บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 253/2018 Ocetober

ปิดตัวลงไปอย่างถาวร กับ สวนสัตว์ดุสิต (เขาดินวนา) สวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย ที่เปิดมาอย่างยาวนานกว่า 80 ปี จึงไม่ต้องแปลกใจว่าสวนสัตว์เขาดินวนา เมื่อประกาศปิดตัวลงผู้คนมากมายที่หลั่งไหลไปร่วมเก็บความทรงจำสุดท้าย  ด้วยความที่อยู่คู่กับผู้คนมาหลายรุ่น สร้างความทรงจำมากมายที่ผู้คนมีต่อสวนสัตว์เขาดิน และ CAMERART ขอถือโอกาสร่วมรำลึกความทรงจำที่มีต่อสวนสัตว์เขาดินไปด้วยกัน และ นับเป็นการอำลาสวนสัตว์ดุสิตที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายต่อหลายคนไปด้วย

หากย้อนอดีตไปอีก “สวนสัตว์ดุสิต” อยู่ในอาณาบริเวณของ “วังสวนดุสิต” มาตั้งแต่ พ.ศ. 2441 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สวนสัตว์ดุสิต อยู่ในอาณาบริเวณของ “วังสวนดุสิต” ในปี พ.ศ. 2441 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อสวนและนา ในระหว่างคลองผดุงกรุงเกษม จนถึงคลองสามเสน ด้านตะวันออกถึงทางรถไฟ ด้วยเงินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยพระราชทานชื่อที่ตำบลนี้ว่า “สวนดุสิต”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระราชอุทยานสวนดุสิต ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 หลังจากที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรกิจการสวนพฤกษชาติของต่างประเทศ และพบว่าสวนพฤกษชาติเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ความเพลิดเพลิน และ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้นในประเทศไทยบ้าง โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพื้นที่ราบทางด้านทิศตะวันออกติดคลองเปรมประชากร (ถนนพระราม 5) ด้วยการขุดสระน้ำใหญ่ ประกอบคูคลองระบายน้ำและ ถนน แล้วนำดินขึ้นมาสร้างเป็นเนินเขา เรียกว่า เขาดิน และรอบๆ เขาดินนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกลงพรรณไม้นานาชนิด สร้างขึ้นเป็นสวนพฤกษชาติ  สำหรับส่วนพระองค์ เรียกว่า วนา รวมอาณาเขตส่วนนี้ทรงโปรดเรียกว่า เขาดินวนา โดยในขั้นต้นพระองค์ให้สร้างขึ้นสำหรับ เป็นที่ประพาส ทรงพระเกษมสำราญส่วนพระองค์ และข้าราชบริพารฝ่ายในก่อน ดังนั้นสวนดุสิต หรือ เขาดินวนา จึงเป็นส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐานพระราชวังดุสิต และต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชอุทยานสวนดุสิตแห่งนี้ ถูกปล่อยทิ้งรกร้างเป็นเวลาหลายสิบปี

จนกระทั่ง พ.ศ. 2481 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 8 ขอพระราชทานเขาดินวนา มาจัดตั้งเป็นสวนสัตว์ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน เพิ่มเติมจากสวนลุมพินี รัชกาลที่ 8 ทรงพระอนุญาต ให้ดัดแปลงบริเวณ พระราชอุทยานสวนดุสิต เป็นสวนสาธารณะเปิดให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจเพิ่มเติม โดยมิต้องมีค่าเช่า และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะ และยังพระราชทานลูกหลานกวางดาวที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาจากอินโดนีเซีย ที่เมืองบุยเตนซอค (Buitenzurg) เมื่อการเสด็จประพาสเกาะชวาครั้งหลัง พ.ศ. 2444 (ร.ศ. 120) และ สัตว์อื่นอีก 2-3 ชนิด จากสวนกวางบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถานมาเลี้ยง สวนสัตว์ดุสิตอยู่ในความดูแลของเทศบาลกรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2481 จนถึง พ.ศ. 2497

ต่อมา มีการโอนกิจการสวนสัตว์ดุสิตของเทศบาลนครกรุงเทพ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของกระทรวงมหาดไทย มาอยู่กับองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสวนสัตว์ พ.ศ. 2497 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จะทรงรับองค์การสวนสัตว์เข้าไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 ตลอด 80 ปี ที่ผ่านมาสวนสัตว์เขาดิน สร้างความรู้ ความสุข ร้อยยิ้มเสียงหัวเราะ และเรื่องราวต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ ของการเป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่เลขที่ 71 ถนนพระรามที่ 5 แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ใกล้กับสนามเสือป่า และ พระที่นั่งอนันตสมาคม บนเนื้อที่ 118 ไร่ และวันที่ 30 กันยายน 2561 ถือว่าเป็นการปิดตำนานสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมกับความทรงจำมากมายในวัยเด็กของผู้คนหลายต่อหลายคน