เรื่อง : นพดล

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 246/2018 March

ขอเสนอข้อมูลเพิ่มเติม…ในการเขียน…Leica ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน…ในครั้งนี้นั้น เป็นการเขียนเรียบเรียงจากฐานข้อมูลเก่าของ CAMERART ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533…ที่ริเริ่มจากคุณเต่า หรือ ยงยุทธ จาก ช.ศิลปชัย รวมทั้ง ได้ข้อมูลหลายประการเพิ่มเติมจาก คุณมานะ ประภัสรางกูล แห่ง AV. CAMERA ที่ได้มอบหนังสือ Leica International Price Guide ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมโดย D.R.Grossmark ที่ได้บอกกล่าวถึงราคาประมาณการ และโอกาสที่จะหาได้ในตลาดสะสมกล้อง แต่ทั้งนี้ราคาอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ 300-500% ตามสภาพกล้องและความชอบของแต่ละบุคคลและยุคสมัย ขอย้ำไว้ ณ ที่นี้ว่า ราคาที่ปรากฏนี้ เป็นราคาที่บอกกล่าวไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เกือบ 30 ปีที่แล้วนะครับ ซึ่งต้องขอขอบคุณ ทั้ง คุณเต่า หรือ คุณยงยุทธ แห่ง ช.ศิลปชัย ซึ่งเวลานี้ถึงแก่กรรมไปแล้ว และขอขอบคุณ คุณมานะ ประภัสรางกูล แห่ง AV.CAMERA ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยครับ….

ราคากล้อง Leica ประมาณการในตลาดสะสม (ข้อมูลปี 2533)

UR-Leica เป็นกล้องที่ไม่มีราคาบอกไว้ มิสามารถประเมินราคาได้ว่าราคาเท่าไร และโอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสมกล้อง ก็อยู่ในระดับที่ไม่มีคำตอบ เช่นกัน

Leica O Series ราคาที่ประมาณไว้ในปี พ.ศ. 2533 อยู่ที่ประมาณ 25,000 เหรียญสหรัฐ โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสม กว่า 10 ปี ต่อ 1 กล้อง

Leica I Anastigmat ราคาประมาณการในปี 2533 ไม่ต่ำกว่า 15,000 เหรียญสหรัฐ โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสม กว่า 10 ปี ต่อ 1 กล้อง

Leica I Elmax ราคาประมาณการในปี 2533 ไม่ต่ำกว่า 8,500 เหรียญสหรัฐ โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสม กว่า 5 ปี ต่อ 1 กล้อง

Leica I หมายเลขที่ต่ำกว่า 10,000 ราคาประมาณการในปี 2533 ไม่ต่ำกว่า 1,500 เหรียญสหรัฐโอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสม กว่า 2 ปี ต่อ 1 กล้อง

Leica I Lexus Gold [Original] ราคาประมาณการในปี 2533 ไม่ต่ำกว่า 25,500 เหรียญสหรัฐ โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสม กว่า 10 ปี ต่อ 1 กล้อง

Leica I Elmar หมายเลขเกิน 10,000 ราคาประมาณการในปี 2533 ไม่ต่ำกว่า 1,500 เหรียญสหรัฐโอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสม กว่า 2 ปี ต่อ 1 กล้อง

Leica I Hektor ราคาประมาณการในปี 2533 ไม่ต่ำกว่า 2,500 เหรียญสหรัฐ โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสม กว่า 3 ปี ต่อ 1 กล้อง

ขอย้ำว่า… ข้อมูลราคาที่ปรากฏนี้ เป็นข้อมูลเก่าที่ปรากฏในปี พ.ศ. 2533….ซึ่งถ้านับถึงเวลานี้ก็เป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่แล้ว คงต้องกล่าวว่าราคาน่าจะเปลี่ยนแปลงจากนี้มากโขเลยทีเดียว….

LEICA I Compur (Model B) Dial Set Shutter

Leica I Compur (Model B)

ในปี 1926 ไลทซ์ ก็ได้แนะนำอุปกรณ์ต่างๆ ของ Leica เพิ่มเติมขึ้นเป็นพิเศษด้วยเลนส์ของ Elmar ในระบบติดตั้งความเร็วชัตเตอร์ไว้บนตัวเลนส์ (Compur Shutter) เพื่อแทนระบบชัตเตอร์ม่านจากรุ่นก่อนๆ 

คงจะไม่ง่ายในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อาจจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่า  เพิ่มรุ่นกล้องสำหรับการใช้งานในระบบความเร็วชัตเตอร์ต่างๆ หรือเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในระดับต่างๆ และอาจจะเป็นเหตุผลจากการลดราคาของกล้องรุ่นนี้เนื่องจากว่า… กล้องรุ่นนี้จะมีราคาต่ำกว่า กล้อง Leica I ในรุ่นปกติ

กล้อง Leica I Compur ได้ผลิตออกสู่ตลาด 2 แบบด้วยกัน  มีความแตกต่างกันที่รูปแบบของการปรับความเร็วชัตเตอร์

Leica I Compur แบบแรก  ได้รับการผลิตตั้งแต่ปี 1925 ถึงปี 1929 เริ่มจากหมายเลขกล้อง 5,701 ถึง หมายเลข 6,300 และ หมายเลข 13,101 ถึง หมายเลข 13, 139 เป็นระบบการปรับเปลี่ยนชัตเตอร์ด้วยการหมุนปุ่มชัตเตอร์  ซึ่งมี 2 ปุ่ม ปุ่มแรก สามารถตั้งความเร็วชัตเตอร์ได้ตั้งแต่ 1 วินาที ถึง 1/300 วินาที และปุ่มที่ 2 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า สำหรับตั้งความเร็วชัตเตอร์ B และชัตเตอร์ T รวมทั้งความเร็วชัตเตอร์คงที่อีก 1 ความเร็ว ส่วนประกอบสำคัญอีก 2 ส่วน คือ ก้าน 2 ก้าน ก้านหนึ่งทำหน้าที่ขึ้นไกชัตเตอร์ และอีกก้านหนึ่ง ทำหน้าที่ปลดชัตเตอร์ ระบบชัตเตอร์นี้เป็นแบบปรับตั้งเอง ไม่ได้สัมพันธ์กับกลไกของระบบขับเคลื่อนฟิล์ม นอกจากนี้ยังมีก้านหลังเลนส์ สำหรับปรับระยะชัดอีกด้วย

อย่างไรก็ตามกล้องรุ่นนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าทีควรเมื่อเปรียบเทียบกับกล้องรุ่นปกติ

ในตลาดสะสมกล้อง  กล้อง Leica รุ่นนี้ หรือที่เรียกกันว่า Leica I Compur Dual Set มีราคาในตลาด (เมื่อปี 2533) ไม่ต่ำกว่า 6,000 เหรียญสหรัฐ โอกาสที่จะหาพบได้ในตลาด กว่า 5 ปี ต่อ 1 กล้อง

Model B

Leica I Compur แบบที่ 2 ได้รับการแนะนำออกสู่ตลาดในปี 1929 และ ปี 1930 โดยมีการปรับปรุงระบบการปรับเปลี่ยนชัตเตอร์เป็นแบบวงแหวน (Rimset) ที่รวบรวมเอาความเร็วชัตเตอร์ทั้งหมดมารวมเป็นวงแหวนหน้าเลนส์วงเดียว ปรับความเร็วชัตเตอร์ได้ T, B, 1 วินาที, 1/5, 1/10, 1/25, 1/50 และ 1/300 วินาที ในรายงานของจำนวนกล้องในระบบ Compur  ที่ได้รับการผลิตขึ้นนั้น มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,481 กล้อง ซึ่งรวมทั้งกล้องในระบบ Dual Set แบบแรก 639 กล้องและกล้องในระบบ Rim set อีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มากนัก ระหว่างหมายเลขกล้องตั้งแต่ 13,140 ถึง 51,715 (ในหมายเลขดังกล่าว มีกล้อง Leica I รุ่นแรก รวมอยู่ด้วย)

กล้อง Leica I Compur Rim set มีราคาที่ปรากฏในปี 2533 ไม่ต่ำกว่า 5,000 เหรียญสหรัฐ  และมีโอกาสที่จะหาพบได้ในตลาดสะสมประมาณกว่า 3-5 ปี ต่อ 1 กล้อง

นอกเหนือจากความแตกต่างของกล้อง Leica ในรุ่นนี้ทั้ง 2 แบบ ที่ระบบชัตเตอร์แล้ว โดยทั่วไปจะมีส่วนที่เหมือนกัน และที่แตกต่างจาก Leica I รุ่นปกติ  ก็คือ การนับจำนวนภาพที่ถ่ายแล้วได้ปรับปรุงกลับมาติดตั้งไว้ที่ส่วนบนของกล้องถ่ายภาพ สำหรับปุ่มขับเคลื่อนฟิล์ม และกรอฟิล์มกลับ ทั้ง 2 ข้าง มีรูปร่างที่คล้ายกัน เลนส์ที่ใช้เป็นเลนส์ของ ELMAR ส่วนขาเสียบอุปกรณ์แต่เดิม มีรูปร่างวงกลม เปลี่ยนมาเป็นแบบสี่เหลี่ยม  (ซึ่งปัจจุบัน  ก็มีรูปร่างสี่เหลี่ยม ที่นิยมใช้กันอยู่ในกล้องยี่ห้ออื่นๆ)

Code ที่ใช้สำหรับ Leica Compur คือ LECUR ถ้าพร้อมกระเป๋า จะใช้ Code LECOM

Leica I (Model C)

กล้อง Leica I Model C นับเป็นกล้องรุ่นแรกที่ใช้ระบบสับเปลี่ยนเลนส์ได้ด้วยเม้าท์ระบบเกลียว ซึ่งได้รับการแนะนำออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี 1931 แต่กล้อง Leica I (Model C) ชุดแรกที่ปรากฏออกตลาดนั้น มีจำนวนน้อย และระยะเวลาในการผลิตสั้นเนื่องจากในชุดต่อมา ได้รับการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องมาตรฐานให้ดีขึ้น

กล้อง Leica Model C นี้  ต่างจากกล้องที่ผลิตมาก่อนหน้านี้ โดยมีการติดตั้งจานควบคู่เลนส์ (Mounting) ที่มีความหนา 1 มม. กว้าง 39 มม. โดยแนะนำออกสู่ตลาดพร้อมกับเลนส์รุ่นใหม่ให้ใช้คือ เลนส์ของ ELMAR 35 มม. F3.5, เลนส์ถ่ายไกล ELMAR 135 มม. F4.5 และเลนส์ HEKTOR 50 มม. F 2.5 นอกจากนี้ ในปี 1931 ยังได้เพิ่มเลนส์ ELMAR 50 มม. F4 อีกหนึ่งตัว

กล้อง Leica ในชุดนี้เริ่มตั้งแต่หมายเลข 37280 ในครั้งแรก และการผลิตอย่างจริงจัง เริ่มตั้งแต่หมายเลข 55404 จนถึง 60500 ในจำนวนดังกล่าว ยังมีบางส่วนที่เป็นกล้อง Leica I ชนิดที่ติดตั้งเลนส์ตายตัวอยู่ด้วย

LEICA I (Model C) with non-standardised lens mount and swing-over mask on the viewfinder for 135 mm. lens.

ปัญหาสำหรับการผลิตกล้องในกลุ่มแรกๆ ที่ผลิตออกมาก็คือการขาดมาตรฐานของระบบ Mount ซึ่งเมื่อบิดเกลียวของเลนส์ติดตั้งเข้ากับตัวกล้อง อย่างไรก็ตาม  ปัญหาดังกล่าวได้รับการพัฒนาแก้ไข โดยการกำหนดระยะที่แน่นอนตายตัวระหว่างจาน หรือ Mount ติดเลนส์ กับ ฉากหลังระนาบฟิล์ม ให้เป็นระยะมาตรฐานห่างระยะ 28.8 มม. และเพื่อที่จะให้ชัดเจนในกรณีติดตั้งเลนส์  ก็ได้ติดตั้งจุดสังเกตเป็นตำแหน่ง  “O” อยู่ตรงส่วนกลางด้านบนของ Mount ติดเลนส์ หรือ จานติดเลนส์ เรียกว่า จุด “O” (Zero Setting) ซึ่งระบบนี้ก็ได้ใช้ติดต่อกันมาเป็นเวลายาวนาน และกล้องในชุดนี้ ได้รับการผลิตในปี 1931 ถึง ปลายปี 1931 มียอดตั้งแต่  หมายเลข 60001 ถึง 71199

สิ่งหนึ่งที่ปรากฏใน กล้อง Leica Model C ที่แตกต่างไป คือ การพัฒนาระบบเลนส์ ที่ก้าวหน้าขึ้น และไม่มีก้าน ฮอกกี้ ที่หน้าเลนส์อีกต่อไป นอกเหนือ จากก้านฮอกกี้ และระบบติดตั้งถอดเปลี่ยนเลนส์ได้แล้ว ส่วนอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

กล้อง Leica Model C ที่ผลิตขึ้นครั้งแรกทั้งหมดจำนวน 17,000 กล้อง ส่วนใหญ่ติดตั้งช่องมองภาพแบบมาตรฐาน 50 มม. มีบางส่วนเท่านั้นที่ติดตั้งระบบช่องมองภาพที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นขนาด 135 มม. ได้

Code ของกล้องเฉพาะตัวกล้องไม่มีเลนส์ใช้ LENUE ถ้าตัวกล้อง พร้อมฟิล์มคาร์ทเซ็ท 3 แบบใช้ Code LENIX ถ้าติดตั้งเลนส์ ELMAR 35 มม. F3.5 ใช้ Code LEOMU

ปรากฏในปี พ.ศ. 2533 พบว่าราคาในตลาดไม่ต่ำหว่า 1,350 เหรียญสหรัฐ มีโอกาสพบได้ในตลาดกล้อง กว่า 1 ปี ต่อ 1 กล้อง

มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านจะพบว่า การพัฒนากล้องถ่ายภาพในระบบ 35 มม. เริ่มจะเข้มข้นขึ้นตามลำดับ จากกล้อง 35 มม. ยุคต้นๆ มาถึงกล้อง 35 มม. ที่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้ จากกล้องในระบบชัตเตอร์แบบง่ายๆ  เริ่มมีระบบ ชัตเตอร์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ความยาวนานของ Leica ที่นานนับหลายสิบปี ถ้านับถึงวันนี้ อีก 7 ปี ก็จะครบ 100 ปีเข้าไปแล้ว ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของกล้องถ่ายภาพ 35 มม. ที่ใช้ฟิล์มถ่ายภาพ จนมาถึงยุคของกล้อง Digital ที่ Leica ก็ยังอยู่คู่กับวงการถ่ายภาพมาจนถึงวันนี้

Leica II (Model D)

หลังจากที่โรงงาน Leitz เริ่มต้นผลิตกล้องเข้าสู่ตลาดในปี ค.ศ. 1925 เป็นต้นมา การพัฒนาระบบการทำงานของกล้องถ่ายภาพ 35 มม. มีความก้าวหน้าขึ้นเป็นระยะๆ 

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1932 Leitz ได้แนะนำกล้อง Leica รุ่นใหม่ ออกสู่ตลาดอีกรุ่นหนึ่ง กล้อง Leica รุ่นนี้ นับว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับกล้องถ่ายภาพขนาด 35 มม. เลยทีเดียว เพราะว่าได้มีการติดตั้ง “เครื่องหาระยะชัด” (Rangefinder) มาพร้อมกับตัวกล้อง ทำงานควบคู่กับ การปรับขนาดเลนส์ ตั้งแต่ 35-135 มม.

เทคนิคนี้พัฒนาขึ้นในกล้อง Leica รุ่นใหม่ ซึ่งเรียกว่า Leica II หรือ Model D นับเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของวงการถ่ายภาพที่มิได้หมายความแต่เพียงว่า Leica กำลังเข้าสู่ยุคเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ถ่ายภาพเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบ ต่อการคิดค้นและพัฒนากล้องถ่ายภาพแบบหาระยะชัด (Rangefinder Camera) ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอีกด้วย

LEICA II (Model D)

การผลิต Leica II หรือ Model D ระบุว่าเริ่มผลิตตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 1932 ที่หมายเลข 71200 มีการผลิตต่อเนื่อง จนถึงหมายเลข 100100 แต่น่าสังเกตว่า การผลิตกล้องรุ่นนี้มีความแตกต่างกัน หมายเลขการผลิตกล้องที่กล่าวมาข้างต้น เป็นจำนวนที่ผลิตในระยะ 11 เดือน  ของปี 1932 ในจำนวนนี้ บางส่วนเข้าใจว่าผลิตในปี 1933 มากว่าเนื่องจากมีเพียง 3,330 กล้องเท่านั้น ที่ปรากฏชัดว่า ผลิตในปีแรก และการผลิตในปีต่อๆ มา ดู เหมือนว่าจะผลิตขึ้นในจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตในปีแรก

เทคนิคสำคัญที่พัฒนาขึ้นในกล้อง Leica II (Model D) ได้แก่การติดตั้ง เครื่องหาระยะชัด (Rangefinder) บนตัวกล้องทำงานด้วยระบบกลไกควบคุมการหาระยะชัดร่วมกับช่องมองภาพ โดยเลนส์ใกล้ตา (Eye piece) 2 ช่องที่อยู่บนตัวกล้อง เลนส์ด้านซ้ายจะทำหน้าที่หาระยะชัด (Rangefineder) และเลนส์ด้านขวาจะเป็นช่องมองภาพ (View finder)

LEICA II, Chrome

เลนส์มีให้เลือกใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 7 ขนาด ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตั้งแต่ เลนส์มาตรฐาน 50 มม. ของ ELMAR F3.5, ELMAR 35 มม. F3.5, HEKTOR 73 มม. F1.9, ELMAR 90 มม. F4, ELMAR 105 มม. F6.3, ELMAR 135 มม. F4.5 และยังสามารถติดเลนส์ HEKTOR 50 มม. F2.5 รวมทั้งทำงานร่วมกับเลนส์ Summar 50 มม. F2 ได้ด้วย

ความเร็วชัตเตอร์ ใช้ระบบปรับขนาดชัตเตอร์ ด้วยการหมุนปุ่มซึ่งอยู่บนตัวกล้อง สามารถตั้งขนาดความเร็วชัตเตอร์ได้ตั้งแต่  1/20, 1/30, 1/40, 1/60, 1/100, 1/200 และ 1/500 

กล้อง Leica II นับเป็นกล้องอีกรุ่นหนึ่ง ที่ครองตัวอยู่ในกระแสการตลาดอย่างยาวนาน เป็นสายการผลิตตัวสำคัญจนถึงปี ค.ศ. 1940 และหลังจากนั้นยังมีการนำมาผลิตใหม่เป็นครั้งคราว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ จนยุติลงจริงๆ ในปี 1948  หลังจากกล้อง Leica II ชุดแรกที่ผลิตขึ้นเป็นจำนวนถึง 30,000 กล้อง การผลิตครั้งต่อๆ มา หมายเลขกล้องไม่ได้เรียงลำดับต่อเนื่องกัน ทั้งนี้เพราะในเวลานั้นยังมีการผลิตกล้องรุ่นอื่นๆ อีกด้วย แต่การผลิตในแต่ละครั้ง ก็อยู่ที่ระดับ 200-300 กล้อง

อนึ่ง…แต่เดิม การผลิตกล้อง Leica นั้นจะเคลือบส่วนที่เป็นโลหะด้วยสีดำ เป็นเปลือกแข็ง วิธีการนี้เมื่อใช้กล้องนานเข้า สีดำจะหลุดลอกจนเห็นเนื้อโลหะ กล้อง Leica II (Model D) รุ่นนี้จึงมีการผลิตออกมาเป็น 2 แบบ คือ แบบที่ชุบด้วยดำ และแบบชุบด้วยโครเมียม ซึ่งถือได้ว่าเป็นกล้อง Leica รุ่นแรกๆ ที่เคลือบผิวด้วยโครเมียม

Leica II (Model D) Chrome ที่ชุบด้วยโครเมียม เริ่มผลิตตั้งแต่หมายเลข 111511 ในปี 1933 และผลิตถึงปี 1934-1935 ที่หมายเลข 149550 เท่านั้น แต่ Leica II (Model D) แบบธรรมดา หรือแบบ Black ยังคงครองตัวอยู่ในสายการผลิตหลักต่อเนื่อง มาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีหมายเลขการผลิตยุติลงอย่างเป็นทางการที่หมายเลข 358650 ในปี 1948

Code ของกล้อง Leica II (Model D) ในยุคแรกๆ ถ้ามีเฉพาะตัวกล้องไม่มีเลนส์ ใช้ LYKAN ถ้าติดตั้งเลนส์ ELMAR F3.5 ใช้เป็น LYKUP ถ้าติดตั้งเลนส์ HEKTOR ใช้ LYHEK และถ้าเป็นแบบชุบโครเมียม ก็จะมีคำว่า CHROM กำกับเพิ่มเข้าไปด้วย แต่ Code เหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปในปี ค.ศ. 1934 โดยใช้ AIROO เมื่อไม่มีเลนส์ และ ABOOT เมื่อติดตั้งเลนส์ ELMAR F3.5 พร้อมเพิ่มคำ CHROM ในรุ่นที่ชุบโครเมียมเหมือนเดิม

ย้อนไปดูตอนที่ 1 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน (กำเนิดกล้อง Leica)

ย้อนไปดูตอนที่ 2 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 2 (ปอกเปลือก…UR-CAMERA)

ย้อนไปดูตอนที่ 3 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 3 (Leica I หรือ Leica model A)