เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 243/2017 December

Greatest area of contrast แปลตรงตัวก็คือ บริเวณที่มีความเปรียบต่าง ซึ่งพูดกันง่ายๆ ก็คือพื้นที่ไหนที่เกิด Contrast บริเวณนั้นก็มักจะส่งผลให้เกิดความโดดเด่นนั่นเองครับ

Greatest area of contrast เป็นเรื่องของการเลือกพื้นที่ที่โดดเด่นที่สุดในภาพ เลือกทำไมเลือกเพื่อจะวางวัตถุหลักที่เราจะถ่ายลงไปในบริเวณนั้นเพื่อทำให้เกิดการเน้น และสร้างความสำคัญที่สุดให้กับวัตถุที่เราต้องการให้โดดเด่น โดยทั่วไปแล้วสายตาของมนุษย์เราจะสนใจในสิ่งที่ตัดกันหรือเกิด Contrast กันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

ความเชื่อนี้มีที่มาจากทฤษฎีที่ว่าด้วยความสนใจของสายตามนุษย์ โดยปกติแล้วสายตามนุษย์มักจะถูกดึงความสนใจไปยังบริเวณที่มีความเปรียบต่างสูง (high contrast) ด้วยว่าเป็นจุดดึงดูดของสายตาทำให้เกิดความสะดุด ให้นึกถึงในถ้ำที่มืดมิดถ้ามีแสงสว่างเล็ดลอดมาทางหนึ่งบริเวณนั้นจะดึงสายตาเราไปทันที ดังนั้นถ้าในภาพที่มืดมิดมีแสงสว่างส่องที่บริเวณมืดบริเวณนั้นก็จะเด่น นึกถึงแสงไฟบนเวทีการแสดงก็ได้ครับดังนั้นถ้าเราอยากให้วัตถุหลักมีความโดดเด่นน่าสนใจเราควรเลือกจัดวางวัตถุหลักของเราในบริเวณที่มีความเปรียบต่างสูงบริเวณที่เราพูดถึงนี้จึงเรียกว่า Greatest area of contrast

Greatest area of contrast ถูกใช้ในงานศิลปะมากมายไม่จำกัดรูปแบบโดยเฉพาะงานภาพถ่ายก็นับว่าเป็นวิธีการที่น่าสนใจเราควรเริ่มต้นจากหลักการไม่กี่ข้อที่จะทำให้เราสามารถใช้ greatest area of contrast ได้อย่างไม่ยากนัก

 

Lighting Contrast เริ่มจากการเป็นนักสังเกตแสงที่ดี

นับเป็นข้อสำคัญที่สุดในการใช้ Greatest area of contrastช่างภาพควรหมั่นสังเกตแสงในภาพ หรือในสภาพแวดล้อมที่จะถ่ายภาพ ในแต่ล่ะบริเวณมีส่วนของแสงและเงาที่น่าสนใจ ในส่วนมืดส่วนสว่าง ทิศทางของแสง และลักษณะของแสงที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในหนึ่งวัน การเดินหาสภาพแสงต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ที่เราจะถ่ายภาพ เพื่อเลือกสถานที่ ฉากหลัง และสภาพแสงที่น่าสนใจเอาไว้ก่อน จากนั้นคือการรอคอยให้วัตถุที่เราต้องการเข้ามาอยู่ในเฟรมภาพ วิธีการนี้นักถ่ายภาพสายสตรีทโฟโต้กราฟฟี่จะถนัดและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพียงแต่ว่าในครั้งนี้เราเลือกใช้แสงที่มี contrast เป็นตัวช่วยให้วัตถุหลักของเรามีความโดดเด่นมากขึ้น

ลักษณะของแสงที่เราควรจับตามองไว้ให้ดีก็คือ วัตถุที่เราจะถ่ายปรากฏขึ้นท่ามกลางแสงแดด หรือเงามืดของสิ่งต่างๆ เมื่อวัตถุเข้าใกล้แหล่งกำเนิดแสงมากกว่าวัตถุอื่นๆ แวดล้อม ฯลฯ ถ้าเราแบ่งน้ำหนักของความสว่างและความมืดในภาพได้ดีเราก็จะเลือกให้วัตถุใดๆ โดดเด่นและเป็นจุดดึงดูดสายตาตามหลัก greatest area of contrast ได้ง่ายขึ้น

 

Color Contrast ใช้สีตัดกัน

การเลือกใช้สีที่ตัดกัน หรือใช้สีที่ส่งผลต่อ Contrast ในภาพ ที่พบบ่อยที่สุดคือ การใช้สีคู่ตรงข้าม เช่น สีแดงกับสีเขียวสีเหลืองกับสีน้ำเงิน และสีส้มกับสีฟ้า หรือจะเป็นการจับคู่ของสีต่างวรรณะคือ สีวรรณะร้อน และสีวรรณะเย็น ก็สามารถนำมาใช้ตามหลัก Greatest area of contrast ได้ ถ้าจะได้ผลดีคือการใช้สีอ่อน และสีเข้ม โดยให้สีอ่อน ถูกรายล้อมด้วยสีที่เข้มกว่า หรือวัตถุสีสว่างอยู่บนฉากหลังสีเข้ม

ต่างกันที่รายละเอียดในเนื้อหา

เนื้อหาในภาพ โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกัน แต่สำหรับการเน้นนั้นบางครั้งความขัดแย้งจะช่วยเบรกอารมณ์และทำให้สะดุดได้ ลองนึกง่ายๆ ถ้าภาพของคนเยอะๆ อยู่ด้วยกันหันหน้าไปทางซ้ายแต่มีคนอยู่คนหนึ่งหันหน้าไปทางขวาคนๆ นั้นย่อมเกิดความโดดเด่นขึ้นมาจริงไหมครับ ในเรื่องของเนื้อหาในภาพนั้นมีข้อควรระวังอยู่ก็คือ บางครั้งถ้าเนื้อหาในภาพมีความขัดแย้งกันมากๆ ก็อาจจะส่งต่ออารมณ์ หรือความเข้าใจของผู้ดูภาพได้ในจุดนี้อาจทำให้ความหมายของภาพเปลี่ยนไปได้เช่นกัน ดังนั้นแล้ว จุดขัดแย้งของเนื้อหาเราอาจจะต้องระวังสักหน่อยว่าจะใช้อะไร ที่ไม่ทำให้ความหมายในภาพเปลี่ยนไปจากเดิมได้

สำหรับการใช้ Greatest area of contrast ในการวางองค์ประกอบภาพนั้นเป็นเพียงการสร้างความเด่นให้กับสิ่งที่เราจะเน้น ด้วยการกำหนดทิศทางของสายตาให้มุ่งเน้นไปยังตำแหน่งที่เราต้องการ หรือสิ่งที่เราต้องการ ดังนั้นในเรื่องของความสวยงามแล้ว เราอาจจะต้องใช้การจัดองค์ประกอบภาพแบบอื่นเข้ามาร่วมด้วยเพื่อให้ภาพเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นครับ…