เรื่อง+ภาพ : poch

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 251/2018 August

การคมนาคมในกรุงเทพมหานครเมืองที่คนตกท่อนั้น นับวันนี้ช่างน่าปวดหัวจริงๆ นะครับ เมื่อสมัยผมยังเด็กๆ ได้ยินคนบ่นว่ารถติดๆ จนทุกวันนี้ก็ยังติดอยู่ (ไม่ต้องถามว่านานแค่ไหนแล้ว ผมไม่บอกหรอกเอาเป็นว่านานพอสมควรก็แล้วกัน) การเดินทางของชาว กทม. ถ้าไม่นับเอาเราๆ ท่านๆ ที่ขับรถส่วนตัวแล้ว รถไฟฟ้ามหานคร หรือรถไฟใต้ดินก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของชาว กทม. โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ที่จะเบียดเสียดกันจนแน่นไปทุกตู้

ในต่างประเทศเองรถไฟใต้ดินก็ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งของการเดินทางที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันกับบ้านเรา ของต่างประเทศเขามีมาก่อนเราหลายสิบปีจนเส้นทางรถไฟนั้นวิ่งไปทั่วบ้านเมือง ของบ้านเราเองก็กำลังเร่งก่อสร้างต่อขยายให้ไปทั่วบ้านทั่วเมืองเช่นกัน บ้านใครอยู่ใกล้สถานีก็นับว่าโชคดีหน่อย หลังจากทนกับเสียงและรถติดในช่วงก่อสร้างมาพอสถานีเปิดใช้ได้ก็สบายแล้วจริงไหมครับ และในวันนี้ผมจะพาไปดูสถานีแห่งใหม่ที่เขาว่ากันว่าน่าสนใจเพราะมีการตกแต่งที่สวยงาม สถานีนั้นก็คือ สถานีวัดมังกร

สถานีวัดมังกร เป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายใหม่ที่เป็นส่วนต่อขยายช่วงสายสีน้ำเงินส่วนใต้ (หัวลำโพง-หลักสอง) ตั้งอยู่บริเวณถนนเจริญกรุง ใกล้กับวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) โดยสถานีนี้จะเป็นสถานีแรกของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค สถานีวัดมังกร เป็นหนึ่งในสถานีรถไฟฟ้าที่มีตัวสถานีอยู่ใจกลางพื้นที่เมืองเก่าของกรุงเทพมหานครภายในขอบเขตระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา คลองรอบกรุง และคลองผดุงกรุงเกษม โดยแผนงานก่อนหน้านี้ได้ระบุที่ตั้งสถานี และจุดขึ้น-ลงสถานีอยู่ที่ ซอยเจริญกรุง 16 (ตรอกอิสรานุภาพ หรือตรอกเล่งบ๊วยเอี้ย) หรือตลาดใหม่เยาวราช ซึ่งถือเป็นย่านการค้าเก่าแก่ใกล้กับโบราณสถานที่สำคัญคือ วัดมังกรฯ บริเวณที่ตั้งของสถานีวัดมังกรนี้เป็นย่านที่มีวิถีชุมชนเป็นเอกลักษณ์ และเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชาวไทยเชื้อสายจีน ดังนั้นแผนการเวนคืนเพื่อก่อสร้างสถานีบริเวณซอยเจริญกรุง 16 จึงได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากประชาชนส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในแผนเดิมของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ตัดสินใจยกเลิกการก่อสร้างสถานีแห่งนี้ แต่หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็น จึงมีทางออกร่วมกันคือ ปรับเปลี่ยนทางขึ้น-ลงสถานีมาใช้พื้นที่ว่างที่อยู่ใกล้เคียงแทน ซึ่งก็คือพื้นที่รกร้างตรงข้ามวัดมังกรฯ และบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ศิริรามา (ป้ายรถประจำทางวัดมังกรฯ ระหว่างสี่แยกแปลงนาม และห้าแยกหมอมี) เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนโดยจุดศูนย์กลางสถานีอยู่ที่บริเวณสี่แยกแปลงนาม ซึ่งอยู่ถัดออกไปจากซอยเจริญกรุง 16 ประมาณ 200-300 เมตร

นอกจากนี้ ด้วยที่ตั้งสถานีที่เป็นย่านการค้าหนาแน่นบนถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นถนนสายหลักในย่านเมืองเก่า และเป็นถนนที่มีพื้นที่แคบ มีการจราจรคับคั่งตลอดทั้งวัน จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนก่อสร้างเส้นทางและตัวสถานีวัดมังกรฯ อย่างระมัดระวัง โดยเลือกวิธีการก่อสร้างแบบไม่เปิดหน้าดิน เพื่อลดผลกระทบจากการปิดการจราจร

สถานีวัดมังกร มีการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมจีนและสถาปัตยกรรมยุโรป (ที่นิยมเรียกว่าแนว ชิโนโปตุกีส) ซึ่งแนวคิดของการออกแบบก็เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนในย่านนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน บริเวณย่าน เยาวราช ถนนเจริญกรุง วัดมังกรกมลาวาส นับเป็นย่านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีนมายาวนาน โดยหลักสำคัญของการออกแบบในครั้งนี้ได้นำ มังกร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่นำมาซึ่งความสุข ความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง มาเป็นองค์ประกอบหลัก

เมื่อเดินเข้ามาที่สถานี บันไดลงมาด้านในของสถานีนั้น ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจากท้องของมังกร โดยเพดานด้านบนทำการออกแบบเป็นลายคลื่นเหมือนกับเดินรอดใต้ท้องของมังกร สองข้างทางตกแต่งลวดลาย ประแจจีน ประดับภาพมังกรและดอกบัว จากที่วิศวกรและสถาปนิกที่นำชมได้บรรยายให้ฟังนั้น สถานีวัดมังกรแห่งนี้ได้มีการตกแต่งโดยใช้แนวคิดหรือที่มาจาก วัดมังกรกมลาวาส จึงมีการใช้ภาพประดับต่างๆ ในสถานีเป็นภาพของ มังกร และดอกบัว ตามชื่อวัด ส่วนสีแดงที่เห็นนั้นได้มีการเทียบเคียงเฉดสีที่ใกล้เคียงกับสีแดงที่ใช้ภาพในวัด รวมทั้งลวดลายประแจจีน ที่จะพบเห็นตามบริเวณเสาต่างๆ ในสถานี

เมื่อลงมาด้านล่าง จะพบเห็นการตกแต่งสถานีในสไตล์การออกแบบดังที่กล่าวมาแล้วบนเพดานก็มีการออกแบบเป็นฝ้าตารางสีขาวแทนลักษณะของเกล็ดมังกร ภาพของมังกร และดอกบัว ตามชื่อวัดมังกรกมลาวาส นั้นก็ถูกใช้ตกแต่งบริเวณผนังของสถานีที่เป็นช่องสำหรับเปิด-ปิดได้ ซึ่งปกติจะเป็นช่องสำหรับวางตู้ควบคุมไฟ ตามเสาของสถานีนั้นใช้สีแดงและลวดลายประแจจีนเป็นหลักห้องขายตั๋วโดยสารตกแต่งลวดลายประแจจีนสีทอง โดยรวมภายในสถานีนอกจากสีเทาเดิมแล้วก็มีสีแดงและทองเป็นหลัก

ไฮไลท์ที่โดดเด่นของสถานีวัดมังกรแห่งนี้ ก็คือ รูปปั้นมังกร ที่พาดลงมาจากเพดานบริเวณหน้าตู้จำหน่วยตั๋วอัตโนมัติ ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนมังกรกำลังจ้องมองลงมา ดูน่าเกรงขามและสวยงามมาก คาดว่าเมื่อเปิดใช้งานจุดนี้น่าจะเป็นจุดที่ผู้คนมาแวะถ่ายรูปกันมากที่สุด เราเดินต่อไปชั้นล่างบริเวณชานชาลา การตกแต่งจะเป็นในรูปแบบเดียวกับชั้นบนทุกประการ จุดเด่นที่คาดว่าพอนั่งรถไฟมาถึงสถานีวัดมังกรนี้ จะมองเห็นเสาลอยสีแดงเด่นกว่าใคร น่าจะใช้เป็นจุดสังเกตที่ดีของผู้เดินทางไปมาได้ว่ามาถึงสถานีวัดมังกรแล้ว

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วง หัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ มีแผนเปิดให้บริการ 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เปิดเดินรถสายใต้ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง ในเดือนกันยายน 2562 และระยะที่ 2 เปิดเดินรถสายเหนือช่วงเตาปูน-ท่าพระ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ตลอดสายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเส้นทางนี้ มีระยะทางรวม 27 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบยกระดับ 15 สถานีและโครงสร้างรถไฟฟ้าแบบใต้ดิน 4 สถานี ซึ่งเชื่อมต่อแบบวงกลมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน นอกจากนี้ ยังเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอส) ช่วงยศเส-บางหว้า ที่สถานีบางหว้า

สำหรับสถานีวัดมังกร คาดว่าจะมีการทดสอบการเดินรถ และจะเริ่มให้บริการในเดือนกันยายนปีหน้า (2562) ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นจากปกติที่ให้บริการได้วันละ 300,000 คน ก็หวังว่า นอกจากจะเป็นสถานที่ให้ไปถ่ายภาพแห่งใหม่แล้ว พวกเราจะบ่นเรื่องรถติดได้น้อยลงไปบ้างนะครับ…

ขอขอบคุณ ดร.ปริญญา ศิริสารการ

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ผู้ประสานงานการเข้าไปเยี่ยมชมสถานีวัดมังกร