เรื่อง+ภาพ : Sompoch Tangthai

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 182/2012 November

ในหลายครั้งที่เราดูภาพที่เราถ่ายมาแล้วรู้สึกว่าไม่น่าสนใจ หรือแม้แต่การที่เราไม่รู้ว่าจะถ่ายภาพอะไรดี บ่อยครั้งที่เราได้เห็นภาพถ่ายที่สวยงามของศิลปิน จากช่างภาพชื่อดัง ภาพถ่ายที่สวยงามตามนิตยสารต่างๆ ตามเวบไซด์โปสเตอร์ แผ่นป้ายโฆษณา ฯลฯ สิ่งที่เราสนใจมักจะเป็นคำถามที่เกี่ยวกับ อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายไปจนถึงเทคนิคต่างๆ ในการถ่าย แต่อาจลืมนึกไปถึงสิ่งที่ช่างภาพซึ่งเป็นผู้ถ่ายภาพนั้นๆ ต้องการจะนำเสนอ และเพราะเหตุใดช่างภาพถึงได้เลือกที่จะถ่ายภาพสิ่งเหล่านั้น

ความสำคัญของการเลือกสิ่งที่จะถ่ายเป็นจุดเริ่มต้นของการได้ภาพถ่ายที่สวยงาม ดังนั้นสิ่งแรกคือ ต้องเลือกว่าจะถ่ายอะไร ความสนใจ ความสัมพันธ์ ความประทับใจของเราต่อสิ่งนั้น จะทำให้เราถ่ายทอดความรู้สึกต่างๆ ที่มีต่อสิ่งนั้นออกมาเป็นภาพให้ผู้อื่นทราบได้

เป็นเรื่องน่าแปลกที่ การเลือกสิ่งที่จะถ่ายนั้นกลับเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามจากเทคนิค เคล็ดลับเรื่องการถ่ายภาพต่างๆ อาจจะเป็นเพราะว่า อันที่จริงแล้วเราคงไม่สามารถคาดเดาได้หรอกว่า ใครมีความต้องการอยากจะถ่ายภาพอะไร เพื่ออะไรสนใจในด้านไหน การแนะนำว่าอะไรควรถ่าย หรือจะเลือกถ่ายสิ่งใดนั้นคงจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเป็นหลักในการเลือกสิ่งที่จะถ่าย อันนี้ผมคิดว่าน่าจะพอเป็นไปได้นะครับ

หลักในการเลือกสิ่งที่จะถ่ายภาพนั้น เริ่มจากการจดบันทึกสิ่งที่เราสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรอบตัว หรือแม้แต่เหตุการณ์ต่างๆ ที่เพิ่งผ่านไป สถานที่ที่เราอยากไปของที่เราชอบ ฯลฯ จากนั้นลองนำเอารายชื่อที่จดบันทึกไว้ออกมาดูกัน โดยใช้หลักการตามนี้ครับ

สิ่งที่เราจะถ่ายนั้นมีในโลกของความเป็นจริงหรือเปล่า ตรงนี้อธิบายง่ายๆ ก็คือว่าตัดแนวปรัชญาบางอย่างออกไป พวกเรื่องลึกลับ พิศวง สิ่งมีชีวิตนอกโลกสุดขอบจักรวาล ฯลฯ นอกเสียจากเราจะเซตฉากขึ้นมาจากจินตนาการ ซึ่งตรงนี้เอาไว้แยกสำหรับการสร้างงานอีกรูปแบบหนึ่งจะดีกว่า ดังนั้นถ้ารายชื่อสิ่งที่เราจะถ่ายอยู่ในกลุ่มนี้ ก็ตัดทิ้งไปก่อนเลยนะครับ เลือกถ่ายสิ่งที่มีอยู่จริงก่อนดีกว่า

สิ่งที่เราจะถ่าย เราสามารถทำได้หรือไม่ อะไรที่ดูเป็นเรื่องยากสำหรับเราบ้าง ทั้งทางด้านร่างกาย ด้านสถานที่ ด้านการเงิน เช่น อยากถ่ายภาพวิวยอดเขาเอเวอเรส นอกจากค่าใช้จ่ายที่สูงแล้ว สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงก็สำคัญ หรือการเลือกถ่ายภาพบุคคลสำคัญหรืองานพิธีสำคัญ เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในขณะที่เราไม่ใช่ช่างภาพสื่อมวลชน เช่นการชุมนุมประท้วง การรบในสงคราม ฯลฯ โอกาสเข้าถึงเหตุการณ์ หรือเข้าถึงตัวบุคคลสำคัญนั้น คงเป็นไปได้ยาก รวมทั้งความเสี่ยงต่างๆ ที่นอกจากจะไม่ได้รับความสะดวกแล้ว ทั้งร่างกายและอุปกรณ์ก็คงเป็นเรื่องยากที่เราจะถ่ายภาพเหล่านั้นมา

สิ่งที่เราจะถ่าย เรามีความรู้ในสิ่งนั้นมากพอหรือยัง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ครับ ข้อนี้ก็คือการทำการบ้านก่อนถ่ายนั่นเอง เราควรที่จะมีความรู้ต่อสิ่งที่เราจะถ่ายบ้าง ทั้งเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเราเองและต่อผู้อื่นด้วยสมมุติว่าเราต้องการจะถ่ายภาพนกสักชนิดหนึ่งเราก็ควรจะศึกษาข้อมูลของนกตัวนั้นเสียก่อน เช่นอุปนิสัยแหล่งหากิน ฯลฯ ก็จะทำให้เราสามารถถ่ายภาพนกชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น นี่คือประโยชน์กับตัวเอง และถ้าเราศึกษาถึงพฤติกรรมของนก เราก็จะสามารถถ่ายภาพได้โดยที่ไม่รบกวนมัน นั่นคือประโยชน์ต่อผู้อื่นมีหลายครั้งที่ช่างภาพไม่ได้ให้ความสำคัญในจุดนี้ มักจะเกิดเรื่องเศร้าตามหลังภาพอยู่เสมอเช่น เฝ้าถ่ายภาพรังนกจนนกอาจจะทิ้งรัง หรือเปลี่ยนแหล่งหากิน ฯลฯ หรืออย่างงานพิธีสำคัญทางศาสนาบางงานอาจจะให้เข้าเฉพาะคนที่สวมใส่ชุดสีขาว หรือแม้แต่ข้อมูลเบื้องต้น เช่นการไปถ่ายดอกพญาเสือโคร่งบานในเดือนอะไร ชายหาดที่เราจะไป พระอาทิตย์ขึ้น-ตกฝั่งด้านไหน ฯลฯ ดังนั้นการหาข้อมูลให้เรารู้ในสิ่งที่เราจะถ่ายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญครับ

สิ่งที่เราจะถ่าย มีความน่าสนใจหรือเปล่า ข้อนี้เป็นเหมือนกับคำถามโดยเน้นที่ผู้อื่น มากกว่าตัวเรา โดยมองจากวงกว้างว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจในระดับไหน บางครั้งสิ่งที่เราเลือกจะถ่ายอาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากๆ ซึ่งอาจจะได้รับความสนใจจากเพื่อนๆ ในกลุ่ม เช่น งานปาร์ตี้เย็นวันหยุดหรือ กิจกรรมต่างๆ ของคนในครอบครัว แม้ว่าเราจะถ่ายภาพออกมาได้ดี แต่นั่นก็คงจะไม่ใช่ภาพที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไป แต่ก็ไม่แน่เสมอไปนะครับหลายครั้งที่ภาพที่มีความสนใจแค่เฉพาะกลุ่มเล็กๆ กลับกลายเป็นภาพที่คนกลุ่มมากให้ความสนใจก็ได้ ถ้าภาพนั้นจะมีพลังมากพอ

สิ่งที่เราจะถ่าย ควรกำหนดเจาะจง ให้ชัดเจน ชัดเจนและเจาะจงนั้น ผมอยากให้ระบุชัดๆ ลงไปเลยว่าเราเลือกจะถ่ายภาพอะไร เช่น ถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่อ่าวประจวบฯ ไม่ใช่แค่การเลือกถ่ายภาพทะเล หรือภาพพระอาทิตย์ขึ้น แค่นั้น การเลือกและเจาะจงไปเลยว่าเราจะถ่ายอะไร ภาพแบบไหนนั้นจะทำให้เราสามารถหาข้อมูลได้ละเอียดยิ่งขึ้น เมื่อเราทำการบ้านเยอะขึ้น โอกาสที่ภาพดีๆ จะมาอยู่ในมือเราก็จะมากยิ่งขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง รวมไปถึงการนำเอาตัวเลือกที่เหลืออยู่นั้น มากำหนดให้แคบลง เฉพาะเจาะจงลงไป อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ก็เป็นหลักเบื้องต้น ในการใช้เลือกสิ่งที่เราจะถ่าย ทุกครั้งที่เราเริ่มมีความรู้สึกไม่รู้ว่าจะไปถ่ายภาพอะไรดี การที่จะออกไปเดินเล่นตามถนนหนทางและจะได้ภาพที่สุดยอดกลับมานั้น ถึงจะมีความเป็นไปได้แต่ความเป็นไปได้นั้นก็มีน้อยมาก ดังนั้นการวางแผนที่ดีนั้นเป็นทางออกที่ดีกว่า โดยมากผมมักจะนำหลักการนี้มาใช้เวลาที่จะเลือกถ่ายภาพส่งประกวด และวางแผน ก่อนเดินทางไปถ่ายรูปตามที่ต่างๆ ทั้งนี้จะเหมือนเป็นการบอกตัวเองเบื้องต้นเกี่ยวกับภาพที่ต้องการจะได้ สิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกมาในภาพของเรา ซึ่งผลพลอยได้ก็รวมไปถึงทำให้เราเลือกอุปกรณ์ที่จะใช้งานไปได้เท่าที่จำเป็นอีกด้วยครับ…