เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 234/2017 March

อีกหนึ่งเรื่องในหลักการจัดองค์ประกอบที่สำคัญนั้นก็คือ เรื่องของการจัดสิ่งต่างๆ ในภาพให้มีความต่อเนื่องลื่นไหลไม่รู้สึกสะดุดใดๆ สิ่งนั้นศิลปินให้คำจำกัดความว่า ความกลมกลืน  หรือ Harmony

ความกลมกลืน (Harmony) คือลักษณะของความสัมพันธ์กันขององค์ประกอบต่างๆ ที่นำมาประกอบเข้าด้วยกันแล้วมีความสนับสนุนกัน เข้ากันได้ ไม่ขัดแย้งกัน ให้ความรู้สึกต่อเนื่อง ลื่นไหล ไม่สะดุด ไปด้วยกันได้ทำให้เกิดเป็นการประสานเข้ากันได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง ส่งผลถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (เอกภาพ)

ประโยชน์อีกลักษณะหนึ่ง ของความกลมกลืน ก็คือ การใช้ความกลมกลืนเป็นตัวกลางหรือตัวเชื่อม (Transition) ทำสิ่งที่มีความขัดแย้งกัน หรือสิ่งที่มีความแตกต่างกัน ให้เกิดความสัมพันธ์กันได้ เช่นสีดำ กับสีขาว เป็นสีที่ตัดกัน มีความขัดแย้งกัน ถ้ามีสีเทา หรือน้ำหนักอ่อนแก่ระหว่างขาวไปจนถึงดำมาเป็นตัวเชื่อมให้สีดำและสีขาวนั้นมีความกลมกลืนกันมากขึ้นได้

ในทางศิลปะได้แบ่งความกลมกลืนออกเป็น 2 ลักษณะ คือ Conceptual Harmony เป็นความกลมกลืนในด้านแนวคิด (concept) หรือ เนื้อหา (Story) และอีกลักษณะหนึ่งก็คือ Visual Harmony ซึ่งเป็นความกลมกลืนที่สัมผัสได้จากการมองนั่นเอง

Visual Harmony

ผลงานศิลปะไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม ปะติมากรรม สถาปัตยกรรม หรือภาพถ่ายนั้น เราสามารถรับรู้และสัมผัสได้ด้วยการมอง ความกลมกลืนที่เราสร้างหรืออยากให้มีจึงมีปัจจัยจากสิ่งต่างๆ ที่เรามองเห็นเช่น รูปร่าง-รูปทรง หรือ สี ทั้งของวัตถุต่างๆ ที่ประกอบอยู่ด้วยกัน ฉากหลัง สภาพแสงและเงา รวมทั้งสิ่งๆ ต่างๆ ที่มีอยู่และเราสามารถมองเห็นได้ในผลงานชิ้นนั้นๆ

ความกลมกลืนของขนาด (Size Harmony)

วัตถุที่มีขนาดใกล้เคียงกัน เมื่อมารวมอยู่ด้วยกันจะสร้างการประสานที่ดูแล้วกลมกลืนไปด้วยกันได้ ในทางกลับกันถ้าวัตถุมีขนาดที่แตกต่างกันมากๆ ก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้ ขนาด (Size หรือ Scale) และสัดส่วน (Proportion) เป็นคำที่มีความหมายคล้ายกัน และแตกต่างกัน แต่มีความสัมพันธ์ของรายละเอียด (Detail) กับภาพรวม (Mass)

ขนาด หมายถึง ขนาดความใหญ่ ความเล็ก ความกว้าง ความยาว ของวัตถุหนึ่ง ซึ่งวัดได้ตามมาตรา ที่ได้กำหนดหน่วยวัดขึ้นมาเป็นมาตรฐานใช้กันทั่วไป สัดส่วน หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง สิ่งสองสิ่ง ที่มีขนาดต่างกัน การที่ี่จะระบุว่าขนาดนั้นมีความใหญ่ เล็ก หรือมีความเหมาะเจาะพอดีแค่ไหนนั้น ต้องนำ ขนาด ไปเทียบกับสัดส่วน

ความกลมกลืนของพื้นผิว (Texture Harmony)

ลักษณะของพื้นผิวจะบอกคุณสมบัติของวัตถุแต่ล่ะชนิดนั้นๆ การเลือกพื้นผิวที่มีลักษณะต่างกันมากๆ มาอยู่ด้วยกันจะส่งผลให้ความรู้สึกในภาพไม่สอดคล้องกัน พื้นผิวที่หยาบจะให้ความรู้สึกของน้ำหนักมากกว่าพื้นผิวที่เรียบ

ความกลมกลืนของเส้น (Line Harmony)

ลักษณะของเส้นนั้นจะมีลักษณะและความหมายเฉพาะในตัวเองอยู่แล้ว ความกลมกลืนของเส้นจึงส่งผลต่อความรู้สึกต่างๆ ที่เส้นนั้นแสดงออกมาด้วย เช่นเส้นตั้งที่ให้ความรู้สึกหนักแน่น มั่นคง เมื่อมารวมอยู่กันมากๆ ก็จะเพิ่มความรู้สึกที่มั่นคงมากขึ้น หรือเส้นโค้งที่ให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล อ่อนไหว เมื่อมีเส้นโค้งมารวมอยู่มากๆ ก็จะยิ่งเน้นความรู้สึกมากขึ้นตามไปด้วย

ความกลมกลืนของรูปทรง (Shape Harmony)

เป็นการเลือกจัดวางให้สิ่งต่างๆ ในภาพมีความกลมกลืนของรูปร่างรูปทรง โดยส่วนใหญ่แล้วจะยึดตามรูปทรงของวัตถุหลักที่เป็นตัวเอกของภาพ โดยให้วัตถุอื่นๆ โดยรอบมีความกลมกลืนกันไป เช่นวัตถุที่มีลักษณะทรงกลม ก็รายล้อมไปด้วยวัตถุหรือฉากหลังที่มีลักษณะของวงกลม หรือวัตถุที่มีลักษณะสี่เหลี่ยม ก็รายล้อมอยู่กับสี่เหลี่ยม 

แสงและเงาจะเป็นสิ่งสำคัญของการกำหนดโทนและลักษณะเฉพาะของรูปร่าง รูปทรงที่ประกอบอยู่ในภาพ ทิศทางของแสง ปริมาณแสง สร้างส่วนสว่างและส่วนมืดบนรูปทรงเหล่านั้น ดังนั้นการเลือกลักษณะของแสงจึงส่งผลไปถึงความกลมกลืนของรูปทรงที่เราใช้ในการจัดองค์ประกอบไปด้วย

ความกลมกลืนของสี (Color Harmony)

เป็นการเลือกใช้สีที่มีความใกล้เคียงกันหรืออยู่ในกลุ่มวรรณะสีเดียวกันมาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดความรู้สึกกลมกลืน ลึกซึ้ง อบอุ่นซึ่งเป็นความรู้สึกที่แตกต่างจากการใช้สีตัดกันด้วยการใช้สีกลมกลืนนั้นมีความต้องการที่จะสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่สงบนิ่งอบอุ่นลึกซึ้งกินใจ จึงมักจะเห็นมากในภาพทิวทัศน์ภาพบุคคล เป็นส่วนมาก

สำหรับหลักการที่จำเป็นของการใช้สีนั้นก็คือเราต้องคำนึงถึงความหมายของสีแต่ละสีซึ่งจริงๆ แล้วความหมายของแต่ละสีนั้นก็ไม่ได้มีความแน่นอนเสมอไป เช่นถ้าเห็นสีแดง อาจมีคนนึกไปถึงเลือด ความร้อนแรง ความน่าสนใจในขณะที่อีกคนหนึ่งกลับนึกไปถึงความรักหรือสีของดอกกุหลาบ หรือถ้าเห็นสีเขียวเราจะนึกถึงต้นไม้ ความสงบร่มเย็น สดชื่นแต่ในความหมายของฝรั่งอาจนึกไปถึงความริษยาดังนั้นการที่เราจะใช้สีเพื่อสื่อความหมายใดๆ ก็ตามเราต้องนึกถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่รอบข้างด้วย สำคัญก็คือความหมายที่เราอยากจะสื่อว่าโดยรวมแล้วสีนั้นทำหน้าที่ได้ดีพอหรือยัง

ในแง่ของการถ่ายภาพเราคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราจะถ่ายได้เหมือนอย่างภาพวาด แต่สิ่งที่เราสามารถนำเอาหลักการของความกลมกลืนมาใช้ได้ด้วยก็คือการเลือกจัดองค์ประกอบโดยรวมของสิ่งที่เราจะถ่าย เช่น ฉากหลังของภาพ วัตถุหลักของภาพ วัตถุรองที่รายล้อมวัตถุหลักในภาพ ส่วนประกอบต่างๆ ที่มีอยู่ในภาพ นั้นถ้าเราเลือกจัดวาง หรือเลือกถ่ายภาพในส่วนเหล่านี้ก็จะสามารถใช้หลักการของความกลมกลืนนี้ได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความกลมกลืนถ้ามีมากเกินไป ก็อาจจะทำให้ผลงานนั้นดูน่าเบื่อขึ้นมาได้ เราอาจจะต้องเพิ่มความขัดแย้ง หรือ ความเปรียบต่าง (Contrast) เข้าไปบ้างก็จะเกิดผลที่น่าสนใจขึ้น ซึ่งความขัดแย้งนั้นเราจะนำมาเป็นหัวข้อพูดคุยกันในครั้งต่อไปครับ…