เรื่อง+ภาพ : Poch

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 260/2019 May

หลายคนที่ถ่ายภาพมาสักระยะจะเริ่มเกิดอาการเบื่อกับการจัดองค์ประกอบภาพแบบเดิมๆ หรือ เกิดอาการตันในการจัดองค์ประกอบภาพ ซึ่งไม่แปลก การที่เมื่อเราทำอะไรซ้ำๆ มากเกินไปก็จะไม่รู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งนั้น และสุดท้ายความไม่ตื่นเต้นนี่เองก็กลายเป็นความเบื่อหน่าย ในวันนี้เราลองมาเริ่มต้นใหม่กับอีกวิธีหนึ่งในการพัฒนาการจัดองค์ประกอบภาพของเราให้สนุกขึ้น เผื่อว่านอกจากจะทำให้การจัดองค์ประกอบภาพดีขึ้นแล้ว ก็อาจจะเป็นการเพิ่มกระบวนการทางความคิดในการถ่ายภาพมากยิ่งขึ้นด้วย เราไปดูกันดีกว่าว่าเราจะจัดการกระบวนการความคิดเรายังไงได้บ้าง

Trust your visual instinct เชื่อในสัญชาติญาณในการมองเห็นของเรา

สิ่งแรกเลยในการพัฒนาการจัดองค์ประกอบภาพ เราต้องเชื่อตัวเราเองเสียก่อน อะไรที่เรารู้สึกสะดุดกับมุมภาพนี้ เราเห็นอะไรแวบแรกที่เรามองวัตถุนั้น ความรู้สึกแรกต่อการมองเห็นสิ่งต่างๆ เชื่อและจับสัญชาติญาณตัวเองให้ได้ จากนั้นคือการให้เวลากับมันอยู่กับสิ่งนั้นสักพัก เพื่อพิจารณาว่าเราจะสร้างสรรค์ภาพนี้ต่อไปอย่างไร จากประสบการณ์และเทคนิคที่เรามีมา ประสบการณ์อาจจะได้จากการทดลองทำซ้ำๆ หรือจากการมองดูงานที่ได้มาตรฐาน หรือจากการสนทนากับผู้รู้ แต่สิ่งสำคัญคือการจับจังหวะของความรู้สึกแรก และเชื่อมั่นในความรู้สึกนั้น

 

Spatial relationship สังเกตความสัมพันธ์เชิงพื้นที่

ในพื้นที่เฟรมภาพ ทุกสิ่งทุกอย่างที่หลากหลาย และมีส่วนประกอบมากกว่าหนึ่ง ควรมีความสัมพันธ์ร่วมกัน สามารถไปด้วยกันได้ อยู่ด้วยกันได้ โดยไม่มีความจำเป็นว่าจะต้องมีความเหมือนกัน วัตถุในภาพที่มากกว่าหนึ่ง เมื่อมีระยะห่างต่างกัน ก็จะเกิดระยะ และจังหวะ บางครั้งเรียกว่า เลเยอร์ เลเยอร์ในภาพนี้ ทำให้ภาพมีความลึก มีใกล้มีไกล มีตื้น และเลเยอร์เหล่านี้ถ้าขาดความสัมพันธ์กันแล้วก็จะดูสับสนปนเป วุ่นวาย และทำหน้าที่ได้ไม่ดีนัก แต่ถ้ามีความสัมพันธ์กันแล้ว จะช่วยเสริมเรื่องราว เนื้อหา หรือสิ่งที่เราจะนำเสนออกมาได้เป็นอย่างมาก ในกรอบเฟรมสี่เหลี่ยมในภาพ เราจะต้องเลือกจัดการองค์ประกอบทั้งหมดให้ดี วิธีคิดที่ง่ายๆ เริ่มต้นที่ “อะไรที่ไม่ต้องการก็ไม่ควรเอามาใส่ลงในภาพ”

What’s your angle เลือกใช้มุมภาพอะไร?

การเลือกมุมภาพขอให้ลองนึกถึงระดับของกล้องเป็นสำคัญ โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะมองสิ่งต่างๆ ในระดับสายตา ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แม้ว่าภาพที่ดีหลายๆ ภาพล้วนถูกถ่ายในมุมภาพระดับสายตา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพหลายภาพที่น่าสนใจ และมีพลังดึงดูดก็มาจากมุมภาพอื่นด้วยเช่นกัน นอกจากระดับของกล้องแล้ว การเล่าเรื่องผ่านมุมภาพในบทบาทของแต่ล่ะบุคคล ตามลำดับความใกล้ชิด ก็ให้อารมณ์ความรู้สึกที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วปัญหามักจะเกิดมาจากการที่เรามักจะอยู่ห่างจากสิ่งที่เราถ่ายมากเกินไปนั่นเอง

 

Lens choice เลือกใช้เลนส์?

การเลือกใช้เลนส์เป็นจุดสำคัญในการคิดก่อนถ่ายภาพ เลนส์ส่งผลต่อมิติภายในภาพ หาเวลาทำความเข้าใจและเลือกใช้เลนส์กับภาพที่เราต้องการ คาเรกเตอร์ของเลนส์แต่ล่ะอย่างส่งผลพิเศษต่อภาพต่างกัน เลนส์ที่เราใช้ล่ะเป็นอย่างไรบ้าง นั่นคือสิ่งที่เราต้องรู้ เช่นฉากหลังของภาพส่งผลต่อเนื้อหาในภาพต่างกันไปตามขนาดทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่เราใช้ หรือว่าผลพิเศษที่เกิดจากเลนส์ในแต่ล่ะช่วงทางยาวโฟกัส เลนส์มุมกว้างจะทำให้ฉากหลังถูกผลักออกห่าง ในขณะที่เลนส์เทเลโฟโต้จะดึงฉากหลังของภาพให้ใกล้เข้ามา ฯลฯ ให้คิดถึงระยะห่างระหว่างช่างภาพถึงสิ่งที่จะถ่าย และภาพที่ต้องการ

 

Breaking the rules พักเรื่องกฎไว้ก่อน

กฎในการจัดองค์ประกอบภาพที่เราเรียนรู้มา ลืมมันไปชั่วคราว ลองถ่ายโดยไม่สนใจกฎต่างๆ ดูบ้าง อาจจะทำให้เราไม่ลังเลและมีเวลากดชัตเตอร์มากขึ้นก็ได้ การกังวลอยู่กับกฎต่างๆ ในการจัดองค์ประกอบอาจจะทำให้การถ่ายภาพดูซีเรียสขึ้นและทำให้น่าเบื่อ กฎเกณฑ์บางอย่างนั้น หยิบยกมาเพื่ออธิบายที่มาที่ไป หรือเพื่อให้เราใช้เป็นหลักตั้งต้นเพียงเท่านั้นเอง จึงไม่แปลกอะไรที่วันหนึ่งเราอยากจะฉีกกฎเกณฑ์เหล่านี้ทิ้งไปบ้าง และนั่นก็อาจจะทำให้เราสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาได้

จะเห็นว่าขั้นตอนในการคิด เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าขั้นตอนในการลงมือถ่ายภาพในทางศิลปะแล้วนั้น ความสวยงามของแต่ล่ะคน ย่อมที่จะไม่เท่ากัน อันนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ แต่จะมีอีกสาเหตุหนึ่งมากไปกว่าความสวย ที่ผมไม่เห็นด้วยเลยก็คือ ภาพแบบนี้ผิด แบบนี้ถูก เพราะว่า งานศิลปะนั้น มันไม่ผิดถูกมาตั้งแต่แรก และนั่นก็อาจจะทำให้เราสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ออกมาก็เป็นได้นะครับ…