เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 236/2017 May

จังหวะ (Rhythm) เป็นส่วนประกอบของงานศิลปะในทุกสาขาแม้แต่ในสาขาดนตรี และนาฏกรรม ซึ่งจะมีจังหวะของเสียงที่เกิดจากการเรียบเรียงเสียงประสานเสียงสูงต่ำ จังหวะของการเต้นรำ การเคาะวัสดุต่างๆ หรือในสาขาวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน จะมีระเบียบบังคับของจังหวะในแต่ล่ะบทแต่ล่ะท่อน การอ่านออกเสียงต้องให้เป็นไปตามจังหวะทั้งนั้น

จังหวะ จึงอาจหมายถึงความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง หรือการเคลื่อนไหวที่หยุดเป็นช่วงๆ เน้นเป็นระยะในทางทัศนศิลป์ จังหวะเกิดจาก การเว้นระยะ ความห่าง หรือการซ้ำจากรูปแบบปกติที่มีช่วงระยะเท่าๆ กัน มาเป็นรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น ของทัศนธาตุ (Visual Elements) เช่น เส้น รูปร่าง รูปทรง สี ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว (Movement) ที่สัมผัสได้ทางสายตา เราจึงพอจะบอกได้ว่าจังหวะก็คือการซ้ำของทัศนธาตุในงานศิลปะนั่นเอง

จังหวะของการเห็นจะเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความรู้สึกหรือความพอใจทางสุนทรียภาพในงานศิลปะ การซ้ำของจังหวะเป็นการซ้ำที่มีเอกภาพและความหมาย ซึ่งจริงๆ แล้ว จังหวะก็เป็นกฎหนึ่งของเอกภาพที่เกิดจากการซ้ำนั่นเอง

จังหวะเกิดขึ้นได้จากการซ้ำ หรือการสลับกันของส่วนประกอบต่างๆ และเกิดจากการเลื่อนไหลต่อเนื่องกันของ เส้น รูปร่าง รูปทรง น้ำหนัก หรือสี จังหวะในงานศิลปะจะเป็นการซ้ำ หรือการไหลต่อเนื่องกันของรูปทรงในที่ว่าง ที่ว่างจะเป็นสิ่งที่คงที่ แต่จังหวะเป็นตัวทำให้เกิดความเร็ว ความช้า ความถี่ และความห่าง โดยรูปแบบของจังหวะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือจังหวะที่เกิดจากการซ้ำกัน (Repetition Rhythm) และจังหวะเกิดจากการต่อเนื่อง (Continuous Rhythm)

จังหวะเกิดจากซ้ำกัน (Repetition Rhythm)

เป็นรูปแบบของจังหวะที่มีลักษณะการซ้ำกันของสิ่งต่างๆโดยมีพื้นที่ว่างคั่นอยู่ระหว่างวัตถุนั้นๆ วัตถุที่มีอยู่เพียงอันเดียวจะไม่เกิดจังหวะจนกว่าวัตถุนั้นจะมีการซ้ำกัน ในขณะเดียวกันวัตถุที่ซ้ำกันแต่วางกระจายกันไม่เป็นระเบียบ ก็จะไม่มีการเกิดของจังหวะ เมื่อนำวัตถุเหล่านั้นมาจัดวางอย่างเป็นระเบียบโดยมีช่องว่างคั่นก็จะเกิดจังหวะขึ้น

จังหวะเกิดจากการต่อเนื่อง (Continuous Rhythm)

หมายถึงการเคลื่อนไหวที่มีจังหวะที่ต่อเนื่อง เป็นจังหวะที่ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ว่างมาคั่น จึงไม่จำเป็นต้องมีการซ้ำกันของวัตถุ แต่เป็นจังหวะที่เกิดจากลักษณะการเคลื่อนไหวที่เลื่อนไหลไปอย่างสม่ำเสมอ เป็นจังหวะต่อเนื่องกันของเส้น สี น้ำหนัก ที่ไม่ขาดระยะ

จังหวะในงานภาพถ่ายนั้นนอกเหนือไปจากการเลือกจัดองค์ประกอบภาพตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จังหวะขององค์ประกอบในภาพก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยจังหวะของการกดชัตเตอร์บันทึกภาพด้วย เวลาเพียงเสี้ยววินาทีอาจจะทำให้เราบันทึกภาพจังหวะที่ซ้ำซ้อนกันของวัตถุบางอย่างในเฟรมภาพ ที่ถ้าช่วงเวลานั้นช้าหรือเร็วกว่านี้ก็อาจเสียจังหวะขององค์ประกอบภาพไปได้

การนำหลักการจัดองค์ประกอบในเรื่องของจังหวะมาใช้ในการถ่ายภาพนั้นสิ่งที่เราควรคำนึงถึงมีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่องหลักๆ คือ Repetition, Alternation, Progression, Undulation

Repetition การซ้ำ

อย่างที่บอกไปในตอนแรก การซ้ำกันของวัตถุและระยะห่างของพื้นที่ว่างเป็นตัวกำหนดของจังหวะในภาพ ระยะห่างของที่ว่างนั้นเราสามารถควบคุมได้จากการขยับมุมกล้องเพียงเล็กน้อย หรือการรอคอยจังหวะเวลาที่วัตถุบางอย่างเคลื่อนที่มาในตำแหน่งที่เราต้องการ การเลือกใช้เลนส์ รวมทั้งระดับสูงต่ำของกล้องถ่ายภาพก็มีส่วนในจังหวะของการซ้ำในสิ่งที่เราสนใจจะถ่ายภาพ

Alternation การสลับ

จังหวะของการสลับเกิดจากวัตถุสองสิ่งหรือมากกว่าที่มีการจัดเรียงหรือมีตำแหน่งที่สลับกันขององค์ประกอบ เช่นการสลับกันของลายขาวดำบนตารางหมากฮอส ลายสลับของทางม้าลาย ทั้งสองตัวอย่างก็จะเกิดจังหวะเฉพาะในตัวมันเอง เราอาศัยการสังเกตในการมองหาการสลับที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมตรงหน้าที่อาจจะมีจังหวะที่น่าสนใจซ่อนอยู่

Progression การคืบหน้า

จังหวะเกิดจากวัตถุที่อยู่ในระนาบจากซ้ายไปขวาในบางครั้งทำให้ความน่าเบื่อหรือดูธรรมดา การเปลี่ยนมุมเพื่อให้เกิดความลึกในภาพด้วยการให้วัตถุที่เราจะถ่ายมีความลึกจากหน้าไปหลังทั้งขนาดของสิ่งที่อยู่ใกล้ที่มีขนาดใหญ่ไปจนสิ่งที่อยู่ไกลที่มีขนาดเล็กลง ลักษณะดังนี้จะมีจังหวะในภาพอีกรูปแบบหนึ่งที่มีมิติมากขึ้น ให้ความรู้สึกต่อการมองมากยิ่งขึ้น

Undulation คลื่น

จังหวะของคลื่นไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแค่ในทะเล คลื่นของทิวเขาที่ซับซ้อน คลื่นจากกลุ่มก้อนเมฆบนท้องฟ้า คลื่นของกองผ้าที่วางทับถมกัน คลื่นลอนของเส้นผมหญิงสาวหรือคลื่นในลักษณะอื่นๆ ล้วนเกิดจังหวะในภาพที่น่าสนใจทั้งนั้น จังหวะในรูปแบบนี้จะมีลักษณะของความไหลลื่น ความสม่ำเสมอและความต่อเนื่อง

หลักการจัดองค์ประกอบภาพเรื่องจังหวะนี้ เราสามารถนำมาใช้ในการกำหนดมุมภาพที่มีความหลากหลายของวัตถุที่เราจะถ่าย หรือสิ่งที่เราจะถ่าย โดยเฉพาะงานที่มีวัตถุที่ซ้ำซ้อนกันมากๆ หรือองค์ประกอบมากมาย การจัดการจังหวะขององค์ประกอบเหล่านั้นให้ลงตัวและสวยงามเป็นการแสดงให้เห็นว่าช่างภาพมีความเข้าใจในเรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพ โดยเฉพาะการจัดการด้านพื้นที่ว่างซึ่งมักจะถูกมองข้ามโดยส่วนใหญ่มักจะไปให้ความสำคัญกับวัตถุที่จะถ่ายมากเกินไป แต่ลืมใส่ใจกับระยะห่างของพื้นที่ว่างระหว่างวัตถุที่ซ้ำกัน จึงทำให้จังหวะในภาพไม่น่าสนใจ ส่งผลไปถึงจังหวะของการกดชัตเตอร์ก็หายตามไปด้วย

สิ่งที่จะทำให้เราสามารถเลือกจังหวะในการกดชัตเตอร์ได้ดีนั้นก็คือ การทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรากำลังจะถ่ายว่ามีลักษณะการเคลื่อนไหวอย่างไร เช่น ถ้าเราจะถ่ายภาพกวางวิ่งในทุ่งหญ้า เราควรจะรู้ถึงจังหวะและท่าทางในการวิ่งของกวาง หรือ จังหวะการบินเข้าหารังของนกที่จะเอาอาหารมาป้อนลูก หรือจังหวะหยุดของนักแสดงที่อยู่บนเวที หรือแม้แต่ท่าทางของนักกีฬาในสนาม ล้วนมีจังหวะที่ดีในการถ่ายภาพที่เราต้องทำความเข้าใจและเตรียมการก่อนการถ่ายภาพทั้งนั้นครับ…