เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 220/2016 January

ตอนนี้ขอเอาตัวอย่างภาพที่ถ่ายโดยใช้วิธีการควบคุมโทนสีของภาพให้ดูเป็นตัวอย่างอีก 1 รอบก่อนที่เราจะไปในส่วนที่ยากขึ้นไปอีกระดับ การดูภาพอยากให้เอากราฟของกล้องมาดูประกอบด้วย จะเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมต้องปรับตั้งค่าเปิดรับแสงและฟังก์ชั่นที่บอกในแต่ละภาพ

Nikon D3, 105 mm. F2.8 Macro VR, 1/8s F9 ISO 200, sRGB, Vivid, Contrast N+2, Saturation N

ภาพนี้สภาพแสงมีความเปรียบต่างต่ำ เนื่องจากอยู่ในร่มเงา ไม่มีแดดส่องลงมาให้เกิดแสงเงา ทั้งยังไม่มีส่วนขาวในภาพด้วย มีแต่สีดำของท่อนไม้เท่านั้น ทำการวัดแสง 3 จุดคือ เห็ดได้ 1/10s ตระไคร่สีเขียวที่เกาะหิน 1/8s และ ส่วนเงาดำของท่อนไม้ 1/1.5s จริงๆ สีของท่อนไม้ไม่ได้ดำสักเท่าไรนัก ไม่เหมือนถ่ายไม้ที่จะดำค่อนข้างมาก ความแตกต่างของแสงเท่ากับ 3 stop เท่านั้น หากถ่ายปกติภาพนี้ส่วนดำจะไม่ดำมาก และสีดูจืดๆ จึงทำการปรับค่าความเปรียบต่างไปที่ N+2 ซึ่งจะทำให้ภาพมีความแตกต่างและดูจัดจ้านมากขึ้นด้วย ส่วนระบบสีใช้ Vivid

Nikon D3, 28-75 mm. F2.8, 1/4s F11 ISO 200, sRGB, ระบบสี Vivid, Contrast N+2, Saturation N+2

น้ำตกห้วยทรายเหลือง อินทนนท์ แสงนุ่มๆ ไม่มีแดดส่องมายังน้ำตก ภาพนี้จึงต้องเร่งความเปรียบต่างและสีเต็มที่  วัดแสงน้ำตกได้ 1/8 และต้นไม้ที่หินด้านหน้า 1/3 วินาที  เลือกเปิดรับแสงที่ 1/4 วินาที และเพิ่มความเปรียบต่าง +2 เพื่อให้ภาพมีความเปรียบต่างสูงขึ้น น้ำตกจะอยู่ที่ +1 stop  ส่วนต้นไม้เล็กๆ ด้านหน้า -0.5 stop

Nikon D3, 14-24 mm. F2.8, 1/500s F10 ISO 200, sRGB, ระบบสี Standard, Contrast N-2, Saturation N+2

จุดชมวิวผาเดียวดาย เขาใหญ่ ภาพนี้ผมไปในจังหวะที่ไม่เหมาะเท่าไรนัก ควรจะต้องไปตอนเช้ามากกว่าจะได้แสงที่สวยกว่านี้ ภาพมีความเปรียบต่างค่อนข้างสูงมาก ส่วนสว่างคือก้อนเมฆได้ 1/1500 วินาที ท้องฟ้าสีน้ำเงินซึ่งไม่เข้มเท่าไรนักได้ 1/350 ต้นไม้ที่ภูเขาส่วนโดนแสง 1/350 และต้นไม้ส่วนร่มเงาใกล้กล้อง 1/30 เท่านั้น ความแตกต่างของแสงสูงถึง 5.5 stop ผมเลือกค่าเปิดรับแสงที่ 1/500 วินาที เมฆจะโอเวอร์ไป 1.5 stop ส่วนท้องฟ้าสีจะเข้มขึ้นอีกนิด พร้อมบวกค่าอิ่มตัวของสีไว้ที่ +2 ช่วยเร่งสีให้จัดจ้านขึ้น ส่วนความเปรียบต่างเปิดที่ D-Lighting เนื่องจากความเปรียบต่าง N-2 ไม่พอที่จะดึงส่วนมืดขึ้นมาให้สว่างในระดับที่ต้องการได้ หากถ่ายภาพปกติส่วนเงาของต้นไม้จะค่อนข้างดำมาก ค่า L อยู่ที่ 5 เท่านั้น

Nikon D3, 28-75 mm. F2.8, 1/500s F9 ISO 200, sRGB, ระบบสี Standard, Contrast N, Saturation N+2

น้ำตกเหวนรกจากชั้นมองจากจุดชมวิวชั้น 2 ภาพนี้มีส่วนขาวที่สว่างจ้าบริเวณน้ำตกส่วนที่กระแทกพื้นเป็นฟองขาวแล้วยังได้รับแสง แดดเข้าไปเต็มที่อีกด้วย วัดแสงได้ 1/2000 วินาที ซึ่งค่อนข้างสูง วัดแสงที่พื้นน้ำได้ 1/750 ต้นไม้ส่วนโดนแสง 1/250 และบริเวณก้อนหินที่ไม่ได้รับแสง 1/60 วินาที ความแตกต่างของแสงทั้งหมด 5 stop ซึ่งเป็นความแตกต่างของแสงที่กำลังพอเหมาะ ไม่ต้องปรับตั้งอะไรมากมายนัก ผมเลือกค่าเปิดรับแสงที่ 1/500 วินาที ส่วนขาวของน้ำตกจะอยู่ที่ +2 stop จะได้ส่วนขาวกำลังสวย มีรายละเอียดดี และส่วนเงามืดของหินอยู่ที่ -3 stop ปรับตั้งค่าสีที่ Standard เพิ่มความอิ่มตัวของสีไปที่ +2

Nikon D3, 14-24 mm. F2.8, 1/90s F14 ISO 200, sRGB, ระบบสี Vivid, Contrast N, Saturation N+2

ทะเลหมอกที่ทุ่งแสลงหลวง มองจากจุดชมวิว หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น ความแตกต่างของแสงจะสูงมาก ผิดกับก่อนพระอาทิตย์ขึ้นโดยสิ้นเชิง วัดท้องฟ้าใกล้ๆ ดวงอาทิตย์ได้ 1/125 วินาที อย่าวัดที่ดวงอาทิตย์นะครับ เพราะค่าแสงจะสูงมากๆ จะทำให้คำนวณค่าแสงพลาดอย่างสุดขั้วได้ เลยวัดแสงทะเลหมอกได้ 1/90 วินาที ทิวไม้ในหมอก 1/45 วินาที และทิวไม้ด้านล่างของภาพ 1/10 วินาที เลือกค่าเปิดรับแสงที่ 1/90 วินาที จะทำให้ภาพดูเข้มๆ ฟ้าอยู่ที่ +0.5 stop ส่วนมืดสุดอยู่ที่ -3 stop ตั้งความเปรียบต่างไปที่ N (หรือจะ N-1 ก็ยังได้) เร่งสีไว้ที่ Vivid กับความอิ่มตัวของสี +2

Nikon D3, 70-200 mm. F2.8, 1/1.5s F18 ISO 200, sRGB, ระบบสี Vivid, Contrast N+2, Saturation N+2

ทะเลหมอกที่ทุ่งแสลงหลวง มองจากจุดชมวิว แสงช่วงก่อนพระอาทิตย์ขึ้น สภาพแสงอึมครึมมาก ความเปรียบต่างค่อนข้างต่ำมาก ส่วนสว่างสุด 1/3 วินาที และมืดสุด 2 วินาที แตกต่างกันเพียง 2.5 stop เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องเพิ่มความเปรียบต่างให้มากที่สุดเท่าที่กล้องจะสามารถทำได้ ปรับระบบสีไปที่ Vivid, Contrast +2, ความอิ่มตัวของสี +2 เลือกค่าเปิดรับแสง 1/1.5 วินาที ส่วนสว่างสุดคือหมอก +1 stop ส่วนยอดไม้ที่มืดที่สุด -2 stop ปกติจะได้ความเข้มส่วนมืดแค่ L 21 แต่เมื่อเพิ่มค่าความเปรียบต่างเข้าไปจะได้ค่า L เป็น 13 เข้มขึ้นมาประมาณ 0.5 stop เมื่อเทียบกับการปรับตั้งแบบปกติ

Nikon D3, 70-200 mm. F2.8, 1/4s F22 ISO 200, sRGB, ระบบสี Vivid, Contrast N, Saturation N+2

ป่าสนกับดงเฟิร์นยามเช้า มีแสงแดดอ่อนๆ ลอดมาพอสร้างแสงเงาได้ ภาพนี้ความเปรียบต่างไม่สูงมากนัก ต้องการเน้นสีเขียวของดงเฟิร์นตัดกับลำต้นของสนสีน้ำตาลเข้ม วัดแสงยอดไม้ระยะไกลได้ 1/8 วินาที เฟิร์นส่วนโดนแสง 1/6 วินาที เฟิร์นส่วนเงา 1/3 และลำต้น 2 วินาที ความแตกต่างของแสง 4 stop ผมเลือกค่าเปิดรับแสง 1/4 วินาที จะทำให้ยอดไม้ระยะไกลอยู่ที่ +1 stop เฟิร์นโดนแสง +0.5 เฟิร์นส่วนเงา 1/3 และลำต้น -3 stop เร่งสีไปที่ Vivid กับ Saturation +2

Nikon D3, 14-24 mm. F2.8, 8s F8 ISO 200, sRGB,  ระบบสี Standard, Contrast N-2, Saturation N+2

บรรยากาศที่กางเต็นท์ทุ่งพญาช่วงโพล้เพล้ เป็นการผสมระหว่างแสงธรรมชาติ แสงไฟหน้ารถ และแสงแฟลช  วัดแสงท้องฟ้าได้ 20s แสงไฟหน้ารถที่พื้น 4s และเต็นท์ที่ไฟหน้ารถ 2s เลือกเปิดรับแสงที่ 8s เพื่อให้ท้องฟ้าเข้มลง 1.5 stop จะได้ดูเป็นบรรยากาศกลางคืน พื้นส่วนโดนแสง +1 stop และเต็นท์ +2 stop ตั้ง Contrast ไว้ที่ N-2 เพื่อดึงรายละเอียดส่วนต่างๆ ให้มากที่สุด สิ่งสำคัญคือ การยิงแฟลชในเต็นท์เพื่อให้เต็นท์สว่างขึ้นมา กลายเป็นจุดสนใจในภาพ ผ้าเต็นท์จะลดแสงประมาณ 3 stop ต้องยิงแสงด้านในที่ F22 แสงที่ผ่านออกมาจะเป็น F8 คำนวณกำลังไฟจากตารางที่ด้านหลังของแฟลชที่ ISO 200 F22 ระยะแฟลชถึงเต็นท์ประมาณ 0.6 เมตร ปรับตั้งกำลังไฟที่ M ¼

Nikon D3, 14-24 mm. F2.8, 1/90s F11 ISO 200, sRGB, ระบบสี Vivid, Contrast N-2, Saturation N+2

บรรยากาศพระอาทิตย์ขึ้นที่ทุ่งพญา ความแตกต่างของแสงค่อนข้างสูง วัดท้องฟ้าใกล้ๆ ดวงอาทิตย์ 1/180 วินาที เน้นว่าอย่าวัดที่ดวงอาทิตย์ เพราะค่าแสงจะสูงมากๆ จะทำให้งง แล้วเราก็ไม่ได้หวังจะได้ดวงอาทิตย์สีแดงเข้มสำหรับภาพนี้ด้วย วัดแสงท้องฟ้าจุดที่ห่างออกไป 1/90 วินาที ดงเฟิร์นส่วนที่สะท้องแสง 1/10 วินาที และดงเฟิร์นที่ขอบภาพ 1/8 วินาที เลือกค่าเปิดรับแสงที่ 1/90 วินาที จะได้ฟ้าเข้มนิดหน่อย ฟ้าใกล้ดวงอาทิตย์อยู่ที่ +1 ออกแนวซีดหน่อยๆ ดงเฟิร์นด้านล่าง -3 และ -3.5 stop ตั้งความเปรียบต่างไปที่ N-2 เพื่อดึงรายละเอียดส่วนมืดขึ้นมาให้มากที่สุด เร่งสีไว้ที่ Vivid กับความอิ่มตัวของสี +2

Nikon D3, 14-24 mm. F2.8, 1/750s F9.5 ISO 200, sRGB, ระบบสี Vivid, Contrast N +2, Saturation N+2

องค์พระธาตุจากจุดชมวิวทางเดินกิ่วแม่ปาน ภาพมีความเปรียบต่างไม่สูงนัก ต้องการสีจัดจ้านมากหน่อย ผมวัดแสงเมฆได้ 1/1500 ท้องฟ้า 1/500 วินาที ต้นไม้ 1/250  ความแตกต่างของแสงเพียง 2.5 stop เท่านั้น ผมเลือกค่าเปิดรับแสงที่ 1/750 วินาที เมฆจะอยู่ที่ +1 stop ซึ่งไม่ขาวมากนัก ฟ้า -0.5 stop ดูเข้มๆ หน่อย ส่วนต้นไม้ -1.5 stop  ภาพโดยรวมจะทึมเล็กน้อย เมื่อเพิ่มความเปรียบต่างจะทำให้ภาพดูใสขึ้นและได้สีสดจัดด้วย

Nikon D3, 14-24 mm. F2.8, 1/250s F11 ISO 200, sRGB, ระบบสี Vivid, Contrast N-2, Saturation N+2

รถ Fortuner กับดอกพญาเสือโคร่ง อยากได้ท้องฟ้ากับพญาเสือโคร่งเข้มๆ จึงเลือกระบบสีแบบ Vivid และเพิ่มความอิ่มตัวของสีเข้าไป วัดแสงดอกพญาเสือโคร่งที่ย้อนแสงได้ 1/250 วินาที ท้องฟ้าสีน้ำเงิน 1/125 วินาที พื้นหญ้า 1/125 และส่วนเงาของรถ 1/30 วินาที ผมเลือกเปิดค่ารับแสงที่ 1/250 เพื่อให้ทั้งภาพมีเข้ม ท้องฟ้าจะเข้มมากตัดกับดอกพญาเสือโคร่ง แต่ส่วนเงาของรถจะมืดมาก แม้ว่าไม่ใช่ส่วนสำคัญมากนักก็ตาม จึงตั้งความเปรียบต่างที่ N-2 เพื่อดึงรายละเอียดส่วนเงาให้ได้มากที่สุด

Nikon D3, 70-200 mm. F2.8, 1/30s F11 ISO 200, sRGB, ระบบสี Standard, Contrast N-2, Saturation N+2

ทะเลหมอกที่ดอยอินทนนท์ เป็นอีกภาพที่มีความเปรียบต่างสูงมาก และต้องดึงรายละเอียดส่วนเงาให้ปรากฏ  วัดแสงท้องฟ้าที่เป็นริ้วเมฆได้ 1/125 ใกล้เส้นขอบฟ้าได้ 1/60 ทะเลหมอกที่ 1/45 เขาบริเวณใกล้ดอยหัวเสือ 1/15 และแนวป่าด้านหน้าได้ 1/2 วินาที แสงแตกต่างกัน 5 stop แม้ว่าดูอาจจะไม่สูงแต่ค่าแสงส่วนใหญ่จะอยู่ทางสว่าง ผมเลือกค่าเปิดรับแสงที่ 1/30 หมอกจะโอเวอร์เพียง 0.5 stop ซึ่งจะทำให้หมอกเป็นสีเทา ท้องฟ้า +1 stop ดูแดงซีดนิดหน่อย ส่วนแนวเขา -1 stop ออกเป็นเทาเข้ม ที่หนักหน่อยคือแนวเขาด้านหน้า -4 stop ต้องลดความเปรียบต่างเป็น -2 เพื่อช่วยดึงรายละเอียดขึ้นมาให้มากที่สุด

Nikon D3, 28-75 mm. F2.8, 1/250s F11 ISO 200, sRGB, ระบบสี Vivid, Contrast N+2, Saturation N+2

วิวข้างบ้านพักที่แม่จรหลวง ภาพมีความแตกต่างของแสงสูงมากๆ และยังไม่มีส่วนขาวมากนักในภาพอีกด้วย วัดท้องฟ้าได้ 1/250 วินาที ทิวเขาที่โดนแดง 1/250 วินาที หุบเขาไม่โดนแสง 1/8 วินาที  ภาพนี้หากดึงส่วนมืดให้ปรากฏมากๆ จำเป็นต้องลดความเปรียบต่างลง ซึ่งจะทำให้ส่วนที่ได้รับแสงดูขมุกขมัวไป เลยตัดสินใจทิ้งรายละเอียดส่วนเงาเพื่อให้ส่วนสว่างสามารถเพิ่มความเปรียบต่างได้ เพิ่มความเปรียบต่างเป็น +2 เร่งสีที่ +2

Nikon D3, 14-24 mm. F2.8, 1/750s F11 ISO 200, sRGB, ระบบสี Vivid, Contrast N-1, Saturation N+2

บรรยากาศกลางวันที่ทุ่งแสลงหลวง ภาพนี้มีความแตกต่างของแสงสูง อยากได้บรรยากาศกลางวันแต่ให้แสงดูไม่ร้อนแรงมากเกินไปนัก วัดแสงท้องฟ้าใกล้ดวงอาทิตย์ได้ 1/1500 ท้องฟ้าไกลออกไป 1/1000 เมฆ 1/1000 ทุ่งหญ้า 1/250 และเงามืดของต้นไม้ 1/90 วินาที ความแตกต่างของแสง 4 stop ผมเลือกเปิดค่ารับแสง 1/750 วินาที ซึ่งจะทำให้ภาพดูเข้มๆ ทั้งภาพ โดยมีดวงอาทิตย์เป็น Hilight ฟ้าอยู่ที่ +1 stop ทุ่งหญ้าอยู่ที่ -1.5 stop ส่วนเงาของพุ่มไม้ -3 stop ตั้งความเปรียบต่างที่ N-1 เพื่อดึงส่วนเงาให้สว่างขึ้นมาอีกนิด เร่งสีเป็น +2