เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 208/2015 January

ในการถ่ายภาพ เรื่องของการจัดองค์ประกอบนับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ หลายครั้งที่เราพยายามเลือกหามุมมองในการจัดองค์ประกอบภาพให้สวยงามน่าสนใจ แม้ว่าเราจะพยายามทำตามหลักการต่างๆ แล้ว แต่ในหลายครั้งที่เราพบว่า ภาพที่เราได้มานั้น ยังไม่ถูกอกถูกใจเราอย่างที่เราอยากจะให้เป็น จริงไหมครับ

หลายครั้งที่หลักการในการจัดองค์ประกอบภาพทำให้เรามึนงง และเสียเวลาที่จะต้องมานั่งท่องจำ ทางออกที่ดีที่สุดที่ผมอยากจะบอกก็คือ เราลองเปลี่ยนจากการท่องจำ เป็นลงมือทำและทำความเข้าใจกันดีกว่าครับ และในบทความนี้ผมจึงตั้งใจที่จะลองนำหลักการจัดองค์ประกอบเรื่องต่างๆ มาผนวกเข้าคู่กันดูสิว่า มีเรื่องไหนที่ทำให้เราเข้าใจง่ายมากขึ้น

Contrast – Harmony ความเปรียบต่างและความกลมกลืน

Contrast-Harmony นั้นจัดว่าเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกัน ดังนั้นในการมองหาสิ่งที่เราจะถ่ายว่าอยู่ในขอบเขตของ Contrast-Harmony นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก การมองหาสิ่งที่ตัดกันในภาพ ไม่ว่าจะเป็นตัดกันด้วยสี ตัดกันด้วยขนาด หรือตัดกันด้วยเนื้อหา และก็เช่นเดียวกัน ถ้าสิ่งนั้นไม่มีความเปรียบต่าง สิ่งที่เราควรพิจารณาต่อไปก็คือสิ่งนั้น มีความกลมกลืนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น ความกลมกลืนระหว่างฉากหน้าและฉากหลัง ความกลมกลืนของสีสัน และความกลมกลืนของเนื้อหา ข้อสังเกตคือสิ่งใดๆ ก็ตามมักจะมีความหมายที่ไปในทิศทางเดียวกัน หรือไม่ก็จะตรงกันข้ามกันอยู่เสมอ หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ามันไม่ contrast กัน มันก็จะกลมกลืนกันนั่นเอง นอกจากนี้เรื่องของ Contrast-Harmony นั้นยังเอามาใช้ในการเลือกฉากหลังสำหรับถ่ายภาพบุคคลได้เป็นอย่างดี

Texture -Repetition-pattern พื้นผิว การซ้ำ และลวดลาย

Texture-Repetition-pattern ในพื้นผิวนั้น มีลวดลายที่น่าสนใจ ลวดลายบางอย่างมีการซ้ำกันอยู่ ดังนั้นการมองหาลวดลายที่น่าสนใจจากวัตถุที่มีพื้นผิวที่แตกต่างกันนั้น ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่เราจะเลือกสิ่งที่จะถ่ายได้ และเมื่อเราใช้หลักการในเรื่องการซ้ำ มาช่วยในการจัดองค์ประกอบภาพ เมื่อเราถ่ายภาพพื้นผิวที่น่าสนใจ มันก็จะดูง่ายขึ้น ทั้งนี้เราจะพบว่า พื้นผิวที่มีการซ้ำกันก่อให้เกิดลวดลายที่แปลกตาน่าสนใจมีอยู่มากมายรอบตัวเราเต็มไปหมด

ในการซ้ำของสิ่งต่างๆ นั้นนอกจากการซ้ำที่เป็นระเบียบแบบแผนอย่าง pattern แล้ว ยังมีการซ้ำอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างกันออกไปก็คือการซ้ำในรูปแบที่ไม่เป็นระเบียบแบบแผนที่เราเรียกว่า Repetition ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในวัตถุต่างๆ

Line – Perspective เส้นและทัศนมิติ

Line-Perspective เส้นและทัศนมิติ มีจุดที่เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี ในการที่เราเลือกวางองค์ประกอบภาพโดยใช้เส้นทแยง หรือเส้นนำสายตา จะเป็นการทำให้ภาพเกิดความลึกซึ่งตรงกันกับเรื่องของ perspective ของภาพที่เราอยากจะให้มี ความลึกของภาพที่เราต้องการเพื่อให้เกิดระยะในภาพนั้น ถ้าเราสังเกตให้ดี จะเกิดจากเส้นทแยงมุมที่นำสายตาเราเข้าไป แต่ไม่เพียงแค่เส้นทแยงมุมอย่างเดียวเท่านั้น เส้นทแยงต่างๆ ในภาพ รวมทั้งเส้นโค้งที่ทำหน้าที่ในการนำสายตา ก็ให้ความรู้สึกได้เช่นเดียวกัน

เส้นแต่ล่ะชนิดจะมีลักษณะที่ส่งผลต่อความรู้สึกที่แตกต่างกัน แม้แต่เส้นนำสายตา ถ้าเส้นนำสายตานั้นเป็นเส้นตั้งก็จะได้ความรู้สึกในภาพแบบหนึ่ง แต่ถ้าเส้นนำสายตาเป็นเส้นโค้ง ก็จะได้ความรู้สึกในภาพอีกแบบหนึ่ง

Space – Dominance – Rule of Thirds พื้นที่ว่าง จุดเด่น และกฎสามส่วน

Space-Dominance-Rule of Thirds พื้นที่ว่าง จุดเด่น และกฎสามส่วน ทั้งสามเรื่องล้วนมีความสัมพันธ์กัน ด้วยจุดหมายของการเน้นจุดเด่นนั้น จะตรงกันกับตำแหน่งในการวางวัตถุในกฎสามส่วน หรือบริเวณจุดตัดเก้าช่องนั่นเอง ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเน้นในรูปแบบหนึ่งนอกเหนือไปจากแบบอื่นๆ และถ้าเราสังเกตดีๆ พื้นที่นอกเหนือไปจากจุดที่เราจะวางวัตถุลงไปเพื่อให้เกิดความน่าสนใจนั้น เป็นพื้นที่ที่เราเว้นว่างเอาไว้ในภาพนั่นเอง ดังนั้นในการจัดองค์ประกอบภาพเราอาจจะเริ่มจากการมองหาพื้นที่ว่าง หรือฉากหลังที่โล่ง เรียบง่าย ให้กับสิ่งที่เราจะถ่าย และการเว้นพื้นที่ว่างที่พอดี จะช่วยขับให้สิ่งที่เราถ่ายนั้นน่าสนใจมากกว่าปกติ

เมื่อในภาพหนึ่งภาพมีองค์ประกอบที่หลากหลาย การใช้พื้นที่ว่างได้อย่างเหมาะสมจะทำให้ภาพเกิดระยะที่น่าสนใจ ดูแล้วไม่อึดอัด ไม่แน่นจนเกินไป ทั้งนี้อาจจะขึ้นอยู่กับจังหวะต่างๆ ที่เราเลือกใช้

จะเห็นว่าหลักการจัดองค์ประกอบนั้นมีอยู่หลายข้อที่เราสามารถนำมาใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งหลักการหลายตัวนั้น มีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอยู่ สิ่งสำคัญ อยู่ที่การนำไปใช้ในการจัดองค์ประกอบภาพ หลายครั้งที่เรามัวกังวลกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่กระจัดกระจาย การหยิบหลักการในการจัดองค์ประกอบมาใช้อาจเป็นทางออกที่ดีแต่เมื่อเราลองปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เราจะพบว่า ยังมีทางออกอีกที่มากกว่าหนึ่ง เมื่อเรานำหลักการหลายตัวมาใช้ร่วมกัน…