เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 247/2018 April

ถ้าจะบอกว่า ดวงอาทิตย์เป็นวัตถุที่ถูกถ่ายภาพมากที่สุด ในการเดินทางของช่างภาพแต่ล่ะคน คงไม่เกินความจริงไปนัก จริงไหมครับ เราถ่ายภาพดวงอาทิตย์มากันก็หลายครั้งหลายหนแล้ว เพราะความสวยงามอันมีเสน่ห์จากดวงอาทิตย์ที่เราพบเจอในแต่ละทริป แต่ล่ะสถานที่ที่เราไปนั้นมีความต่างกันแม้ว่าจะเป็นดวงอาทิตย์ดวงเดียวกัน

Sunset & Sunrise

ภาพดวงอาทิตย์ขึ้นและตกนั้นเป็นภาพที่สวยงามและมีสีสัน จึงทำให้ช่างภาพหลายคนอดไม่ได้ที่จะต้องถ่ายภาพดวงอาทิตย์เวลาขึ้นหรือตก ในการถ่ายภาพสิ่งสำคัญคือควรรู้เวลาที่ดวงอาทิตย์จะขึ้น หรือตก แล้วไปให้ถึงที่ก่อนเวลาเล็กน้อย (เพราะถ้าไปทีหลังคงไม่ได้ภาพแน่ๆ) จุดที่จะตั้งกล้องควรเป็นสถานที่ที่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ได้ง่ายไม่มีสิ่งรบกวน หรือบดบังสายตา เช่น ทะเล, ยอดเขา สำหรับการตั้งค่ากล้อง ให้เลือกใช้รูรับแสง (F) 8-16 ค่า ISO ไม่ต้องสูงมากนัก 100-200 วัดแสงบริเวณท้องฟ้าที่มีสีสันด้านข้างเคียงของดวงอาทิตย์ ในเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังขึ้น หรือตกนั้น สีสันของท้องฟ้าจะมีสีสัน บริเวณที่เราเห็นสีสัน ส้ม แดง ชมพู เหล่านั้นเป็นจุดวัดแสงที่ได้ผลดี อย่าลืมตั้งขาตั้งกล้องเพื่อความนิ่งที่สุด ภาพจะได้คมชัดไม่พร่ามัวสั่นไหว

Big sun

ภาพดวงอาทิตย์ลูกใหญ่ๆ ที่เราเห็นกันบ่อยๆ นั้น มาจากการใช้เลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ ในการถ่ายภาพตั้งแต่ 400 มม. ขึ้นไปเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้นั้น มีคุณสมบัติในการดึงฉากหลังให้เข้ามาใกล้ ขยายขนาดวัตถุในภาพให้ใหญ่ขึ้น เป็นสิ่งที่การ Crop ภาพในโปรแกรมให้ลักษณะภาพแบบนี้ไม่ได้(เว้นเสียแต่การตัดแปะ) ข้อควรระวังคือการสั่นไหวของภาพแม้จะตั้งกล้องบนขาตั้งแล้วก็ตาม อีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้กันบ่อยคือการเลือกใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/ทางยาวโฟกัสของเลนส์ วิธีนี้แม้ว่าจะถือกล้องด้วยมือก็จะได้ภาพที่คมชัดไม่สั่นไหว

Solar eclipse

สุริยุปราคามีเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งการถ่ายภาพต้องเตรียมการ และเตรียมตัวหลายแบบตั้งแต่อุปกรณ์ที่ใช้ไปจนถึงเทคนิคการถ่าย อุปกรณ์ที่ช่างภาพดาราศาสตร์ใช้กันอยู่คือแผ่นไมล่า ฟิล์ม เป็นฟิล์มที่ช่วยกรองแสงอาทิตย์ทำให้บันทึกภาพดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคาได้ โอกาสเกิดสุริยุปราคามีด้วยกันหลายแบบเช่นสุริยุปราคาเต็มดวงหรือสุริยุปราคาบางส่วนทั้งช่วงเวลาที่เกิดก็แตกต่างกัน บางปรากฏการณ์เกิดขึ้นในช่วงสายของวัน บางปรากฏการณ์เกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวัน ดังนั้นการถ่ายภาพสุริยุปราคาต้องวางแผนขั้นตอนการถ่ายเอาไว้ล่วงหน้าเสมอ ทั้งทิศทาง มุมถ่ายภาพ ฯลฯ

Foreground

การถ่ายภาพดวงอาทิตย์เปล่าๆ อย่างเดียวนั้นจะทำให้ ภาพถ่ายขาดเรื่องราวไปได้การเพิ่มฉากหน้าให้กับภาพดวงอาทิตย์ของเราเป็นการสร้างเรื่องราวในภาพให้เกิดความน่าสนใจยิ่งขึ้นโดยส่วนใหญ่แล้วฉากหน้ามักจะเป็นภาพ Silhouette ดังนั้นการเลือกฉากหน้า จึงควรเป็นวัตถุที่เด่นชัดแล้วมองดูง่ายไม่ซับซ้อน ระยะห่างของวัตถุที่เป็นฉากหน้ากับดวงอาทิตย์ก็สำคัญ ถ้าฉากหน้าอยู่ใกล้มากโฟกัสที่ฉากหน้าดวงอาทิตย์ก็จะพ้นระยะขัดคือเบลอแม้ว่าจะใช้รูรับแสงแคบก็ตาม ถ้าต้องการให้ฉากหน้าและดวงอาทิตย์ชัดทั้งคู่ ควรเลือกฉากหน้าที่มีระยะห่างไกลออกไปมากกว่า 10 เมตร

Flare Effects

ปกติแล้วแฟลร์ เป็นสิ่งที่ช่างภาพส่วนใหญ่ไม่ต้องการ เลนส์หลายตัวผลิตมาพร้อมกับเลนส์ฮูด เพื่อป้องกันแฟลร์ แฟลร์จากดวงอาทิตย์ขึ้นอยู่กับเลนส์ที่เราใช้ เลนส์บางตัวมีแฟลร์มาก แสงจากดวงอาทิตย์เป็นวงแสงฟุ้งเข้ามาในภาพในบางครั้งก็ทำให้ภาพดูน่าสนใจได้ แฟลร์ที่ดีนอกจากจะไม่รบกวนสายตาแล้วยังช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นให้เกิดขึ้นในภาพได้ การถ่ายภาพให้เกิดแฟลร์ทำได้โดยการถอดเลนส์ฮูดออก หามุมที่หน้าเลนส์จะรับแสงจากดวงอาทิตย์ หรือแสงเข้าหน้าเลนส์เพียงบางส่วน การใช้แฟลร์ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของภาพไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวใดๆ

Starburst Effects

เลนส์บางตัวทำให้ดวงอาทิตย์เป็นแฉกชัดเจน แต่เลนส์บางตัวกลับให้ผลไม่เป็นอย่างนั้น แม้ว่าการใช้รูรับแสงแคบจะช่วยให้เราเห็นแฉกจากดวงอาทิตย์มากขึ้น อีกวิธีหนึ่งคือการให้ดวงอาทิตย์ถูกซ่อนอยู่หลังวัตถุบางอย่าง ในการหามุมจะมีจังหวะหนึ่งที่เห็นดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน แสงที่เล็ดรอดมานี้จะเป็นลักษณะของแสงแฉก และวิธีสุดท้ายดั้งเดิมหน่อยคือการใช้ฟิลเตอร์ Cross star ใส่ไว้หน้าเลนส์ก็จะทำให้ได้แสงดวงอาทิตย์เป็นแฉกเช่นกัน

สำหรับการถ่ายภาพดวงอาทิตย์นั้น ถ้าวันนี้เรายังถ่ายได้ไม่ดีพอ ไม่ต้องกังวลครับ พรุ่งนี้ดวงอาทิตย์ก็จะกลับมาให้เราถ่ายได้ใหม่อีกเช่นเคยเหมือนทุกๆ วัน ไม่แน่ดวงอาทิตย์วันพรุ่งนี้อาจจะสวยงามกว่าวันนี้ก็ได้นะครับ…