เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 198/2014 March

โดยปกติแล้ว ในการถ่ายภาพทั่วๆ ไปเราจะเลือกให้ทิศทางของแสงนั้นเข้ามาด้านหน้าของสิ่งที่เราจะถ่ายภาพ หรือที่เราเรียกว่า ถ่ายภาพตามแสง แต่ในหลายสถานการณ์ที่บางครั้ง เราไม่สามารถจะกำหนดทิศทางของแสงเองได้ เหมือนอย่างที่เราถ่ายภาพในสตูดิโอ และหลายครั้งที่แสงในภาพนั้น ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น เราสามารถสร้างสรรค์ภาพจากสภาพแสงที่ไม่เป็นไปตามที่เราคิดได้อย่างไรบ้าง เรามาดูกัน

Silhouettes

ภาพเงาดำ หรือ Silhouettes นับเป็นภาพที่เราจะเจอในกรณีที่แสงนั้นมาจากทิศทางด้านหลังของสิ่งที่เราจะถ่ายหรือที่เรียกว่าย้อนแสง ในกรณีแบบนี้ เราเลือกถ่ายภาพในแบบ Silhouettes จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยจะเน้นในเรื่องของรูปร่างของวัตถุที่เราจะถ่าย และเมื่อวัตถุหลักในภาพเป็นเงาดำแล้วนั้น สิ่งที่จะช่วยให้ภาพมีความน่าสนใจก็คือฉากหลัง ซึ่งเราควรจะเลือก สีสัน หรือลวดลายที่มีความน่าสนใจ เช่น นกที่เป็นเงาดำ บนฉากหลังที่มีท้องฟ้า และริ้วเมฆที่สวยงาม

Translucence

การมองหาวัตถุที่โปร่งแสง เป็นวัตถุหลักในการถ่ายภาพสามารถนำมาใช้ได้ดีในกรณีที่เราจะต้องเจอกับสภาพแสงที่ไม่เป็นใจ วัตถุในธรรมชาติอย่างใบไม้และดอกไม้ มีคุณสมบัติที่แสงสามารถรอดผ่านได้ดี ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์ภาพได้ง่าย หรือแม้แต่ผ้าที่ตากไว้ หรือถูกขึงขึ้น ใบเรือ หรือวัสดุอื่นๆ ข้อควรระวังในการถ่ายภาพนี้คือการชดเชยแสงไปทาง + หรือให้สว่างกว่าปกติ

Rim Lighting

แสง rim light นี้เป็นแสงที่ช่างภาพส่วนใหญ่ชอบกันอยู่แล้ว การให้แสงเข้ามาในทิศทางเฉียงไปด้านหลัง หรือเรียกว่าให้แสงแตะเพียงแค่ขอบของวัตถุที่เราจะถ่ายนั่นเอง แสงแบบนี้จะช่วยทำให้แบบดูน่าสนใจ และเน้นที่รูปร่างของแบบ รวมทั้งยังมีรายละเอียดไม่ทึบดำเหมือนภาพ Silhouettes ในการใช้แสงแบบ rim light นี้ ฉากหลังควรจะเป็นสีเข้ม หรือเป็นส่วนมืด จะทำให้เห็นเส้นแสงที่ขอบนี้ชัดเจนมากขึ้น

Rays Spread

ในช่วงเวลาเช้าที่เต็มไปด้วยไอหมอก หรือฝุ่นควันในเวลาเย็น มักจะเกิดลำแสงเป็นลำขึ้นมา หรือในบางครั้ง ดวงอาทิตย์ก็ส่องแสงลอดมาจากกลุ่มก้อนเมฆ ลำแสงที่สาดลงมานี้ โดยส่วนใหญ่แล้วการถ่ายภาพมักจะเก็บบันทึกลำแสงนี้ได้ไม่เด่นชัดนัก สำหรับการวัดแสงแบบปกติ ดังนั้นอยากจะแนะนำให้ลองปรับปุ่มชดเชยแสง +/- ที่กล้องถ่ายภาพดูว่าผลที่ได้จะเป็นอย่างไร แต่ส่วนมากผมจะชอบชดเชยไปทาง – นะครับ เพราะต้องการจะกดสภาพแวดล้อมรอบข้างให้มืดลงเล็กน้อย จะได้ขับให้ลำแสงนี้เด่นชัดขึ้นมา และยังทำให้ลำแสงไม่สว่างจนรายละเอียดขาดหายไปอีกด้วย

Flare

แสงแฟลร์นั้น เกิดจากเลนส์ที่โค้ทติ้งได้ไม่ดีนัก รวมทั้งการที่เราหันหน้าเลนส์เข้าหาแหล่งกำเนิดแสงโดยตรงๆ แสงแฟลร์นั้น หลายคนไม่ชอบเพราะมันเข้ามารบกวนองค์ประกอบของภาพ แต่ในหลายครั้งที่เราหลีกเลี่ยงแสงแฟลร์ไม่ได้สิ่งที่เราควรทำคือการนำมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบเสียเลย การหามุมที่แสงแฟลร์จะเข้ามาในกล้องแล้วไม่ทำให้ภาพรู้สึกสะดุด แต่ช่วยเสริมให้อารมณ์ในภาพนั้นสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในจุดนี้ต้องอาศัยหลักการจัดองค์ประกอบภาพเข้ามาช่วย เทคนิคง่ายๆ ในการเล่นกับแสงแฟลร์ คือ มองหาจุดตัดของวัตถุ แล้วให้ตำแหน่งของแสงแฟลร์มาจากจุดนั้น

Bokeh

สำหรับช่างภาพที่ชอบถ่ายภาพคนแล้ว โบเก้ ดูจะเป็นเรื่องคุ้นตากันเป็นอย่างดี ในเรื่องของแสงและโบเก้นี้ ให้สังเกตฉากหลังที่พร่ามัวของเรา ฉากหลังที่กระทบแสงแดดฉากหลังที่มีแสงส่องเข้ามา ลักษณะของโบเก้จะเปล่งประกายวูบวาบ สะท้อนแสงเข้ามา ช่วยทำให้ฉากหลังของภาพดูมีพลังมากยิ่งขึ้นกว่าโบเก้ปกติ สิ่งสำคัญสำหรับการเล่นกับโบเก้ คือการโฟกัสภาพ เพราะเราต้องใช้รูรับแสงที่กว้างที่สุดของเลนส์ เพื่อโบเก้เป็นวงกลมสวยงาม ไม่มีเหลี่ยม ดังนั้นถ้าโฟกัสภาพไม่ดีล่ะก็ จะหลุดโฟกัสได้ง่ายๆ เพราะช่วงความชัดที่น้อยนั่นเองครับ

ในการออกเดินทางไปถ่ายภาพ เราไม่สามารถจะกำหนดอะไรให้เป็นไปได้อย่างที่ใจเรานึก ดังนั้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีได้นั้น จะช่วยให้เราได้ภาพสวยงามกลับบ้าน ซึ่งในการที่เราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้นั้น เราก็ต้องมีข้อมูล หรือทางแก้เตรียมไว้หลายๆ ทางจริงไหมครับ…