เรื่อง+ภาพ : eyejung

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 229/2016 October

สังขละมนต์เสน่ห์ ของวิถีชีวิต และประเพณีที่สวยงามเรียบง่าย บทความนี้ขอพามารู้จัก…งานบุญเดือนสิบ “ลอยเรือสะเดาะเคราะห์” เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อ บูชาเทวดา ด้วยการต่อเรือจากลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่ สำหรับร่วมสะเดาะเคราะห์เพื่อต่ออายุ และจุดเทียนอธิษฐานขอให้สิ่งไม่ดีหลุดพ้นไปจากชีวิตของผู้ร่วมทำบุญ และมีการปล่อยโคมลอยขนาดใหญ่ พร้อมเครื่องเส้นไหว้คาวหวานทั้ง 9 อย่างมาลงเรือ เพื่อนำไปลอยกับเรือ

ประเพณีนี้…จะจัดอยู่ 3 วัน เราไม่นับการเตรียมการที่ทางชาวบ้าน เขาเตรียมการล่วงหน้ามาแล้วเป็นเดือน แต่สำหรับคนถ่ายภาพถ้าเรารู้คิวงานก็จะทำให้เราถ่ายภาพได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ปีนี้ประเพณี เริ่มขึ้นในวันที่ 15 กันยายน ณ บริเวณลานหน้าเจดีย์พุทธคยา วัดวังก์วิเวการาม เริ่มจากชาวบ้านนักท่องเที่ยวต่างทยอย พากันนำธง ตุง ร่มกระดาษ มาประดับตกแต่งเรือ พร้อมทั้งจุดเทียนอธิษฐานให้สิ่งไม่ดี และเคราะห์ร้ายต่างๆ ไปให้พ้นจากชีวิตตนเอง สำหรับชาวไทยเชื่อสายมอญ บ้างบ้านก็จะนำเครื่อง ตุง และดอกไม้ธูปเทียนมาเอง แต่สำหรับนักท่องเที่ยว หรือ ชาวบ้านท่านอื่นๆ ที่ไม่ได้เตรียมมา ทางชุมชนก็มีจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งแล้วแต่ใครบริจาคทำบุญ… ไม่มีเรียกร้องหรือประกาศออกไมค์เพื่อขายบุญ……เหมือนวัดดังๆ ต่างๆ ที่เราเคยไปกันมา และในช่วงค่ำก็จะมีผู้เฒ่าผู้แก่มานั่งสวดให้กับผู้มาร่วมทำบุญ เป็นอันเสร็จพิธีในวันแรก คือ ไม่ได้มีพิธีรีตอง อะไรมากมายดูเรียบง่ายและน่าศรัทธา

เช้าวันที่ 2 ของพิธี เริ่มตั้งแต่ตีสี่ แต่เราคนถ่ายรูป ออกไปถึงสักประมาณตีห้าครึ่งก็ได้ ได้ฟ้าสีบลู…ในช่วงเช้า… เช้านี้ชาวบ้าน จะนำเครื่องอาหาร 9 อย่าง เช่น กล้วย อ้อย ขนม ข้าว ดอกไม้ไปถวายตามวันเกิดของตนเอง หรือ ตามวันเกิดของญาติพี่น้อง เพื่อที่จะถวายลงเรือจากนั้นจะมีการเจริญพระพุทธมนต์โดยพระสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธีในช่วงเช้า เราสามารถกลับที่พักเพื่อมาหาอะไรทานก่อนจะกลับไปที่วัดวังก์วิเวการาม ในช่วง 9 โมงเช้า ที่จะมีพิธีตักบาตรน้ำผึ้ง น้ำมันงา

ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นอีกประเพณีหนึ่งที่สืบทอดกันมาของชาวไทยเชื้อสายมอญ ผู้ที่ฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด จะจัดขึ้นในวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบของทุกปี สืบเนื่องกันมาอย่างยาวนาน เพื่อเป็นการถวายคิลานเภสัช (ยารักษาโรค) ซึ่งหนึ่งใน 5 อย่างคือ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาลสด เนยใส และน้ำมันงา เพื่อให้พระภิกษุได้นำไปปรุงเป็นยา แต่ปัจจุบันน้ำผึ้ง และน้ำมันงา สิ่งเป็นของหายากขึ้น และวิวัฒนาที่ทันสมัยขึ้น พระภิกษุ ไม่ต้องปรุงยาอีกแล้วปัจจุบันจึงกลายเป็นตักบาตรน้ำตาลทราย และน้ำมันพืชแทน เพื่อเอาไว้ใช้ในงานบุญทำอาหาร หรือชาวบ้านอาจจะใส่ยาสามัญประจำบ้านแทนก็ได้ เพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีและวัฒนะธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา หลังจากช่วงเช้าที่ชาวบ้านทำบุญ และถวายอาหารเช้าให้กับพระภิกษุ ก็จะขึ้นมาที่ระเบียงคดวัดวังเพื่อนั่งรอตักบาตรน้ำผึ้ง แต่ส่วนใหญ่เราจะเห็นเป็นน้ำตาลทราย และ น้ำมันพืช เพราะหาได้สะดวกกว่า แต่บางบ้านก็ยังมีน้ำผึ้งมาใส่บาตร พิธีดูเรียบง่ายไม่มีการประกาศออกไมค์ใดๆ ทั้งสิ้น ผู้คนที่มาต่างเสมอภาคกันหมดไม่ว่าจะผู้เฒ่า ผู้แก่ หรือผู้ที่ศรัทธาจากจังหวัดอื่นๆ ที่เดินทางมาร่วมพิธี ใครมาถึงก็เลือกนั่งกันได้เลย ไม่มีศักดินาใดๆ ทั้งสิ้น คนต่างถิ่นก็เรียนรู้จากคนในพื้นที่ว่าต้องทำอะไรกันบ้าง และสิ่งที่เราจะเห็นจากชุมชนที่สังขละ…คือ ความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาของชาวไทยเชื้อสายมอญ นับว่ามีมนต์ขลังจริงๆ ไม่มีการสวดแบบพิธีกรรมอะไรมากมายทุกอย่างดูเรียบง่ายแต่เปี่ยมไปด้วยพลังเมื่อพระรับการตักบาตร น้ำผึ้งเสร็จ ก็แยกย้ายกันไป ชาวบ้านกลับไปที่ศาลาไม้ ทำการถือศีล 8 ที่วัดกันต่อ        

ส่วนนักท่องเที่ยวสามารถไปรับประทานอาหารที่ศาลาไม้ได้ ถ้าไม่อยากออกไปไหน เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวมอญที่นำมาทำบุญใส่บาตร ก็จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตการกินไปด้วย ทานอาหารกันเรียบร้อย  บ่ายสองก็จะจะมีประเพณีตักบาตรดอกไม้ พระภิกษุจะถือเปลผ้าจีวรกันเป็นคู่ๆ เดินเรียงแถวผ่านชาวบ้านที่รอตักบาตรด้วยดอกไม้และธูปเทียน และพระภิกษุจะนำดอกไม้ธูปเทียนเหล่านั้นไปถวายพระประธานในพระอุโบสถต่อไป

ช่วงเย็นชาวบ้านยังคงทยอยกันนำอาหารมาใส่ลงในเรือ ตุง ร่มกระดาษ มาประดับตกแต่งเรือ จากนั้นพระสงฆ์ก็จะมาทำพิธีสวดสะเดาะเคราะห์ที่ลานด้านหน้าเจดีย์พร้อมชาวบ้าน และนำธูปเทียนที่ชาวบ้านเขียนชื่อดวงชะตาของตนเอง มาทำการเผาในลานด้านหน้าเจดีย์พุทธคยาถือเป็นการเผาเคราะห์ของเราไปด้วย เพื่อการเริ่มต้นใหม่ให้กับชีวิต  และลอยโคม ตามความเชื่อที่มีมาเมื่อก่อนนี้ทางวัดจะลอยโคมโดยมีเครื่องอัฐบริขารผูกติดไปด้วย เมื่อโคม และเครื่องอัฐบริขารไปตกที่บ้านใคร หากเป็นผู้ชายก็จะต้องบวชหากเป็นผู้หญิงก็จะต้องมาทำบุญ แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำเช่นนั้นแล้ว คงเหลือแต่การลอยโคมของชาวบ้านที่ทั้งขนาดเล็ก และใหญ่เท่านั้น ส่วนการเก็บภาพเน้นเลนส์มุมกว้าง เพราะจะได้เห็นถึงภาพรวมของงาน แต่ถ้าได้ฟิตอายจะยิ่งดี…ได้ถ่ายทอดของความยิ่งใหญ่ของประเพณี

เช้าวันสุดท้ายของประเพณี ก็คือการลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ซึ่งจะทำกันในวันแรม 1 ค่ำ ในช่วงสายๆ ประมาณ 9 โมงเช้า ชาวบ้านทั้งชายหญิง จะแต่งตัวสวยงามเพื่อมาช่วยกันลากเรือ ลงสู่แม่น้ำซองกาเลีย ช่วงระหว่างรอ ก็จะมีการเปิดโรงทานให้ทานอาหารและเครื่องดื่มกันฟรี เสียงดนตรีแบบมอญมีการร้องรำรื่นเริง แต่ปีนี้มีวงดนตรีสมัยใหม่มาเล่นด้วย รู้สึกไม่เข้ากับบรรยากาศของงาน แถมเล่นแบบไม่มีใครฟัง และไม่สนใจว่าใครจะฟัง เรียกว่ามาทำให้งานประเพณีที่มีมนต์เสน่ห์แห่งความดังเดิมที่สืบถอดกันมา…มาสะดุดเพราะวงดนตรีนี้รู้สึกขัดตานิดหน่อย แต่โดยรวมแล้วชุมชนยังเข้มแข็งที่ยังสามารถรักษาประเพณีดังเดิมไว้ได้จนถึงปัจจุบัน

พอเคลียร์พื้นที่เสร็จเชือกเส้นยาวที่มัดไว้กับเรือเตรียมพร้อมให้ชาวบ้านนับพันช่วยกันลากเรืออย่างสามัคคี เป็นภาพที่สวยงาม ยิ่งในช่วงทางแคบและลาดชันที่ต้องใช้แรงคนดึงเชือกจากด้านหลัง ซึ่งต้องคอยประคับประคองเรือให้ลงสู่แม่น้ำได้เรียกว่าต้องร่วมแรงร่วมใจเป็นทีมเวิร์ค ที่ทุกคนต่างสนุกสนานโดยเฉพาะทีมที่อยู่หลังเรือ แม้จะรับภาระหนัก แต่ใบหน้าทุกคนมีแต่รอยเปื้อนยิ้ม เป็นบรรยากาศที่มีแต่ความสุขเป็นโมเม้นที่ไม่สามารถบรรยายเป็นตัวหนังสือได้ อยากให้ทุกคนได้ไปสัมผัสด้วยตัวเอง เพราะเราจะได้เห็นความหลากหลายในวัฒนธรรม ในแง่มุมความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา ที่ยึดโยงคนสังขละบุรีในการใช้ชีวิตที่นำพาด้วยพระพุทธศาสนา

แม้ชาวบ้านนับพันที่ช่วยกันประคับประคองเรือสะเดาะเคราะห์ จนถึงท่าน้ำ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วยน้ำหนักของเรือ และเส้นทางที่จะลงสู่ท่าน้ำแต่ก็สำเร็จด้วยแรงสามัคคี พร้อมส่งมอบภาระกิจกันต่อให้กับเรือยนต์ที่จะลากเรือไม้ไผ่ที่พร้อมเครื่องเซ่นจำนวนมาก ลงสู่แม่น้ำซองกาเลีย เพื่อนำพาความทุกข์โศก และเคราะห์ภัยต่างๆ ออกไปจากชาวบ้าน พร้อมนำพาเอาสิ่งดีๆ และความเป็นสิริมงคลมาสู่ทุกคนในชุมชน ระหว่างลากเรือสะเดาะเคราะห์ออกไป ผู้ที่มากับเรือก็จะนำเครื่องเซ่นที่ชาวบ้านนำมาโปรยทานระหว่างทาน เป็นอาหารให้ปลาเล็กปลาน้อยที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำซองกาเลีย ลากเรือมายังบริเวณวัดเก่าก็จะทำการผูกเรือไว้กับข่อนไม้ ไม่มีการเก็บขึ้นมาถือว่าเป็นการให้ทานซึ่งเด็กๆ ก็จะพายเรือมาดักรอบริเวณจุดผูกเรือเพื่อหาขนม ผลไม้ หรือกล้วย อ้อยบนเรือและสตางค์ และโดดน้ำเล่นกันอย่างสนุกสนาน

นับว่าลอยเรือสะเดาะเคราะห์เป็นอีกประเพณี ซึ่งงดงามของชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่ อ.สังขละ ที่ยังคงรักษาประเพณีที่สร้างความผูกพันของคนในชุมชนได้อย่างเหนียวแน่น

เชื่อเถอะว่าใครที่ได้ไปสัมผัสจะได้เห็นถึงความผูกพันที่มีต่อพระพุทธศาสนา จนเราไม่สามารถบรรยายให้เห็นถึงความรู้สึกซาบซึ้ง เหมือนกับความรู้สึกที่เราได้ยืนอยู่ตรงนั้น นี้เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของสังขละ ที่รอทุกคนได้ไปสัมผัสแง่งามแห่งความศรัทธา