เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 237/2017 June

ในการถ่ายภาพบางครั้งเส้นหรือแนวที่นำไปปลายจะเป็นเส้นขนาน ซึ่งในภาพจะกลายเป็นเส้นที่ลู่เข้าหากัน นอกจากจะทำให้เกิดความลึกซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งในภาพแล้ว ยังเป็นเส้นหรือแนวที่ใช้ในการนำสายตาไปสู่จุดสนใจได้อย่างดีอีกด้วย มิติในภาพถ่ายที่เกิดขึ้นจากการลวงตาให้มองเห็นเช่นนี้เราเรียกว่า ทัศนมิติ (Perspective)

ทัศนมิติ (Perspective) คือความลึก หรือจะเรียกว่าการมีมิติ ด้วยภาพนั้นมีเพียงด้านกว้างและด้านยาว การนำทัศนมิติมาใช้ จะช่วยเพิ่มความลึกให้กับภาพ ทัศนมิติเกิดได้จากเส้นทแยงและระยะที่แตกต่างกันของวัตถุ

ทัศนมิติ (Perspective) ประกอบไปด้วย จุดรวมสายตาหรือเรียกว่า Vanishing point  (VP) จะเป็นจุดรวมสายตา เป็นตำแหน่งที่ลากเส้นสิ่งของต่างๆ ไปรวมกัน มีตั้งแต่ 1 จุดขึ้นไป แล้วแต่ตำแหน่งของวัตถุที่จัดวาง ลักษณะของทัศนมิติ (Perspective) จะประกอบไปด้วย

  1. วัตถุ หรือสิ่งของที่มีขนาดเท่ากันเมื่อยู่ไกลตัวออกไปจะมีขนาดเล็กลง
  2. ระยะที่เท่ากันเมื่ออยู่ไกลตัวออกไปจะมีระยะที่ใกล้ขึ้นเรื่อยๆ จนรวมเป็นจุดเดียวกันที่สุดสายตา
  3. เส้น หรือสิ่งของที่คู่ขนานกันเมื่อระยะห่างไกลออกไปจะมีลักษณะพุ่งเข้าหากัน
  4. วัตถุ หรือสิ่งของต่างๆ เมื่ออยู่ไกลตัวออกไป จะมีรายละเอียดและความชัดเจนลดลงไปตามลำดับ

ในการถ่ายภาพเราจะพบภาพลักษณะของทัศนมิติ (Perspective) ได้บ่อยครั้ง เราสามารถนำมาใช้ในการจัดองค์ประกอบภาพได้ โดยเฉพาะการเน้นจุดเด่น ซึ่งลักษณะที่เราจะพบเห็นได้ง่ายของทัศนมิติ (Perspective) ก็มีอยู่หลายรูปแบบ

ทัศนมิติจากเส้นนำสายตา

ทัศนมิติมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้เส้นนำสายตา โดยเฉพาะเส้นทแยง ที่ส่งผลต่อความลึกของภาพ เส้นนำสายตานี้บางครั้งอาจจะไม่จำเป็นต้องเห็นเป็นเส้นแต่อาจจะมาจากวัตถุที่จัดเรียงกันที่ส่งผลต่อการมองเห็นจนเกิดความลึกในภาพ เส้นนำสายตาถูกใช้เพื่อนำไปสู่วัตถุที่เราอยากจะให้เป็นจุดสนใจ หรือวัตถุหลักของภาพ การจัดวางภาพให้มีเส้นนำสายตาจึงทำให้ภาพเกิดความลึกขึ้นได้

ทัศนมิติจากระยะห่างของวัตถุ

วัตถุหลายชิ้นจัดวางเรียงไปตามระยะห่าง โดยที่มีระยะห่างต่อเนื่องกันไปจะทำให้มองเห็นขนาดที่ลดหลั่นกันเกิดเป็นทัศนมิติหรือความลึก วัตถุที่อยู่ใกล้จะมีขนาดใหญ่วัตถุที่อยู่ไกลจะมีขนาดเล็กลงไปตามระยะห่างของวัตถุนั้นๆ แม้ว่าที่จริงแล้ววัตถุเหล่านั้นมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน การใช้เลนส์จึงมีผลต่อระยะห่างของวัตถุ ถ้าเราใช้เลนส์มุมกว้างวัตถุจะถูกผลักออกไป การใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ฉากหลังจะถูกดึงเข้ามาใกล้ ดังนั้นเลนส์จึงส่งผลต่อทัศนมิติในเรื่องของระยะห่างของวัตถุในภาพ

ทัศนมิติจากน้ำหนักของแสงและเงา

น้ำหนักของแสงเงาที่แสดงถึงความเข้มอ่อนของวัตถุส่งผลโดยตรงต่อความลึกในภาพ ทิศทางของแสงและความเข้มของแสงมีส่วนสำคัญ การไล่ระดับของน้ำหนักอ่อนแก่ ทำให้ภาพดูมีมิติ น้ำหนักอ่อนแก่นี้บางครั้งก็เกิดขึ้นได้จากหมอกบางๆในบางสภาพอากาศ หรือแม้แต่สายฝนที่ตกลงมาอย่างหนักก็ช่วยสร้างทัศนมิติในภาพได้เช่นกัน

ทัศนมิติกับงานสถาปัตยกรรม

งานสถาปัตยกรรมเวลาที่เราถ่ายภาพนั้นจะได้ภาพที่ต่างกับความเป็นจริง โดยเฉพาะเส้นต่างๆในภาพนั้น เมื่อเราถ่ายภาพโดยที่ไม่ได้ควบคุมทัศนมิติในภาพจะเกิดการบิดเบือน (Distortion) เช่น ตึกที่ลู่เอียงจากการใช้เลนส์มุมกว้าง หรือการเงยกล้อง ดังนั้นการควบทัศนมิติในการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมนั้นควรระวังเรื่องระดับของกล้อง การก้มเงยกล้องจะส่งผลโดยตรงต่อทัศนมิติในสถาปัตยกรรมนั้นๆ

ทัศนมิติ (Perspective) เป็นเรื่องของการมองเห็นในมิติที่ 3 คือความลึก สำหรับการถ่ายภาพในลักษณะนี้นิยมใช้เพื่อเพิ่มความลึกให้กับภาพและได้ช่วงความชัด (depth of fields) เพื่อความคมชัดของภาพตลอดทั่วทั้งภาพ นอกจากนี้ควรเลือกมุมกล้องที่เปิดพื้นที่ว่างไปตามทิศทางของการมองหรือการเคลื่อนที่ของวัตถุที่เราจะถ่ายภาพด้วยนะครับ…