เรื่อง+ภาพ : ApochTophy’s

ในการถ่ายภาพเรามีเทคนิคมากมายที่นำมาใช้เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม เทคนิคช่วยทำให้ภาพที่ได้เป็นมากกว่าที่ตาเรามองเห็น ซึ่งสามารถทำได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกหน้ากล้อง หรือการเลือกชัตเตอร์สปีด เราสามารถควบคุมชัตเตอร์สปีดเพื่อให้ได้ภาพที่หลากหลาย ชัตเตอร์สปีดบางค่าส่งผลต่อภาพที่แตกต่างกันออกไป คราวที่แล้วเราพูดถึงการใช้ชัตเตอร์สปีดที่ต่ำๆ หรือ Slow speed กันไปแล้ว ในวันนี้เราจะมาพูดกันถึงการใช้ชัตเตอร์สปีดที่สูง หรือ Fast speed กันบ้างนะครับ

Fast shutter speed

การใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูง (Fast shutter speed) นั้นเรามักจะใช้กับสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนที่ เพื่อให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของสิ่งนั้น โดยมากมักจะใช้เพื่อหยุดการเคลื่อนไหว (Stop Action) จับจังหวะที่สำคัญของสิ่งที่เราจะถ่ายส่วนสำคัญที่น่าสนใจก็คือ วัตถุบางอย่างเมื่อหยุดอยู่กับที่หรือถูกทำให้หยุดนิ่งจากการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงนั้น อาจจะทำให้สิ่งนั้นดูแปลกตาไป และเกิดความน่าสนใจขึ้นได้ เช่น รูปร่างของน้ำที่กำลังไหล, ปีกของนกที่กำลังบิน หรือวัตถุที่ลอยค้างอยู่กลางอากาศ 

Stop Action หยุดการเคลื่อนไหว

Stop Action ถือเป็นรูปแบบหลักของภาพที่ใช้ความเร็วชัตเตอร์สูง ในการถ่ายภาพเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของภาพนั้น จะทำงานสัมพันธ์กันกับความเร็วชัตเตอร์ที่สูงพอที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของสิ่งที่เราจะถ่ายได้ ภาพลักษณะนี้จะส่งผลต่อผู้ดูคือ ความรู้สึกของการหยุดเวลา การอยู่นิ่ง เหมือนช่วงเวลานั้นหยุดอยู่นิ่งไม่มีการเคลื่อนไหวๆ ใดๆ สิ่งสำคัญคือการเลือกจังหวะของการหยุดการเคลื่อนไหวนั้น ที่ควรจะเป็นจังหวะพีค หรือจังหวะสุดท้ายของแต่ล่ะท่าทางที่เราต้องการจะหยุด

Decisive moment เสี้ยวเวลาสำคัญ      

Decisive moment นี้เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่การถ่ายภาพตามแนวความคิดของศิลปะภาพถ่ายสมัยใหม่ (Modern Photography) ซึ่งมีแนวทางการถ่ายภาพเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Straight photography, Street photography, Documentary, Surrealism ฯลฯ โดยเฉพาะภาพประเภทข่าว สารคดี และชีวิตข้างถนนเป็นแนวภาพที่มีความนิยมอย่างแพร่หลายเป็นอย่างมาก Decisive moment ก็เป็นแนวคิดหนึ่งที่แตกออกมาจากภาพถ่ายเหล่านี้ ผู้ที่ริเริ่มแนวคิดแบบ Decisive moment ก็คือ Henri Catier Bresson ช่างภาพข่าว สารคดีชาวฝรั่งเศส เจ้าของผลงานหนังสือรวมภาพ Image a la Sauvette และ The Decisive Moment รวมไปถึงหนังสือภาพถ่ายอีกหลายเล่ม Henri Catier Bresson  มองว่า ช่างภาพกับอุปกรณ์ของเขาต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน ช่างภาพมองเห็นเหมือนที่กล้องบันทึกภาพได้ และกล้องถ่ายภาพเหมือนกับที่ช่างภาพมองเห็น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงสามารถจับเวลาและเหตุการณ์ที่ไม่เคยหยุดนิ่งได้

การถ่ายภาพถ่ายใต้แนวคิด Decisive moment เป็นการถ่ายภาพที่เหมือนกับการรับรู้ภายในเสี้ยววินาทีถึงความสำคัญของเหตุการณ์ และการจัดองค์ประกอบอย่างถูกต้องแน่นอน เพื่อทำให้เหตุการณ์นั้นมีเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยช่างภาพต้องเปรียบเทียบตัวเองให้เหมือนกับนักสังเกตการณ์ ที่สนใจในเหตุการณ์ที่คนทั่วไปลืม หรือมองข้ามไป ในจังหวะและวินาทีที่สำคัญที่เกิดขึ้นในขณะนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ การพร้อมที่จะบันทึกภาพหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในจังหวะและเวลาที่เหมาะสม ซึ่งอาจจะบังเอิญเกิดขึ้นในเสี้ยววินาทีนั้น และเราไม่ได้ปล่อยให้โอกาสกดชัตเตอร์หลุดมือไป ในเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า ในขณะที่ช่วงเวลากำลังไหลผ่านไป จะมีเพียงเศษเสี้ยววินาทีที่สำคัญหรือนาทีทอง ที่จะทำให้ภาพของเราสมบรูณ์ คนที่กำลังเดินเข้ามาในจุดที่เด่นที่สุด แสงที่กำลังสาดส่องเข้ามากระทบตัวแบบ ฯลฯ สิ่งๆ ต่างๆ เหล่านี้เราสามารถคาดเดาได้จากประสบการณ์และการสังเกต

การถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อให้ได้ภาพที่ดีและน่าสนใจนั้น เป็นการถ่ายภาพที่ต้องอาศัยการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันของจิตใจ สายตา ทักษะความชำนาญ การตอบสนองของสมองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สัญชาตญาณ สุนทรียศาสตร์ ความรู้ โชค ความบังเอิญ การรอคอย และเลือกที่จะบันทึกมุมมองหนึ่งๆ ของตนโดยการตัดสินใจในเศษเสี้ยวของวินาที ในการที่จะบันทึกภาพสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ดังนั้นการรู้จักกล้องของเราเอง การปรับตั้งค่าต่างๆ ของอุปกรณ์ถ่ายภาพของเรานั้น เป็นเรื่องที่เราควรฝึกให้ชำนาญ การฝึกจัดองค์ประกอบการอ่านค่าแสงและชดเชยแสง สำคัญที่สุดคือการพาตัวเองไปพบกับเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ที่ควรจะบันทึกภาพในนาทีที่สำคัญนั่นเอง…