เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 241/2017 October

ในการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายนั้นมีกฎในการจัดองค์ประกอบอยู่หลายกฎที่เราควรทำความเข้าใจ เพื่อการวางจุดสนใจในการถ่ายภาพ (Point of Interest) หรือนำไปเลือกใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานให้ดูน่าสนใจเพิ่มขึ้น พอเราพูดถึงคำว่า กฎ มักจะทำให้เราคิดว่าเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งแท้จริงแล้ว กฎต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราและไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความตั้งใจของเราเลย ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจในแต่ล่ะกฎที่มีอยู่กันเสียก่อนดีกว่านะครับ ‘กฎ’ ที่เราคิดว่าเป็นเรื่องยากนั้นมีอะไรที่น่าสนใจอยู่บ้าง

Rule of Thirds กฎสามส่วน

กฎสามส่วนเป็นกฎในการจักองค์ประกอบภาพถ่ายที่รู้จักและนิยมใช้กันเป็นอันมาก เป็นพื้นฐานของการถ่ายภาพที่เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นกับการจัดองค์ประกอบ และยังนำมาใช้ได้ตลอดเวลา หลักของกฎสามส่วนก็คือการแบ่งพื้นที่ภาพออกเป็นสามส่วน ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพในแนวตั้งหรือแนวนอน โดยเราสามารถใช้เส้นแบ่งนี้ในการวางส่วนของเส้นขอบฟ้า หรือเส้นตัดส่วนพื้นหรือน้ำ หรือส่วนของงานสถาปัตยกรรม

นอกจากนี้เมื่อแบ่งพื้นที่เป็นสามส่วนทั้งแนวตั้งและแนวนอนแล้วพื้นที่ในภาพจะถูกแบ่งเป็น 9 พื้นที่ เส้นที่แบ่งพื้นที่นี้จะมีจุดตัดอยู่ 4 จุดใช้เป็นจุดวางจุดสนใจในภาพ (จุดตัดเก้าช่อง) ได้อีกด้วยซึ่งกฎสามส่วนและจุดตัดเก้าช่องนี้เป็นเหมือนพื้นฐานเบื้องต้นของหลักการจัดองค์ประกอบภาพถ่าย ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในการใช้งานกับภาพบางอย่าง

Rule of Thirds

Golden ratio สัดส่วนทอง

สัดส่วนทองเป็นกฎในการสร้างสรรค์รูปทรงมาตั้งแต่สมัยกรีก เป็นกฎที่ใช้ในการวาดภาพและการการออกแบบรวมถึงงานศิลปะหลายแขนง เป็นกฎที่จัดการพื้นที่ได้ลงตัวที่สุดและมีรูปแบบที่หลากหลายแม้แต่การถ่ายภาพเองก็เช่นกันมีสัดส่วนทองนี้เรามักนำมาใช้ในการถ่ายภาพอยู่ 2 รูปแบบคือ Golden Spiral และ Golden Triangle

สัดส่วนทองแบบ Golden Spiral และ Golden Triangle นั้นนอกจากจะวางวัตถุหลักของภาพลงไปที่จุดตัดแล้วนั้น การวางเส้นนำสายตา หรือเส้นสายต่างๆ ในภาพตามแนวเส้นโค้งหรือเส้นทแยงมุมได้อีกด้วย ซึ่งการวางวัตถุในภาพให้อยู่ในตำแหน่งจุดตัดต่างๆ และในตำแหน่งของเส้นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสัดส่วนทอง มักจะให้ความดึงดูสายตาของผู้ชมภาพ และทำให้การจัดองค์ประกอบภาพดูน่าสนใจยิ่งขึ้น

(รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องสัดส่วนทองนั้นสามารถหาอ่านได้ใน www.camerartmagazine.com เรื่อง Composition Ep.2 Principles of Composition ตอนที่ 3 สัดส่วน Proportion)

golden ratio scheme

เปรียบเทียบระหว่าง Rule of Thirds กับ Dynamic Symmetry

Golden ratio

Golden Triangle

Dynamic Symmetry

Dynamic Symmetry เรียกอีกอย่างว่า golden section system of design เป็นหลักการออกแบบเชิงเรขาคณิตที่ใช้มาเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว หลักการของ Dynamic Symmetry ก็คือการจัดวางองค์ประกอบภาพให้สมดุลอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นกฎที่ศิลปินนักวาดภาพนิยมใช้อีกกฎหนึ่ง โดยเฉพาะงานที่มีความสลับซับซ้อน

Dynamic Symmetry เป็นการรวมเส้นตั้งเส้นนอน และเส้นทแยงมุม มาใช้ในการจัดวางองค์ประกอบในพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า เหมาะสำหรับการจัดวางองค์ประกอบที่มีจำนวนวัตถุมากๆ มีความหลากหลายในเรื่องตำแหน่งที่ซับซ้อน โดยมุ่งหวังให้เกิดจุดสนใจที่โดดเด่นและได้สมดุลของภาพโดยรวมไปพร้อมกัน

Dynamic Symmetry

Dynamic Symmetry

Dynamic Symmetry

Figure – ground relationship ความสัมพันธ์ระหว่างรูปกับพื้น

รูป (Figure) ในที่นี้ก็คือ รูปร่างและรูปทรง หมายถึงส่วนที่เป็นจุดเด่น หรือเนื้อหาที่สำคัญในภาพ พื้น (Ground) ก็คือพื้นที่แวดล้อม ที่ไม่ใช่ รูป การมองเห็นของมนุษย์โดยพื้นฐานนั้นจะพยายามแยกสิ่งที่สนใจหรือสิ่งที่เป็นรูปร่าง รูปทรงออกมาก่อน แล้วในรูปร่างรูปทรงที่แยกออกมานั้นก็จะแยกตำแหน่งหน้าและหลังออกไปอีก ในที่สุดก็จะพยายามแยกรูปทั้งหมดออกจากพื้น โดยพื้นจะเป็นสิ่งที่อยู่หลังสุด ทำให้บางครั้งมีการเรียกส่วนที่เป็นพื้น (Ground) นี้ว่า พื้นหลัง (Background) ซึ่งก็ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะในองค์ประกอบนามธรรม ที่มีลักษณะ แบนราบเป็น 2 มิติ เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าส่วนใดคือพื้นหน้า (Foreground) หรือพื้นหลัง (Background) จะเป็นสิ่งที่อยู่ข้างเคียงกัน (side by Side) เท่านั้น อาจจะยกเว้นเป็นบางกรณีถ้าภาพนั้นเป็นภาพที่ส่งผลต่อการมองเห็นของสายตา

figure-ground relationship คือการคำนึงถึงความสัมพันธ์ในการจัดวางองค์ประกอบของสิ่งที่เราจะถ่าย (subject) ให้อยู่บนพื้น, พื้นหลัง หรือฉากหลัง ที่ไม่ส่งผลให้วัตถุนั้นกลืนหรือจมไปกับพื้นนั้นนั่นเอง หลักการมีอยู่ว่า การเลือกจัดวางให้ฉากหลัง หรือพื้นหลังไม่แย่งความเด่นไปกว่าวัตถุหลัก (รูป) ที่เราจะถ่าย จึงทำให้เราต้องคอยคิดอยู่ตลอดเวลาว่าพื้นหลังแบบไหนที่จะเหมาะสมกับวัตถุที่เราจะถ่าย นอกจากนี้แล้ว การใช้ Figure-Ground ในบางครั้งจะเป็นการเล่นกับไอเดียระหว่างวัตถุและพื้นหลังของศิลปินด้วย ที่พบโดยมากจะนิยมในภาพประเภทสตรีทโฟโต้กราฟฟี่

figure-ground relationship

figure-ground relationship

Greatest area of contrast บริเวณที่มีความเปรียบต่างสูงสุด

กฎนี้เป็นเรื่องของการเลือกพื้นที่ ที่ดีที่สุด โดดเด่นที่สุด เพื่อทำให้วัตถุที่เราจะถ่ายได้รับความสำคัญที่สุด ซึ่งมาจากทฤษฎีว่าด้วยความสนใจของสายตามนุษย์ โดยปกติแล้วสายตามนุษย์มักจะถูกดึงความสนใจไปยังบริเวณที่มีความเปรียบต่างสูง (high contrast) ดังนั้นถ้าเราอยากให้วัตถุหลักมีความโดดเด่นน่าสนใจ เราควรเลือกจัดวางวัตถุหลักของเราในบริเวณที่มีความเปรียบต่างสูงสุด บริเวณนั้นจึงเรียกว่า Greatest area of contrast นั่นเอง

greatest area of contrast

greatest area of contrast

ถ้าใครเคยอ่านนิยายกำลังภายใน หรือดูหนังจีนมาบ้างจะเห็นว่ากว่าจอมยุทธ์จะเรียนรู้เพลงกระบี่สำเร็จนั้น บางทีต้องฝ่าด่านผ่านการฝึกฝนมามากมาย จากการฟันกระบี่ธรรมดา ต้องเรียนรู้ท่วงท่า การพลิกมือ การขยับร่างกาย ไปจนถึงเคล็ดลับวิชาต่างๆ จนบางคนท้อ เลิกจับกระบี่ไปก็มี หมายความว่าฝึกไม่สำเร็จนั่นเอง แต่บางคนพอผ่านการฝึกจนสำเร็จวิชาแล้วนั้น การขยับร่างกายที่เคยฝึก ท่วงท่าต่างๆ ก็กลับเป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องระวังท่วงท่าใดๆ เพราะเมื่อเข้าใจในเคล็ดวิชาแล้ว ผ่านการฝึกซ้ำๆ มามากพอแล้ว การขยับตัวก็เป็นไปได้เองโดยอัตโนมัติ 

การจัดองค์ประกอบภาพก็เช่นกันครับ เมื่อเริ่มหัดถ่ายภาพใหม่ๆ เราอาจจะยังไม่รู้ว่าจะวางองค์ประกอบภาพแบบไหน พอเริ่มเรียนรู้มากขึ้นอาจจะกังวลในเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆ จนพาให้ถ่ายภาพไม่สนุกแต่เมื่อเราเข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นอย่างดีแล้ว เมื่อเราถ่ายภาพการวางมุมต่างๆ ก็จะเป็นไปเองโดยที่เราไม่ต้องคอยระวังเรื่องกฎต่างๆ แต่อย่างใด และถ้าเราเข้าใจกฎแล้วเราก็จะรู้ได้ว่า อะไร คือการแหกกฎเหล่านั้น  และผมอยากจะบอกคุณไว้ว่า ไม่ใช่กฎที่ต้องการจะถูกแหก แต่มันเป็นความรู้ที่คุณสามารถนำไปใช้กับงานศิลปะภาพถ่ายของคุณได้ทุกครั้งที่คุณต้องการ…