เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 245/2018 February

ในการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายนั้น นอกเหนือไปจากเส้นสาย, สีสัน, รูปร่าง-รูปทรงแล้ว จำนวนของ subject ที่อยู่ในภาพก็เป็นสิ่งสำคัญ หลายครั้งเราจะพบเจอ subject ที่มีความหลากหลาย และซ้ำซ้อน ทำให้บางครั้งไม่รู้ว่าจะเลือกจัดวางอย่างไรดี ซึ่งในหลักการจัดองค์ประกอบนั้นมีกฎอยู่กฎหนึ่งที่ใช้กันเวลาที่เราต้องจัดวาง subject ที่มากกว่าหนึ่ง กฎที่ว่าก็คือ Rule of odds หรือ กฎจำนวนคี่ นั่นเอง

Rule of odds เป็นกฎที่ใช้ในการกำหนดจำนวนของ subject ที่อยู่ในภาพ โดยจะกำหนดให้จำนวนของ subject ในภาพเป็นลักษณะจำนวนคี่ หรือควรมีจำนวนเลขคี่ แทนการให้ subject เป็นจำนวนเลขคู่ ในการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งกฎนี้นิยมใช้กันทั้งในภาพวาด และภาพถ่าย

Rule of odds มีพื้นฐานอยู่ในแนวคิดเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ดู ปกติแล้วสมองของเราทำงานได้ดี เมื่อเราเห็น subject เป็นจำนวนคี่ จำนวนคี่นี้จะมีแรงดึงดูดที่ทำให้เกิดความน่าสนใจมากกว่า เพราะเมื่อสายตาของเรามองดู subject ต่างๆในภาพ สมองจะสั่งให้เราจับคู่ subject ในภาพโดยอัตโนมัติ เมื่อเราให้จำนวนของ subject ในภาพเป็นจำนวนคี่ ก็จะเหลือ subject อยู่หนึ่ง ที่ว่างอยู่ subject ที่เหลือจะเป็นส่วนทำให้สะดุด หรือจุดสนใจของสายตาทำให้มองไปที่ subject นั้น

ตามหลักการของ Rule of Odds  การวาง subject ในภาพเป็นจำนวนเลขคี่ เช่น 3, 5, 7 จะทำให้ภาพน่าดูมากกว่าใส่ลงไปเป็นจำนวนเลขคู่ ดังนั้นแล้วสิ่งสำคัญ คือการมองหา subject ที่กระจัดกระจายอยู่ในภาพ การคัดเลือกและการจัดการเป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝน การเลือกจำนวนที่เป็นจำนวนคี่ จากจำนวน subject ที่หลากหลาย ถือเป็นหัวใจของกฎการจัดองค์ประกอบแบบ Rule of Odds

จำนวนคี่ที่เรามักจะพบเห็นในภาพถ่าย โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อมี subject ในภาพที่หลากหลาย เราจะเริ่มต้นมองหา subject โดยเริ่มจาก 3 จำนวนก่อน เราจะจัดวาง subject ที่มีความซ้ำกัน ให้มีความน่าสนใจได้มากที่สุดจะเริ่มต้นที่ 3 subject หรือจะเป็น 5 subject ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทั้งหมดในภาพ ในเบื้องต้นให้เราลองศึกษาจากผลงานภาพถ่ายระดับมาสเตอร์ของโลก ที่ได้รับการยอมรับแล้วว่าเป็นผลงานที่ดี เราจะเห็นว่า มีการใช้กฎการจัดองค์ประกอบแบบ Rule of Odds ในผลงานของเหล่าช่างภาพต่างๆ กันอย่างแพร่หลาย และมีจำนวนมาก ซึ่งเราสามารถสังเกตได้ว่าเขามีการจัดวางภาพกันอย่างไร

นอกจากนี้หลักการจัดองค์ประกอบแบบ Rule of Odds นี้ยังสามารถนำไปใช้กับ subject ที่มีจำนวนมากๆ โดยเราอาจจะเลือกจัดให้อยู่ตามหลักการของ Rule of Odds ได้โดยการแบ่ง subject ให้เป็นกลุ่ม เช่นการถ่ายภาพหมู่ หรือภาพกลุ่มคนที่มีคนในภาพหลายคน เราอาจจัดกลุ่มให้อยู่ในจำนวนคี่ได้  ถ้ามีจำนวนคนในภาพ 12 คน อาจจะจัดกลุ่ม 4 คน 3 กลุ่ม หรือการจัดแถวยืน 2 แถว โดยให้แถวหน้ามีจำนวนคน 5 คน และแถวหลังมีจำนวนคน 7 คนก็สามารถทำได้

Rule of odds เป็นเพียงหลักการที่ใช้ในการกำหนดจำนวนของ subject ที่อยู่ในภาพ ซึ่งไม่ใช่ข้อบังคับที่เราจะต้องใช้หลักการนี้ไปตลอด ถ้า subject ในภาพที่เราจะต้องถ่ายภาพมีจำนวนคู่ แล้วเราจำเป็นต้องถ่ายภาพ ถามว่าทำได้หรือไม่ คำตอบคือทำได้ครับ วิธีที่ง่ายที่สุดคือการกระจายกลุ่มด้วยการจัดวางนั่นเอง สมมุติว่าเราต้องถ่ายภาพคน จำนวน 4 คน เราอาจจะให้ 3 คน ยืน และอีก 1 คน นั่งลงก็ได้ หรือจะเป็นท่าทางที่แตกต่างกันของตัวแบบเอง เช่น 3 คน กอดอก อีก 1 คน ท้าวเอว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการสั่งโพสท่าของช่างภาพนั่นเองครับ

หรืออีกกรณีหนึ่ง การถ่ายภาพที่เราไม่สามารถจัดท่าทางได้ กรณีที่ subject ของเรามีจำนวน 2 subject เราอาจจะหาจังหวะที่ subject หนึ่งหันมาด้านหน้า อีก subject หนึ่งหันด้านข้างหรือด้านหลัง ซึ่งจะเหลือ subject ที่โดดเด่นเป็นจำนวนคี่คือ 1 subject นั่นเอง หลักการจัดองค์ประกอบภาพมีอยู่ด้วยกันมากมาย การเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นสิ่งที่ช่างภาพเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นๆ จะเลือกนำมาใช้ ไม่มีข้อกำหนดตายตัวใดๆ ครับ…