เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 252/2018 September

“จะเริ่มต้นออกถ่ายภาพอย่างไรดี ?” เป็นคำถามที่ผมจะได้ยินบ่อยๆ เวลาไปเจอเพื่อนๆ นักถ่ายภาพที่กำลังจะไปทริป ไม่ว่าจะทริปแบบไหนก็ตามสิ่งที่ผมคิดว่าไม่น่าจะต่างกันก็คือการเตรียมตัว

บ่อยครั้งที่เราไปในที่ๆ เราไม่เคยไปมาก่อน และเราไม่มีเวลาที่จะทำการบ้าน หรือหาข้อมูลล่วงหน้า รวมถึงอีกหลายๆ ปัจจัย ที่เมื่อเรารู้ตัวอีกทีก็มาอยู่ ณ ที่ตรงนั้นพร้อมกับความมึนงงที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี ดังนั้นการคิดก่อนที่จะถ่าย หรือการปรับตั้งค่าต่างๆ ก่อนที่จะกดชัตเตอร์จึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำ และในวันนี้เราจะมาดูกันสิว่า ก่อนกดชัตเตอร์นั้นเราควรนึกถึงสิ่งใดบ้าง

  1. Concept and theme

คิดไอเดียหรือหัวข้อก่อนเริ่มถ่าย ก่อนที่เราจะเริ่มถ่ายภาพนั้น สิ่งแรกเลยคือ การจินตนาการถึงภาพที่เราต้องการเสียก่อน ว่าเราต้องการให้ภาพที่จะถ่ายออกมาเป็นอย่างไร การนึกภาพไว้ในหัวว่าอยากได้ภาพแบบนั้น หรืออยากได้ภาพแบบนี้ จะเป็นตัวช่วยกำหนดคอนเซปให้เรา และสำหรับการเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ ด้วย เช่น การเลือกช่วงทางยาวโฟกัสของเลนส์ การตั้งค่ารูรับแสง ค่าชัตเตอร์สปีด หรือแม้แต่ตำแหน่งที่จะตั้งกล้องถ่ายภาพ ดังนั้นการคิดไอเดียหรือหัวข้อก่อนที่จะถ่ายภาพ เป็นสิ่งที่ควรทำทุกครั้ง เราจะนึกภาพที่เราอยากได้ไว้ก่อนนั้น สิ่งสำคัญก็คือการที่เราพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่เราจะถ่าย และสิ่งที่เราต้องการจะบอกหรือสื่อออกมาเป็นภาพ อาจจะเป็นความประทับใจต่อสถานที่ เหตุการณ์ หรือเรื่องราวที่อยู่ตรงหน้า ณ เวลานั้นก็ได้

 

  1. Color Tones or B&W

รอบๆ ตัวเรานั้นมีสีสันประกอบเข้าด้วยกันมากมาย การเลือกจับถึงความอิ่มตัวของสีที่สดใส หรือโทนสีที่แตกต่างกัน หรือเลือกที่จะไม่ให้มีสีสันใดๆ เลย อย่างการถ่ายภาพในแบบขาวดำ เมื่อเราเห็นว่าสิ่งที่เรากำลังจะถ่ายนั้น ไม่ได้มีสีสันที่น่าสนใจ แต่กลับมีแสงเงา หรือเส้นสายที่น่าสนใจ ดังนั้นการคิดถึงสีสันในภาพก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่เราควรคิดก่อนถ่ายเช่นกัน เมื่อเราสังเกตถึงสีสันที่อยู่ในภาพ เราจึงเลือกได้ว่าจะใช้สีต่างๆ เหล่านั้นอย่างไร ตามหลักการจัดองค์ประกอบภาพ แม้ว่าภาพหลายภาพดูสวยงามเวลาที่เป็นภาพขาวดำ แต่ไม่ใช่กับภาพทุกภาพแน่นอน

  1. White Balance

ในกรณีที่เราเลือกถ่ายภาพสี การควบคุมสีในภาพคงหนีไม่พ้นเรื่องของ White Balance ทุกแหล่งกำเนิดแสงจะมีผลต่อเฉดสีในภาพ การตั้งค่า White Balance ที่ถูกต้องจะทำให้ได้สีสันที่ถูกต้องไปด้วยก็จริง แต่ในบางครั้งการที่เราตั้งค่า White Balance ในกล้องให้ต่างไปจากแหล่งกำเนิดแสงจริง ก็ทำให้เราควบคุมเฉดสีในภาพได้เช่นกัน ดังนั้นการเล่นกับค่า White Balance เราสามารถทำได้ด้วยการปรับค่า WB ในกล้องก่อนการถ่ายภาพ (ส่วนการทำความเข้าใจเรื่อง White Balance ควรทำตั้งแต่ก่อนจะออกไปถ่ายภาพ)

 

  1. Light & Contrast

แสงมีผลต่อช่วงเวลาที่เราถ่ายภาพ ความเปรียบต่าง หรือ Contrast ในภาพควรจะเป็นอย่างไรส่วนสำคัญขึ้นอยู่กับสภาพแสงในเวลานั้น ที่เราจะต้องเลือกว่าอยากให้ภาพถ่ายของเรานั้นออกมาในลักษณะใด แสงที่เข้ม แรง แข็ง ส่งผลต่อความเปรียบต่างที่มาก (High contrast) ในทางตรงกันข้ามแสงที่นุ่ม อ่อน กระจายตัว ทำให้เกิด ความเปรียบต่างต่ำ (Low contrast) และเมื่อเราเลือกที่จะให้ภาพมีความเปรียบต่างแบบใดแล้ว การรอคอยให้เกิดแสงแบบนั้นนับเป็นช่วงเวลาในการทำงานที่ต้องอดทนมากที่สุด นอกจากการเลือกช่วงเวลาบันทึกภาพแล้ว Light & contrast จะส่งผลต่ออารมณ์ของภาพด้วย และแน่นอนก็จะส่งผลไปถึงการเลือกใช้ Picture Style ในกล้องด้วยนั่นเอง

  1. Adjust Exposure

กล้องทำหน้าที่บันทึกภาพ ด้วยการตั้งค่ารูรับแสง (F) ค่าความไวชัตเตอร์ (S) และค่าความไวแสง (ISO) ถ้าเราปรับค่าให้สัมพันธ์กัน ค่าแสงที่เราบันทึกภาพได้ก็จะพอดี (Exposure) ถ้ามากเกินไปภาพก็จะสว่างกว่าปกติ (Over Exposure) และถ้าน้อยเกินไปก็จะได้ภาพที่มืดกว่าปกติ (Under Exposure) ในบางครั้งการปล่อยให้เครื่องวัดแสงในตัวกล้องทำงานอย่างเดียว อาจส่งผลถึงภาพที่ได้ดูธรรมดาเกินไป การสังเกตถึงความสว่างของวัตถุที่เราจะถ่าย จะช่วยให้เราตั้งค่าการชดเชยแสงเอาไว้ก่อนได้ ด้วยหลักการของการชดเชยแสงที่เมื่อถ่ายวัตถุที่มีความสว่าง หรือ มีโทนสีที่สว่างให้ชดเชยไปทาง + และเมื่อถ่ายวัตถุที่เป็นสีเข้ม หรืออยู่ในโทนมืด ให้ชดเชยแสงไปทาง – ซึ่งเราสามารถตั้งค่า +/- บนกล้องได้ทันที เมื่อเราเลือกการชดเชยแสงเราก็จะควบคุมโทนมืดและโทนสว่างในภาพได้

ทั้ง 5 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผมใช้เป็นหลักยึดปฏิบัติ เวลาที่ออกไปถ่ายภาพนอกสถานที่การนึกภาพที่อยากได้ไว้ในหัว ทำให้เราสนุกกับการจินตนาการ ในบางครั้ง เราก็ไม่ได้ภาพอย่างที่คิดนัก แต่ก็ทำให้เราได้ลองฝึกคิดก่อนที่จะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ อย่าคิดว่ามันจะทำให้เราได้ภาพช้าลงนะครับ ถ้ามองย้อนกลับไปในสมัยกล้องฟิล์มนั้น ฟิล์ม 1 ม้วนถ่ายภาพได้ประมาณ 36-38 ภาพ การกดชัตเตอร์ 1 ครั้งช่างภาพหลายคนเขาคิดกันก่อนทั้งนั้น และถ้าเราลองฝึกทำอยู่บ่อยๆ แล้วล่ะก็ ทุกอย่างที่ผมกล่าวมานี้มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้นครับ…