เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 202/2014 July

การมองหากราฟฟิกในภาพนั้น เป็นอีกหนึ่งวิธีที่เราจะสร้างภาพถ่ายศิลปะได้ สิ่งสำคัญก็คือการสังเกตสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆตัว มีการจัดวาง มีสีสัน หรือมีความน่าสนใจเพียงใด นอกเหนือไปจากการถ่ายภาพเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมาแล้ว การเลือกที่จะนำเสนอเพียงบางส่วน หรือในบางมุมมอง ก็ช่วยให้เราได้ภาพกราฟฟิกที่สวยๆ จากภาพถ่ายได้เช่นกัน

Leading with Lines

การมองหาเส้นในภาพถ่ายนับว่าเป็นพื้นฐานในการจัดองค์ประกอบภาพ เราสามารถใช้เส้นช่วยนำสายตา หรือทิศทางในการดูภาพได้ เช่นเส้นทแยงที่เฉียงจากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่ง เส้นในภาพนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีอยู่จริง อาจจะเป็นเส้นที่เกิดจากแสงเงาของวัตถุต่างๆ หรือเส้นที่เกิดจากการทำมุมกันของวัตถุสองอย่างก็เป็นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองและการเลือกใช้ของช่างภาพ

 

Grace in Curves

วัตถุต่างๆ นอกจากประกอบด้วยเส้นตั้งแล้ว เส้นโค้งก็เป็นอีกเส้นหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นในภาพบ่อยครั้ง การนำเส้นโค้งมาสร้างสรรค์ภาพจึงเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานในการสร้างภาพแบบกราฟฟิก โดยลักษณะแล้วเส้นโค้งจะช่วยให้ความรู้สึกของภาพที่นุ่มนวล อ่อนไหว มีชีวิต เส้นโค้งโดยหลักๆ แล้วจะมีเส้นโค้งแบบตัว C และเส้นโค้งแบบตัว S

Playing with Shapes

รูปทรงต่างๆ จะซ่อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว รูปทรงที่เราจะมองเห็นได้นั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ รูปทรงตามธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ก้อนเมฆ ภูเขา ฯลฯ และรูปทรงเรขาคณิต เช่นรูปทรงสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และรูปทรงกลม ของตึกอาคารต่างๆ หรือแม้แต่ใบหน้าของมนุษย์เองก็ตาม ดังนั้นการมองหารูปทรงเพื่อถ่ายภาพแบบกราฟฟิกนั้นเราจะยึดตาม 2 ลักษณะนี้ได้ และจะน่าสนุกมากขึ้นถ้าเราค้นพบรูปทรงธรรมชาติจากวัตถุที่ไม่ใช่ธรรมชาติ กลับกัน ภาพของเราจะดูน่าตื่นตาเมื่อเราพบรูปทรงเรขาคณิตจากวัตถุธรรมชาติเช่นกัน

 

Rhythm with Patterns

Pattern หรือการซ้ำนั้น จะมาพร้อมกับจังหวะที่น่าสนใจ การเว้นระยะของวัตถุที่ซ้ำๆ กัน เป็นสิ่งที่เราจะมองหาในการถ่ายภาพแบบกราฟฟิก การเดินถอยไปด้านหลัง หรือก้าวไปด้านหน้าอีกเล็กน้อย จะทำให้เราควบคุมจังหวะและระยะห่างต่างๆได้ ตึกและอาคารหลายที่จะมีลวดลายที่ซ้ำๆ กันและสม่ำเสมออยู่แล้ว การเว้นระยะห่างให้พอดีจะทำให้ภาพนั้นสมบรูณ์แบบ

Tantalising Textures

พื้นผิวของวัตถุต่างๆ นั้นมีความน่าสนใจในเชิงกราฟฟิก วัตถุรอบๆ ตัวเรานั้นมีความแตกต่างกันในเรื่องของพื้นผิวอยู่มาก การนำเอาพื้นผิวจากวัตถุมากกว่าหนึ่งชนิดมาอยู่ในเฟรมภาพก็จะยิ่งทำให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญที่ควรระวังก็คือเรื่องของความคมชัด และทิศทางแสง แสงที่เข้ามาด้านข้างจะช่วยเน้นพื้นผิวได้เด่นชัดขึ้น

 

Character in Shadows

เงานั้นจะเปลี่ยนลักษณะไปตามรูปทรงของวัตถุนั้นๆ รวมทั้งทิศทางของแหล่งกำเนิดแสงจะส่งผลถึงความบิดเบือนของเงา ซึ่งเงาจะแตกต่างกันไปตามช่วงเวลาในหนึ่งวัน เราจะได้ภาพเงาที่สวยจากการสังเกตถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้เงายังช่วยสร้างกรอบภาพเพื่อบีบบังคับให้สิ่งที่เราถ่ายดูโดดเด่นได้อีกด้วย

Illusions with Reflections

เงาสะท้อนจากวัตถุไม่ว่าจะสะท้อนผ่านน้ำ โลหะ หรือกระจก จะให้การบิดเบือนของวัตถุที่สะท้อนมากน้อยแตกต่างกันออกไป วัตถุที่ปรากฏบนเงาสะท้อนที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง ทำให้เกิดภาพนามธรรมขึ้น ระดับของกล้องจะเป็นสิ่งที่เราต้องเลือกใช้ถ้าเงาสะท้อนที่เราถ่ายอยู่ในแนวดิ่ง เช่นเงาสะท้อนน้ำ หรือพื้นที่ขัดมัน ระดับของกล้องที่ต่ำกว่าจะมองเห็นเงาสะท้อนของวัตถุที่มากขึ้น

 

Vibrancy of Colors

สีเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเสริมอารมณ์ความรู้สึกของภาพ สีสันที่สดใส สีสันที่จืดชืด สีสันที่ดูทึบ หรือสีสันที่ดูสว่าง การใช้สีสองสีที่เป็นสีคู่ตรงข้ามเช่น สีแดงกับสีเขียว สีเหลืองกับสีม่วง หรือสีส้มกับสีน้ำเงิน ให้ระวังการแบ่งน้ำหนักของสี ไม่ควรให้เท่ากัน แต่ควรจะมีสัดส่วนที่ลดหลั่นกัน

Moody Monotones

อารมณ์จากภาพโทนเดียว หรือภาพขาวดำ มักจะนำมาใช้ในการถ่ายภาพแบบกราฟฟิกได้ง่ายๆ ด้วยว่าเมื่อโทนสีในภาพมีไม่มากหรือเป็นขาวดำนั้น วัตถุต่างๆ จะกลืนกันไปหมด ทำให้สิ่งที่แปลกปลอมในภาพถูกซ่อนเอาไว้ ไม่สะดุดออกมา ความกลมกลืนในภาพก็จะมีมากขึ้น ขณะเดียวกันภาพขาวดำแบบที่มีความเปรียบต่างสูง (Black and White in High Contrast) สร้างความรู้สึกที่น่าสนใจในภาพได้ง่ายเช่นกัน

 

Minimalism with Space

ศิลปะแบบ Minimal art ที่จะเน้นความเรียบง่ายภายใต้แนวคิดที่ว่า “น้อยคือมาก” สามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพกราฟฟิกได้เสมอ การพยายามไม่นำสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่สำคัญ มาใส่เอาไว้ในภาพ นำเสนอภาพโดยไม่ให้มีสิ่งที่รกรุงรังที่ดูแล้วกวนใจอยู่ในภาพ สิ่งสำคัญคือการใช้พื้นที่ว่าง (Space) เป็นการบังคับสายตาของผู้ดูภาพไม่ให้สนใจอย่างอื่น (เพราะไม่มีอย่างอื่นมาให้สนใจ) การปล่อยให้พื้นที่ในภาพมีพื้นที่ว่าง โล่งๆ เรียบง่าย เป็นหัวใจสำคัญของงานลักษณะนี้

ภาพถ่ายแบบกราฟฟิกนั้น แตกต่างจากภาพถ่ายทั่วๆไปคือการที่ไม่ต้องยึดติดอยู่กับสถานที่ แลนด์มาร์ค คน สัตว์ สิ่งของ หรือวัตถุต่างๆ อะไรที่อยู่รอบตัวเราสามารถสร้างสรรค์ให้เป็นภาพได้ทั้งหมด เพียงแค่เราเลือกใช้การจัดวางองค์ประกอบ การเลือกมุมมองที่น่าสนใจ จากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเราครับ…