เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 175/2012 April

การจัดองค์ประกอบภาพนั้น จะว่าอยากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ด้วยความที่ภาพถ่ายเป็นศิลปะ การจะตัดสินไปว่ามุมมองแบบใดถูกต้องนั้นจึงเป็นเรื่องยาก จริงไหมครับ แต่จะให้บอกว่าถ่ายไปตามมีตามเกิด หรือแล้วแต่จินตนาการและความต้องการของแต่ล่ะคน ยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้น กฎเกณฑ์หรือหลักการต่างๆ จึงมีไว้เพื่อการณ์นี้ ผมคงไม่ฟันธงลงไปนะครับว่า กฎ 10 ข้อในการจัดองค์ประกอบภาพนี้จะเป็นหลักตายตัวที่ควรยึดปฏิบัติ แต่ผมจะขอให้คิดว่า 10 ข้อนี้จะช่วยให้เราจัดองค์ประกอบภาพได้ง่ายขึ้น ในวันที่เราคิดไม่ออกว่า จะถ่ายภาพตรงหน้าอย่างไร จะวางมุมภาพแบบไหน อะไรไว้ตรงไหนในเฟรมสี่เหลี่ยมที่เรามองผ่านช่องมองภาพก็แล้วกันนะครับ

  1. Rule of Thirds กฎสามส่วน/จุดตัด 9 ช่อง

กฎสามส่วน หรือจุดตัด 9 ช่อง เป็นหลักการเบื้องต้นของการวางจุดเด่น หรือวัตถุที่เราต้องเน้นในภาพ ให้ดูมีความน่าสนใจ นอกเหนือไปจากการวางไว้กลางภาพ โดยเฉพาะกับการใช้เลนส์มุมกว้างในการถ่ายภาพนั้น วัตถุต่างๆ ในภาพจะมีมากมายหลายอย่าง เราสามารถนำเรื่องของกฎสามส่วนที่แบ่งภาพออกเป็นสามส่วนทั้งแนวตั้งและแนวนอน ทำให้เกิดจุดตัดทั้งหมด 4 จุด แบ่งพื้นที่ภาพเป็น 9 ช่อง จุดตัด 4 จุดนี้แหละครับ ที่เราจะนำวัตถุหลักในภาพไปวางไว้ โดยเริ่มจากตำแหน่งด้านล่างไล่ขึ้นไป แล้วจะช่วยให้ภาพมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น

  1. Balancing Elements สมดุล

ความสมดุลในภาพเป็นสิ่งสำคัญ ภาพที่รู้สึกว่าหนักไปด้านใดด้านหนึ่งแม้ว่าเราจะถ่ายภาพโดยรักษาระดับน้ำในภาพไว้แล้วก็ตาม แต่อาจจะด้วย ความเข้มของสี น้ำหนักแสงเงาในภาพก็ทำให้ภาพดูไม่สมดุลได้ ในการจัดองค์ประกอบภาพจึงขอให้พยายามรักษาสมดุลในภาพเอาไว้ด้วย

  1. Leading Lines เส้นนำสายตา

การนำเส้นนำสายตามาใช้ในการจัดองค์ประกอบภาพมีมาตั้งแต่การวาดรูป เส้นนำสายตาช่วยเน้นและพาผู้ดูภาพให้ไปหาจุดที่น่าสนใจในภาพนั้นๆ ได้ นอกจากนั้นยังจะช่วยเพิ่มระยะให้ภาพดูมีความลึกที่เป็นมิติที่ 3 ให้กับภาพอีกด้วย

  1. Symmetry and Patterns สมมาตร/การซ้ำ

การวางองค์ประกอบแบบสมมาตรนั้น นิยมใช้กับภาพที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงความสมบรูณ์ เช่นงานสถาปัตยกรรม ปะติมากรรม ในหลายๆ ครั้งที่การวางภาพแบบสมมาตรกลายเป็นคำตอบที่ดูเหมือนจะลงตัวที่สุด

ส่วนการซ้ำนั้น เป็นรูปแบบที่ถูกนำมาใช้จัดองค์ประกอบภาพที่สร้างความน่าสนใจในภาพได้ง่าย โดยเฉพาะวัตถุที่มีมากๆ และลักษณะคล้ายๆ กัน

  1. Viewpoint มุมมอง

มุมมองภาพระดับสายตานั้นมักจะทำให้ได้ภาพที่ธรรมดา ไม่หวือหวาเท่ากับมุมมองที่เหนือระดับสายตา หรือต่ำกว่าระดับสายตา มุมเหล่านี้มักสร้างความแปลกประหลาดใจ เพราะเป็นมุมที่ไม่ค่อยได้เห็นในชีวิตประจำวัน การนั่งลงไปหรืออาจจะถึงขั้นหมอบ นอน และการขึ้นที่สูง การยกขาตั้งกล้องขึ้น จึงสร้างความน่าสนใจให้กับภาพได้มากกว่า

  1. Background ฉากหลัง

วัตถุในภาพจะเด่น เรื่องราวในภาพจะสมบรูณ์ อารมณ์ในภาพจะราบรื่นไม่สะดุด ฉากหลังนี่แหละที่เป็นตัวการสำคัญ ภาพหลายภาพเรื่องราวดีมากแต่ฉากหลังไม่เข้ากัน หรือฉากหลังแย่งความเด่นไป และบางครั้งที่ตัวแบบจะจมหายหรือกลืนไปกับฉากหลัง ดังนั้นเมื่อเลือกสิ่งที่จะถ่ายได้แล้ว ควรเลือกฉากหลังให้เหมาะสมกับสิ่งนั้นๆ ด้วยก็จะได้ภาพที่สมบรูณ์ไม่น้อยครับ

  1. Depth ระยะ/ความลึก

เพราะในเฟรมภาพประกอบไปด้วย ด้านกว้างและด้านยาว เป็นสองมิติ การใส่ความลึกให้กับภาพด้วยระยะชัด และช่วงความชัด จึงเป็นเทคนิคของการถ่ายภาพโดยตรง ด้วยการเลือกค่า F-stop การวางระยะห่างของวัตถุต่างๆ ในภาพ การเปลี่ยนมุมมอง ล้วนช่วยให้เกิดระยะขึ้นในภาพ

  1. Framing กรอบภาพ

เราสามารถมองหาฉากหน้าเพื่อใช้เป็นกรอบภาพในการเสริมให้ภาพนั้นดูมีระยะ และเกิดความน่าสนใจ รวมทั้งกรอบภาพยังช่วยในการบังส่วนอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากวัตถุที่เราต้องการจะเน้น ให้ไม่มารบกวนได้ด้วย

  1. Cropping ตัดเฉพาะส่วน

การเลือกถ่ายภาพแบบเจาะเฉพาะส่วนที่ต้องการจะนำเสนอ เป็นทางออกที่ดีในการจัดวางองค์ประกอบภาพ ให้สิ่งที่เราจะเน้นจริงๆ มากกว่าการให้สิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาอยู่ในเฟรม ดังนั้นการเปลี่ยนทางยาวโฟกัสของเลนส์จึงมีผลอย่างมาก

  1. Experimentation ทดลองสิ่งใหม่ๆ

ด้วยภาพศิลปะนั้นขึ้นอยู่กับจินตนาการของแต่ล่ะคน ไม่มีถูกมีผิด ดังนั้นการค้นหาและทดลองสิ่งใหม่ๆ มักจะเป็นการดีที่เราอาจจะได้ภาพแปลกๆ และสร้างสรรค์ จากการทดลองอะไรที่นอกเหนือไปจากกฎเกณฑ์ที่ตายตัวทั้งหมด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับไอเดียของแต่ล่ะคนครับ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงหลักในการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เรานำไปเลือกใช้ครับ กฎมีไว้แหก หรือการคิดนอกกรอบ อาจจะเป็นเรื่องที่ได้ผลก็จริง แต่การเข้าใจและเรียนรู้กฎเสียก่อน อาจจะทำให้เราคิดหาวิธีการแหวกกฎใหม่ๆ ที่ดียิ่งขึ้นได้จริงไหมครับ ถ้าเราไม่มองเห็นกรอบ หรือมีกรอบเสียก่อน แล้วเราจะออกไปนอกกรอบได้อย่างไร…