บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 238/2017 July

ผลิตขึ้นเนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

สำหรับเรื่องกล้องสะสมที่ผลิตขึ้นสำหรับวงการถ่ายภาพในเมืองไทยนั้น เท่าที่จำได้ มีเพียงครั้งเดียว และถือว่าเป็นครั้งสำคัญยิ่งสำหรับคนไทย และวงการถ่ายภาพในเมืองไทย นั่นก็คือ กล้องที่ผลิตร่วมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ในปี พ.ศ. 2539 ที่วงการถ่ายภาพเรียกกันว่า กล้องกาญจนาภิเษก 

ในปี พ.ศ. 2539 ก็ในราวกว่ายี่สิบปีที่แล้ว เมืองไทยได้มีพระราชพิธีสำคัญก็คือ พระราชพิธีกาญจนาภิเษก เป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เพื่อร่วมฉลองเนื่องในวโรกาสสำคัญครั้งนี้ สำหรับวงการถ่ายภาพในเมืองไทยร่วมกับภาคเอกชน ก็ได้มีการดำเนินงานประสานกับผู้ผลิตกล้อง ทำการผลิตกล้องที่ติดตรากาญจนาภิเษก เป็น Limited Edition รวมกันแล้วถึง 4 ค่ายด้วยกัน คือ Hasselblad, Leica, Contax และ Olympus 

Hasselblad กาญจนาภิเษก

การจัดทำกล้อง Hasselblad กาญจนาภิเษก เกิดจาความริเริ่มของ บริษัท โฟโต้ซีสเทมส์ จำกัด ร่วมกับ สมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ และบริษัท วิคเตอร์ ฮัสเซลแบลด จากสวีเดน  ทำการผลิตกล้อง Hasselblad กาญจนาภิเษก เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งของปวงชนชาวไทยในครั้งนั้น 

กล้อง Hasselblad กาญจนาภิเษก ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษในครั้งนั้น จัดทำด้วยกันเป็น 2 รุ่น มีจำนวนจำกัดทั้ง 2 รุ่น มีหมายเลขกำกับที่ตัวกล้อง คือ

Hasselblad กาญจนาภิเษก รุ่นกล้องทอง เป็นกล้องรุ่น 203 EF จัดทำขึ้นเพียง 9 กล้องเท่านั้น อันหมายถึงรัชกาลที่ 9  เป็นกล้องทองชุบ 24K บุหนังสีน้ำเงิน ประดับตรากาญจนาภิเษก  และป้ายลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ทำจากทองคำ ลงยา  บรรจุในกล่องไม้พุ่มมะค่าอันทรงคุณค่าของเมืองไทย จัดทำหมายเลขกำกับตั้งแต่หมายเลข 1-9 โดยมีหมายเลข 1/9 ทาง บริษัท วิคเตอร์ ฮัดเซลแบลด จะทำการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ  

Hasselblad กาญจนาภิเษก Chrome เป็นกล้องรุ่น 503 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดในตระกูล 503 ของ Hasselblad ตัวกล้องเป็น Chrome บุหนังสีน้ำเงิน พร้อมประดับตรากาญจนาภิเษก และป้ายลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ทำจากทองคำ ลงยา  จัดทำขึ้นเป็นพิเศษจำนวน 50 กล้อง บรรจุในกล่องหนังสีน้ำเงิน  อันมีความหมายถึงระยะ 50 ปีทอง ของการครองราชย์

การดำเนินงานครั้งนี้ ทาง สมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ และ บริษัท โฟโต้ซีสเทมส์ จำกัด จะนำเงินรายได้จากการจำหน่ายกล้องเป็นจำนวนเงิน 1,000,000.00 บาท ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนา

เพียงเปิดตัวไม่นาน การสั่งจอง Hasselblad กาญจนาภิเษก Chrome ก็เต็มจนล้นหลาม จึงจำเป็นต้องจับฉลาก ซึ่งงบก็มีเพียง 50 ท่าน เท่านั้นที่ได้ครอบครองกล้อง Hasselblad กาญจนาภิเษก Chrome

ส่วน Hasselblad กาญจนาภิเษก รุ่นกล้องทอง ที่มีเพียง 8 กล้อง เนื่องจากกล้องหมายเลข 9 จะเป็นกล้องที่นำขึ้นทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชฯ  ใช้วิธีการประมูล การประมูลกล้อง ทั้ง 8 กล้องนี้เป็นไปอย่างน่าตื่นเต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้องตัวสุดท้าย หมายเลข 1 ราคาประมูลขึ้นไปถึงหลักล้าน 

เป็นที่น่าสังเกตว่า Hasselblad กาญจนาภิเษก ที่ถูกผลิตมาทั้งหมดรวม 2 รุ่น จำนวน 59 กล้อง ถึงวันนี้ หายเข้ากลีบเมฆไปหมด หายากมาก ราคาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Hasselblad กาญจนาภิเษก รุ่นกล้องทอง ที่มีเหลือเพียง 8 กล้อง ที่ปรากฏตัวให้เห็นในวันประมูลเท่านั้น หลังจากนั้นแทบไม่มีใครได้เห็นอีกเลย และไม่มีราคาปรากฏอีกเช่นกัน ซึ่งคาดเอาว่า ราคาคงสูงติดลมกันไปแล้ว

Leica M6 รุ่นกาญจนาภิเษก

Leica ถือเป็นค่ายกล้องอีกค่ายหนึ่ง ที่ได้ร่วมผลิตกล้องเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ในครั้งนี้ เจ้าภาพที่ดำเนินการก็คือ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำเงินทุนที่ได้จากการจำหน่ายกล้องไปใช้ในโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 

Leica M6 เป็นกล้องที่ได้รับเลือกผลิตเป็นกล้อง Leica M6 รุ่นกาญจนาภิเษก เป็นกล้องฟิล์ม แบบ Rangefinder ที่ถือว่าเป็นรุ่นยอดนิยมที่ผลิตมาตั้งแต่ปี 1989 จนถึง ปี 1998 

Leica M6 รุ่นกาญจนาภิเษก สร้างเป็นกล้องชุบทองคำ 24K และพิมพ์ตราสัญลักษณ์ กาญจนาพิเษก ไว้บนตัวกล้อง ติดเลนส์ Summicron 50/2 บรรจุในกล่องไม้ สวยหรู จำนวนที่ผลิต มีจำนวน 700 กล้อง เปิดจำหน่ายในราคา 10,000.00 เหรียญสหรัฐ (ราคาในขณะเปิดตัว ก็ในราว 260,000.00 บาท อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้นอยู่ในราว 25-26 บาทต่อเหรียญสหรัฐ) 

กล้องรุ่นนี้ยังมีให้เห็นอยู่ในตลาดสะสมพร้อมทั้งราคาเสนอขาย เนื่องจากมีจำนวนผลิตถึง 700 กล้อง 

Leica M6 รุ่นกาญจนาภิเษก กลับมาสร้างความฮือฮา…อีกครั้งหนึ่ง เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เมื่อธนาคารกสิกรไทย ได้มอบหมายให้ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดจำหน่ายกล้อง Leica M6 รุ่นกาญจนาภิเษก ที่ทางธนาคารเก็บสะสมไว้จำนวน 88 กล้อง อีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 โดยทำการวางจำหน่าย ณ ห้องทำการของ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชั้น 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดย ตั้งราคาอยู่ที่ 399,999.00 บาท โดยนำรายได้ทั้งหมด บริจาคให้สภากาชาดไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ต้องการกล้องรุ่นนี้จนล้นหลาม จนต้องใช้การจับสลากสำหรับผู้โชคดีได้ซื้อไปครอบครอง

OLYMPUS กาญจนาภิเษก

หลายต่อหลายคน คงไม่คิดว่า Olympus ก็เป็นอีกหนึ่งในการผลิตกล้องรุ่น กาญจนาภิเษก เหมือนกัน แต่ OLYMPUS กาญจนาภิเษก อาจจะแตกต่างไปจากกล้อง Hasselblad หรือ Leica ซึ่งสำหรับนักถ่ายภาพทั่วไปดูจะสัมผัสได้ยากในเรื่องของราคา แต่ OLYMPUS กาญจนาภิเษก มีระดับราคาที่สัมผัสได้ครับ โดยมีราคาเปิดตัวพร้อมกระเป๋า 16,900.00 บาทเท่านั้น

OLYMPUS กาญจนาภิเษก กำเนิดจากความร่วมมือของบริษัท โฟโต้ซีสเทมส์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท โอลิมปัส จากประเทศญี่ปุ่น จัดทำกล้องที่ระลึก เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก โดยคณะผู้จัดทำได้เลือกกล้องรุ่น Centurion ซึ่งเป็นกล้องรุ่นใหม่ล่าสุด เป็นกล้องในระบบ APS ใช้ฟิล์ม APS ตัวกล้องเป็นสีทอง ผลิตขึ้นเป็นจำนวนจำกัด [Limited Edition] และมีตราสัญลักษณ์ กาญจนาภิเษก พิมพ์ไว้บนตัวกล้องโดยมีจำนวนผลิตเพียง 500 กล้องเท่านั้น

สาเหตุที่ทาง บริษัทฯ เลือกกล้องรุ่นนี้ ก็สืบเนื่องมาจากฟิล์มในระบบ APS ได้ถูกกำหนดให้ออกวางจำหน่ายทั่วโลกในปี 2539 ซึ่งตรงกับปีแห่งมหามงคลเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีพอดี ทางคณะผู้จัดทำจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ควรเลือกกล้องที่ใช้ฟิล์มในระบบใหม่ และควรเป็นกล้องรุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งยังไม่มีการว่างจำหน่ายในประเทศไทย กล้อง Olympus Centurion รุ่นนี้ ถือว่าเป็นกล้องสำหรับฟิล์ม APS รุ่นที่ดีที่สุดของ Olympus โดยทางบริษัทได้ใช้โอกาสนี้ในการเปิดตัวกล้องรุ่นนี้เป็นครั้งแรกในเมืองไทย

สำหรับรายได้จากการจำหน่ายกล้องรุ่นนี้ ทางสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท โฟโต้ซีสเทมส์ จำกัด จะนำผลกำไรจากการจำหน่ายกล้องดังกล่าวจำนวน 1,000,000.00 บาท นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมทบทุน มูลนิธิชัยพัฒนา

CONTAX กาญจนาภิเษก

ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่ง สำหรับกล้อง CONTAX กาญจนาภิเษก ที่ผมไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปอยู่เลย ทราบแต่ว่า CONTAX ก็เป็นอีกค่ายหนึ่งที่ทำการผลิตกล้องที่มีสัญลักษณ์กาญจนาภิเษกเหมือนกัน 

CONTAX เลือกเอากล้องรุ่น G-1 เป็นกล้องในแบบ Rangefinder ที่อยู่ในความนิยมในขณะนั้น มาผลิตเป็น กล้อง CONTAX กาญจนาภิเษก ผลิตเป็นกล้องทอง มีตราสัญลักษณ์ กาญจนาภิเษก ติดเลนส์ Carl Ziess 45 mm. f2.8 T*

จำนวนที่ผลิต ผลิตออกมาเป็น Limited Edition เพียง 100 กล้องเท่านั้น กล้องจำนวนขนาดนี้ น่าจะหายไปในตลาดกล้องสะสมแล้ว จึงไม่ค่อยได้มีผู้พบเห็นสักเท่าไหร่ ซึ่งรวมทั้งผู้เขียนเองด้วย