่งมี ศิลปะกรีกโบราณ (Greek Art) และศิลปะโรมันโบราณ (Roman Art) หลังจากนั้นจะเป็นช่วงของ ศิลปะคริสเตียน ไบเซนไทน์ (Byzantine Art) ต่อด้วยศิลปะกอธิค (Gothic Art) จึงเข้ามาสู่ยุคศิลปะฟื้นฟู หรือเรอเนซองส์ (Renaissance Art) เป็นยุคที่มีศิลปินเอกมากมายเช่น ดาวินชี่, ไมเคิลเองเจอโร่ ฯลฯ จากนั้นเป็นยุคของศิลปะโรโคโค(Rococo Art) และเข้าสู่ยุคของศิลปะสมัยใหม่ (Modern art) และศิลปะหลังสมัยใหม่ (Post-Modern art)

ศิลปะฝาผนังยุคก่อนประวัติศาสตร์

ศิลปะสมัยใหม่ (Modern art) และภาพถ่ายศิลปะสมัยใหม่ (modern photography)

ในยุคของศิลปะสมัยใหม่ (Modern art) กล้องถ่ายภาพก็ได้ถูกผลิตขึ้น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เป็นยุคสมัยที่การถ่ายภาพเริ่มกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในยุโรปและอเมริกา ก่อนหน้านั้น ได้เกิดคำถามหนึ่งว่า “ภาพถ่ายเป็นศิลปะหรือไม่”

ปาโบล ปีกัสโซ พูดถึงภาพถ่ายไว้ว่า “เมื่อเราสามารถเห็นสิ่งที่เราปรารถนาจะแสดงออกในภาพถ่ายได้ ก็แสดงให้เห็นได้ว่า จิตรกรหมดภาระแล้ว” จากคำพูดนี้แสดงให้เห็นว่าศิลปินอย่างปิกัสโซ่มองเห็นศิลปะในภาพถ่ายเช่นกัน

ปิกัสโซ่

ในเรื่องของศิลปะภาพถ่ายนี้ Alfred Stieglitz (อัลเฟรด สเตกลิซ) ก่อตั้งกลุ่มที่ถูกเรียกว่า Photo-Succession ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ความสำคัญ ที่ประกาศว่าการถ่ายภาพเป็นศิลปะ สิ่งพิมพ์ที่มีความสำคัญอย่างมากในการเผยแพร่ศิลปิน คือหนังสือของ Alfred Stieglitz ที่มีชื่อว่า Camera Work ที่ผลิตในปี 1903-1917

Ansel-Adams

camerawork ของ Alfred Stieglitz

camerawork ของ Alfred Stieglitz

อีกแง่มุมหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ในฝรั่งเศสได้มีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์งานศิลปะซึ่งได้มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของภาพถ่ายด้วย เริ่มมาจากช่างภาพสตูดิโอ Mayer & Pierson ได้ฟ้องร้องช่างภาพอีกสตูดิโอหนึ่ง ว่านำภาพไปใช้ในการค้า จนสุดท้ายคดีนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าภาพถ่ายเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องของลิขสิทธิ์งานศิลปะ

ศิลปะสมัยใหม่มีแนวคิดว่าศิลปะเพื่อศิลปะคือการที่ศิลปะไม่ต้องคอยตอบคำถามว่า มันคืออะไร ทำเพื่ออะไรลักษณะสำคัญของ “ศิลปะสมัยใหม่” (Modern Art) และ “ลัทธิสมัยใหม่” (Modernism, โมเดิร์นนิสม์) คือ ทัศนคติใหม่ๆ ที่มีต่ออดีตและอนาคต ซึ่งเป็นไปแบบสุดขั้วโดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ถือกันว่าเป็นยุคปฏิวัติของยุโรป ศิลปินเริ่มที่จะให้การยอมรับการเขียนภาพ “เหตุการณ์ปัจจุบัน-ร่วมสมัย” ในยุคของตนว่า สามารถมีคุณค่าทางศิลปะได้เท่าเทียมกับภาพเขียนเรื่องราวในอดีตตั้งแต่ยุค โบราณ หรือยุคประวัติศาสตร์จากคัมภีร์ไบเบิล การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่ทั่วยุโรปใน ประกอบกับการอ่อนแรงของศิลปะแบบทางการ หรือ ศิลปะตามหลักวิชา (academic art) ทำให้กระแสศิลปะลัทธิสมัยใหม่ยิ่งเติบโต จิตรกรแนว นีโอ-คลาสสิสม์ (Neo-Classicism)

“ความใหม่” คือสิ่งที่ศิลปินสมัยใหม่ให้ความสำคัญ ทัศนคติแบบนี้จะปรากฏให้เห็นในแนวคิดเกี่ยวกับ “อาวองท์-การ์ด” (avant-garde, หัวก้าวหน้า) คำนี้เป็นศัพท์ทางการทหาร หมายถึง ทหารแนวหน้า (advance guard) ศิลปินอาวองท์-การ์ด หรือศิลปินหัวก้าวหน้า ได้กลายเป็นพวกที่ล้ำยุคล้ำสมัยของสังคม

ตัวอย่างภาพพิคโตเรียล ในยุคศิลปะสมัยใหม่ของ Robert Demachy

ตัวอย่างภาพพิคโตเรียล ในยุคศิลปะสมัยใหม่ของ Hans watzek

คำว่า “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ที่เริ่มแพร่หลายในแนวคิดศิลปะสมัยใหม่ ก็ยิ่งกระจายออกไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น (ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คำๆ นี้สามารถใช้อธิบายศิลปะที่เกิดจากความคิดส่วนตัวของศิลปิน ที่มีความเป็นปัจเจกสูงเสียจนไม่ต้องการการอ้างอิงไปถึงประเด็นทางสังคมและ ศาสนา)

“ศิลปะสมัยใหม่” (Modern Art) ที่เกิดขึ้นหลักๆ ก็มี ศิลปะจินตนิยม (Romanticism) ศิลปะสัจนิยม (Realisticism) ศิลปะลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) ศิลปะเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ (expressism) ศิลปะคิวบิสซึ่ม (Cubism) ศิลปะลัทธิเหนือจริง (Surrealism) ศิลปกรรม ลัทธิฟิวเจอร์ริสม์ (Futurism) ศิลปะลัทธิแอปสแตรค อาร์ต (Abstract Art) ศิลปะแบบป๊อป อาร์ต (Pop Art) และ อ๊อป อาร์ต (Op Art)

ภาพถ่ายเองนั้นก็ได้มีวิวัฒนาการที่เป็นไปตามแนวคิดทางศิลปะที่เปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยมของสังคมในช่วงนั้นๆ เช่นกัน

จุดเริ่มที่เห็นได้ชัดคือภาพถ่าย Pictorial ที่ยึดแนวคิดของศิลปะ Impressionist ซึ่งค่านิยมในสังคมตะวันตกช่วงนั้นมุ่งเน้นภาพที่งดงามแบบความฝัน  แต่เดิมนั้น การเมือง วัฒนธรรม และงานศิลปะ จะตอบสนองกับชนชั้นสูงและชนชั้นศาสนา เราจะเห็นงานศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวในตำนานต่างๆ เรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา เทพเจ้า ฯลฯ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในช่วงศตวรรษที่ 18-19 ที่ทำให้ชนชั้นกลางได้เข้ามามีบทบาททางสังคมมากยิ่งขึ้น เนื้อหาในงานศิลปะจึงเปลี่ยนแปลงไป เริ่มให้ความสนใจในวิถีชีวิตสามัญชน ทิวทัศน์ คน บ้านเมือง สิ่งของ ฯลฯ

Pictorial Photography มีการรับอิทธิพลของงานจิตรกรรมอิมเพรสชั่นนิส (ด้วยเกิดขึ้นในสมัยใกล้เคียงกัน) จึงมีการตีความในเรื่องของการที่จะพยายามให้ภาพถ่ายยกระดับมาใกล้เคียงงานจิตรกรรม เพราะสมัยนั้นภาพถ่ายยังไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นศิลปะอย่างจริงจัง แต่ก็ยังมีศิลปินนักวาดภาพที่อาศัยรูปแบบการเกิดขึ้นในภาพถ่ายเช่น ภาพที่เบลอ ไหว out focus ไปใช้ในงานจิตรกรรมด้วยเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่ภาพถ่าย Pictorial มีความสำคัญก็คือ เป็นบทบาทของภาพถ่ายแนวหนึ่งที่ได้รับการยกย่องในฐานะงานศิลปะ และมีอิทธิพลต่อความคิดของคนจำนวนมาก

Pictorial Photography เป็นการถ่ายภาพที่มุ่งเน้นในเรื่องของความงดงาม ลักษณะงานก็จะเป็นภาพถ่ายที่แสดงถึงการมองโลกในแง่ดี มองโลกด้วยความสวยงาม เหมือนฝัน ไม่ว่าจะเป็นภาพสะท้อนสังคม วิถีชีวิตสามัญชน และมีความหลากหลาย ตั้งแต่ภาพชีวิต ผู้คน การเดินทาง เด็ก คนแก่ ฯลฯ และโดยมากมักจะมี แนวความคิดการถ่ายภาพศิลปะที่ต้องการให้ภาพถ่ายเหมือนเป็นภาพวาด และรูปสลัก ส่วนมากของรูปภาพเหล่านี้เป็นสีขาว-ดำ หรือซีเปียในวิธีการถ่ายภาพ เป็นการใช้โฟกัสต่ำ ซอฟโฟกัส ฟิลเตอร์พิเศษ และเคลือบผิวเลนส์ ขั้นตอนหลายๆ ขั้นตอนในห้องมืดที่ใช้ล้างฟิล์ม และกระบวนการการพิมพ์ที่มาจากต่างประเทศ กระดาษอัดรูปที่มีพื้นผิวขรุขระ ได้ถูกเพิ่มเข้ามาใช้เป็นองค์ประกอบของรูป เพื่อเบรกความชัดเจนของรูปให้น้อยลง เกิดแนวทางในการใช้กระบวนการ Dry-Plate ที่ได้รับความนิยมสูง

ภาพในสไตล์ Pictorial เดินทางตามมา กับศิลปะอิมเพรสชั่นนิสในระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร จนกระทั่งมาถึงช่วงที่เทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพได้พัฒนาขึ้น คุณภาพของภาพถ่ายดียิ่งขึ้น และด้วยสภาพสังคมแบบทุนนิยมเติบโตมากขึ้น ความคิดทางด้านศิลปะภาพถ่ายที่เคยเดินตามงานจิตรกรรมแบบอิมเพรสชั่นได้เปลี่ยนไป

ศิลปะภาพถ่ายในยุโรปเริ่มเข้าสู่ศิลปะแนวทดลอง อย่างแนวคิดของศิลปะเหนือจริง (Surrealism) หรือแนวคิดที่เสนอภาพถ่ายอย่างตรงไปตรงมาอย่าง สเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) ซึ่งเป็นช่วงที่ภาพถ่ายแนวพิคโทเรียลได้รับความนิยมลดน้อยลงด้วย ส่วนทางอเมริกาเอง ศิลปะภาพถ่ายที่เห็นได้ชัดเจนคือแนวของสเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography)

สเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photo-graphy) ตามแนวคิดศิลปะสมัยใหม่นั้นจะมองว่าภาพถ่ายบอกเล่าเรื่องราวในโลกของความจริงแต่เป็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเสี้ยวเวลาที่บันทึกภาพ ในช่วงของศิลปะสมัยใหม่ ดูเหมือนว่า สเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) จะมีบทบาทสำคัญมาก มีศิลปินที่โด่งดังอย่าง เอ็ดเวิร์ด เวสตัน (Edward Weston) หรือแอนเซล อดัมส์ (Ansel Adams) ก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ในการสร้างผลงาน

จากแต่เดิมที่งานภาพถ่ายอย่างพิคโทเรียลที่แสดงถึงความงามหรือโลกในอุดมคติ มีการปรุงแต่ง ความพร่ามัวที่เหมือนกับงานจิตรกรรมอิมเพรสชั่น แล้วได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นงานสเตรทโฟโต้กราฟฟี่ (Straight Photography) พัฒนาการของศิลปะภาพถ่ายยังคงเดินหน้าต่อไป ตามกระแสทางสังคมที่เกิดการเปลี่ยนแปลง อยู่ตลอดเวลา

ในช่วงยุคของศิลปะสมัยใหม่จึงมีศิลปะภาพถ่ายเกิดขึ้นมากมายหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น Pictorial Photography, Surrealist, Straight Photography ฯลฯ ตามลัทธิทางศิลปะที่เกิดขึ้นมาในช่วงนั้นอย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคศิลปะหลังสมัยใหม่ (post-modern) ที่มีแนวคิดที่แตกต่างจากแนวคิดของศิลปะสมัยใหม่ (Modern) โดยการเปลี่ยนแนวคิดจากศิลปะเพื่อศิลปะตามแนวคิดศิลปะสมัยใหม่เป็นแนวคิดที่เชื่อว่า ศิลปะต้องเกิดขึ้นเพื่อมวลชน เพื่อสังคมสะท้อนความเป็นไปของสังคมวัฒนธรรมตามยุคสมัย ทั้งในเรื่องของแนวความคิดและการนำเสนอ

แนวคิดในยุคนี้จะให้ความสำคัญที่ “เนื้อหา” มากกว่า “รูปทรง” และยังมีรูปแบบการนำเสนอที่หลากหลาย ช่างภาพจำนวนมากเริ่มใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อโดยไม่คำนึงถึงความประณีตในงานฝีมือ และความเป็นภาพถ่ายมากนัก แต่พวกเขาสนใจการถ่ายภาพในแง่มุมของปรากฏการณ์ทางสังคมวงกว้าง และมองภาพถ่ายในฐานะวัตถุที่ทำซ้ำได้ไม่จำกัดจำนวน

จะเห็นได้ว่ากว่าที่ภาพถ่ายจะได้รับการยอมรับว่าเป็นงานศิลปะนั้น ต้องผ่านกระบวนการและวิธีคิดของศิลปิน ที่ต้องการจะฉีกออกจากความที่ภาพถ่ายเป็นเพียงภาพบันทึกธรรมดาให้กลายเป็นงานศิลปะในอีกรูปแบบหนึ่งที่เทียบเคียงได้กับงานศิลปะแขนงอื่นๆ…