เรื่อง+ภาพ : poch

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 266/2019 November

เรื่องของระบบโฟกัส เท่าที่ผมสังเกตช่างภาพหลายคนที่พบเจอ มาถึงวันนี้หลายคนยังเลือกใช้ได้ไม่เต็มที่ หรือเต็มประสิทธิภาพของกล้องที่มีมาให้เลยนะครับ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก จึงเป็นที่มาของบทความในฉบับนี้ ที่อย่างน้อยเป็นการแชร์ประสบการณ์ในการเลือกใช้ระบบโฟกัสแบบต่างๆ ที่กล้องมีมาให้อย่างได้ผลมากที่สุด ซึ่งอาจไม่ใช่วิธีตายตัวไปเสียทุกครั้ง ซึ่งอาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ตรงหน้าอีกทีหนึ่ง

พูดถึงระบบโฟกัสของกล้องในสมัยนี้ หลักๆ ก็คงเป็นระบบโฟกัส MF แมนนวลโฟกัส และ AF ออโต้โฟกัส ผมเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องระบบโฟกัสแบบ MF ไปแล้วในฉบับก่อนๆ วันนี้ขอเน้นมาที่ระบบโฟกัสแบบ AF หรือออโต้ ว่ามีอะไรที่เราควรทำความเข้าใจกันบ้าง

ระบบออโต้โฟกัส หรือ AF นั้นมีการพัฒนากันมายาวนานตั้งแต่กล้องยังเป็นระบบฟิล์ม จนถึงปัจจุบัน กล้องแต่ละประเภทมีระบบการทำงานของออโต้โฟกัสที่ต่างกัน และเหมือนกัน? ส่วนที่ต่างเราคงไปยุ่งกับระบบอะไรไม่ได้ เพราะเป็นไปตามประเภทกล้องที่เราใช้ ไว้มีเวลาจะมาคุยเรื่องนี้กันอีกครั้ง เรามาดูส่วนที่เหมือนกันก่อน ไม่ว่ากล้องที่เราใช้นั้นจะเป็นกล้องประเภทใดก็ตาม ถ้ามีระบบออโต้โฟกัสให้ใช้ สิ่งที่เราจะต้องเจอก็คือ AF Mode และ AF Area

AF Mode และ AF Area 

AF Mode และ AF Area เป็นเรื่องที่ช่างภาพควรทำความเข้าใจ และอย่าจำสับสนปนเปกัน AF Mode เป็นโหมดของระบบโฟกัสอัตโนมัติที่เราจะต้องเลือกใช้ตามลักษณะการเคลื่อนที่ของวัตถุที่เราจะถ่าย ส่วน AF Area เป็นเรื่องของพื้นที่ที่เราจะใช้ในการโฟกัส เรามาแยกรายละเอียดเป็นเรื่องๆ ไปเพื่อทำความเข้าใจกันเสียก่อน

AF Mode หลักๆ ในปัจจุบันนี้ที่เราจะเจอ หรือกล้องมีให้เลือกจะมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ AF-S, AF-C และ AF-A ความต่างกันของทั้ง 3 แบบ อยู่ที่สิ่งที่เราจะถ่าย

AF-S (AF-Single) โฟกัสอัตโนมัติจะทำงานเมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่ง เมื่อโฟกัสวัตถุได้แล้ว โฟกัสจะล็อคที่วัตถุนั้น เหมาะสำหรับการถ่ายภาพวัตถุที่หยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนที่ เช่น ทิวทัศน์ คน สิ่งของ

AF-C (AF-Continuous) โฟกัสอัตโนมัติจะทำงานอย่างต่อเนื่องและปรับโฟกัสไปเรื่อยๆ ตามวัตถุที่เคลื่อนที่ เมื่อกดปุ่มชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งและค้างไว้ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนที่ไม่หยุดนิ่ง เช่น กีฬา สัตว์

AF-A (AF-Auto) โหมด AF นี้ กล้องจะประมวลผลเองอัตโนมัติว่าวัตถุเคลื่อนที่หรือไม่ และเปลี่ยนโหมด AF เอง ระหว่าง AF-S และ AF-C

AF Area หรือพื้นที่ในการโฟกัส แบ่งตามจุดโฟกัสที่กล้องแต่ละตัวมีใส่มาให้ ตั้งแต่ระดับสิบกว่าจุดไปจนร้อยกว่าจุด ซึ่งจะเป็นไปตามกล้องแต่ล่ะรุ่นและยี่ห้อ AF Area คือการเลือกจุดที่จะโฟกัสในพื้นที่กรอบภาพของเรานั้นเอง ว่าเราจะให้กล้องโฟกัสที่จุดไหนในเฟรมภาพ หลักๆ ที่พบเห็น (แต่อาจจะมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแต่ล่ะยี่ห้อกล้อง) เราสามารถเลือกได้ดังนี้

Single เราเลือกจุดโฟกัสเดียวในภาพ โดยสามารถเปลี่ยนจุดได้ตามจำนวนจุดโฟกัสที่มีในพื้นที่ ที่กล้องให้มา โดยกล้องจะทำการโฟกัสเฉพาะที่จุดนั้นของภาพที่เราเลือกไว้ เหมาะกับวัตถุที่หยุดนิ่ง หรือมีการเคลื่อนที่แบบไม่เปลี่ยนตำแหน่งในภาพมากนัก

Dynamic เราเลือกจุดโฟกัสหลัก แต่เมื่อวัตถุมีการเคลื่อนที่ออกจากจุดโฟกัสระบบจะทำการติดตามโฟกัสโดยอ้างอิงจากจุดโฟกัสโดยรอบตามรูปแบบจำนวนจุดโฟกัสที่เราเลือก เหมาะกับวัตถุที่มีการเคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนตำแหน่งตลอดเวลา

Group-Area หรือ Zone เราเลือกกรอบ หรือจุดโฟกัสแบบกลุ่ม โดยระบบจะทำการโฟกัสในบริเวณโซน หรือกลุ่มจุดโฟกัสที่เราเลือกเอาไว้ เหมาะกับการกำหนดขอบเขตในการโฟกัส

Auto-Area กล้องทำการเลือกจุดโฟกัสให้เราเองจากเซนเซอร์โฟกัสตามระบบประมวลผลที่กล้องมี

Tracking จุดโฟกัสเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนที่ของวัตถุในภาพ

ทั้ง AF Mode และ AF Area  สองอย่างนี้ทำงานร่วมกัน เราสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการถ่ายภาพของเราได้ ถ้าเราถ่ายภาพที่วัตถุอยู่กับที่ เราอาจจะเลือกระบบ AF Mode เป็น AF-S และ AF Area เป็น Single โดยเลือกโฟกัสที่จุดที่เราให้ความสำคัญ เช่น ใบหน้า ดวงตา ของนางแบบ หรือ ดวงอาทิตย์ ในภาพวิว หรือกับภาพแอคชั่นต่างๆ ที่แน่นอนว่าต้องเลือกใช้ AF-C แต่จะกับ Area แบบไหนดี ไม่ว่าจะ Dynamic, Zone หรือ Auto Area ทั้งนี้คงต้องดูจากลักษณะของภาพนั้นๆ รวมทั้งฉากหลังของภาพนั้นๆ ด้วย

บางครั้งฉากหลังที่ไม่แย่งความเด่นของวัตถุ เช่น ภาพนกบินบนท้องฟ้า Zone หรือ Auto Area อาจทำงานได้ดี แต่ฉากหลังที่มีรายละเอียดมากขึ้นอย่างนกบินผ่านพุ่มไม้ หรือกิ่งไม้ใบหญ้า ระบบ AF-Cกับ Dynamic Area หรือ Tracking Area อาจทำงานได้ดีกว่า (บางครั้ง Single Area ที่ช่างภาพ follow วัตถุไว้ในเฟรมภาพดีๆ ก็ทำงานได้ดีกว่าที่คิด) ทั้งนี้กล้องที่มีพื้นที่ หรือ Area ในการโฟกัสภาพมากกว่า ก็จะทำให้การจัดองค์ประกอบของภาพเวลาที่ใช้งาน AF-C ทำได้ง่ายกว่า

ในเรื่องของ AF Mode และ AF Area ถ้าเราเลือกใช้ให้สัมพันธ์กัน และเลือกใช้งาน หรือทดลองใช้งานในหลายๆ รูปแบบให้คล่องมือ จะช่วยพัฒนาการถ่ายภาพ โดยเฉพาะภาพประเภทแอคชั่น เคลื่อนไหว ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี การทำความเข้าใจกับกล้องที่เราใช้ว่ามีระบบ AF Mode และ AF Area แบบไหนให้ใช้บ้างเสียก่อนน่าจะเป็นทางที่ดีที่สุด เชื่อไหมครับ หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ากล้องที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มีจุดโฟกัสกี่จุด และมีพื้นที่ในการโฟกัสมากน้อยเพียงใด…