เรื่อง+ภาพ : ศุภฤกษ์ นฤเบศร์ไกรสีห์

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 219/2015 December

บทที่ 19 วัดแสง

เมื่อเรียนรู้การผลิตโทนสีของกล้อง ช่วงการทำงาน และข้อจำกัดของระบบแล้ว ถึงเวลานำไปใช้งานในภาคสนามจริงเราจะนำข้อมูลทั้งหมดมาใช้งาน กล้องแบบ DSLR จะใช้งานข้อมูลวัดแสงเยอะกว่าและยุ่งยากกว่านิดหน่อยเพราะมองไม่เห็นภาพที่จะเกิดจริงเหมือนกล้อง Mirrorless ปัจจุบันผมใช้กล้อง Sony A7R II ซึ่งมีช่วง Dynamic Range ของ Raw File ในส่วนเส้นตรงของ Curve อยู่ที่ +5 ถึง -8 stop เท่ากับ 13 stop แต่ถ้าเป็นไฟล์ JPG จะมีช่วงอยู่เพียง +2.5 ถึง -3 stop เท่านั้นในโหมดสีปกติ ไม่มีการเพิ่มหรือลด Hilight/Shadow ช่วย แปลว่าถ้าผมถ่ายภาพให้จบหลังกล้องไฟล์ JPG ผมจะมีช่วง Dynamic Range ให้ใช้งานเพียง 5.5 stop เท่านั้น แต่ถ้าเป็น RAW จะสามารถดึง Dynamic range ได้ถึง 13 stop (พูดถึงรายละเอียดอย่างเดียวนะครับ ไม่ได้พูดในประเด็นว่าดึงมาแล้วมันจะสวยหรือเปล่า) ดังนั้นผมจะนำเอาค่านี้มาใช้งานเวลาถ่ายภาพจริง

DR over A7RII

DR under A7RII

ภาพทดสอบ Dynamic Range ของ Sony A7RII กับไฟล์ JPG และ RAW โดย RAW มีการแก้ความสว่างของภาพให้กลับมาเป็นปกติให้มากที่สุด โดยจะใช้ค่าสุดท้ายที่สามารถปรับภาพให้เป็นปกติได้เป็นค่า Dynamic Range ที่ใช้งานได้จริง เกินกว่านั้นการไล่ระดับโทนจะผิดเพี้ยนไปแล้ว เพราะไปอยู่ในส่วนโค้งของกราฟ L/LogH หรือกราฟ Dynamic Range

หลักการสำหรับวัดแสง รวมทั้งการปรับตั้งระบบการทำงานของกล้องให้ดีที่สุด มีหลักการเบื้องต้นสำหรับกล้อง DSLR ดังนี้

1. ควรวัดแสงส่วนสว่างที่สุดที่ต้องการให้เห็นรายละเอียดในภาพ (Hilight) ก่อน แล้วจำ (จด) ค่าไว้ 

ส่วนสว่างที่สุดในภาพที่ควรมีรายละเอียด เช่น ก้อนเมฆ (ถ่ายภาพทิวทัศน์) เสื้อขาว (ถ่ายภาพบุคคล) ภายนอกของหน้าต่าง (ภาพอาคารภายใน) ด้านนอกของถ้ำ ฯลฯ การกำหนดจุดขาวเป็นเรื่องสำคัญมาก หากกำหนดจุดผิด เช่น ไปวัดส่วนขาวเป็นดวงอาทิตย์หรือแหล่งกำเนิดแสง จะทำให้ค่าความแตกต่างของแสงสูงมากๆ การวางแผนทำภาพในส่วนของ Post Process จะผิดทันที จำเป็นต้องทำ HDR เพื่อดึงรายละเอียดออกมา หรือซ้อนภาพกันหลาย layer มากๆ เมื่อประกอบภาพเข้าด้วยกันมักได้ภาพมีความเปรียบต่างต่ำเกินไป สีสันจืดชืด ดูไม่เป็นธรรมชาติ

2. วัดแสงส่วนของโทนกลางที่ต้องการให้เห็นรายละเอียด หรือเป็นจุดเด่นของภาพ อาจจะต้องวัดแสงหลายๆ จุดว่าค่าแสงอยู่ที่ใดบ้าง เช่น หน้าของแบบ ทิวเขา ท้องฟ้า ใบไม้ แล้วจำค่าเอาไว้

เวลาวัดแสงโทนกลางห้ามนำเอาค่าแสงมาเฉลี่ยโดยเด็ดขาด ค่าแสงตำแหน่งใครตำแหน่งมัน การเฉลี่ยค่าแสงอย่างที่หลายคนชอบทำจะทำให้เราไม่สามารถอ่านการไล่ระดับโทนของส่วนโทนกลางได้ การวัดแสงหลายจุดทำเพื่อดูความเปรียบต่าง การไล่โทน และกำหนดโทนสีของภาพ มิได้เพื่อหาค่าเฉลี่ยแต่อย่างใด

3. วัดแสงส่วนที่ได้รับแสงน้อย เช่น วัตถุในร่มเงา มุมของห้องที่ไม่ได้รับแสงโดยตรง ด้านหน้าของแนวเขา ฯลฯ ส่วนเงาจะเป็นส่วนที่มองยากสักหน่อย เพราะตามนุษย์จะมองเห็นรายละเอียดปรากฏได้ดีมาก ในขณะที่กล้องไม่เห็นเช่นเดียวกับสายตา เมื่อวัดแสงในส่วนที่แสงน้อยไล่ออกไป จากนั้นจำว่าส่วนต่างๆ มีค่าแสงเท่าไร

4. พิจารณาค่าความแตกต่างของแสง โดยการนำค่าแสงส่วนสว่าง ส่วนโทนกลางที่สำคัญ และส่วนมืดมาพิจารณา

ภาพตัวอย่างการเลือกจุดวัดแสง จะเลือกส่วนสว่างที่ไม่ใช่แหล่งกำเนิดแสง ไล่จากจุดสว่างมีรายละเอียด ลดระดับไปยังจุดมืดที่มีรายละเอียด จุดสนใจ แล้วดูว่าความแตกต่างของแสงมากน้อยแค่ไหน

การพิจารณาค่าเปิดรับแสง ลำดับแรก เราจะเอาค่าโทนกลางหยิบขึ้นมาก่อน แล้วดูว่าโทนกลางนั้นต่างจากส่วนสว่างที่ต้องการให้มีรายละเอียดเท่าใด เช่น วัดน้ำตกที่โดนแสงได้ 1/250 วัดต้นไม้ 1/15 ต้นไม้กับเมฆต่างกัน 4 stop หากเปิดรับแสงที่ 1/30 แล้ว น้ำตกจะสว่าง 3 stop ซึ่งสว่างมากเกินไป เกินช่วงการรับแสงไฟล์ JPG แต่ไม่เกินไฟล์ RAW (จริงๆ เราสามารถปรับฟังก์ชั่นกล้องดึงขึ้นได้ แต่ยังไม่ยกจุดนี้ขึ้นมา) ผมอาจจะเปลี่ยนค่าเปิดรับแสงเป็น 1/60 เมฆจะสว่างเป็น +2 stop ต้นไม้ -2 stop ผลคือ ได้น้ำตกขาวมีรายละเอียดที่ดี ส่วนต้นไม้สีเขียวจะเข้มขึ้น 2 stop ซึ่งโทนที่ได้จะมืดสักหน่อย พอมาที่ส่วนมืดของภาพคือบริเวณลำต้นของต้นไม้ ได้ 1/8 วินาที เท่ากับว่าแสงอันเดอร์ไป 3 stop ในไฟล์ JPG จะเข้มแทบดำ แต่รายละเอียดอยู่ครบ สามารถดึงขึ้นมาได้สบายๆ ในขั้น Post Process หรือแค่เพียงปรับฟังก์ชั่นกล้องไปที่ Contrast -2 หรือ Shadow -2 ก็จะดึงส่วนโทนเข้มของภาพให้สว่างขึ้นมาที่หลังกล้องได้เลย ไม่ต้องไป Post Process อีก

ทางตรงกันข้าม หากส่วนสว่างกับส่วนมืดแสงแตกต่างกันมากเกินไปเช่นภาพนาข้าว ทุ่งนา 1/60 เมฆส่วนสว่าง 1/1000 ลำแสงที่แนวเขา 1/250 แนวเขาด้านหน้า 1/8 และเงามืดของต้นไม้ ½ วินาที ความแตกต่าง ของแสงคือ 8 stop ให้นาข้าวเป็นโทนกลาง ค่าความแตกต่างของแสงจะเท่ากับ 8 stop หากเปิดรับแสงที่ 1/60 ความแตกต่างของแสงจะอยู่ที่ +4 ถึง -4 stop   จะหายทั้งเมฆและส่วนเงาในไฟล์ JPG ผมเลือกที่จะเปิดรับแสง 1/125 วินาทีเพื่อให้เมฆส่วนสว่างมีรายละเอียดบางๆ แสงที่แนวเขาอยู่ที่ +1stop นาข้าว -1stop แนวเขา -4stop ส่วนเงามืดต้นไม้ปล่อยดำหายไป แล้วเปิดฟังก์ชั่นดึงรายละเอียดส่วนมืดให้ส่วนมืดสว่างขึ้นมาได้เลย

การปรับตั้งค่าแสงจะสะดวกขึ้นเมื่อใช้กล้องแบบ Mirrorless เพราะดูความสว่างของภาพได้จาก EVF เลย แต่ว่ากล้องส่วนใหญ่ไม่ได้แสดง Histogram ของ RAW File จะแสดงเฉพาะที่ปรากฏในจอเท่านั้น  ดังนั้นจึงยังต้องวัดแสงส่วนมืดสว่างเพื่อดูว่ารายละเอียดยังคงปรากฏในไฟล์หรือเปล่า การถ่ายภาพเป็น RAW จะช่วยให้ดึงรายละเอียดในภายหลังได้ดี แนะนำว่าควรถ่ายภาพ RAW เอาไว้ด้วย JPG มีช่วงการรับแสงสั้น ดึงไม่เนียนเท่า RAW

5. ปรับฟังก์ชั่นของกล้องให้เข้ากับภาพ ที่ตัวกล้องสามารถปรับฟังก์ชั่นได้หลายตัวเพื่อควบคุมช่วงการรับแสง การไล่โทนและสี เช่น Picture Style, Color Mode, Contrast, D-Lighting, Hilight, Shadow, Saturation ฯลฯ หลายครั้งที่เราต้องปรับ ฟังก์ชั่นของกล้องเพื่อให้ได้ภาพที่ดีตั้งแต่แรก (การปรับฟังก์ชั่นของกล้องมีผลต่อไฟล์ JPEG แต่ไม่มีผลต่อ RAW หากถ่ายภาพเป็น RAW อย่างเดียวไม่จำเป็นต้องปรับฟังก์ชั่นกล้อง ถ้าเป็น JPEG อย่างเดียวต้องปรับ ส่วน RAW+JPEG จะปรับหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่ความชอบส่วนตัว โดยปกติผมจะปรับเพราะจะได้เอาไฟล์ JPEG ไปใช้งานได้เลย)

ภาพที่มีความเปรียบต่างไม่พอดีที่ต้องการ สามารถเล่นกับฟังก์ชั่น Contrast ของภาพได้ ส่วนมากจะปรับได้ทั้งส่วนมืดและสว่าง เพื่อชดเชยความเปรียบต่างของภาพที่มากหรือน้อยเกินไป แต่การปรับจะทำได้จำกัด

การปรับ Contrast จะมีผลทำให้ส่วนสว่างและมืดเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีผลต่อสีที่ Normal Exposure เพราะกราฟมาตัดกันที่ตรงโทนกลางพอดีอธิบายง่ายๆ คือ จุดเปิดรับแสงจะมีสีคงที่ไม่ว่าเราจะปรับความเปรียบต่างไปที่ค่าใดก็ตาม (ยกเว้นมี Exposure Error ทำให้จุดกลางไม่อยู่กับที่) การปรับความเปรียบต่างเพิ่มจะทำให้ การไล่โทนสีสูงขึ้น ช่วงการรับแสงสั้นลง เหมาะกับภาพที่มีความเปรียบต่างต่ำ แสงแตกต่างกันน้อย ต้องการการแยกแยะโทนสีมากๆ หรือให้สีโดยรวมจัดจ้านขึ้น เช่น ภาพทะเลหมอก ภาพไฮคีย์ โลว์คีย์ แต่ไม่เหมาะกับภาพที่มีความแตกต่างของแสงสูงๆ เพราะจะทำให้ รายละเอียดส่วนมืดสว่างหาย ไป (JPEG) ในทางตรงกันข้าม การลดความเปรียบต่างจะทำให้การไล่โทนลดลง สีจืดลง รายละเอียดส่วนมืดและสว่างปรากฏมากขึ้น เหมาะกับภาพที่มีแสงแตกต่างกันมาก ภาพต้องการรายละเอียดส่วนมืดและสว่างสูง (JPEG)

หากเป็นไฟล์ RAW โปรแกรมมักจะมีฟังก์ชั่นดึงรายละเอียดส่วนสว่างและส่วนเงาให้ปรากฏมากขึ้น การดึงรายละเอียดส่วน สว่างจะทำให้ความเปรียบต่างส่วนสว่างลดลง แต่มีรายละเอียดปรากฏมากขึ้น ส่วนมากจะดึงรายละเอียดกลับมาได้ไม่มากนัก ไม่เกิน +0.5 stop เท่านั้น (ดูค่า L ที่ 95) เหมาะกับภาพที่รายละเอียดส่วนขาวหายไปเล็กน้อย บางครั้งผมใช้ฟังก์ชั่นนี้บวกกับการถ่าย อันเดอร์อีกเล็กน้อยเพื่อรักษา รายละเอียดส่วนขาว ค่าปรับตั้งอาจจะทำไม่ได้มากนัก เช่น 100% ใช้งานจริงได้ที่ 30% หากปรับมากกว่านั้นการไล่โทนส่วนสว่างจะไม่ดีนัก ต้องพิจารณาเป็นภาพๆ ไป ส่วนฟังก์ชั่นดึงรายละเอียดส่วนเงาสามารถดึงส่วนเงาได้ค่อนข้างมาก แต่มีผลข้างเคียงคือ ทำให้จุดเปิดรับแสงพอดีสว่างตามไปด้วย หากเรายึดตำแหน่งเปิดรับแสงเป็นหลัก ฟังก์ชั่นดึงส่วน มืดจะดึงรายละเอียดได้เพิ่มขึ้นที่ 1.5 stop เท่านั้น (ปรับเต็ม 100% ยึดระดับสีที่ L60 เป็นหลัก) และภาพส่วนมืดจะดูแปลกๆ ไม่มีสีสันมากนักอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ปรับฟังก์ชั่นนี้มากเกินไป จะทำให้ภาพดูหลอกตาอย่างมาก

การใช้ฟังก์ชั่นในตัวกล้อง เช่น Contrast, Hilight, Shadow, D-Lighting, Dynamic Range Optimizer ฯลฯ ช่วยควบคุมความเปรียบต่างและเพิ่มลดรายละเอียดส่วนมืดสว่าง ชดเชยความเปรียบต่างของภาพได้ ทำให้ไฟล์ JPG ที่ได้มีคุณภาพดี และอาจจะจบงานหลังกล้องได้โดยไม่ต้องพึ่ง Post Process มากนัก เช่นภาพมีความแตกต่างของแสงสูงในส่วนสว่าง ใช้ D-Range Optimizer เพื่อเพิ่มรายละเอียดไฟล์ภาพ ร่วมกับการวัดแสงที่เหมาะสม จะทำให้ภาพทีได้ไม่ต้องปรับแต่งอะไรอีกมากนัก

เวลาใช้งานฟังก์ชั่น ผมจะดูความต่างของค่าเปิดรับแสงกับส่วนเงา และความเปรียบต่างที่ต้องการเป็นหลัก สมมติว่า ส่วนเงาที่ต้องการต่างจากค่าเปิดรับแสงไป 4 stop ผมจะลดความเปรียบต่างลงเป็น N-2 หรืออาจจะเปิดใช้ D-Lighting ซึ่งจะทำให้ส่วน -4 ปรากฏชัดเจนมากขึ้น (JPEG) หากเป็น RAW ก็จะปรับค่า Shadow ไปที่ 20-40% จะทำให้ส่วน -4 stop ปรากฏชัดเจน อย่างไรก็ตาม การดึง Shadow ขึ้นมากๆ จะทำให้ Noise ปรากฏมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน และส่วนโทนกลางสว่างขึ้นด้วย จึงควรใช้ฟังก์ชั่นนี้อย่าง รอบคอบ

ภาพมีความเปรียบต่างสูงซึ่งรู้ได้ตั้งแต่แรกที่วัดแสง สามารถดึงรายละเอียดส่วนมืดขึ้นมาได้โดยใช้ฟังก์ชั่น Shadow (ภาพนี้ดึงจนสุด) ซึ่งแม้รายละเอีดยส่วนมืดจะขึ้นมา แต่ว่าความเปรียบต่างจะลดลง และเกิด Noise ที่ส่วนมืดค่อนข้างมาก ซึ่งการทำ HDR จะได้ผลที่ดีกว่าการดึงรายละเอียดหนักๆ ซึ่งเราจะรู้ได้ตั้งแต่ทีแรกว่าเราควรจะดึงส่วนมืดจาก Contrast หรือทำ HDR โดยดูจากค่าวัดแสง ถ้าแสงส่วนมืดน้อยกว่าช่วงรับแสงของ JPG ประมาณ 3 stop แนะนำทำ HDR แทน

6. เล่นกับค่าแสงและฟังก์ชั่นกล้อง บางครั้งเราสามารถเปิดรับแสงอันเดอร์เล็กน้อยและเพิ่มความเปรียบต่างสูงสุด เพื่อเพิ่มการไล่โทนในส่วนสว่าง จะทำให้ภาพส่วนขาวมีความเปรียบต่างสูงดูสวยกว่าปกติ และยังเพิ่มความอิ่มตัวของสีได้ เช่น ภาพไฮคีย์ ภาพทะเลหมอก ส่วนการเปิดรับแสงเพิ่มเล็กน้อยแล้วเพิ่มความเปรียบต่าง จะเพิ่มการไล่โทนในส่วนเงา และเพิ่มความอิ่มตัวของสีได้ด้วย เช่น ภาพโลว์คีย์ ภาพกลางคืน หรือภาพในถ้ำ

ภาพเปิดอันเดอร์เล็กน้อยแล้วเพิ่มความอิ่มตัวของสีกับลดความเปรียบต่างลง

7. เมื่อไรควรทำ HDR และถ่ายภาพเผื่ออย่างไร การทำ HDR เป็นการใช้โปรแกรมประกอบภาพเปิดรับแสงส่วนมืด เปิดรับแสงส่วนสว่าง และปกติเข้าด้วยกัน กลายเป็นภาพที่ มีช่วงรับแสงกว้าง รายละเอียดสูง อาจจะใช้โปรแกรม HDR โดยตรง เช่น Photomatrix หรือประกอบโดยใช้ Layer Mask ในโปรแกรม Photoshop ก็ได้

ภาพที่มีความแตกต่างของแสงมากเกินไป ส่วนมืดและสว่างมีความสำคัญต่อภาพมาก เช่นภาพพระอาทิตย์ขึ้นแล้วด้านล่าง เป็นแนวเขาไล่ระดับหรือภาพจากภายในห้องออกไปนอกหน้าต่าง ภาพลักษณะนี้จะถ่ายภาพเดียวแล้วได้รายละเอียดครบได้ยาก การดึงด้วยฟังก์ชั่นใน RAW อาจจะทำได้แต่สีและ Noise ไม่ดีนัก แบบนี้เหมาะกับการทำ HDR วิธีคือ วัดแสงส่วนสว่างแล้ว คุมส่วนสว่างให้ได้โทนสีที่ต้องการ (ไม่ใช่วัดแสงส่วนสว่างแล้วถ่ายตามนั้น) 1 ภาพ วัดแสงส่วนโทนกลาง คุมโทนกลางให้สวย 1 ภาพ และวัดแสงส่วนมืด คุมโทนสีส่วนมืดให้ได้ตามต้องการอีก 1 ภาพ นำทั้ง 3 ภาพมาประกอบกันอีกทีก็จะได้ภาพที่มีรายละเอียดครบ ตามต้องการ

ภาพที่มีแสงแตกต่างมากเกินไป แม้อยู่ในช่วง Dynamic Range ของกล้อง แต่เวลาดึงจริงๆ อาจจะไม่สวยเพราะ Nosie แนะนำให้ถ่ายภาพเผื่อทำ HDR เอาไว้ด้วย

อย่างไรก็ดี การทำ HDR มีผลไม่พึงประสงค์ติดตามมาด้วยอันเป็นเรื่องปกติเช่นกัน กล่าวคือ ภาพที่มีแสงแตกต่างกันมากเกินไป ส่วนโทนที่ซ้อนกันบางส่วนจะมีโทนกลับด้านเป็นเนกาติฟซ้อนอยู่ สามารถเห็นได้เลยว่าภาพผิดปกติ ต้องการแต่งภาพช่วยในภายหลังให้ดูกลมกลืน ความเปรียบต่างบางส่วนจะแย่ลง ทั้งนี้เป็นเพราะระดับสีสว่างและมืดที่สุดของภาพมีจำกัด เมื่อมีการเพิ่ม ช่วงการรับแสง ความเปรียบต่างของภาพจะลดลงเสมอ เพียงแต่จะไปลดส่วนไหนและมากเท่าไร หากไปลดในส่วนที่สังเกตไม่ออก ก็จะไม่เห็นว่าภาพผิดปกติ แต่ถ้าไปลดในส่วนสำคัญพอดีจะเห็นเลยว่าภาพหลอกตา ถ้าเพิ่มรายละเอียดไม่มากก็จะมีผลเสียน้อย เพิ่มมากผลเสียจะมากตามไปด้วย หากการเพิ่มไม่มีผลเสียอะไร ผู้ผลิตกล้องคงทำฟังก์ชั่นนั้นมาให้ใช้ไว้ในกล้องแต่แรกแล้ว