เรื่อง : นพดล

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine ฉบับ 245/2018 February

กว่าที่จะก่อกำเนิดกล้อง Leica ก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการ จนกระทั่งถึงระหว่างปี ค.ศ. 1923-1924 เมื่อ เอิร์นสท์ ไลทซ์ (เพื่อให้อ่านง่ายเข้า ผมขอสะกดตัวชื่อนี้ใหม่ดังนี้ครับ เอิร์น ไลทซ์) ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ เมื่อมีการวางแผนการการผลิตกล้องอย่างจริงจัง แม้ว่าเสียงทัดทานจะปรากฏมีอยู่ ด้วยเหตุผลสำคัญก็คือ ประการที่ 1 ยอดขายของกล้องประเภท Plate ลดลง ประการที่ 2 ก็คือ ชื่อเสียงของการผลิตกล้องถ่ายภาพของ ไลทซ์ นั้นน้อยกว่าของ ZEISS ในขณะนั้น ประการที่ 3 คุณภาพของรูปที่ได้ยังไม่ได้โดดเด่นเท่าคู่แข่ง อาทิเช่น Kodak ซึ่งใช้ขนาดฟิล์มที่ใหญ่กว่า ประการที่ 4 การบรรจุฟิล์มยังเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และประการที่ 5 ประการสุดท้าย Leica ไม่ได้เป็นต้นตำรับการผลิตกล้องที่จะใช้ฟิล์ม 35 มม. เนื่องจากก่อนหน้านี้ก็มีผู้อื่นคิดค้นกรรมวิธีนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จคุณภาพของภาพถ่ายยังไม่น่าพอใจเท่า Leica

อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1924 ถือได้ว่า Leica ได้เริ่มให้กำเนิดและเปิดตลาดกล้อง 35 มม. อย่างเป็นทางการ และในปี 1925 Leica 1 ก็ได้รับการแนะนำเข้าตลาดในงาน Leipzig Spring Fair ณ. เมืองไลซิก

กล้อง Leica I ยุคต้นๆ ติดเลนส์ Elmax 50 มม. f3.5

กล้อง Leica 1 ที่ออกสู่ตลาดในรุ่นแรกนี้ ไม่ปรากฏว่ามีชื่ออยู่บนตัวกล้อง นอกจากจะตียี่ห้อชื่อเฉพาะชื่อของโรงงาน คือ Ernst Leitz Wetzlar กับตัวอักษรย่อ D.R.P (Deutschs Reichs Oatant) เท่านั้น ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากสาเหตุดั้งเดิมที่ บาร์แนค เคยตั้งชื่อว่า Liliput แต่ติดปัญหาทางด้านการจดทะเบียน จึงยังไม่ได้ใส่ชื่อยี่ห้อกล้อง และเรียกกันว่า Barnack Kamera 

ชื่อ Leica ของกล้อง ปรากฏอยู่ในหน้าโฆษณาเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นชื่อเสียงของ บาร์แนค ก็ยังไม่โด่งดังพอ นอกเหนือจากนี้ยังมีการพิจารณาหาชื่อที่เหมาะสมมาใช้กับกล้อง และ เสนอกันให้ใช้ชื่อว่า Wetzlar (เวทสลาร์) แต่ก็มีปัญหา  เป็นชื่อที่ออกเสียงยากในหลายภาษา ดังนั้นชื่อ Leca จึงได้เกิดเสนอขึ้นมาใช้ เพราะออกเสียงง่าย ดังปรากฏในหน้าโฆษณาก่อนหน้าจะเป็น Leca (ดูภาพได้จากตอนที่แล้ว)

ชื่อ Leca นำมาจากการผสมคำระหว่างคำว่า Leitz และ คำว่า Camera มาเป็น Leca 

ในเวลาต่อมาก็ประสบกับปัญหาน่างุนงงอีกเช่นกัน เนื่องจากมีการออกเสียงที่คล้ายคลึงกับ Eca (อ่านว่า อีกา ตามภาษาต่างด้าวนะครับ) ซึ่งเป็นกล้องของฝรั่งเศส 

ดังนั้นท้ายที่สุด ชื่อ Leica (อ่านว่า ไลก้า) ก็ได้รับเลือกให้ใช้เป็นชื่อกล้องอย่างเป็นทางการ

กล้อง EKA ของฝรั่งเศส

รูปลักษณ์ของ Leica I

กล้องในรุ่น Leica 1 ได้รับการเปิดตัวแนะนำเข้าสู่ตลาดด้วยรูปลักษณ์ของกล้องโดยรวมคล้ายกับ Leica O Series  ยกเว้นตำแหน่งขององค์ประกอบ เช่น ช่องมองภาพ และขาเสียบอุปกรณ์ ที่มีขนาดเล็กลง กลไกของชัตเตอร์ได้รับการปรับปรุงตกแต่งมีแป้นสวมที่ดีขึ้น รูปร่างภายนอกและขนาด ยังคงใกล้เคียงกับ Leica O Series ปุ่มกรอฟิล์มได้รับการปรับปรุงให้มีรูปร่างและขนาดที่ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น

เลนส์ Anastigmat

การปรับความเร็วชัตเตอร์ ต้องอาศัยการดึงขึ้นก่อนหมุนเลือกระดับความเร็วชัตเตอร์ต่างๆ การปรับปรุงในลักษณะนี้ คือ ต้นแบบในการปรับใช้เพื่อหมุนเลือกความเร็วชัตเตอร์ที่ยังคงใช้มาถึงยุคหลังๆ (ยุคกล้องฟิล์มนะครับ ไม่ใช่กล้องดิจิตอล)  และระบบนี้ของ Leica ยังคงใช้มาโดยไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงรุ่น Leica IIIg

กล้องรุ่นแรกจำนวน 500 กล้อง ได้รับการผลิตออกสู่ตลาดในปี ค.ศ. 1925 สามารถปรับความเร็วชัตเตอร์ได้ตั้งแต่ 1/25, 1/40, 1/60, 1/100, 1/200 และ 1/500 วินาที ต่อมาจึงมีการปรับปรุงความไวชัตเตอร์เป็น 1/20, 1/30, 1/40, 1/60, 1/100, 1/200, 1/500 วินาที และเพิ่มชัตเตอร์ตั้งเวลาถ่ายภาพ Time  Exposure โดยใช้สัญลักษณ์ Z

กล้อง Leica I ติดเลนส์ Elmar

ในปีแรกของการผลิตกล้อง เลนส์ที่ติดตั้งมากับกล้อง จะมีแตกต่างกัน 2 แบบ คือ เลนส์ Anastigmat และตามด้วย Elmax หลังจากนั้นในปี 1926 เลนส์ ELMAR คือเลนส์มาตรฐานที่ติดมากับกล้อง Leica ด้วยขนาดความยาวโฟกัสของเลนส์ 50 มม. ขนาดรูรับแสง f3.5 เลนส์ ELMAR ที่ติดตั้งมาในปี 1926 สามารถปรับระยะโฟกัสได้ใกล้สุดที่ 1 เมตร หลังจากปี 1926  เลนส์ ELMAR บางรุ่นได้รับการพัฒนาให้สามารถปรับระยะชัดได้ใกล้สุดถึง 20 นิ้ว จากวัตถุ

ข้อน่าพิจารณา สำหรับนักสะสมกล้อง เผื่ออาจจะบังเอิญได้พบเห็นกล้อง Leica รุ่นนี้ติดเลนส์ Anastigmat ราคาสำหรับนักสะสมคะเนกันว่า (ราคาที่ปรากฏในปี 1987 ราคาปัจจุบันไม่ทราบครับ) 300,000.00 บาทขึ้นไป 

ในระยะเวลาแห่งการผลิตกล้องรุ่นนี้ในช่วงท้ายๆ ได้ปรากฏเลนส์รุ่นใหม่ที่แนะนำออกสู่ตลาดชื่อ HEKTOR ด้วยขนาด 50 มม.เหมือนกัน มีช่องรับแสง f2.5 ซึ่งเข้าใจกันว่ามีประมาณ 1,000 กล้องที่ติดตั้งเลนส์ HEKTOR

กล้อง Leica I ติดเลนส์ Hektor

กล้อง Leica 1 ในระยะเริ่มต้นประมาณ 17,000 กล้อง จะใช้ปุ่มชัตเตอร์รูปร่างดอกเห็ด หลังจากนี้ปุ่มนี้ได้รับการปรับปรุง ให้มีรูเกรียว สำหรับติดตั้งสายลั่นไกชัตเตอร์ 

Leica 1 ที่ผลิตขึ้นในปีแรกที่แน่นอนคือ จำนวน 869 กล้อง โดยเริ่มตั้งแต่ No. 131 (บางแห่งกล่าวว่าถึง 1,000 กล้อง) ได้รับการตอบสนอง ได้รับความนิยมจากตลาดอย่างกว้างขวางรวดเร็วดูได้จากจำนวนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือเมื่อสิ้นสุดปี 1927 จำนวนการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 5,500 กล้อง และในปี 1928 ผลิเตมากกว่า 13,000 กล้อง ตาม Serial Number เมื่อสิ้นสุดในปี 1929 ก็ได้ผ่าน Serial No. 21000 นี่เป็นเพียงความสำเร็จในระยะเริ่มต้นของ Leica เท่านั้น

การพัฒนาปุ่มปรับของ กล้อง Leica I ตั้งแต่แหวนปรับความไวชัตเตอร์ แหวนหมุนเคลื่อนฟิล์ม ปุ่มกดชัตเตอร์ และปุ่มกรอฟิล์มกลับ

ในปี 1930 ยอดการผลิตของ Leica ก็ได้พุ่งถึง Serial No.60,000 ในจำนวนนี้ทั้งหมดยังเป็นที่รู้จักเรียกขานในหมู่ชาวอมริกันว่า Model A ซึ่ง Leica ให้ความสำคัญเป็นอย่างสูงโดยเฉพาะสำหรับตลาดอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด  จำนวนกล้องทั้งหมดสำหรับที่รู้จักกันในอเมริกา คือถึง No. 54,000 ยังถือเรียกขานเป็น Model A สำหรับกล้อง Leica ต่อจาก No.5400-60,000 เรียกขานกันว่า Model B

จากปี 1925-1930 ยอดขายของกล้อง Leica ก็พุ่งขึ้นถึง No. 60,000 ซึ่ง Serial No. ของกล้องที่ผลิตจากโรงงานเรียงกันมาตลอด 

กล้อง Leica I Model B ติด เลนส์แบบ Compur ชัตเตอร์อยู่ที่เลนส์

จากที่กล่าวมาแล้วว่า ในรุ่นแรกๆ ของกล้อง Leica จะติดเลนส์ Anastigmat ต่อมาก็มีการพัฒนาเลนส์ในรุ่น ELMAR และ HEKTOR ในกล้องจำนวนเหล่านี้ปรากฏมีความแตกต่างกัน และ เป็นที่นิยมต่างกันไป ดังนั้นสำหรับตลาดในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Leica กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น จึงมีการเรียกแยกประเภทของกล้อง Leica รุ่นนี้ออกเป็น 3 แบบด้วยกัน คือ Leica กลุ่มแรกๆ จัดเป็น Leica I Model A ซึ่งมีลักษณะเด่นที่ระบบชัตเตอร์ที่มีก้านตีรูปร่างคล้ายไม้ตีฮ็อกกี้ กลุ่มที่ 2 จัดเป็น Leica I Model B ซึ่งมีลักษณะรูปร่างแบบเดียวกับ Leica I Model A แต่ที่ต่างกันกับรุ่น A ก็คือ เป็น Compur Shutter ความไวชัตเตอร์ติดตั้งอยู่ที่เลนส์ ต้องตั้งที่เลนส์ และกลุ่มที่ 3 ในช่วงหลังได้รับแรแนะนำออกสู่ตลาดในจำนวนไม่มากนัก คือ เป็น Model C เป็นแบบที่สามารถสับเปลี่ยนเลนส์ได้ เป็นแบบเลนส์เกลียว ซึ่งเราจะกล่าวในโอกาสต่อไป

กล้อง Leica I Model B ติด เลนส์แบบ Compur ชัตเตอร์อยู่ที่เลนส์

แหวนปรับความไวชัตเตอร์บนตัวกล้องของ กล้อง Leica I Model A

ทีนี้เราก็จะมากล่าวถึงกล้องรุ่นพิเศษในลักษณะของกล้องสะสมกันละครับ นั่นคือกล้อง Leica ใน Model Luxus จุดเด่นสำคัญของกล้อง Leica I Model Luxus ซึ่งมีผลิตขึ้นมาเพียงจำนวนจำกัด เพียง 115 กล้องเท่านั้น ตั้งแต่ No. 34803-34817 รูปร่างหน้าตาของ Leica I Model Luxus ปกติทั่วไปก็เหมือน Leica I  

แต่ที่แตกต่างกันก็คือ Model Luxus ตัว Body ทำด้วยทองคำ หุ้มด้วยหนังตะกวด สวยเด่นล้ำอลังการงานสร้างเลยทีเดียว น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานกล้องทองสำหรับตลาดสะสมในเวลาต่อมา  อีกหลายต่อหลายยี่ห้อ  แม้แต่ Leica เองก็ยังทำมาถึงปัจจุบันนี้ ต้องสั่งกันอย่างเป็นทางการเลยทีเดียว

Leica I Model Luxus ตัว Body ทำด้วยทองคำ หุ้มด้วยหนังตะกวด

เป็นที่น่าสังเกตว่า กล้อง Leica I Model Luxus No.9781 ที่โชว์อยู่ที่ Wetzlar นั้น เข้าใจว่าน่าจะเป็นต้นแบบของกล้อง Luxus ในเวลาต่อมา และจำนวนจริงที่บันทึกไว้ที่ Wetzlar คือจำนวน 87 กล้อง ที่มีการผลิต จากการศึกษาและวิเคราะห์  แล้วเป็นที่เข้าใจว่าการผลิตของกล้อง Luxus จำนวนจริงน่าจะใกล้ 115 กล้อง 

นอกเหนือจากกล้อง Model Luxus ยังมีการผลิตกล้อง Leica 1 หุ้มหนังอื่นๆ อีก แต่ไม่ได้เป็นจุดเดิม เนื่องจากใช้ Body เป็นกล้องปกติ ไม่ใช่ทำด้วยทองคำ 

เป็นที่ปรากฏในตลาดประมูลกล้อง สำหรับกล้อง Model Luxus ปรากฏราคาประมูลประมาณในปี 1987 ต่ำสุดก็ราคาอยู่ที่ 800,000 บาท ขึ้นไปจนถึงหลักล้าน สำหรับกล้อง Leica I Model Luxus เพียง 1 ตัว ซึ่งขึ้นกับสภาพของกล้องด้วย นับถึงวันนี้ นั่นคือราคาเมื่อ 30 ปีที่แล้วครับ…ราคาวันนี้…!!!!

สิ่งหนึ่งที่ ที่ Leitz ได้จัดปรับปรุงเพื่อความสวยงาม ได้แก่การพัฒนารหัสตัวอักษร 5 ตัว ซึ่งในครั้งแรกจัดขึ้นเพื่อความสะดวกสำหรับการทำแคตตาล็อค และยังคงมีใช้ต่อมาถึงปี 1960 จึงใช้รหัสตัวเลขแทน แต่ลักษณะของอักษรทั้ง 5 ตัว ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ Leica เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสินค้าในกลุ่ม อย่างเช่น กล้อง 1 ติดตั้งเลนส์ ELMAR จะใช้ LEANE แต่ถ้าพร้อมกระเป๋าหนัง จะใช้ code ว่า ETRUX หรืออย่าง Leica Luxus จะใช้ Code ว่า LELUX เป็นต้น

พบกันใหม่ ฉบับหน้าครับ กับ เรื่องราวของ Leica ที่คุณอาจจะยังไม่รู้…ตอนที่ 4 ครับ

ย้อนไปดูตอนที่ 1 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน (กำเนิดกล้อง Leica)

ย้อนไปดูตอนที่ 2 ได้ลิงค์ข้างล่างนี่

Leica…ตำนานกล้องที่ช่างภาพใฝ่ฝัน ตอน 2 (ปอกเปลือก…UR-CAMERA)