เรื่อง+ภาพ : poch

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 250/2018 July

ในทุกวันนี้การถ่ายภาพส่งขายออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมมากในกลุ่มนักถ่ายภาพชาวไทย จนพอจะบอกได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีช่างภาพส่งภาพขายออนไลน์มากที่สุดในโลก และจากข้อมูลบอกไว้ว่า 15% ของภาพที่ขายอยู่ในโลกออนไลน์มาจากประเทศไทย ในจำนวนนี้มีทั้งช่างภาพที่ประสบความสำเร็จ และช่างภาพที่กำลังสร้างพอร์ทงาน รวมไปถึงช่างภาพที่เริ่มถอดใจปะปนกันอยู่ครับ

สิ่งที่เรามักจะพบอยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับภาพที่เราส่งขายไมโครสต๊อกนั้นก็คือ ยอดโหลดที่ไม่เดินหน้าไปสักเท่าไหร่ทั้งๆ ที่หลายภาพเป็นภาพที่สวยงาม (อย่างน้อยก็ในสายตาของเจ้าของภาพ) แต่ทำไมกันนะที่ไม่มีใครโหลดไปใช้เสียที ปัญหาส่วนมากก็คือเรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพ และไม่ใช่ว่าการจัดองค์ประกอบภาพที่เราทำกันอยู่นั้นจะใช้ไม่ได้แต่มันกลับเป็นเหตุผลที่ประหลาดกว่านั้น

ในการจัดองค์ประกอบภาพทั่วไปนั้น เราใช้หลักการจัดองค์ประกอบตามหลักศิลปะ หรือหลักการที่เราเรียนรู้กันมาเช่น เส้นนำสายตา จุดตัดเก้าช่อง กฎสามส่วน ฯลฯ แต่สำหรับการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อส่งภาพขายแบบไมโครสต๊อกนั้น เราอาจจะไม่ได้เน้นถึงความสมบรูณ์สวยงามของภาพตามหลักศิลปะไปเสียทั้งหมด แต่เราจะมุ่งเน้นไปที่การนำภาพนั้น ไปใช้งานในด้านต่างๆ

หนึ่งในสาเหตุที่ช่างภาพหลายคนขายภาพของตนเองไม่ได้นั้น จะตกใจหรือไม่ถ้าจะบอกว่ามาจากการที่คุณถ่ายภาพได้ดีเกินไป! ถ้าเราเข้าไปดูภาพต่างๆ ที่ขายดีในเว็บไซด์อย่าง Shutterstock เราจะพบว่าภาพถ่ายที่ขายดีจนติดอันดับเหล่านั้นไม่ใช่ภาพที่สมบรูณ์แบบแต่อย่างใด แต่จะมีความแตกต่างจากภาพทั่วไปโดยเฉพาะการวางองค์ประกอบ แบบที่เรียกว่า Copy Space

Copy Space หรือบางทีก็เรียก white space คือ พื้นที่ที่เราจะเว้นว่างเอาไว้ในภาพ โดยวาง Subject หลักของเราเอาไว้มุมใดมุมหนึ่งของภาพก็เพียงพอแล้ว การเว้นพื้นที่ว่างนี้ก็ไม่ใช่อะไร ก็เพื่อให้เอาไว้ใส่ Text หรือข้อความต่างๆ นั่นเอง โดยเฉพาะคนที่ต้องการจะดาวน์โหลดภาพของเราไปใช้งานนั้น จะต้องนำภาพของเราไปทำงานต่อ เช่น เป็นพื้นหลัง ทำโปสการ์ด เป็นภาพประกอบ ฯลฯ หรือแม้แต่การเว้นไว้ใส่โลโก้ ดังนั้นแล้วการจัดวางองค์ประกอบของภาพเพื่อส่งขายไมโครสต๊อกจึงต้องมีการคำนึงถึง Copy Space ด้วย ภาพถ่ายที่จัดวางองค์ประกอบแบบ Copy Space นั้นอาจจะดูเป็นภาพที่แปลกตาและไม่สวยงามอย่างที่เราทำความเข้าใจมาในการถ่ายภาพทั่วๆ ไป 

ภาพขายดีในหมวดภาพ food

ภาพขายดีในหมวดภาพ Landscape

ภาพขายดีในหมวดภาพเด็ก

ภาพขายดีในหมวดภาพไอศกรีม

ในเรื่องของการจัดวางองค์ประกอบแบบ Copy Space นั้นเราสามารถดูตัวอย่างของภาพที่ขายดีติดอันดับ 100 ภาพแรกได้จากในเว็บไมโครสต๊อกต่างๆ เช่น Shutterstock โดยวิธีง่ายๆคือการเช็คจากคีย์เวิร์ดภาพขายดีเช่น Flower หรือ Landscape เราก็จะพบภาพที่ติดอันดับภาพขายดีที่มีการจัดองค์ประกอบที่เว้นพื้นที่ว่างเอาไว้สำหรับใช้งานมากมาย ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเกือบทั้งหมดจะไม่ได้ใช้องค์ประกอบที่เราทำกันไม่ว่าจะเป็นการวางวัตถุไว้กลางภาพ จุดตัดเก้าช่อง หรือการใช้เส้นนำสายตา

ถ้าจะสรุปหลักการขององค์ประกอบแบบเว้นที่ว่างหรือ Copy Space นั้น ให้นึกถึงการนำภาพเหล่านั้นไปใช้งานในรูปแบบต่างๆ ถ้าเราส่งภาพที่อะไรๆ ก็แน่นไปหมดเต็มภาพ เราจะใส่ข้อความต่างๆ ตรงไหน จริงไหมครับ ดังนั้น Spece ที่โล่ง เรียบง่าย มีที่ว่างเหลือให้ใช้ประโยชน์จึงตอบโจทย์มากกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย

ที่น่าระวังที่สุดในการจัดองค์ประกอบภาพเพื่อส่งไมโครสต๊อกนั้นคือการวางวัตถุไว้กลางภาพ แม้ว่าเราจะไดคัทวัตถุมาไว้บนฉากขาวแล้วนั้นก็ตาม การที่เราวางวัตถุไว้กลางภาพนั้นลูกค้าที่จะซื้อภาพของเราอาจจะไม่ต้องการทำอะไรกับภาพมากนักซึ่งจะต้องเพิ่มขั้นตอนการทำงาน ดังนั้นถ้าเราจัดวางวัตถุเอาไว้ส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือมุมใดมุมหนึ่งไปเลย ก็จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกภาพของเราง่ายขึ้น

แม้ว่าภาพที่จัดองค์ประกอบแบบเว้นพื้นที่ว่างอย่าง Copy Space จะเป็นรูปแบบที่ขายดีในไมโครสต๊อกต่างๆ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าภาพอื่นๆ จะทำยอดขายให้เราไม่ได้ เพราะแต่ละภาพก็มีเนื้อหามีลักษณะการนำไปใช้ที่แตกต่างกันออกไป และปัจจัยที่ทำให้ภาพนั้นขายดียังมีอีกมากไม่ว่าจะเป็น Idea, Story หรือ Concept สิ่งสำคัญคือหัวใจของการทำภาพไมโครสต๊อกก็คือ “ทำภาพที่โลกต้องการ ไม่ใช่เราต้องการ” ดูว่าภาพที่ติดอันดับขายดีนั้นเป็นแบบไหน สิ่งที่เราต้องทำคือ สร้างงานที่คุณภาพดี หรือใกล้เคียง และทุกครั้งที่คิดถ่ายภาพส่งขาย ควรเปิดดูในเว็บก่อนว่าภาพที่เรากำลังจะถ่ายนั้นคนอื่นเค้าถ่ายกันแบบไหน ภาพลักษณะไหน แบบไหนถึงจะเป็นภาพขายดี การค่อยๆ ศึกษาและมีวินัยในการส่งภาพก็จะทำให้เราประสบผลสำเร็จได้ไม่ยากครับ

แม้ว่าการจัดองค์ประกอบแบบพื้นที่ว่างนี้จะเน้นที่การใช้งานกับภาพไมโครสต๊อก แต่เชื่อไหมครับ การวางองค์ประกอบแบบนี้มันช่างคล้ายงานศิลปะที่เราคุ้นเคยกันดี อย่างมินิมอล นั่นเอง และนั่นก็หมายความว่ามันยังนำไปใช้งานได้อีกหลากหลายจริงไหมครับ…