เรื่อง+ภาพ : ISO 9000….

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 251/2018 August

ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ได้ร่วมถ่ายภาพในโครงการ First Portrait of My Live…ของมูลนิธิภาพถ่ายแห่งประเทศไทย ด้วยการถ่ายภาพผู้สูงอายุ และทำการอัดขยายภาพถ่ายใส่กรอบ มอบให้กับผู้สูงอายุ กำหนดไว้ว่าจะพยายามถ่ายภาพ และส่งมอบภาพให้ได้ถึง 1,000 คน

ในการถ่ายภาพครั้งนี้ ทีมงานได้จำลอง Studio ถ่ายภาพเคลื่อนที่ไปยังที่ต่างๆ จัดไฟถ่ายภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่ได้ทั้งแสง และ สีที่ดีสำหรับภาพที่จะส่งมอบให้กับผู้สูงอายุ ก็ขอถือโอกาสนำเรื่องการจัดไฟสำหรับการถ่ายภาพ Portrait มาฝาก

สำหรับการถ่ายภาพในกิจกรรมครั้งนี้  ได้เลือกการถ่ายภาพด้วยการใช้ไฟ Studio Flash เพื่อให้สามารถควบคุมในเรื่องของสีภาพให้ตรงตามความเป็นจริง และควบคุมในเรื่องของความคมชัดและความชัดลึกของภาพให้ได้ตามต้องการ ด้วยการกำหนดหัวไฟที่จะใช้ สำหรับการจัดไฟ เป็น ไฟ 3 ดวง

ผังการจัดไฟ

จากภาพผังไฟ ทางทีมงานได้กำหนด  ฉากสำหรับการถ่ายภาพ เป็นฉากผ้าเพ้นท์  ซึ่งสามารถนำออกใช้งานนอกสถานที่ได้สะดวก ติดตั้งง่าย ฉากผ้าที่เลือก กำหนดเลือกเป็นฉากที่มีโทนสีไปทางน้ำตาลเข้ม  เพื่อเน้นตัวแบบให้ลอยเด่น 

สำหรับการจัดแสงในการถ่ายภาพ ใช้หัวไฟ 3 หัว สำหรับการจัดแสงครั้งนี้ โดยกำหนดดังนี้

หัวไฟดวงที่ 1 กำหนดให้เป็นหัวไฟหลักหรือจะเรียกว่า Main Light บางทีก็เรียกว่า Key Light ก็ได้ หัวไฟดวงนี้ กำหนดไว้ให้ส่องเข้าทางด้านข้าง การที่จะให้หันมุมข้างเท่าไรนั้น ก็ขึ้นกับความต้องการของช่างภาพบางท่านก็อาจจะส่องเข้าหาแบบเป็นมุม 45 องศาบ้าง ก็ตามที่ช่างภาพอยากได้ผลของแสง

ในที่นี้ เลือกกำหนดให้ไฟหลัก ส่องเข้าทางด้านข้างของแบบ ทางด้านขวามือ (ในภาพที่ 1 และ 2) เกือบ 90 องศาของแบบ  เพื่อเพิ่มมิติของตัวแบบให้เด่นชัด และช่วยเน้นแสงบนเส้นผมไปในเวลาเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จัดไฟสำหรับส่องผมโดยเฉพาะ

หัวไฟดวงที่ 2 กำหนดให้เป็นไฟ ลบเงา หัวไฟดวงนี้ จัดไว้ทางด้านซ้าย (ดูในภาพผังไฟประกอบ) ทำหน้าที่ในการลดเงามืดจากหัวไฟดวงแรก หรือ จะบอกว่าช่วยเพิ่มความสว่างบนตัวแบบในส่วนที่มืดก็ว่าได้ แต่สิ่งที่ควรทำความเข้าใจก็คือว่า ความสว่างของไฟลบเงานั้น จะตั้งกำลังความสว่างที่ต่ำกว่าไฟหลัก เพื่อให้ส่วนของมิติในภาพยังคงอยู่

ในการนี้สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ การวัดแสง ส่วนที่เป็น ไฟหลัก จะมีความสว่างมากกว่า ไฟลบเงา เสมอ แต่จะสว่างกว่ากันมากน้อยเท่าใดนั้น ก็ขึ้นกับความต้องการของช่างภาพ ที่ต้องให้ความเปรียบต่างมากน้อยเท่าใดที่นิยมกันก็จะอยู่ระหว่าง 1/3 – 1 สต็อป ซึ่งให้ผลบนภาพถ่ายได้ถูกใจผู้ชมส่วนใหญ่ 

จากภาพถ่าย ในภาพที่ 3 เป็นภาพถ่าย  จากไฟดวงเดียว คือ ไฟหลัก ซึ่งเป็นแสงจากทางด้านขวามือ จะพบว่า ภาพมี Contrast ที่ค่อนข้างสูง ความสว่างไล่จากด้านขวามือ ในขณะที่ส่วนด้านข้างจากซ้ายมือออกไปทางมืดกว่า 

จากภาพถ่าย ในภาพที่ 4 เป็นภาพถ่าย  จากไฟ 2 ดวง โดยที่มีไฟดวงที่ 2 ช่วยลบเงาด้านซ้ายมือ เพิ่มความสว่างด้านซ้ายมือของภาพ จะพบได้ว่า Contrast ของภาพลดลง  ความสว่างบนตัวแบบโดยรวมสว่างมากขึ้น

สิ่งที่จะเป็นคำถามของหลายท่าน ก็คือความสว่างของแสงจากไฟทั้งสองดวง คือ ทั้งจากไฟหลัก และไฟลบเงา ควรสว่างเท่าใดจึงจะดี คำถามนี้ ผมขอเรียนดังนี้ว่า คงไม่มีการกำหนดตายตัวครับ ทั้งนี้ขึ้นกับความต้องการของช่างภาพ ว่า….ต้องการให้ผลของภาพถ่ายออกมาเป็นอย่างไร ทั้งนี้ยังขึ้นกับบุคลิกของตัวแบบอีกด้วย

อย่างเช่น ถ้าช่างภาพต้องการเน้นบุคลิกที่ดูมีความแข็งแกร่ง ตัวอย่างในในภาพที่ 3 ซึ่งใช้เพียงไฟดวงเดียว ก็อาจจะบอกว่า น่าพอใจแล้ว แต่สำหรับผู้ชมภาพส่วนหนึ่ง ก็อาจจะบอกว่ามืดไป การกำหนดไฟลบเงาให้มากน้อยเท่าใดนั้น จึงขึ้นกับความต้องการของช่างภาพ ซึ่งสามารถควบคุมได้ง่ายด้วยการลดกำลังไฟของ หัวไฟดวงที่ 2 ที่กำหนดไว้ให้เป็นไฟลบเงาครับ

หัวไฟดวงที่ 3 ไฟส่องฉาก ถ้านับความสำคัญของไฟส่องฉาก ก็ขึ้นกับความต้องการของช่างภาพอีกนั่นแหละ ในฉากเดียวกัน  จากสภาพที่ทำงานครั้งนี้ ไฟส่องฉาก ถ้าไม่มี จะพบว่า ฉากหลังค่อนข้างไปทางมืด เหมือนใช้งานกับฉากดำเลยทีเดียว ไฟส่องฉากจะช่วยให้รายละเอียดในฉากเพิ่มขึ้น ซึ่งความสว่างของฉากหลัง สามารถควบคุมให้สว่างมากน้อย ตามความต้องการของช่างภาพได้ด้วยการปรับเพิ่มหรือลดกำลังไฟบนหัวไฟแฟลช 

การถ่ายภาพ

ในการถ่ายภาพสำหรับบุคคลทั่วไป สิ่งหนึ่งที่แตกต่างไปจากการถ่ายภาพนางแบบ ก็คือ ถ้าถ่ายภาพนางแบบนั้น นางแบบส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์การถ่ายภาพ สามารถโพสท์ท่า รวมทั้งส่วนใหญ่ก็จะรู้มุมการถ่ายภาพ ทำให้ช่างภาพสามารถสั่งงานกำหนดมุมภาพได้ง่าย

แต่กับการถ่ายภาพบุคคลทั่วไป สิ่งที่จะพบเสมอก็คือ อาการเกร็ง ยิ้มยาก โพสท์ท่าไม่เป็น ช่างภาพจึงต้องคอยกำกับการถ่ายภาพให้ได้มุมภาพ บุคลิก และองค์ประกอบที่เหมาะสมสำหรับภาพถ่าย 

สำหรับการถ่ายภาพในกิจกรรมครั้งนี้เนื่องจากเป็นการถ่ายภาพกับผู้สูงอายุจำนวนมาก มีจำนวนกันตั้งแต่ 30-40 ท่าน จนถึง 100 ท่าน บางสถานที่มีถึง 200 ท่าน ถ่ายกันทั้งวันเลยทีเดียว ดังนั้นการจัดแสงสำหรับการถ่ายภาพ จึงต้องจัดแสงไว้ให้สามารถถ่ายภาพแบบได้ทั้งการ หันซ้าย หรือหันขวา เพื่อประหยัดเวลาในการถ่ายภาพ

แต่ถ้าเป็นการจัดแสงสำหรับการถ่ายภาพแบบเพียงไม่กี่คน ก็สามารถปรับทิศทางแสงได้มากตามความต้องการของช่างภาพ  เพื่อให้ได้ภาพตามที่ต้องการเฉพาะๆ ได้เลย