เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 179/2012/August

มีงานศิลปะอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า Cloudscape เป็นงานศิลปะที่เกี่ยวกับ เมฆ และท้องฟ้า รูปทรงที่แปลกตาของก้อนเมฆ และสีสันของท้องฟ้าตามสภาพอากาศ และช่วงเวลาต่างๆ ทำให้ศิลปินเกิดจินตนาการ หลงใหลในความงดงามของก้อนเมฆที่เคลื่อนตัวเหล่านั้น จึงนำมาสร้างงานศิลปะ ภาพเขียนท้องฟ้า เมฆ และบรรยากาศต่างๆ ล้วนเป็นผลงานที่มีพลัง และน่าตื่นตา จึงไม่แปลกอะไรที่ภาพเมฆและท้องฟ้า จะได้รับความนิยมจากผู้คนเป็นจำนวนมาก

สำหรับ cloudscape photography ก็คือการถ่ายภาพ เมฆ และท้องฟ้า นั่นเองครับ ช่างภาพ cloudscape ที่โด่งดังก็คือ Leonard Misonne เป็นช่างภาพชาวเบลเยียม ผู้ที่ถ่ายภาพขาวดำของเมฆบนท้องฟ้า และช่างภาพ Alfred Stieglitz ช่างภาพชาวอเมริกัน ที่ถ่ายภาพชุดของเมฆ ที่น่าอัศจรรย์ ที่ชื่อว่า “equivalents”

ภาพถ่ายเมฆและท้องฟ้า ได้รับความนิยมเป็นอันมาก เราจึงมักจะเห็นภาพถ่ายประเภทนี้อยู่เสมอ ความสวยงามที่ธรรมชาติเป็นผู้สร้างขึ้นนั้นสร้างความประทับใจให้กับทุกคนได้ไม่ยาก ภาพท้องฟ้า จึงมักจะเป็นภาพที่ช่างภาพแนวศิลปะทุกคนแทบจะไม่พลาดโอกาสในการถ่ายภาพด้วยเช่นกัน

ในการถ่ายภาพเมฆและท้องฟ้านั้น ช่วงเวลา และ สภาพอากาศถือเป็นเรื่องสำคัญ ในวันที่อากาศสดใส ท้องฟ้าจะมีสีน้ำเงินเข้ม ในวันที่ฝนตก อาจจะเกิดเมฆรุ้ง ช่วงเวลาเช้าและเย็น สีสันก็จะแตกต่างกันไปอีกมากมาย ดังนั้นการสังเกตธรรมชาติ จึงเป็นหัวใจสำหรับการถ่ายภาพประเภทนี้ครับ และในบางครั้งเราก็ต้องอาศัยดวงอีกด้วย และที่สำคัญเทคนิคในการถ่ายที่ดีจะช่วยทำให้เราถ่ายภาพได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

เทคนิคการถ่ายภาพเมฆและท้องฟ้า

ใช้ขาตั้งกล้องเพื่อความนิ่ง โดยเฉพาะในสภาพแสงเวลาเช้า หรือเวลาเย็น ด้วยสภาพแสงที่น้อย ถ้าเราใช้ขาตั้งกล้อง จะทำให้สามารถเลือกใช้ ISO ต่ำเพื่อคุณภาพไฟล์ที่ดีที่สุดได้ และยังสามารถเลือกใช้ค่า F-stop ที่สูงๆ เพื่อความชัดลึกของภาพอีกด้วย

ใช้ f-stop ที่สูง รูรับแสงที่แคบ เพื่อให้ได้ความชัดลึกที่สูง ภาพในลักษณะนี้นั้น ความชัดลึกเป็นเรื่องสำคัญ การใช้ค่ารูรับแสงที่แคบ จะช่วยควบคุมความชัดลึกในภาพได้ และอย่าลืมว่าเมื่อใช้รูรับแสงแคบแล้ว ความเร็วชัตเตอร์จะตกลง ดังนั้นถ้าไม่แน่ใจอย่าลืมตั้งกล้องบนขาตั้งทุกครั้ง

ระบบวัดแสงในกล้องมักจะอ่านค่าแสงผิดเพี้ยนไปบ้าง ลองตั้งชดเชยแสงไว้ที่อันเดอร์สัก 1/2-1 สตอป เพื่อรักษารายละเอียดของเมฆไม่ให้ขาว สว่างมากเกินไป สังเกตในจอพรีวิวหลังกล้อง ที่แสดงส่วนสว่างกระพริบมากน้อยแค่ไหน

 ใช้ graduated neutral density filter เพื่อสร้างสมดุลของแสง ในกรณีที่เราต้องการให้องค์ประกอบภาพมีส่วนอื่นที่มากกว่าแค่เฉพาะท้องฟ้า เช่นส่วนพื้นดินนั้น ส่วนด้านล่าง (พื้นดิน) มักจะมืดกว่าส่วนของท้องฟ้าที่สว่างกว่า ด้วยค่าแสงที่แตกต่างกันนี้ ภาพที่ได้ ถ้ามีรายละเอียดที่ด้านล่าง ด้านบนท้องฟ้าก็สว่างเกินไป ถ้าท้องฟ้าพอดี ด้านล่างก็มืดเกินไป การใช้ graduated neutral density filter จึงเป็นวิธีที่จะช่วยสร้างสมดุลของแสงทั้ง 2 ส่วนให้ใกล้เคียงกันได้

ลองใช้ C-PL เพื่อตัดแสงสะท้อนในอากาศ ทำให้เกิดความเปรียบต่างระหว่างเมฆ กับท้องฟ้า หรือเลือกถ่ายภาพในทิศทางที่ท้องฟ้าเป็นสีเข้ม โดยการหันหลังให้ดวงอาทิตย์ มุมที่อยู่ด้านหน้าท้องฟ้าจะเข้ม เมฆก็จะดูโดดเด่นขึ้นมาในทันที 

 เลือกหาจุดโฟกัสที่ขอบเมฆจะได้ความคมชัดที่ดีกว่าบนตัวเมฆที่ระบบโฟกัสมักจะทำงานพลาด ด้วยว่าก้อนเมฆนั้นมักจะเป็นสีพื้น ที่ไม่ค่อยเห็นรายละเอียดมากนัก ระบบโฟกัสของกล้องมักจะหาโฟกัสไม่ได้ ถ้าไม่อยากกลับไปที่บ้าน เปิดภาพดูบนจอขนาดใหญ่และพบว่าภาพไม่ชัด แนะนำว่าเลือกจุดโฟกัสในภาพให้ดีๆ ครับ

ให้ความสนใจกับเรื่องการจัดองค์ประกอบภาพให้มากๆ นำหลักการจัดองค์ประกอบทางศิลปะมาใช้ ในกรณีที่เราถ่ายภาพเฉพาะท้องฟ้าและก้อนเมฆนั้น เราจะไม่เห็นเส้นขอบฟ้า ดังนั้น การจัดองค์ประกอบภาพจะไม่ได้ยึดถือเส้นระดับน้ำเป็นตัววัด เราสามารถเอียงกล้อง เพื่อให้ได้องค์ประกอบที่แปลกตากว่าปกติก็ได้ การนำหลักการจัดองค์ประกอบภาพ มาช่วยจะทำให้เราได้ภาพที่น่าสนใจ

 คิดเผื่อไปถึงขั้นตอนการตกแต่งภาพถ่าย อย่าลืมว่ายุคนี้เราสามารถตกแต่งแก้ไขภาพถ่ายได้ด้วยโปรแกรม ดังนั้นภาพถ่ายจึงอาจจะไม่ได้จบที่ขั้นตอนการถ่าย แต่มีขั้นตอนหลังการถ่ายที่เราสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย เช่นการตัดส่วนเพื่อจัดองค์ประกอบใหม่ การดึงรายละเอียดในส่วนมืดและส่วนสว่างกลับมา การเร่งความเปรียบต่างของแสง หรือของสี ฯลฯ ดังนั้นถ้าเราคิดเผื่อไว้บ้าง จะทำให้เราเลือกเทคนิคการถ่ายภาพให้สอดคล้องกันได้ อย่างผมมักจะเลือกถ่ายภาพให้มืดกว่าที่วัดแสงได้เล็กน้อย และเอามาดึงขึ้นใน Camera RAW หรือ ในบางครั้ง ก็เลือกถ่ายภาพให้เกือบจะสว่างกว่าปกติ เพื่อรักษารายละเอียดในส่วนมืด และมาใช้ recovery ดึงรายละเอียดในส่วนสว่างกลับมา ตรงนี้ถ้าเราฝึกตกแต่งภาพบ่อยๆก็จะรู้ว่าเราสามารถทำอะไรกับภาพที่ถ่ายมาแบบใดได้ครับ

จะเห็นได้ว่าการถ่ายภาพ cloudscape นั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใดเลย จึงไม่แปลกอะไรถ้าเรามักจะเห็นภาพถ่ายชั้นนำของโลก มีภาพประเภทนี้อยู่ด้วย ด้วยความน่าตื่นตา แรงดึงดูดที่ชวนมอง และการที่ได้มีจินตนาการร่วมในภาพ จึงทำให้ภาพถ่ายประเภทนี้ได้รับความนิยม เหมือนกับภาพถ่าย Landscape เยี่ยมๆเช่นกันครับ ช่วงนี้ฝนมักจะตกเวลาเย็น จึงเกิดเมฆรูปร่างแปลกๆ ได้บ่อยๆ ลองออกไปแหงนหน้ามองฟ้า มองเมฆดูบ้างก็ดีเหมือนกันนะครับ บางครั้ง ไม่ต้องถ่ายภาพแค่นั่งมองเฉยๆ ผมว่าก็เพลินดีเสียด้วย แต่อย่างพวกเราคงอดไม่ได้หรอกที่จะไม่ถ่ายภาพเก็บไว้ใช่ไหมครับ ก็เอามาแบ่งปันกันชมบ้างก็แล้วกัน…