เรื่อง+ภาพ : ISO 9000

บทความนี้มาจาก Camerart Magazine 250/2018 July

เรื่องการถ่ายภาพ นก เป็นอีกการถ่ายภาพ ที่หลายต่อหลายท่านอยากจะถ่ายกัน ยิ่งเมื่อได้เห็นภาพถ่ายงามๆ ของนกนานาชนิด ยิ่งเพิ่มความต้องการที่จะถ่ายนกกันทั้งนั้น มีหลายท่านที่มีความพยายามในการจะออกไปถ่ายภาพนกกัน แต่ก็อีกนั่นแหละ มีหลายท่านที่ถอดใจกันไปเลยเมื่อคิดว่าอยากจะถ่ายภาพนก นั่นคือ ตั้งแต่เรื่องกล้องและอุปกรณ์ รวมทั้งกระบวนการจะไปถ่ายนก ฟังเขาว่าก็ดูจะยุ่งยากจนถอดใจกันไปเลย

เคล็ดไม่ลับ วันนี้ก็ขอนำเคล็ดไม่ลับกับการถ่ายนก นำมาบอกเล่าให้เพื่อนนักถ่ายภาพฟังกัน เผื่อถ้าท่านอยากจะถ่ายภาพนกแล้วละก็ ขอบอกว่า ไม่มีอะไรลึกลับมากมายกับการถ่ายภาพนกหรอกครับ ผมอยากจะบอกว่าความเข้าใจในเรื่องการถ่ายภาพ เป็นสิ่งเริ่มต้น อุปกรณ์เป็นสิ่งตามมา รู้แหล่งที่มีนก หรือถ้ามีผู้ชี้เป้ายิ่งดี และประการสุดท้าย การ Process ภาพเบื้องต้น เพียงเท่านี้ ผมก็เชื่อว่า ท่านก็จะเป็นผู้หนึ่งที่ถ่ายภาพนกได้ จากการที่ CAMERART จัดแนะนำการถ่ายนก มาหลายปี ในช่วงเวลากิจกรรมประจำปีใหม่ ได้แนะนำการถ่ายภาพนกมาก็หลายรอบ ส่วนใหญ่ก็สามารถถ่ายภาพนกได้อย่างสนุกสนาน และได้ภาพที่น่าพึงพอใจกันเลยทีเดียว เรามาเริ่มต้นกันเลยก็แล้วกัน

ปัญหาของการถ่ายภาพนก

ถ้าคิดจะถ่ายนก สิ่งแรกที่ควรทำความเข้าใจก็คือ นกบินได้ บินสูง มีความว่องไว อยู่ระยะไกล มีความตื่นตัวสูง และนกหลายชนิดที่สายตามองได้ไกลมาก ดังนั้น การถ่ายภาพนก ก็ต้องคิดแก้ปัญหาเหล่านี้ ตั้งแต่การจะไปถ่ายนก เสียงที่จะทำให้นกตกใจบินหนีหาย เวลาที่นกมักจะออกหากิน ช่วงเช้า สาย และบ่ายถึงเย็น การแต่งกายให้กลมกลืนกับธรรมชาติเป็นปัจจัยหนึ่งที่ไม่ทำให้นกบินหายไปเสียก่อน

แต่อย่างไรก็ตามนกส่วนใหญ่ก็อยู่ในระยะที่ค่อนข้างไกลอยู่ดี เลนส์ที่ใช้ถ้าได้เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสระดับเลนส์ถ่ายไกล จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพนก ความไวชัตเตอร์ที่ใช้ ต้องใช้ความไวชัตเตอร์ที่ค่อนข้างสูงถ้าจะจับจังหวะการบินการขยับตัวของนก เมื่อต้องใช้ความไวชัตเตอร์สูงๆ ปัญหาตามมาก็คือ สภาพแสง 

สิ่งเหล่านี้  คือ  ปัจจัยขั้นพื้นฐาน  ที่จะทำให้ท่านสามารถแก้ปัญหาได้เมื่อต้องการจะไปถ่ายภาพนก

 

กล้อง และ เลนส์

หลายท่านถอดใจในเรื่องนี้เหมือนกัน  ด้วยความเข้าใจที่ว่า ต้องใช้กล้องรุ่น Top และเลนส์ Super telephoto จึงจะถ่ายนกได้คำตอบ แบบฟันธงเลยว่า ไม่จำเป็นเสมอไป ถ้ามีกล้องรุ่น Top และเลนส์ Super telephoto ก็ดีอยู่ละครับ แต่ถ้าไม่มี ลองพิจารณากล้อง และเลนส์ที่เรามี ผมเคยได้ลองใช้กล้องรุ่นเล็กระดับเริ่มต้น พร้อมทั้งเลนส์ธรรมดา ลองถ่ายนกดู ก็สามารถถ่ายได้ครับ แต่ก็ต้องดูขนาดเลนส์เหมือนกัน กล้องถอดเปลี่ยนเลนส์รุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ก็ถ่ายได้ครับ แม้ว่าจะไม่รวดเร็ว เหมือนกล้องระดับโปร ใจเย็นสักนิด ก็ถ่ายได้ครับ 

เลนส์ เป็นตัวน่าพิจารณา เลนส์ที่ใช้ควรมีขนาดอย่างน้อย 70-200 มม. ถ้าได้ 70-300 มม. ก็ดีขึ้น ยิ่งถ้าใช้กับกล้องที่มีเซ็นเซอร์แบบ 4/3 หรือ แบบ APS-C ที่เป็นตัวคูณ ก็จะได้ช่วงเลนส์ที่ยาวขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าสามารถมีเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสมากกว่าที่กล่าวมาก็ยิ่งเป็นสิ่งดีที่จะมีโอกาสได้ภาพนกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นครับ

การปรับตั้งกล้อง

เรื่องสำคัญก่อนการถ่ายภาพนก คือ การปรับตั้งระบบการทำงานของกล้องครับตั้งแต่

  1. ตั้งระบบโฟกัสภาพ เป็นระบบโฟกัสแบบต่อเนื่อง AF-C ถ้ากล้องมีระบบ โฟกัสติดตามวัตถุ ก็ตั้งแบบโฟกัสติดตามวัตถุหรือจะเป็นแบบ Auto ก็ได้ [AF-C Auto] จะทำให้มีโอกาสได้ภาพนกชัดมากขึ้น
  2. ตั้งค่าความไวแสงให้สูง ในการถ่ายภาพนก เราใช้ความไวชัตเตอร์ค่อนข้างสูง สภาพแสงคือสิ่งที่ทำให้ไม่สามารถเร่งความไวชัตเตอร์ให้สูงได้ตามต้องการ ความไวแสงที่ควรใช้ ขนาด ISO 400-1600 หรือจะตั้งเป็น ISO Auto เลยก็จะสะดวกขึ้น ถ้าจะฝึกถ่ายนก อย่าเพิ่งไปกังวลกับ Noise
  3. ความไวชัตเตอร์ที่ควรใช้ ถ้าถ่ายภาพนกเกาะนิ่งๆ ความไวชัตเตอร์ขนาด 1/250 วินาที ก็ไม่เป็นปัญหาหรอก แต่ถ้าจะถ่ายนกบิน หรือ นกมีลีลาการโผ ขอแนะนำว่า ความไวชัตเตอร์ที่ควรใช้ ตั้งแต่ 1-500 -1/2000 วินาที ขึ้นกับความเร็วของนก และความต้องการของผู้ถ่าย ถ้าต้องการจังหวะที่นกขยับปีกบิน ความไวชัตเตอร์ที่ 1/1000-1/2000 คือความไวชัตเตอร์ที่เหมาะสมเลยครับ
  4. ระบบถ่ายภาพที่ใช้งาน ถ้าคุณถนัดระบบถ่ายภาพอัตโนมัติ ระบบ [S] Shutter Priority AE คือระบบที่ต้องใช้ กำหนดความไวชัตเตอร์เอง กล้องเลือกรูรับแสงให้ หรือ ถ้าคุณถนัดระบบปรับตั้งเอง Manual ก็เลือกความไวชัตเตอร์อย่างที่ได้กล่าวไว้เป็นหลักครับ

 

การฝึกถ่ายนก

ในการฝึกถ่ายนกเบื้องต้น อย่าเพิ่งไปกังวลกับชนิดของนกเลยท่าน คิดแต่ว่า ทำอย่างไรจึงจะถ่ายนกให้ได้ในระยะที่ใกล้ที่สุด  ถ่ายอย่างไรจึงจะได้ภาพนกให้ชัดๆ สีสันถูกใจและถ่ายอย่างไรจึงจะได้จังหวะที่นกมีลีลาน่าดู  

การฝึกการถ่ายนก หาสถานที่ที่มีนก เป็นเรื่องแรกที่ต้องพิจารณา สถานที่ถ่ายนกไม่ไกลจาก กทม. ก็พอมีละครับ อย่างเช่นที่สวนรถไฟ หรือที่แถว ปากน้ำไปทางแหลมฟ้าผ่า หรือถ้าอยู่ช่วงปลายปี นกนางนวลที่บางปู ในยามปกติที่นี่ก็มีนกให้ถ่ายอยู่เหมือนกัน ที่เหล่านี้ คือที่ ฝึกถ่ายได้เป็นอย่างดีครับ

ถ้ามีผู้ร่วมไปถ่ายภาพได้ก็ยิ่งดี ยิ่งถ้าเป็นเพื่อนที่เคยถ่ายด้วยแล้วชวนกันไปเลยครับ จะได้เพื่อนเป็นผู้คอยชี้เป้าด้วย การไปถ่ายนก ต้องเป็นนักสังเกตครับ บางครั้งนกก็จะเกาะในจุดที่เราอาจจะสังเกตไม่เห็น ต้องคอยสังเกตดูครับ

อาจจะมีท่านผู้อ่านหลายคนอยากถามว่า ควรใช้ขาตั้งกล้องหรือไม่ การจะใช้หรือไม่ใช้ขึ้นกับว่าคุณใช้เลนส์ขนาดใหญ่โตมโหฬารขนาดไหนละครับ แต่ถ้าฝึกด้วยเลนส์ที่เรามี ส่วนตัวผมนะครับ ไม่ใช้ดีกว่า ขยับกล้องได้ง่ายกว่าที่ติดอยู่กับขาตั้งกล้อง แต่ถ้าคุณเกิดใช้เลนส์ขนาดใหญ่ ตัวละหลายโล ก็ควรละครับที่จะใช้ขาตั้งกล้อง หรือ Monopod ก็จะสะดวกกว่าครับ

อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น

งง…ละซี…ที่อยู่ๆ ก็บอกว่า “อย่างเชื่อในสิ่งที่เห็น” ที่บอกนี้ก็คือ อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เห็นจากภาพที่โพสท์กันมาเห็นรูปนกมีขนาดใหญ่ คมชัดสวยงาม ถูกต้องครับ ในการถ่ายภาพนก เบื้องต้น ต้องถ่ายให้ได้ภาพที่คมชัด  สีสันสวยงามก่อน  แต่ที่เราเห็นภาพได้นกมากขนาดค่อนข้างดีนั้น ผมขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ Crop ภาพมาเป็นส่วนมาก อาจจะมีบ้างที่ได้ภาพมาในระยะใกล้ ได้ภาพมาได้นกขนาดค่อนข้างใหญ่ จากที่เคยถ่ายภาพนกมา รวมทั้งคลุกคลีกับนักถ่ายภาพนกมาหลายต่อหลายท่าน เมื่อถ่ายภาพได้มาแล้ว ส่วนใหญ่จะนำภาพมา Crop หรือ ตัดส่วนภาพใหม่ให้ได้องค์ประกอบที่สวยงามอีกทีหนึ่งครับ และก็ไม่ค่อยปรากฏหรอกว่า ภาพจริงๆ นั้น เป็นอย่างไร จากที่เคยถ่ายภาพมา แม้จะถ่ายภาพด้วยเลนส์ขนาด 500 มม. Super Telephoto ก็ได้ภาพนกมา ตัดส่วนใหม่อยู่ดีละครับ

 

สุดท้าย  

ลองดูซีครับ ใช้อุปกรณ์ที่เรามี อย่างที่กล่าวมาแล้ว ผมเชื่อว่า ทุกท่านมีอยู่ หาที่ถ่ายนกดู หาโอกาสเข้าใกล้นกเท่าที่มีโอกาส  ฝึกถ่ายภาพให้ได้นกชัดๆ ค่าแสงดีๆ ลองขยายภาพตัดส่วนภาพดู แล้วคุณจะพบว่า  การถ่ายภาพนกไม่ได้ยากอย่างที่คิด และถ้าคุณติดใจกับการถ่ายภาพนก สะสมภาพนก การหาอุปกรณ์ที่ดีขึ้น จะทำให้คุณยิ่งมีโอกาสได้ภาพที่มีคุณภาพสูงขึ้น เราอาจจะเดินสวนกันในการถ่ายนกโดยที่ไม่รู้กันก็ได้ครับ