เรื่อง+ภาพ : นพดล…..

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 195/2013 December

คนถ่ายภาพแทบทุกคนต่างล้วนต้องการถ่ายภาพให้ได้ดีเหมือนภาพที่ได้เคยชม นักถ่ายภาพมือใหม่หลายท่านต่างก็ชมชอบภาพถ่ายที่ได้ชม ไม่ว่าจะในงานนิทรรศการภาพถ่าย หรือตระเวนชมภาพในเวปไซด์ต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่นักถ่ายภาพมือใหม่เมื่อได้ชมภาพถ่ายที่สวยงามถูกใจแล้วก็มักจะหยุดอยู่ที่ความพึงพอใจเท่านั้น โดยไม่ได้พิจารณาให้ลึกลงไปอีกว่าภาพนั้นๆ เขาถ่ายภาพกันอย่างไร แน่นอนครับสำหรับท่านที่พิจารณาลึกๆ ลงไปว่าเขาถ่ายภาพนี้กันอย่างไร ก็จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับการพัฒนาการถ่ายภาพ  ลักษณะเช่นนี้ละครับที่ผมเรียกว่า เรียนถ่ายภาพ จาก ภาพถ่าย

ผู้รู้หลายต่อหลายท่าน ล้วนแต่กล่าวกันถึงเรื่องขององค์ประกอบภาพถ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนในการถ่ายภาพ แต่นอกเหนือจากองค์ประกอบของภาพถ่ายแล้ว สิ่งที่จะทำให้ภาพถ่ายมีความน่าสนใจนั้น ยังมีตัวประกอบร่วมอีกหลายประการ อย่างเช่น ทิศทางแสง ลีลาที่มีในภาพถ่าย อารมณ์ของภาพถ่าย ภาพเล่าเรื่อง เป็นต้น อีกประการหนึ่งที่ควรระลึกเสมอว่า เมื่อออกถ่ายภาพ ภาพมีอยู่แล้วในธรรมชาติที่เรามองเห็น อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นหรือไม่เท่านั้น  การเลือกใช้ขนาดเลนส์ที่เหมาะสมจะทำให้เราได้มุมภาพที่น่าสนใจยิ่งขึ้น 

ในที่นี้ผมขอเสนอตัวอย่างสำหรับการเรียนรู้ได้จากภาพถ่าย เพื่อเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนสำหรับการออกไปถ่ายภาพ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

ตัวอย่างที่ 1 เป็นภาพถ่ายสถาปัตยกรรมแกะสลักในสมัยราชวงถัง ที่แกะสลักจากหินภูเขา ที่มีขนาดใหญ่มากทีเดียว การถ่ายภาพในลักษณะนี้ หลายท่านมักจะคอยโอกาสที่ไม่มีผู้คนรบกวนในภาพ แต่ในอีกลักษณะหนึ่งการที่มีผู้คนในภาพบ้างจะเป็นการแสดงเปรียบเทียบขนาดได้ระหว่างภาพแกะสลักเมื่อเปรียบเทียบกันคน แสดงถึงความสูงใหญ่ของสิ่งแกะสลักนั้น ช่วงเลนส์ใช้เลนส์มุมกว้าง 24 มม.

ตัวอย่างที่ 2 เป็นภาพถ่ายกำแพงเมืองจีน โครงสร้างของภาพถ่ายใช้หลักขององค์ประกอบในรูปแบบของ S-Shape ถ่ายภาพโดยใช้เลนส์เทเล 200 มม.

ตัวอย่างที่ 3 เป็นภาพถ่ายภาพวาดบนกำแพง ระหว่างการเดินชมศูนย์ศิลปะแห่งหนึ่งในปักกิ่ง ซึ่งความจริงภาพวาดตามกำแพงที่บ้านเราก็มีเช่นกัน เป็นภาพทางศิลปะบนกำแพงที่น่าถ่ายภาพเหมือนกัน  เลนส์ที่ใช้เป็นเลนส์ซูม 24-105 มม. 

ตัวอย่างที่ 4 เป็นภาพถ่ายระหว่างเดินทางชมศูนย์ศิลปะแห่งหนึ่งในปักกิ่ง  เห็นหุ่นรูปปั้น 2 ตัวเรียงกัน ที่สะดุดตาให้ถ่ายภาพก็คือ ที่ริมกำแพงมีตำรวจยามรักษาการณ์ยืนอยู่ด้วย จึงถ่ายภาพให้เรียงกันทั้งหุ่นและตำรวจยาม เป็นภาพถ่ายในลักษณะที่เรียกว่าล้อเลียนกัน ภาพนี้ถ่ายภาพด้วยเลนส์ซูม 24-105 มม.  ทำให้การจัดการในเรื่ององค์ประกอบทำได้ง่ายขึ้นครับ

ตัวอย่างที่ 5 เป็นภาพถ่ายเมื่อได้ไปชมการแสดงในประเทจีน เลือกการถ่ายภาพด้วยการรอจังหวะ เพื่อให้ได้ลีลาการแสดงได้ภาพในลักษณะที่ไหวๆ แบบเคลื่อนไหว มีทั้งส่วนไหว และ ส่วนที่ชัดในภาพถ่าย การแสดงมีการเคลื่อนที่รวดเร็ว ใช้ความไวชัตเตอร์ที่ 1/60 วินาที ก็สามารถจับภาพนี้ได้แล้วครับเลนส์ที่ใช้ใช้เป็นเลนส์ 70-200 มม. ตั้งความไวแสงที่ ISO 800

ตัวอย่างที่ 6 ภาพถ่ายของ ขอทาน  หน้าร้านอาหารแห่งหนึ่งในปักกิ่ง ในความเป็นจริงขณะถ่ายภาพนี้ มีคนถ่ายภาพกันอยู่หลายคน ซึ่งส่วนใหญ่จะถ่ายภาพออกมาในเชิงภาพแบบ Portrait แต่ผมเลือกที่จะหาส่วนของร่างกายผู้คนที่เดินผ่านมาเป็นส่วนของฉากหน้าส่วนหนึ่ง  เพื่อให้รับกับสายตาที่รอคอยความเมตตา อดใจรอสักนิด รองจังหวะกดชัตเตอร์หน่อย ภาพที่ได้ก็จะมีความแตกต่างจากภาพของผู้อื่น  มีเรื่องราวได้มากขึ้น ถ่ายโดยใช้เลนส์ซูม 70-200 มม.

จะเห็นได้ว่า การศึกษาจากภาพถ่าย  จะทำให้เราสามารถพัฒนาการถ่ายภาพได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญก็คือ จะสร้างให้เราพร้อมที่จะถ่ายภาพได้ในทุกสถานการณ์ครับ