เรื่อง+ภาพ : นพดล

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 259/2019 April

ได้ยินนักถ่ายภาพ…บางท่าน…กล่าวว่า…กล้องสมัยนี้…ไม่ต้องเรียนรู้เรื่องวัดแสง ก็ถ่ายภาพได้ดีเหมือนกัน…ผมไม่ปฏิเสธเรื่องนี้เลยครับ…และ…ก็ยอมรับว่า กล้องถ่ายภาพในยุคนี้มีสมรรถนะในเรื่องการถ่ายภาพในระบบอัตโนมัติได้ดีมากอย่างยิ่ง สามารถวัดแสงถ่ายภาพให้เห็นภาพที่จะได้ก่อนถ่ายภาพเสียด้วย….

แต่…อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมีความเห็นว่า ความเข้าใจในเรื่องของการวัดแสงอย่างแท้จริง ก็ยังเป็นแม่แบบสำหรับการถ่ายภาพได้ในทุกสถานการณ์ และสามารถถ่ายภาพเพื่อให้ได้ภาพที่สามารถเก็บรายละเอียดของภาพทั้งในส่วนมืด และส่วนสว่างให้ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบได้ดีกว่า การไม่รู้เรื่องวัดแสง การทำงานของระบบวัดแสง และความสามารถของเซ็นเซอร์ถ่ายภาพ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ จะว่าเป็นสิ่งใหม่ ก็ไม่ใช่ เพราะพฤติกรรมแบบนี้ ก็เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ยุคของ…กล้องฟิล์ม

ตัวอย่าง…ที่ผมจะนำมาคุยกันในครั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องประโยชน์ที่เราเรียนรู้เรื่องวัดแสง นำมาแก้ปัญหาสำหรับการถ่ายภาพก็คือ การวัดแสง…ถ่ายภาพถ้ำพระยานคร…ที่เขาสามร้อยยอด…จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

พอพูดถึงการถ่ายภาพในถ้ำ หลายท่านก็คงนึกถึงอุปกรณ์สำคัญ ก็คือ ขาตั้งกล้อง ซึ่งก็ถูกต้องเลยครับ เพราะขาตั้งกล้องจะมีส่วนสำคัญ สำหรับการถ่ายภาพที่ความไวชัตเตอร์ต่ำ เมื่อสภาพแสงไม่อำนวย แน่นอนว่าภายในถ้ำ สภาพแสงไม่อำนวยแน่นอนครับ…

แต่…การเดินทางไปถ่ายภาพที่ ถ้ำพระยานคร นั้นการเดินขึ้นไปยังถ้ำไม่ได้สะดวกอย่างที่คิดนะครับ ถ้าเดินทางเขา ระยะทางรวมขึ้นเขา ราวๆ 2 กม. กว่าๆ …แต่ถ้านั่งเรืออ้อมเขาไปขึ้นหาดอีกด้านหนึ่ง แล้วเดินขึ้นเขา ซึ่งเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เพื่อขึ้นไปชมถ้ำพระยานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาส ในปี พ.ศ. 2433 ทางเดินนี้มีระยะทางประมาณ 430 เมตร แต่อย่าคิดว่าเป็นระยะทางเพียง 430 ม. เท่านั้น เพราะเป็นทางที่มีความลาดชันค่อนข้างสูง ผิวเส้นทางมีหินที่มีความขรุขระจำนวนมาก ต้องใช้กำลังกาย และความระมัดระวังค่อนข้างสูง

ผมเลือกตัดสินใจที่จะติดกล้องและเลนส์ที่จะใช้ถ่ายภาพ  โดย…ไม่นำขาตั้งกล้อง ติดตัวไปด้วย เพื่อลดน้ำหนักในการเดินขึ้นเขาประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเพื่อให้แขนเป็นอิสระทั้งสองมือสำหรับจับยึด ในขณะเดินขึ้นเขาให้ได้สะดวกขึ้น ด้วยการสะพายกล้องติดตัวอย่างเดียว ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินและพักไปด้วย ประมาณ 40 นาที

สภาพของถ้ำ…เมื่อเดินถึง ถ้ำพระยานคร…จะพบว่า….สภาพภายในถ้ำ ค่อนข้างมืด ด้านหน้าปากถ้ำ เป็นปากถ้ำขนาดใหญ่ แสงตกลงมาจากด้านหน้าถ้ำ วันที่ไป สภาพแสงค่อนข้างจัด ซึ่งแน่นอนว่า 

  1. ถ้าถ่ายจากด้านในของถ้ำมายังด้านของปากถ้ำ ค่าแสงต่างกันมาก ส่วนปากถ้ำถ้าให้ได้แสงสวย สภาพภายในถ้ำจะค่อนข้างมืดไม่มีรายละเอียด แต่ถ้าถ่ายให้ภายในถ้ำมีรายละเอียดสภาพของปากถ้ำจะสว่างขาวไปเลย
  2. ถ้าถ่ายจากด้านปากถ้ำเข้าข้างใน องค์พระที่นั่ง…ถ้าถ่ายให้ได้แสงดี สภาพภายในถ้ำ ก็จะมืดขาดรายละเอียด แต่ถ้าถ่ายภาพให้ภายในถ้ำมีรายละเอียด องค์พระที่นั่ง ก็จะสว่างจัดเกินไป
  3. ถ้าถ่ายจากมุมด้านข้าง อาการดังกล่าวก็จะเป็นผลเหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น

ซึ่งแน่นอนครับ ระบบถ่ายภาพอัตโนมัติ หรือ แม้แต่การ ถ่ายภาพแบบวัดแสงเองทั่วไป ก็จะได้ภาพตามอาการนี้เหมือนกัน หลายท่านอาจจะบอกว่า ไม่เห็นยาก ถ่ายภาพแบบ HDR ก็แก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งก็ถูกต้องครับ ไม่ผิดเลยครับ แต่การถ่ายแบบ HDR ต้องถ่ายภาพหลายภาพนำมาประกอบกัน นี่ยังไม่นับว่าคุณจะใช้ความไวชัตเตอร์เท่าไรในการถ่ายภาพ เนื่องจากว่า ไม่ได้นำขาตั้งกล้องมาด้วย

แก้ปัญหาได้…ถ้าเข้าใจเรื่อง…การวัดแสง…

สิ่งที่คุณควรเรียนรู้

เรื่องแรก…ก็คือ กล้อง และ เลนส์ ที่คุณใช้ถ่ายภาพ  เนื่องจากขาดขาตั้งกล้อง ความไวชัตเตอร์คือปัญหาที่ต้องแก้ ผมคาดว่า ผมจะใช้ความไวชัตเตอร์ต่ำสุดที่ผมถือได้ ก็อยู่ที่ระหว่าง 1/25-1/30 วินาที นั่นหมายความว่า ถ้าความเร็วชัตเตอร์ถ้าต่ำกว่านี้ ผมต้องหาที่วางกล้อง ให้นิ่ง วางองค์ประกอบให้ดีเพื่อถ่ายภาพ หรือมิฉะนั้น ก็ต้องเร่งความไวแสง หรือ ISO ในการถ่ายภาพให้สูงขึ้น ถ้าต้องการให้ Noise ต่ำ ISO ที่ไว้ใจได้ก็จะอยู่ระหว่าง ISO 100-1600 ซึ่งกล้องที่ผมใช้ครั้งนี้ คือ Sony A7 III ถ้าตั้ง ISO ขนาดนี้ ไว้ใจได้เลยว่า Noise ต่ำครับ 

เนื่องจากสภาพของถ้ำพระยานคร เป็นถ้ำที่ใหญ่มาก เลนส์ที่ผมเลือกใช้คราวนี้คือ เลนส์ FE 12-24 มม. F4 G ของ Sony เช่นกัน ซึ่งเพื่อให้ได้ภาพชัดลึก ผมจะใช้ขนาดรูรับแสงอย่างน้อยที่ F8 หรือ F11

เรื่องที่ 2…ต้องรู้เรื่อง การวัดแสง และ Dynamic Rangeของกล้องที่ใช้งาน การรู้เรื่องวัดแสง จะทำให้เราทราบว่า ค่าแสงส่วนสว่างในภาพ และส่วนมืดของภาพ ห่างกันกี่สต็อป หรือ กี่สต็อป หรือ กี่ EV อย่างเช่น ส่วนสว่าง และส่วนมืด มีค่าแสงห่างกัน 3 EV, 4 EV หรือ 5 EV เป็นต้น

อีกเรื่องหนึ่ง ที่เป็นที่พูดกันมาก นั่นคือ Dynamic Range ของกล้องในรุ่นที่ใช้งาน ว่าสามารถรับส่วนสว่าง กับ ส่วนมืด  ได้กี่สต็อป หรือ กี่ EV อย่างเช่น กล้อง Sony A7 RIII ที่ใช้ในคราวนี้ มีช่วงของ DR อยู่ตั้งแต่ระหว่างประมาณ +2 ถึง -5 EV นั่นหมายความว่า ที่ถ่ายติด โอเวอร์ 2 สต็อป บริเวณนั้นยังมีรายละเอียดอยู่ หรือที่ ถ่ายติด Under ไป 5 สต็อป ก็ยังคงมีรายละเอียดอยู่ แต่…เราอาจจะมองไม่เห็น…

เรื่องสุดท้าย ถ่ายภาพเป็น RAW file…ส่วนสุดท้ายตั้งการถ่ายภาพเป็น RAW file ไว้ด้วย เพื่อนำภาพมาProcess ต่ออีกครั้งหนึ่ง

การถ่ายภาพ…เริ่มด้วยการวัดแสงในจุดที่สว่างที่สุดของภาพ เทียบ กับ ค่าวัดแสงในส่วนมืดของภาพ ว่ามีค่าแสงต่างกันเท่าไร ตัวอย่างในภาพคราวนี้นั้น จุดสว่างของภาพและจุดมืดของภาพมีค่าแสงห่างกันประมาณ 3-4 สต็อป หรือ 3-4 EV ซึ่งขึ้นกับการตั้งมุมกล้อง โดยหลักการวัดแสง ถ้าคุณวัดแสงส่วนที่สว่างที่สุดในภาพ ภาพที่ได้มีโอกาส ติดมืด หรือ Under ซึ่งภาพที่ได้ส่วนสว่างมักจะดี ส่วนมืด จะเป็นมืดเกินไป ปรับการถ่ายภาพให้ค่าแสงเพิ่มขึ้นประมาณ 1 สต็อป ซึ่งจะพบว่า ส่วนมืดสว่างขึ้นไม่มากเลย แต่ค่าแสงจะห่างกันลดลงเหลือประมาณ 2-3 สต็อป ถ่ายภาพได้เลย แม้จะดูว่าภาพมืดเกินไปหน่อย ปฏิบัติเช่นนี้กับการถ่ายภาพทุกมุมที่คุณต้องการ

Process RAW file…นำภาพ RAW File มา Process ภาพ ด้วยการ ปรับส่วน Shadow ให้สว่างเพิ่มมากขึ้น ปรับลด High Light ให้ลดลงหน่อย คุณจะพบว่า ในภาพถ่าย ส่วนมืดของถ้ำจะสว่างมากขึ้นเห็นรายละเอียดดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ในส่วน High Light ก็จะมีรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อยเหมือนกัน ได้ภาพที่สมบูรณ์แบบเลยทีเดียว

ข้อควรระวัง…ในการวัดแสง ส่วนสว่างกับส่วนมืด ถ้าห่างกันมากๆ อย่างเช่น ห่างกัน 5-7 สต็อป แม้ว่าสมรรถนะของกล้องรุ่นใหม่ๆ จะทำได้ แต่คุณก็จะผจญกับ Noise เหมือนกัน ระดับที่รับได้ดี ณ วันนี้ ผมว่าอยู่ที่ระดับ 3 ถึง 4 สต็อป ก็ OK ดีกว่าครับ

ตัวอย่างครั้งนี้ จากการถ่ายภาพด้วยการวัดแสงเอง ผสมผสานกับความเข้าใจในเรื่อง DR นำมา Process ภาพ แล้วคุณจะได้ภาพถ่ายที่ถูกใจในทุกสภาพแสงเลยทีเดียวครับ…

ถ้าสนใจเรื่องนี้ ติดต่อมาได้ครับ ที่ FB… Page…Camerart Magazine…ได้เลยครับ…