เรื่อง+ภาพ : POCH

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 213/2015 June

ในการสร้างผลงานขึ้นมาสักชิ้นหนึ่งนั้น ไม่ใช่จะได้มาง่ายๆ เมื่อเราถูกละเมิดลิขสิทธิ์ หรือค่าตอบแทนที่เราควรจะได้หายไปนั้น ก็นับว่าเป็นการไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของผลงานนั้น เราจึงมีสิทธ์ที่จะเรียกร้องได้โดยอาศัยกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของลิขสิทธิ์

เงื่อนไขทั่วไปของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์

การได้มาด้วยลิขสิทธิ์นั้นมีเงื่อนไขบางประการที่เราต้องทำความเข้าใจ (ในเบื้องต้นนี้จะขอยกตัวอย่างคร่าวๆ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเชิงลึกได้ในข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ต่างๆ ได้ตามเวบไซด์นี้ http://www.pub-law.net/library/act_copyright.html) ซึ่งเงื่อนไขทั่วไปที่จะได้มาซึ่งลิขสิทธิ์นั้นต้องอยู่ในกรอบของเงื่อนไขดังนี้

  1. ต้องเป็นการสร้างสรรค์โดยตนอง (originality) หมายถึง ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์ (creativity) โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต (non- copying) การริเริ่มขึ้นเองแตกต่างจากความคิดริเริ่มของตนเอง เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่คุ้มครองความคิด ฉะนั้นผู้สร้างสรรค์งานอาจใช้ความคิดของผู้อื่นมาเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์งานของตนเองก็ได้ กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถในระดับหนึ่งในการสร้างสรรค์งานขึ้นมา แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ต้องการถึงขนาดว่าผู้สร้างสรรค์ต้องสร้างสรรค์สิ่งที่ไม่เคยปรากฏพบเห็นมาก่อน ซึ่งจุดนี้แตกต่างจากกฎหมายสิทธิบัตรซึ่งให้ความคุ้มครองกับการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ ฉะนั้นงานอันมีลิขสิทธิ์จึงไม่จำเป็นต้องเป็นงานใหม่ (novelty)
  2. ต้องมีการแสดงออกซึ่งความคิด (Expression of idea) เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองสิ่งที่แสดงออก (expression of idea) เท่านั้น ไม่คุ้มครองความคิด (idea) แนวคิด (concept) และแนวเรื่อง (plot/theme)
  1. ต้องเป็นงานที่กฎหมายยอมรับ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 6 วรรคแรก ได้แก่งานประเภทต่างๆ ดังนี้

1.งานวรรณกรรม นอกจากหมายถึงงานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่นหนังสือ สุนทรพจน์ แล้วมาตรา 4 ให้หมายความรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

2.งานนาฏกรรม เป็นงานเกี่ยวกับการรำ การเต้นการแสดง โดยวิธีใบ้ที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว แต่มิได้หมายถึงการแสดงละครหรือการแสดงภาพยนตร์

3.งานศิลปกรรม เป็นงานจิตรกรรม งานประติมากรรมงานภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม งานภาพถ่าย งานภาพประกอบ แผนที่ ฯลฯ

4.งานดนตรี หมายถึงงานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้อง ไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียวและให้หมายรวมถึงโน้ตเพลง

5.งานโสตทัศนวัสดุ หมายถึง งานอันประกอบด้วยลำดับของภาพโดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใดอันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก และให้รวมถึงเสียงประกอบงานนั้นด้วย เช่น วีดีโอเทป

6.ภาพยนตร์ หมายถึง โสตทัศน์วัสดุประกอบด้วยลำดับของภาพซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์หรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่นเพื่อนำออกฉายได้อย่างต่อเนื่องและให้รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ด้วย

7.สิ่งบันทึกเสียง หมายถึงงานที่ประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตรี เสียงการแสดงหรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใดๆ อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก เช่น เทปคาสเซต แผ่นซีดีเป็นต้น

8.งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หมายถึงงานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์ ผู้มีลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพ ได้แก่ผู้ทำการแพร่เสียแพร่ภาพ ซึ่งอาจเป็นสถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีวิทยุโทรทัศน์หรือองค์กรแพร่ภาพแพร่เสียง              

9.งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะหมายถึงงานสร้างสรรค์อื่นที่ไม่อาจจัดเข้าอยู่ในงานประเภทใดประเภทหนึ่งได้ซึ่งงานดังกล่าวน่าจะต้องมีลักษณะทำนองเดียวกันกับงาน 8 ประเภทที่กล่าวมา

การใช้ CC ในเวบ flickr ที่มีภาพถ่ายอยู่เป็นล้านภาพ

  1. ต้องไม่เป็นงานที่กฎหมายกำหนดไม่มีลิขสิทธิ์ ซึ่งมีบัญญัติไว้ในมาตรา 7 เช่น ข่าวประจำวัน กฎหมาย คำพิพากษา

เมื่อสร้างสรรค์งานแล้วได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงต้องรับรู้สิทธิของผู้เป็นเจ้าของว่ามีขอบเขตคุ้มครองกว้างขวางมากเพียงใด โดยกฎหมายกำหนดสิทธิไว้ดังต่อไปนี้

1.ทำซ้ำหรือดัดแปลง

2.เผยแพร่ต่อสาธารณชน

3.ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง

4.ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น

5.อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิดังกล่าวข้างต้น โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัดการแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้

ภาพถ่ายนั้นนับว่าเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยช่างภาพดังนั้นการได้รับสิทธิ์ในการคุ้มครองทางกฎหมายลิขสิทธิ์จึงเกิดขึ้นเหมือนเช่นผลงานศิลปะประเภทอื่นๆ เช่นกัน โดยสิ่งที่เราควรทำความเข้าใจก็คือ ภาพถ่ายแบบไหนเป็นลิขสิทธิ์ของใคร เช่นผลงานจากการว่าจ้าง ถ้าจะสรุปง่ายๆ ในส่วนของภาพถ่ายนั้นมีข้อที่เราต้องทำความเข้าใจดังนี้

  1. ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ในที่นี้หมายถึงตัวช่างภาพนั่นเอง ภาพที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของช่างภาพนั้น ถือเป็นลิขสิทธิ์ของช่างภาพนับตั้งแต่มีการกดชัตเตอร์บันทึกภาพ ภาพนั้นถือว่าลิขสิทธิ์เป็นของช่างภาพผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นทันที
  2. ผู้ว่าจ้างงาน ผลงานทุกอย่างที่ผู้ว่าจ้าง นายจ้าง สั่งให้ผู้รับจ้างทำงานให้ ผลผลิตหรือผลงานชิ้นนั้นลิขสิทธิ์ก็จะตกและเป็นของผู้ว่าจ้าง เพราะสิทธิ์นี้ถือว่า ผู้ว่าจ้างได้จ่ายเป็นค่าจ้าง หรือผลตอบแทนให้แล้ว ส่วนที่ผู้ว่าจ้างจะนำผลงานไปทำอะไรก็แล้วแต่สิทธิ์ของผู้ว่าจ้าง หรือข้อตกลงในสัญญาจ้างงานนั้นๆ
  3. นายแบบ-นางแบบ หรือบุคคลในภาพ แม้ว่าช่างภาพจะถ่ายภาพนายแบบ-นางแบบ แม้ว่าลิขสิทธิ์จะเป็นของช่างภาพที่สร้างสรรค์ผลงาน แต่ช่างภาพก็ยังไม่ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด ถ้าภาพถ่ายนั้นไม่ได้รับอนุญาตจากนายแบบ-นางแบบที่ถูกถ่าย จึงต้องมีการทำเอกสาร (MR) Model release เพื่อให้นายแบบ-นางแบบ เซ็นยินยอมในการใช้ภาพนั้นไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม สำหรับบุคคลในภาพ เช่น เราไปถ่ายภาพผู้คนตามท้องถนน จะพิจารณาควบคู่ไปกับเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล โดยจะพิจารณาจากตัวภาพ ว่าภาพถ่ายนั้นได้สร้างความเสื่อมเสีย หรือความเสียหายให้กับบุคคลในภาพหรือไม่ ซึ่งลิขสิทธิ์ภาพจะยังเป็นของช่างภาพอยู่
  4. สถานที่ สถานที่จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ สถานที่สาธารณะ และสถานที่ทางสถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือนที่มีเจ้าของ โดยปกติ การถ่ายภาพในสถานที่สาธารณะเมื่อเราไปถ่ายรูปถึงจะถ่ายจากสถานที่เป็นสาธารณะ ลิขสิทธิ์ภาพจะเป็นของผู้ถ่ายภาพ ส่วนการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมภายนอกอาคารที่มีเจ้าของ แม้จะไม่ใช่ภายในอาคาร ถึงลิขสิทธิ์จะเป็นของช่างภาพ แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ในการนำภาพนั้นไปใช้เพื่อการค้า ยกเว้นให้เจ้าของสถานที่หรือผู้มีอำนาจเซ็นยินยอมให้ใช้สิทธิ์ตามเอกสาร (PR) Property Release

เห็นแบบนี้แล้วหลายคนเริ่มกังวลในเรื่องของการเผยแพร่ผลงาน ว่าจะถูกละเมิดลิขสิทธิ์ หรือนำภาพไปใช้ ไปดัดแปลง ไปใช้เพื่อการค้า หรือไม่อย่างไร ทำให้หลายคนเกิดข้อกังวลในการเผยแพร่ผลงานต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้การเผยแพร่ผลงานนั้นมีวิธีที่เราจะอธิบายถึงเงื่อนไขที่เราจะอนุญาตให้คนอื่นนำผลงานของเราไปใช้ได้หรือไม่อย่างไรด้วยการใช้สัญญาอนุญาต Creative Commons

สัญญาอนุญาต Creative Commons

ครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons : อักษรย่อ CC) เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่สนับสนุนการใช้เนื้อหาโดยไม่ถูกจำกัดจากสัญญาอนุญาต สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์จะเอื้อให้มีการใช้สื่อทั้งทางภาพ เสียง ข้อมูล โดยการแบ่งแยกสัญญาอนุญาตย่อยออกสำหรับการแจกจ่ายและการใช้ข้อมูล โดยการอ้างอิงถึงเจ้าของลิขสิทธิ์เดิม

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบ่งได้เป็น 6 ชนิด โดยมีเงื่อนไขตามสัญญาฯ CC ประเทศไทยดังนี้

อ้างอิงแหล่งที่มา (CC-BY) หมายถึง คุณยินยอมให้ผู้อื่นเผยแพร่งานของคุณ แต่ก็ต่อเมื่อพวกเขาประกาศด้วยว่างานนั้นเป็นของคุณ

อ้างอิงแหล่งที่มา ให้อนุญาตต่อไปแบบเดียวกัน (CC-BY-SA) หมายถึง คุณยินยอมให้ผู้อื่นเผยแพร่งาน ดัดแปลง แต่ก็ต่อเมื่อพวกเขาประกาศด้วยว่างานนั้นเป็นของคุณ ด้วยสัญญาอนุญาตที่เหมือนกับที่ใช้กับงานของคุณเท่านั้น

อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามดัดแปลง (CC-BY-ND) หมายถึง คุณยินยอมให้ผู้อื่นคัดลอก แจกจ่าย จัดแสดง และเผยแพร่งานของคุณ เฉพาะงานที่เหมือนต้นฉบับทุกประการเท่านั้น ไม่ใช่งานที่ถูกแก้ไขดัดแปลง

อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า (CC-BY-NC) หมายถึง คุณยินยอมให้ผู้อื่นคัดลอก แจกจ่าย จัดแสดง และเผยแพร่งานของคุณ (รวมทั้งงานที่ดัดแปลงจากมัน) แต่สำหรับจุดประสงค์ที่ไม่ใช่เพื่อการค้าเท่านั้น

อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า และให้อนุญาตต่อไปแบบเดียวกัน (CC-BY-NC-SA) หมายถึง คุณยินยอมให้ผู้อื่นคัดลอก แจกจ่าย จัดแสดง และเผยแพร่งานของคุณ (รวมทั้งงานที่ดัดแปลงจากมัน) แต่สำหรับจุดประสงค์ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า ด้วยสัญญาอนุญาตที่เหมือนกับที่ใช้กับงานของคุณเท่านั้น

อ้างอิงแหล่งที่มา ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า และห้ามดัดแปลง (CC-BY-NC-ND) หมายถึง คุณยินยอมให้ผู้อื่นคัดลอก แจกจ่าย จัดแสดง และเผยแพร่งานของคุณ เฉพาะงานที่เหมือนต้นฉบับทุกประการเท่านั้น ไม่ใช่งานที่ถูกแก้ไขดัดแปลง และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า

สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ เราสามารถนำมาใช้ในผลงานภาพถ่ายของเราได้ ด้วยการนำสัญลักษณ์เงื่อนไขต่างที่เราจะใช้กับผลงานของเรา มาใส่หรือแนบไว้กับผลงานของเรา เพื่อที่จะทำให้ผู้อื่นที่มาเห็นผลงานของเราเข้าใจในเงื่อนไขที่เราบอกไว้ ว่าเราอนุญาตนำผลงานที่เราเผยแพร่นั้นไปใช้งานอย่างไรได้บ้าง

ครีเอทีฟคอมมอนส์ เป็นเหมือนข้อตกลงอย่างหนึ่งเพื่อเผยแพร่งานสร้างสรรค์ด้วยการบอกว่าเรา สงวนสิทธิ์บางประการ (Some rights reserved) มากกว่าจะต้องยึดติดกับการสงวนสิทธิ์ทั้งหมด (All rights reserved) เพราะอาจทำให้เกิดข้อจำกัดในการเผยแพร่ผลงานได้ ซึ่งการที่เราได้เผยแพร่ผลงานออกไป ก็จะไม่ต้องเผยแพร่ผลงานแบบไม่มีลิขสิทธิ์ รวมทั้งการที่ผู้อื่นจะสามารถนำผลงานของเราไปใช้ในประโยชน์ด้านอื่นเช่น งานเพื่อสังคม งานเพื่อสาธารณะอื่นๆ ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น และทำให้เราสามารถพรีเซ้นส์ชื่อของเราผ่านผลงานไปได้ด้วยนั่นเอง ในตอนหน้าเราจะมาพูดถึงการใช้งาน สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์กับงานดิจิตอลโดยการฝังดาต้าลงในไฟล์ ซึ่งจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นก็ติดตามกันต่อไปนะครับ

ศัพท์ควรรู้

สัญญาอนุญาต มาจากคำเต็มว่า สัญญาอนุญาตให้ใช้งาน ภาษาอังกฤษคือ License แบบเดียวกับสัญญาที่เราใช้ในการทำนิติกรรมต่างๆ

ลิขสิทธิ์ (Copyright) แปลว่า สิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งาน ครอบคลุมงานสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ เช่น งานเขียน ภาพวาด งานดนตรี ภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์ หลังจากสร้างงานขึ้นมาลิขสิทธิ์จะตกเป็นของผู้สร้างโดยอัตโนมัติ

สิทธิบัตร (Patent) คือการคุ้มครองกระบวนการ ในการสร้างสรรค์ผลงาน สิทธิบัตรจะต่างจากลิขสิทธ์ตรงที่ต้องยื่นขอ จดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีขั้นตอนด้านเอกสารและค่าใช้จ่าย

ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) เป็นคำรวมๆ ที่ครอบคลุมลิขสิทธิ์, สิทธิบัตร และอื่นๆ เช่น เครื่องหมายการค้า (trademark)