เรื่อง+ภาพ : ApochTop’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 243/2017 December

คำว่าโลโม่ โฟโต้กราฟฟี่ เราๆ ท่านๆ หลายคนอาจจะคุ้นเคย เคยได้ยิน (หรือไม่เคยมาก็แล้วแต่) กันมาบ้างนะครับ ผมเองได้ยินครั้งแรกนั้นก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่ามันคืออะไร เป็นการถ่ายภาพแบบไหน? ยังไง? จากความสงสัยนี้พาผมไปค้นหาข้อมูลจากในเว็บไซด์และในหนังสือต่างๆ ก็พบว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้นกล้องโลโม่ออกแบบมาเพื่อใช้ในหน่วยงานสายลับของกองทัพรัสเซีย โดย LOMO ย่อมาจาก Leningrad Optical-Machanical Organization ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ผลิตเลนส์เพื่อใช้ในโครงการอวกาศของกิจการกองทัพและผลิตเลนส์ที่ใช้ในกล้องโทรทัศน์

ต่อมาทางการโซเวียตในขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้หน่วยงาน LOMO ผลิตกล้องเลียนแบบกล้องคอมแพคของญี่ปุ่นขึ้นมาให้เร็วที่สุด ถูกที่สุดและจำนวนมากที่สุด เพื่อแจกจ่ายให้พลเมืองรัสเซียทุกคนได้รู้จักการถ่ายรูป โดยมีคำขวัญว่า “คอมมิวนิสต์อันทรงเกียรติทุกคนควรมีกล้อง Lomo Kompakt Automat LC-A เป็นของตัวเอง” โดยผู้ผลิตกล้อง Lomo Kompakt Automat LC-A คือ Michail Aronowitsch Radionov อดีตหน่วยตำรวจลับของสหภาพโซเวียต

จุดสำคัญมาเกิดขึ้นเมื่อในปี พ.ศ. 2534 Matthias Fiegl และ Wolfgang Stranzinger (ภายหลังคือหนึ่งในผู้บริหารบริษัท Lomographische AG) เดินทางไปท่องเที่ยวที่เมืองปราก สาธารณรัฐเช็ก แต่ลืมนำกล้องถ่ายรูปไปด้วย จึงได้ไปซื้อกล้องตัวหนึ่งเข้าโดยบังเอิญ ซึ่งก็คือกล้อง Lomo Kompakt Automat และหลังจากได้ถ่ายและล้างรูปจากร้านอัดรูปธรรมดาๆ ในซุเปอร์มาร์เก็ต ภาพที่ได้ออกมานั้นเป็นภาพถ่ายมีสีสันที่จัดจ้านจนดูผิดเพี้ยน แต่ก็มีความสวยงามจนทำให้พวกเขาหลงใหลกับภาพเหล่านั้น ความหลงใหลในเสน่ห์ของกล้องตัวนั้นทำให้ในปี 2535 Fiegl และเพื่อนได้จัดตั้งบริษัท Lomographische AG ขึ้นที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย หลังจากนั้นไม่นานกระแสความนิยมในโลโม่กระจายไปทั่วโลก ภายใต้แนวความคิดว่า “Lomography is an analog lifestyle product”

นั่นเป็นประวัติคร่าวๆ ของ LOMO Photography ซึ่งจุดสำคัญอยู่ที่ว่า อะไร ทำให้หลายคนหลงใหล ชื่นชอบ การถ่ายภาพโลโม่ จุดเด่นที่พอจะมองเห็นได้ก็คือลักษณะเฉพาะของกล้องที่ให้ภาพถ่ายที่แปลกตาไปจากกล้องปกติ ด้วยวัสดุที่ใช้ทำกล้องนั้นไม่ใช่วัสดุที่เน้นเรื่องคุณภาพ ดังนั้นเลนส์ของกล้องประเภทโลโม่จึงให้ภาพที่มีสีเพี้ยน ขาดความคมชัด มีดิสทรอชั่นสูง และอะไรๆอีกหลายอย่างที่การถ่ายภาพแบบปกติสามารถปรับได้ แต่โลโม่นั้นทำไม่ได้? นั่นทำให้ผู้ถ่ายภาพไม่สามารถจะคาดเดาอะไรได้เลยกับภาพที่กำลังถ่ายอยู่? แต่ภาพที่ถ่ายมาได้นั้น มีความรู้สึก ดูมีชีวิตมีโมเม้นที่น่าสนใจหลายอย่างอยู่ในนั้น และนั่นคงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้หลายคนหลงใหลที่จะถ่ายภาพจากกล้องโลโม่อยู่อีกครั้งและอีกครั้ง

จากกล้องโลโม่ ที่ได้รับความนิยมแม้จะมีต้นกำเนิดมาจากประเทศรัสเซีย แต่ก็ได้รับการตอบรับที่ดีไปจนฝั่งประเทศแถบยุโรปด้วยเช่นกัน ความนิยมของกล้องโลโม่ ทำให้เกิดกล้องยี่ห้ออื่นที่ให้ภาพในลักษณะแบบเดียวกันตามออกมาหลายยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น Holga, Diana ฯลฯ มีทั้งประเภท Medium Format, Action sampler และ Super sampler ซึ่งในแต่ล่ะยี่ห้อ แต่ล่ะรุ่นก็มีลูกเล่นเกี่ยวกับภาพออกมามากมาย เช่นการให้ภาพแบบ 4 ภาพใน 1 เฟรม แบบ 9 ภาพ หรือแบบขอบมืดเยอะๆ ทั้งนี้กล้องที่นับว่าเป็นต้นแบบของโลโม่ก็คือ LOMO LC-A และนั่นทำให้คำว่า LOMO เป็นอะไรที่มากกว่ากล้องถ่ายภาพตัวหนึ่ง       

ในช่วงที่กระแส Vintage มาแรง ไอเทม ในตำนานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถ มอเตอร์ไซค์ จักรยาน เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้สมัยคุณแม่ยังสาว คุณลุงยังหนุ่ม ถูกนำมาปัดฝุ่นใหม่ กระแสความนิยมข้าวของในอดีตถูกนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง กล้องถ่ายภาพเองก็เป็นไอเทมอีกชิ้นหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจ ทำให้เราเห็นกล้องในรูปลักษณ์แบบเรทโทรสไตล์ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และกล้องโลโม่เองก็เป็นหนึ่งในนั้น

โลโม่ประสบความสำเร็จระดับโลก ไม่ใช่เพราะเพียงแค่ภาพถ่ายสีจัดๆ หน้าตาแปลกๆ หากแต่หมายรวมถึงทุกองค์ประกอบที่สามารถอ้างอิงได้ถึงความเป็นโลโม่ จนเกิดเป็นคำเฉพาะที่ว่า “Lomo Style” โลโม่สไตล์นี้ไม่ใช่แค่ตัวภาพถ่ายที่ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องความคมชัด สีสันที่ถูกต้องตามจริง แต่รวมไปถึงลักษณะการถ่ายที่ไม่ต้องคิดอะไรให้มากมาย ยกกล้องกดชัตเตอร์ไปตามความรู้สึกเท่านั้น ไม่ต้องคิดมากว่าภาพจะเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่ จะสว่างไป มืดไป หรือจะสั่นไหวหรือเปล่า ซึ่งหลายครั้งภาพเหล่านี้กลับกลายเป็นภาพที่ดี ที่ให้ความรู้สึกได้ไม่ธรรมดา สำหรับผู้ที่สนใจการถ่ายภาพแบบโลโม่ หรือโลโม่สไตล์ ขอเชิญคุณทำความรู้จักกับกฎสิบข้อสำหรับการถ่ายโลโม่กันเสียก่อนนะครับ กฎทั้งสิบข้อนั้นมีอยู่ว่า

  1. Take your Lomo everywhere you go นำกล้องโลโม่ไปด้วยทุกๆ ที่
  2. Use it at any time – day & night ถ่ายภาพได้ทุกเวลาไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน
  3. Lomography is not an interference in your life, but a part of it โลโม่กราฟฟี่ไม่ใช่สิ่งที่เข้ามาในชีวิต แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
  4. Approach the objects of your lomographic desire as close as possible เข้าใกล้สิ่งที่อยากจะถ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  5. Don’t think ไม่ต้องคิด
  6. be fast ถ่ายด้วยความรวดเร็ว
  7. You don’t have to know beforehand what is captured on your film ไม่จำเป็นต้องรู้ก่อนหรอกว่าภาพในฟิล์มที่ถ่ายจะเป็นอย่างไร
  8. You don’t have to know it afterwards either และก็ไม่ต้องไปรู้ด้วยว่าหลังจากที่ถ่ายไปแล้วจะเป็นอย่างไรด้วย
  9. Shoot from the hip ถ่ายภาพจากระดับเอว
  10. Don’t care about rules ไม่ต้องไปสนใจกฎอะไรทั้งนั้น

นั่นล่ะครับกฎสิบข้อที่ว่ามา จุดสำคัญก็น่าจะอยู่ข้อสุดท้ายละครับ ที่ว่า ไม่ต้องไปสนใจกฎอะไรทั้งนั้น นั่นหมายความว่า ทั้ง 9 ข้อที่ผ่านมาไม่ได้กำหนดตายตัวอะไรเลย ถูกต้องแล้วครับ การถ่ายภาพโลโม่นั้นเราควรลืมทุกสิ่งอย่างไปเสีย ไม่ต้องแคร์ ไม่ต้องใส่ใจกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ทางการถ่ายภาพที่คุณรู้มา เพราะมันจะไม่ได้ใช้เลย! คุณนำมาแค่ความสนุก ความรู้สึกที่คุณมีต่อสิ่งที่จะถ่าย หรือสิ่งที่คุณสนใจ และกดชัตเตอร์เพียงเท่านั้น ส่วนภาพที่ได้จะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ผมว่าการที่เราได้กลับไปลุ้นเอาทีหลังเมื่อถึงบ้านก็นับว่าเป็นอะไรที่ตื่นเต้นดีนะครับ (ชาวโลโม่บางกลุ่มเขาเล่นกันถึงขั้นส่งฟิล์มที่ถ่ายภาพแล้วไปให้เพื่อนที่อยู่ห่างไกลถ่ายภาพซ้ำลงไป โดยที่ไปลุ้นเอาตอนล้างว่าจะได้ภาพอะไรแปลกๆ แค่ไหนก็มีนะครับ)

มาถึงตรงนี้หลายคนที่สนใจการถ่ายภาพโลโม่ อาจจะเกิดความลังเลว่า ถ้าหันมาลองถ่ายดูบ้างจะดูเพี้ยนในสายตาใครหรือไม่ ผมก็จะขอบอกตรงนี้เลยว่า ไม่ต้องกลัวครับ เพราะกลุ่มสังคมของชาวโลโม่นั้นไม่ธรรมดาเลยครับ สังคมของชาวโลโม่นั้นมีสมาชิกอยู่ด้วยกันมากมาย (ถ้าเพี้ยนเราก็ไม่เพี้ยนคนเดียวล่ะครับมีเพื่อนอีกเยอะแยะ..ฮา) ในสังคมของชาวโลโม่นั้นมีอยู่ด้วยกันทั่วโลก มีเครือข่ายตั้งแต่ระดับโลกผ่านเว็บไซต์ lomography.com และในระดับภูมิภาคเอเชียกับ lomographyasia.com ขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมต่างๆ ของชาวโลโม่ตามหัวเมืองหลักๆ ของโลกกว่า 70 แห่ง ซึ่งแต่ละประเทศในระดับท้องถิ่นมีการจัด ประกวดภาพถ่าย การทำ Workshop การจัด Lomo trip และแบรนด์โลโม่เองก็มีการให้บริการหลังการขาย หรือหากเดินทางไปต่างประเทศผู้ถือสัญชาติ Lomographer สามารถใช้กล้องเป็นวีซ่า เพื่อเข้าไปขอคำปรึกษาในด้านต่างๆ ได้ เช่น การหาแลปอัดภาพในประเทศนั้นๆ หรือปัญหาในการใช้กล้องแต่ละรุ่น นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมของสาวกโลโม่ทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุด ในงาน Lomo World Congress เนื่องจากไม่มีวาระการจัดงานที่แน่นอน ล่าสุดที่ผ่านมาจัดขึ้นที่ลอนดอน โดยมี “Lomo Wall” ซึ่งเป็นไอคอนที่สำคัญของการแสดงความเป็นโลโม่เป็นศูนย์รวม แม้แต่ในไทย การกำเนิดสมาคม Lomography ประเทศไทยด้วยนะครับ

เป็นอย่างไรบ้างล่ะครับ ดูแล้วไม่ธรรมดาเลยนะครับสำหรับโลโม่สไตล์ ซึ่งเราสามารถพูดได้เลยว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการถ่ายรูปที่น่าสนใจเลยทีเดียว สำหรับผมแล้ว ด้วยอาชีพทำให้การถ่ายภาพเป็นไปด้วยความจริงจัง และหลายงานที่ค่อนข้างจะซีเรียสการถ่ายภาพโลโม่ช่วยทำให้ผ่อนคลายลงบ้างและทำให้ได้พักสมองไปได้เยอะเชียวครับ วันไหนที่เบื่อๆ หรือว่างๆ ลองวางตำราและกฎต่างๆ ไว้ที่บ้าน หยิบโลโม่ออกมาถ่ายดูบ้างก็นับว่าเป็นการพักผ่อนที่ดีนะครับ…